4 องค์กรสิทธิ ร่อนจดหมายเปิดผนึกเร่งรัฐบาล ‘เศรษฐา’ แก้ไข 10 ปัญหาเร่งด่วนด้านสิทธิมนุษยชน รวมแก้ 112 ดันไทยเป็นตัวเก็งคณะมนตรีสิทธิ UN

หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 11 พรรค และสมาชิกวุฒิสภามากกว่าครึ่ง ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากในหลวงรัชกาลที่ 10 

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ต้องเร่งแก้ไขแล้ว ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน, มาตรา 112, การคุมขังนักโทษทางการเมือง, สิทธิเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งเป็นมรดกความเสียหายจากการรัฐประหาร ปี 2557 ก็เป็นวาระสำคัญแห่งชาติที่ต้องรีบแก้ไขเช่นกัน 

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (International Federation for Human Rights-FIDH) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ร่วมกับอีก 3 องค์กรคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขและดำเนินการใน 10 ประเด็นสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน 

ในจดหมายระบุว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมุนษยชนที่มีอยู่ได้ และความล้มเหลวเช่นนี้ส่งผลให้สถิติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเลวร้ายลงอย่างมาก จนกระทบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในวาระปี 2558-2560 ที่ประเทศไทยไม่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก

จดหมายระบุถึง ข้อเรียกร้อง 10 ประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยมักจะได้รับจากกลไกสหประชาชาติเพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ดังนี้

  1. ดำเนินการให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและปลอดภัย ปลอดจากการข่มขู่ คุกคาม และการตอบโต้ไม่ว่าในรูปแบบใด ต่อองค์กรภาคประชาสังคม, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ใช้หรือพยายามใช้สิทธิอันชอบธรรมของตน เพื่อการแสดงออกอย่างเสรีและการชุมนุมอย่างสงบ 
  2. ยกเลิกการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, นักกิจกรรม และผู้ประท้วง รวมทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยพลการ เนื่องจากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ
  3. ดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลําเอียง และเป็นอิสระต่อข้อกล่าวหาว่ามีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย, การทรมาน และการบังคับให้สูญหาย
  4. ประกันให้มีการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย งดเว้นการจับกุมคุมขังและส่งกลับพวกเขาไปยังประเทศอันเป็นภูมิลําเนา บนพื้นฐานความตั้งใจที่จะเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 
  5. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เป็นปัญหา รวมทั้งมาตรา 112 และกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา, พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 
  6. ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดความแออัดของเรือนจํา, ประกันให้ผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและศักดิ์ศรี และปรับปรุงสภาพการกักขังทั่วประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกําหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสําหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (“ข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา”) และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจํา และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสําหรับผู้กระทําผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ)
  7. เน้นย้ำข้อห้ามอย่างเบ็ดเสร็จต่อการใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย รวมทั้งในบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จัดตั้งกลไกอิสระเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย และเพิ่มการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อให้เกิดการเคารพอย่างจริงจังต่อหลักสิทธิมนุษยชน 
  8. ดำเนินการตามความตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการประหารชีวิต โดยมีความมุ่งหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารทั้งปวงในโอกาสต่อไป 
  9. ยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคงพิเศษ, สอบสวน และสั่งฟ้องตามข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประกันไม่ให้มีการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกระทําความผิดดังกล่าว และประกันให้มีการฟื้นฟูเยียวยาอย่างเต็มที่สําหรับเหยื่อและครอบครัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 
  10. ใช้มาตรการอย่างรอบด้านเพื่อประกันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น รวมทั้งโดยการแก้ไขกฎหมายและการกระทําที่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ และส่งเสริมให้มีตัวแทนของผู้หญิงในการตัดสินใจทุกระดับและทุกภาคส่วน 

“เราเรียกร้องให้รัฐบาลของท่าน ดําเนินการตามขั้นตอนที่สําคัญเหล่านี้ ภายใน 100 วันแรก เพื่อกําหนดให้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบหลักของวาระด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล และในการกําหนดกระบวนการของการนำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อประกันให้ประเทศไทยจะได้เป็นตัวเก็งในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในวาระปี 2568-2570”

ทั้ง 4 องค์กร ยังระบุด้วยว่า พร้อมที่จะเข้าพบเพื่อพูดคุย และหวังว่าเศรษฐาจะประสบความสําเร็จในการทําหน้าที่ทุกประการในฐานะนายกรัฐมนตรี  

X