สมชาย ปรีชาศิลปกุล: “ความวิปริตผิดเพี้ยนของกฎหมายไทยและการต่อสู้ของผู้ไม่ยอมจำนน”

 

29 ตุลาคม 2562 เวลา 18.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเสวนา “หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม” เพื่อเปิดตัวหนังสือ “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร: ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนรวม 3 ท่าน ได้แก่

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รอมฎอน ปัณจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

และมี ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำหน้าที่ดำเนินรายการ พร้อมกับเปิดพื้นที่สำหรับการซักถาม ตอบข้อสงสัย และแลกเปลี่ยนระหว่างวิทยากรกับผู้ที่มาร่วมงาน

 

สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ที่ https://tlhr2014.com/?wpfb_dl=112

ดูคลิปการเสวนาได้ที่ https://www.facebook.com/PITVFanpage/videos/449010922639828/

 

สะท้อนทัศนะการเมืองและกฎหมายไทยผ่านสายตาของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ว่าด้วยอำนาจชี้นำของรัฐพันลึกการสยบยอมต่ออำนาจนอกระบบของกระบวนการยุติธรรมและตัวบทกฎหมายที่เปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิของประชาชน รวมไปถึงการไม่ยอมจำนนต่อการกดทับทางโครงสร้างที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากในหนังสือข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหารของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ว่าด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

งานเสวนาเริ่มต้นโดย รศ.สมชาย กล่าวเกี่ยวกับส่วนประกอบของหนังสือข้อเสนอฯ ที่ทางศูนย์ทนายฯ ได้จัดทำโดยแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1. ผลพวงของการรัฐประหารต่อกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม 2. ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมหลังการรัฐประหาร 3. ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงของการรัฐประหารโดยทางศูนย์ทนายฯ 4. ภาคผนวก และ 5. การปฏิรูปกองทัพ

ใน 3 ส่วนแรกของหนังสือข้อเสนอ รศ.สมชายได้แตกประเด็นที่เกี่ยวเนื่องออกมาเป็น 2 ประเด็นเพื่ออธิบายต่อ

1. ภาพสะท้อนของสิ่งที่เรียกว่า “รัฐซ้อนซ่อนรัฐ”

รศ.สมชายได้อธิบายถึงระบอบการเมืองอีกชุดหนึ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย อีกทั้งชี้ว่า ระบอบดังกล่าวยังมีอำนาจอย่างมากในการชี้นำทิศทางของประเทศ โดยที่ไม่มีการยึดโยงกับภาคประชาชนและประชาสังคม อีกทั้งยังได้รับการรับรองความชอบธรรมผ่านกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

“จากหนังสือเล่มนี้ เราเห็นระบบการเมืองอีกชุดหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เรามองเห็นการออกแบบรัฐธรรมนูญและประกาศบังคับใช้ โดยศาลก็ตัดสินไปตามนั้น นักวิชาการบางคนมองว่านี่เป็นสภาวะยกเว้น แต่ผมมองว่าของไทยมันไม่ยกเว้น เพราะถ้ามันยกเว้นมันต้องเกิดแค่บางครั้งบางคราว แต่ของไทยไม่ชั่วคราว เกิดแล้วเกิดเลย คงอยู่ตลอดไป บางคนอาจเรียกสภาวะแบบนี้ว่า Deep State แต่ของเราที่จริงไม่ deep เลย เพราะมันเห็นตลอดอย่างโจ่งแจ้ง คือจะเล่นงานใครก็อาศัยอำนาจทางกฎหมาย อำนาจตุลาการกันชัดเจน”

“รัฐอีกรูปแบบที่กำกับระบอบการเมืองไทยนี้มันไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชน ถามว่ามันทำอะไรได้บ้าง? มันสามารถแทรกเข้าไปในระบบราชการปกติได้ ทั้งยังมีอำนาจเหนือระบบราชการ แทรกเข้าไปในกระบวนการยุติธรรมได้ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยก็ไม่หือไม่อือ ออกคำสั่งอะไรมาก็ยอมรับให้มีผลทางกฎหมายได้หมด ดังนั้น แน่นอนว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกแทรกแซง แล้วพอสิทธิของประชาชนถูกแทรกแซงก็พร้อมจะมีคำอธิบายว่า ‘ที่ต้องทำอย่างนั้นเป็นเพราะว่าสังคมไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ’ สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็เลยมักจะถูกเก็บไว้ก่อน ชัดเจนเลยว่ากลไกการตรวจสอบป้องกันตามระบอบประชาธิปไตยสามารถทัดทานอำนาจดังกล่าวได้น้อยมากในรัฐแบบนี้”

