เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว: “เหยื่อการละเมิดโดย คสช. คือสังคมไทยทั้งหมด”

 

29 ตุลาคม 2562 เวลา 18.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเสวนา “หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม” เพื่อเปิดตัวหนังสือ “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนรวม 3 ท่าน ได้แก่

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รอมฎอน ปัณจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

และมี ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำหน้าที่ดำเนินรายการ พร้อมกับเปิดพื้นที่สำหรับการซักถาม ตอบข้อสงสัย และแลกเปลี่ยนระหว่างวิทยากรกับผู้ที่มาร่วมงาน

ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ที่

https://tlhr2014.com/?wpfb_dl=112

ดูคลิปการเสวนาที่

https://www.facebook.com/PITVFanpage/videos/449010922639828/

 

วิทยากรคนที่สองในเวทีเสวนา อ.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ให้ความเห็นต่อข้อเสนอของศูนย์ทนายฯ ในประเด็นการเยียวยาต่อผู้ถูกละเมิดสิทธิหลังการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 อ.เบญจรัตน์เกริ่นนำว่า การพูดถึงหลักการเรื่องการเยียวยาในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความสำคัญของการมีการเยียวยา จากมุมมองที่เราอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย จะต้องไปให้ไกลกว่าการจัดการผลพวงของ คสช. นั่นคือ การสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนที่จะไม่ยอมรับให้เกิดการรัฐประหารขึ้นซ้ำอีก 

การเยียวยาในฐานะหนทางในการสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน

อ.เบญจรัตน์ เริ่มต้นด้วยการพูดถึงความสำคัญของการเยียวยา ในบริบทของสังคมไทยซึ่งคณะบุคคลซึ่งทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากประชาชน ไม่เคยต้องรับผิดมาก่อน

“อ.สมชายใช้คำว่า เป็นความวิปริตผิดเพี้ยนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในสังคมไทย แต่ตัวดิฉันเองอยากจะชี้ให้เห็นว่า มันเป็นความวิปริตผิดเพี้ยนของวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนออกมาในหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่แทบไม่เคยมีการพูดถึงในสังคมไทยมาก่อน คือเราพูดถึงวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยแต่เรายอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น และแทบไม่มีใครตั้งคำถามกับมันซักเท่าไหร่”

“การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้รับการนิรโทษกรรมทุกครั้ง และในช่วงเวลาที่การปกครองโดยรัฐที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จและใช้อำนาจแบบเผด็จการ มีการกระทำความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่เคยเกิดบทเรียนขึ้นในสังคมไทย เพราะไม่เคยมีการที่จะต้องรับผิด สังคมยอมรับมันเสมอ รัฐประหารได้ รัฐบาลคอร์รัปชั่นก็รัฐประหาร ใช้อำนาจเผด็จการได้เพราะเราอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เราไม่เคยมองว่ามันเป็นความผิดเพราะภาวะลอยนวลแบบนี้ ไม่เคยมีการสร้างความเห็นพ้องร่วมกันในสังคมว่า นี่เป็นความผิดที่ทำไม่ได้กับประชาชน ซึ่งดิฉันคิดว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญมากที่ข้อเสนอเรื่องการเยียวยาจะช่วยพลิกมุมมองเรื่องนี้ในสังคม” 

อาจารย์จากสถาบันสิทธิฯ ยังชวนมองเรื่องการเยียวยากรณีการละเมิดสิทธิโดย คสช. ในฐานะที่มันเป็นความเสียหายในระดับสังคมไทย

คนที่เป็นเหยื่อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือสังคมไทยทั้งหมด วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนของเราถูกกดทับลงไป เสรีภาพของเราถูกละเมิดอย่างมาก ไม่ใช่แค่พันกว่าคนที่ถูกจับถูกเรียกตัว หรือกี่ร้อยกว่าคนที่ถูกดำเนินคดี ดังนั้น การเยียวยาที่เราพูดถึงครั้งนี้เป็นการเยียวยาของสังคมไทยโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น”

