11 องค์กรสิทธิฯ ร้องอธิบดีกรมกรมราชทัณฑ์ขอปล่อยผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยง หวั่นปัญหาสุขภาพจากไข้หวัดโควิด

ล่าสุด วันที่ 15 เมษายน 2563 ทางองค์กร FIDH – International Federation for Human Rights ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ อีก 10 องค์กร ได้ทำหนังสือยื่นต่อ พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงซึ่งต้องอยู่กันอย่างแออัดภายในที่คุมขัง เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะกระจายและติดต่อกันในวงกว้าง

พร้อมกันนั้นเอง ก็ได้เรียกร้องให้ทางกรมราชทัณฑ์ออกมาตรการการป้องกันการระบาดของโรคภายในที่คุมขัง และมาตรการในการคัดกรองก่อนที่จะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง ที่ชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสทัั้งในกลุ่มเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ต้องขัง เรียกร้องให้มีมาตรการที่จะช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ เนื่องจากในขณะนี้ได้มีคำสั่งห้ามให้ญาติเข้าเยี่ยม

พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์
อธิบดีกรมราชทัณฑ์
แขวงสวนใหญ่ อำเภอเมือง
จังหวัดนนทบุรี
กรุงเทพฯ 15 เมษายน 2563

 

เรื่อง ขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยเร็วและให้ความมั่นใจว่าทุกคนที่อยู่ในสถานที่คุมขังมีสุขภาพและปลอดภัยดี โดยเฉพาะจากไวรัสโคโรนา 2019

เรียน พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและองค์การระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 11 องค์กร ดังที่ลงนามข้างท้ายนี้ เป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในหมู่ผู้ต้องขังในเรือนจำและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำของประเทศไทย

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโอกาสให้ประเทศไทยต้องพิจารณาโดยเร็วต่อปัญหาความแออัดในสถานที่คุมขังที่มีการพูดถึงกันมานาน สถานที่คุมขังดังกล่าวนี้รวมถึงเรือนจำและสถานที่กักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วย

จากการที่ประชากรในเรือนจำทั้งหมดของไทยมีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่ามาตรฐานที่จะรองรับได้ถึงกว่าร้อยละ 300 การใช้มาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล (Physical Distancing) และมาตรการป้องกันอื่นๆ ที่มุ่งคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ต้องขังทุกคน โดยเฉพาะจากการแพร่และติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ต้องขังไทยที่มีจำนวนถึง 379,190 คน (ชาย 331,405 คน และหญิง 47,785 คน) ในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ “ปฏิบัติการโดยเร็ว” เพื่อลดจำนวนคนที่ถูกคุมขัง และใช้ “มาตรการเร่งด่วน” เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของคนที่ไร้เสรีภาพอยู่ในขณะนี้

ประเทศในเอเชียหลายประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน และศรีลังกา ได้ปล่อยตัวนักโทษออกมาแล้วจากสถานที่คุมขังที่แออัดหนาแน่นเกินไปเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ท่านได้ใช้มาตรการที่จำเป็นในทุกๆทางเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มีอยู่จำนวนมากเหล่านั้น เพื่อลดความแออัดของเรือนจำและลดความเสี่ยงที่จะมีการแพร่กระจายและติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเรือนจำ โดยควรพิจารณาปล่อยตัวกลุ่มผู้ต้องขังดังต่อไปนี้ ซึ่งถูกต้องขังด้วยลหุโทษและ/หรือโทษที่ไม่รุนแรง เป็นอันดับแรกๆ คือ

• ผู้ต้องขังที่อายุมากกว่า 60 ปี
• ผู้ที่ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอาการ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคมะเร็ง
• ผู้ต้องขังก่อนฟ้องคดีหรือระหว่างพิจาณาคดี
• นักโทษที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี
• นักโทษอื่น นอกจากนักโทษตาม (4) ที่ยังเหลือเวลารับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
• ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังด้วยความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมือง
• ผู้ต้องขังหญิงที่มีครรภ์
• ทุกคนที่ถูกคุมขังโดยไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายเพียงพอ

ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากสถานที่คุมขังควรผ่านการตรวจคัดกรองทางการแพทย์อย่างเพียงพอ ให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับการดูแลและการติดตามที่เหมาะสมตามที่จำเป็น และพวกเขาอาจยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยตัว ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับมาตรการที่ใช้สำหรับผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษ ที่ไม่ต้องถูกควบคุมตัว (Standard Minimum Rules for Non-custodial Measures) หรือ ข้อกำหนดโตเกียว (Tokyo Rules)

เรายินดีและเห็นด้วยกับมาตรการที่กรมราชทัณฑ์นำมาใช้เมื่อเร็วๆนี้ ที่ให้มีห้องแยกตัวภายในเรือนจำบางแห่งเพื่อคัดกรองผู้ต้องขังที่รับเข้ามาใหม่ อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่ากรมราชทัณฑ์ยังต้องดำเนินการอีกมากเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ต้องขังมิได้ถูกลิดรอนสิทธิที่พึงได้รับในเรื่องของสุขอนามัย ซึ่งรวมไปถึงการป้องกัน บำบัดรักษา และการควบคุมโรคที่แพร่ระบาด สิทธินี้ต้องได้รับประกัน “โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ” ดังระบุไว้ในมาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีด้วย

สำหรับผู้ที่ยังคงถูกคุมขังต่อไป กรมราชทัณฑ์ต้องแน่ใจว่าสภาพของเรือนจำเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the treatment of Prisoners) หรือ ข้อกำหนดแมนเดลา (Nelson Mandela Rules) และกฎสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่ไม่ใช่การควบคุมตัวสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นหญิง (Rules for The Treatment of Women Prisoners) หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้ ควรเน้นเป็นพิเศษไปที่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัย สุขาภิบาลส่วนตัวของแต่ละคน และการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการดูแลสุขภาพที่เป็นการเฉพาะตามเพศภาวะด้วย

ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำที่มีอาการควรได้รับการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และถ้าผลออกมาเป็นบวก ควรได้รับการบำบัดรักษาอย่างเพียงพอที่โรงพยาบาลที่มีเครื่องมือรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก น้ำสะอาด สบู่ และสิ่งจำเป็นทั้งหลาย ในการรักษาสุขภาพ สุขอนามัย และความสะอาดส่วนตัวของแต่ละคน ควรจะจัดมีให้ทุกคน

ประการสุดท้าย การตัดสินใจของกรมราชทัณฑ์ที่ให้งดการเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมดไว้เป็นการชั่วคราวนั้น เราเรียกร้องหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องให้รับรองว่า ผู้ต้องขังยังคงสามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้ โดยต้องถือเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ที่กรมราชทัณฑ์ควรมีมาตรการที่เป็นทางเลือกอื่นๆ แทนการเยี่ยม โดยผ่านการสื่อสารโทรคมนาคมและทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ต้องขังกับสมาชิกครอบครัวได้ด้วย เช่น video call โทรศัพท์ และอีเมล เป็นต้น

จึงขอเรียกร้องท่านได้โปรดพิจารณาอย่างจริงจังต่อข้อเสนอแนะข้างต้นนี้และนำไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

พวกเราขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจต่อเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งนี้

ด้วยความเคารพ

1. ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR)
2. Fairly Tell
3. FIDH – International Federation for Human Rights
4. Fortify Rights
5. Human Rights Watch (HRW)
6. Internet Law Reform Dialogue (iLaw)
7. Manushya Foundation
8. Protection International
9. Thai Lawyers for Human Rights (TLHR)
10. Union for Civil Liberty (UCL)
11. Working Group for Political Prisoners (Thailand)

 

อ่านหนังสือเรียกร้องฉบับเต็มได้ที่เว็บของ FIDH

X