2. ความวิปริตผิดเพี้ยนของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

นอกเหนือไปจากการแทรกแซงโดยอำนาจเหนือรัฐ รศ.สมชายยังได้อธิบายถึงรูปแบบของกฎหมายเองและการดำเนินคดีโดยรัฐไทยที่ผิดเพี้ยนมาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งถูกสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่ คสช. เรืองอำนาจ พร้อมกันนั้นได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างการบังคับใช้กฎหมายระหว่างคู่ความที่เป็นประชาชนด้วยกันเอง กับคู่ความที่เป็นประชาชนกับรัฐ

“ในส่วนที่ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหลัง 2557 แจกแจงเป็น 5 ขั้นตอน ตั้งแต่ชั้นรวบรวมข้อเท็จจริง สืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ชั้นอัยการ ชั้นศาล ไปจนถึงชั้นราชทัณฑ์ ตัวอย่างความผิดเพี้ยนที่เห็นได้ชัดเจนคือมีจำเลยที่เป็นผู้ป่วยทางจิตโดนคดี ตำรวจเองก็ทราบพฤติการณ์ภายนอกว่ามีอาการทางจิต แต่ทั้งอัยการและตำรวจเห็นตรงกันว่าต้องดำเนินคดี ส่วนอีกคดีหนึ่ง มีคนถูกควบคุมตัวไว้นาน 4 ปี 11 เดือน ระหว่างที่รอพิจารณาคดี เรื่องพวกนี้ผมขอเรียกว่า เป็นความวิปริตผิดเพี้ยนของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมยุค คสช. ความจริงถ้าใครเรียนกฎหมายมา ทุกคนจะรู้ว่ากฎหมายอาญามันเป็นหลักการพื้นฐานที่สุด แต่ในเมืองไทยมันเละเทะมาก”

“นักกฎหมายชั้นนำในบ้านเรามักจะบอกว่ากฎหมายไทยเป็น Modern Legal System เป็นกฎหมายสมัยใหม่ ผ่านการปฏิรูปมาตั้งแต่ร้อยปีที่แล้วและได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ อยู่ในมาตรฐานของ International Standard  ผมอยากให้ลงมาอ่านหนังสือเล่มนี้ คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากอ่านจบคือ ไอ้ความผิดเพี้ยนในทางกฎหมายมันคือสิ่งที่ คสช. สร้างขึ้น หรืออีกนัยยะหนึ่งคือที่ผ่านมาระบบกฎหมายบ้านเรามันดีมากเลยอยู่แล้ว แต่พอมาเจอ คสช. สามารถทำให้ระบบกฎหมายไทยเละเทะได้ง่ายๆ เลยเหรอ เป็นเพราะน้ำมือของ คสช. หรืออันที่จริงแล้วระบบของกฎหมายไทย  กระบวนการยุติธรรมไทยมันเละเทะมานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันรอจังหวะกับโอกาสที่จะให้ความเละเทะมันได้แสดงตัวออกมา”

”ผมมองว่า คสช. ไม่ได้มีความสามารถขนาดนั้น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งระบบกฎหมายไทยมันมีปัญหามานาน แต่แค่ไม่ได้ถูกพูดถึง ไม่ได้หมายความว่าระบบกฎหมายไทยเป็นระบบแบบ Pre-modern นะ แต่ถามว่ามัน Modern ไหม มันไม่ Modern มันเป็นระบบกฎหมายแบบไทยๆ ที่มันเละเทะเพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้ระหว่างสามัญชนด้วยกัน ถ้าเมื่อไหร่สามัญชนทะเลาะกัน ระบบกฎหมายจะทำงานได้ดีมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับสามัญชน รัฐกับพลเมือง นั่นจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย”