อ.เบญจรัตน์ กล่าวต่อไปถึงหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับรองสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาเป็นสิทธิสำคัญประการหนึ่ง โดยรับรองไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายตัว เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งพูดถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีการจัดตั้งคณะตุลาการระดับชาติขึ้นมาพิจารณากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ พูดถึงหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้การเยียวยากรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กติกาฯ ได้ให้การคุ้มครองเอาไว้ ในระดับสหประชาชาติเองก็มีความพยายามร่างหลักการและแนวปฏิบัติเรื่องการเยียวยาต่างๆ ไว้หลายตัว การที่ทั่วโลกพยายามให้มีการเยียวยา รวมถึงให้มีการรับผิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็เนื่องจากมองว่าเป็นหนทางหนึ่งในการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนได้  

ย้อนกลับมาดูในเมืองไทย อ.เบญจรัตน์ชี้ว่า แม้การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดในยุค คสช. อาจจะดูไม่ใหญ่นักถ้าเทียบกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในหลาย ๆ ประเทศ อย่างในละตินอเมริกาที่มีการอุ้มหายคนเป็นพันเป็นหมื่นคน หรือมีการทรมานคนเป็นจำนวนมาก “แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายเรื่องเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถือว่าค่อนข้างกว้างขวาง และเป็นการละเมิดสิทธิที่เป็นเรื่องขั้นพื้นฐาน อย่างสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะไม่ถูกจับกุมกักขังโดยพลการ ซึ่งนี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ควรจะต้องถูกละเมิด” 

มาตรการเยียวยา: รัฐจะต้องออกมายอมรับผิดและขอโทษประชาชน 

ในส่วนของมาตรการเยียวยาความเสียหายจากยุค คสช. อ.เบญจรัตน์ มีข้อเสนอโดยเทียบกับหลักการพื้นฐานของการเยียวยากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ ในหลักสำคัญอันแรกคือ การฟื้นคืนสู่สภาพเดิมก่อนที่จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น “ในกรณีนี้คือจะต้องกลับไปสู่ภาวะกฎหมายและมาตรฐานการรับรองสิทธิมนุษยชนก่อนที่จะมีการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 อย่างน้อยคำสั่งต่าง ๆ ของ คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาหลังรัฐประหารควรจะต้องถูกยกเลิกไป รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม พวกกฎหมายที่ไปยกเลิกมาตรการทางสิ่งแวดล้อม การออก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ไปจำกัดสิทธิของประชาชน หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า กฎหมายเหล่านี้ควรจะต้องถูกยกเลิกไปทั้งยวงด้วย แน่นอนมันเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเราจะต้องยกเลิกกฎหมายตั้งหลายร้อยฉบับที่ คสช.ออกมา” 

หลักต่อไปคือ เรื่องการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งข้อเสนอของศูนย์ทนายฯ ที่ปรากฏในหนังสือได้พยายามลงในรายละเอียดว่า จะคิดเรื่องการจ่ายค่าชดเชยของคนที่ตกเป็นเหยื่ออย่างไรได้บ้าง โดย อ.เบญจรัตน์ให้ความเห็นว่า เป็นทางเลือกขั้นที่สอง หากการฟื้นคืนสู่สภาพเดิมทำไม่ได้ จะต้องมีทั้งเรื่องการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน เรื่องที่พัก เรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 

การทำให้เป็นที่พอใจ เป็นอีกมาตรการหนึ่งของการเยียวยา เป็นการทำให้ผู้ที่เป็นเหยื่อรู้สึกพอใจว่าตนเองได้รับการชดเชยอะไรบางอย่าง ในกรณีที่การฟื้นคืนสู่สภาพเดิม หรือการชดเชยยังไม่เพียงพอ “การทำให้เป็นที่พอใจอาจจะทำได้หลายอย่าง เช่น รัฐจะต้องออกมายอมรับอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดของรัฐ และแสดงความขอโทษต่อสาธารณะด้วย ท้ายที่สุดทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำไปสู่การประกันว่า จะไม่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบนี้ซ้ำขึ้นอีก แต่การจะทำแบบนั้นได้มันต้องสร้างมาตรฐานหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งส่วนตัวมองว่า การเยียวยาและการนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนเพื่อที่จะไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก” อ.เบญจรัตน์ย้ำ