“ภายใต้ความขัดแย้งหลัง 2557 เป็นต้นมา คดีส่วนใหญ่ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้คือความขัดแย้ง เห็นไม่ตรงกัน ระหว่างพลเมืองกับรัฐ เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าทำไมกระบวนการยุติธรรมของไทยมันจึงไม่มีความสามารถที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น อันนี้คือสองส่วนที่ผมเห็น”

การต่อสู้ที่ยังต้องดำเนินต่อ

จากการเฝ้าสังเกตตลอดช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา รศ.สมชาย มองว่า ชนชั้นนำในสังคมไทยกำลังพยายามชี้นำสังไทยใน 2 ประเด็นใหญ่ อย่างแรกนั่นคือการพยายามทำให้ความผิดเพี้ยนของระบบกฎหมายไทยกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ อย่างที่สองนั่นคือการบีบให้สังคมต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมต่อการเอาเปรียบ

“ภายใต้ช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงใน 2 ประเด็นสำคัญ นั่นคือการทำให้ภาวะวิปริตที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย คนที่ทำหน้าที่นี้มีเยอะแยะ ตั้งแต่เนติบริกร คำตัดสินขององค์กรอิสระจำนวนมาก สื่อมวลชนบางส่วน อย่างการที่มาบอกว่า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แล้วเงินเดือน รถประจำตำแหน่งของท่านมาจากไหน นี่คือสิ่งที่พวกเขาพยายามทำในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา”

“ประการต่อมา แม้จะมีบางคนพยายามจะสู้เพื่อบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สิ่งที่ชนชั้นนำไทยทำคือ ทำให้เกิดภาวะยอมจำนน ถึงจะไม่ปกติ พวกคุณก็ไม่มีวันชนะหรอก ฟ้องไปเถอะคดี สุดท้ายอำนาจที่เรามีอยู่จะทำให้คดีมันจบลงด้วยการที่พวกคุณแพ้ เพราะกลไกทั้งหมดที่มีอยู่ ต่อให้มีคนที่ตาสว่างแล้ว แต่สู้ยังไงก็ไม่มีทางชนะ ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าแพ้ คุณจะสู้ไปทำไม”

“แล้วหนังสือเล่มนี้พยายามทำอะไร? ผมมองว่านี่คือความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความวิปริตผิดเพี้ยนและการไม่ยอมจำนน ซึ่งอันนี้สำคัญ ถามว่าศูนย์ทนายฯ รู้ไหมว่าหลายๆ คดีที่สู้ไปจะแพ้ แน่นอน แต่ทำไมจึงสู้ เพราะมันสื่อถึงการปฏิเสธที่จะยอมจำนน”

“บันทึกการทำงานของศูนย์ทนายฯ เล่มนี้เหมือนกับไอเดียที่ผมได้จากหนังสือชื่อ Success Without Victory ซึ่งถ่ายทอดเกี่ยวกับการต่อสู้เรื่องสิทธิในอเมริกาผ่านการสู้คดีในชั้นศาล หลายๆ คดีแน่นอนว่าแพ้ แต่ท่ามกลางความพ่ายแพ้กลับได้สร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ รวมถึงการเปิดโปงความวิปริตผิดเพี้ยนให้สังคมได้เห็น แล้วในระยะยาวมันกลายเป็นรากฐานที่ทำให้มันสำเร็จได้ ผมคิดว่าหนังสือข้อเสนอฯ เล่มนี้เป็นบันทึกความวิปริตผิดเพี้ยนแห่งยุคสมัย และเราต้องไม่ยอมจำนนให้ความวิปริตผิดเพี้ยนมันครอบงำสังคมไทยไปยาวนานมากกว่านี้

 

ติดตามเนื้อหาจากวิทยากรท่านอื่นในงานเสวนา “หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม” : ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหารทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผ่านเว็บไซต์ของ TLHR ได้ที่ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว: “เหยื่อการละเมิดโดย คสช. คือสังคมไทยทั้งหมด”

 

อ่านสรุปเนื้อหาของหนังสือ >> หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม: เปิดตัวหนังสือข้อเสนอจัดการผลพวงรัฐประหาร 2557

 

 

X