ในช่วงท้าย อ.เบญจรัตน์ กล่าวเน้นถึงหลักการเรื่องการเยียวยาว่า เป็นการชดเชยทั้งในทางวัตถุและในทางจิตใจ หรือในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งในกรณีของสังคมไทยที่ไม่เคยมีการรับผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาก่อน การเยียวยาในเชิงสัญลักษณ์มีความสำคัญอย่างมาก เช่น การรับผิดในฐานะรัฐว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น รวมถึงการรับผิดในเชิงบุคคล เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนรับผิดชอบในการดำเนินการสั่งการต่าง ๆ จะต้องรับผิด ซึ่งการดำเนินคดีทางอาญาอาจจะไม่ใช่รูปแบบเดียวของการรับผิด “เรื่องหนึ่งที่เริ่มทำได้ก็คือ เราต้องเรียกชื่อมันตามความจริง  คสช. คือ เผด็จการ, การปรับทัศนคติ คือ การจับกุมและกักขังโดยพลการ เราต้องใช้ภาษาสิทธิมนุษยชนเรียกสิ่งที่เกิดขึ้น การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม จริง ๆ คือ การละเมิดการพิจารณาคดี คือการดำเนินการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม การบอกว่า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เราต้องเรียกว่า นี่คือการไม่เห็นหัวประชาชน การที่ประชาชนไม่มีที่ทางในรัฐนี้ เป็นต้น นี่เป็นวิธีหนึ่งในการที่สังคมจะยอมรับว่า มันมีการละเมิดเกิดขึ้น” 

นอกจากนี้ อ.เบญจรัตน์ เสนอมาตรการเยียวยาเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การจะต้องเปิดเผยข้อมูลการละเมิดต่าง ๆ รวมถึงคำให้การของประชาชนผู้เป็นเหยื่อต่อสาธารณะ ในบางประเทศใช้วิธีการถ่ายทอดสด เวลาที่เหยื่อไปให้การต่อคณะกรรมการข้อเท็จจริง สังคมจะได้รับรู้ด้วยว่า นี่คือการละเมิด, เหยื่อต้องมีโอกาสเล่าเรื่องราวของเขาเอง เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกถึงความยุติธรรรมที่อาจไม่ใช่ในทางกฎหมายอย่างเดียว  รวมถึงเราควรจะต้องมีการสร้างความทรงจำขึ้นในรัฐไทยให้ได้ ซึ่งอาจจะออกมาในรูปแบบ การรำลึก การจัดกิจกรรม เป็นต้น

“ข้อเสนอเรื่องการเยียวยาเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ในการที่จะเปลี่ยนภาวะวิปริตผิดเพี้ยนของวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ให้เห็นว่า การทำแบบนี้กับประชาชนเป็นความผิด เป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะยอมให้มันเกิดขึ้นได้อีก เพื่อที่ในอนาคตเราจะได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ กันต่อไป”  อ.เบญจรัตน์กล่าวสรุปในท้ายที่สุด

 

ติดตามเนื้อหาจากวิทยากรท่านอื่นในงานเสวนา “หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม” : ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหารทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผ่านเว็บไซต์ของ TLHR >> สมชาย ปรีชาศิลปกุล: “ความวิปริตผิดเพี้ยนของกฎหมายไทยและการต่อสู้ของผู้ไม่ยอมจำนน”

อ่านสรุปเนื้อหาของหนังสือ >> หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม: เปิดตัวหนังสือข้อเสนอจัดการผลพวงรัฐประหาร 2557

X