สรุปงานเสวนาเปิดตัวข้อเสนอฯ: “การเปลี่ยนผ่านและความหวังในการสร้างนิติรัฐ”

 

  29 ตุลาคม 2562 เวลา 18.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเสวนา “หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม” เพื่อเปิดตัวหนังสือ “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร: ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ที่ https://tlhr2014.com/?wpfb_dl=112

หลังการแนะนำหนังสือ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือและข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร โดยมีวิทยากร คือ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และรอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ดำเนินรายการโดย ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านคำอภิปรายของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=14254

อ่านคำอภิปรายของเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=14269

อ่านคำอภิปรายของรอมฎอน ปันจอร์ ได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=14294

 

ภายหลังจากจบการเสวนามีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมทั้งตั้งคำถามถึงวิทยากร 3 ท่าน ประกอบด้วย  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม , ศราวุธ ปทุมราช ประชาชนทั่วไปและณัฐาศิริ เบิร์กแมน , ผู้อำนวยการจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ความกังวลต่อการใช้อำนาจที่ต่อเนื่องของรัฐบาลเผด็จการ  

พรเพ็ญ แสดงความกังวลต่อการใช้อำนาจของ คสช. ที่ยังคงดำเนินไปแม้ว่าจะมีรัฐบาลเลือกตั้ง เนื่องจากมีคนบางคนจากบางกลุ่มที่ทำหน้าที่เหมือนมีอำนาจพิเศษในการแจ้งความดำเนินคดีกลุ่มบุคคลอื่นที่เห็นต่าง สามารถสร้างหลักฐานและมูลจนนำปสู่คดีความ โดยเฉพาะเมื่อช่วงวันที่ 1 ตุลา เมื่อครั้งที่มีข่าวเรื่องการโยกย้ายบุคลากรในระบบราชการ

พรเพ็ญกังวลว่า หากบุคคลคนหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีตำแหน่งในกองทัพ ทำหน้าที่พิเศษโดยที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของนิติรัฐ นิติธรรมหรือกระบวนการของกฎหมายปกติ การใช้สิทธิของประชาชนก็จะทำได้ยากขึ้น รวมไปถึงความกังวลต่อเรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็นของนักวิชาการ ในเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งภายหลังมีการฟ้องร้องข้อหายุยงปลกปั่น ทำให้เกิดคำถามว่า สิ่งที่เคยทำได้ อาจกลายเป็นสิ่งต้องห้ามและถูกทำให้จนเป็นวัฏจักรของความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น


คำแนะนำถึงการรีวิวงานและเพิ่มเติมเนื้อหา อิงจากงานที่เคยศึกษาเรื่องการปฏิรูป

ศราวุธ เริ่มต้นด้วยการแนะนำงานที่ศึกษาเรื่องการปฏิรูปองค์กรต่าง ๆ จากที่ได้ฟังตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนำเสนอข้อมูลในหนังสือข้อเสนอแบบคร่าวๆ มองว่าทางศูนย์ฯ อาจลองนำงานด้านการศึกษาเรื่องการปฏิรูปมารีวิวเพิ่มเติม เขาได้กล่าวถึงงานการศึกษาเรื่องการปฏิรูปกองทัพซึ่งเคยมีคนทำไว้ก่อนเมื่อราว 5 – 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับบริบทหลังการรัฐประหารของสังคมไทยหรือมีการใช้มาตรการเพื่อปราบปรามคนที่เห็นต่างจากรัฐเผด็จการ งานชี้นดังกล่าวอาจจะสามารถนำมาใช้ศึกษาต่อเพื่อปรับปรุงระบบ ไม่ให้กองทัพสามารถเข้ามาชี้นำในทางการเมือง

นอกจากนี้ ศราวุธยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญและความจำเป็นในการฟื้นฟูระบอบการเมืองรัฐสภา โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขภาพจำด้านลบที่สังคมมีต่อนักการเมือง เพื่อจะให้คนกลุ่มนี้สามารถเป็นตัวแทนเพื่อทำงานแทนประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันดับที่สองคือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างควรต้องทำผ่านกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้มีการทำข้อเสนอที่ชัดเจน ที่มากไปกว่านั้น เขายังเห็นตรงกันกับ อ.เบญรัตน์ ที่ว่าทุกฝ่ายควรต้องยืนยันในการใช้ภาษาสิทธิมนุษยชน หรือการใช้คำที่ชัดเจนในการพูดถึงเผด็จการ

มีวิธีที่จะจัดการกับคนที่ทำรัฐประหารได้อย่างไรบ้าง

ณัฐาศิริ ได้ฝากคำถามถึงวิทยากรเกี่ยวกับการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ไม่อาจนำคนผิดมาลงโทษได้

“มันมีปัญหาเกี่ยวกับการทำรัฐประหารมาหลายครั้งและเราก็พยายามที่จะชดเชยเยียวยา รู้สึกว่าจะมีแค่ครั้งเดียวคือการลงโทษคนที่ทำรัฐประหารไม่สำเร็จ คราวนี้เราจะมีวิธีการไหนที่จะดำเนินคดีหรือดำเนินการกับคณะที่ทำรัฐประหารได้บ้าง เพราะว่าเป็นการกระทำที่เจตนาจะทำลายรัฐธรรมนูญลงไป ถ้าเกิดทุกครั้งที่เขาทำ แล้วศาลก็ไม่ยอมรับ ข้าราชการก็ไม่ยอมรับ เราก็คงไม่ต้องกลัวว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ”

เมื่อผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นแล้ว อ.ฐิติรัตน์ ได้ทบทวนคำถามและขอให้วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมในประเด็นที่ผู้เข้าร่วมได้เสนอเข้ามา

การสู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้จะเป็นการยิ่งตอกย้ำความพ่ายแพ้หรือเปล่า           

อ.ฐิติรัตน์  เริ่มต้นด้วยการชวนคุยถึงคำถามสุดท้ายจากผู้ร่วมงาน โดยตั้งข้อสังเกตที่สอดคล้องกับทางรศ.สมชาย ว่า การพยายามยืนยันว่ามันมีเรื่องผิดปกติเช่นนี้ในสังคมไทย การสู้เพื่อที่จะบอกว่าสถานการณ์มันไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม อ.ฐิติรัตน์ กังวลว่า นี่อาจจะเป็นการเปิดช่องให้กับฝ่ายที่ทำรัฐประหารส่งสัญญาณยืนยันกลับมาว่า “การรัฐประหาร” คือเรื่องปกติ หรือในอีกแง่หนึ่ง ความพยายามนี้อาจต่อยอดเป็น stepping stone ไปสู่ชัยชนะ รวมไปถึงทำอย่างไรที่จะไม่ให้อีกฝ่ายใช้ความพยายามดังกล่าวเพื่อสะท้อนภาพความพ่ายแพ้ของฝั่งประชาธิปไตย รวมไปถึงเราควรจะมองประเด็นเรื่องการใช้อำนาจนอกเหนือวิธีการปกติแม้จะเป็นช่วงภายหลังการเลือกตั้งอย่างไร?

กฎหมายจะเป็นเครื่องมือที่สร้างความเป็นธรรมต่อเมื่อเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย

รศ.สมชาย เริ่มจากการตอบคำถามของณัฐาศิริ ว่าการรัฐประหารไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้อำนาจทางการทหารเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วยการใช้อำนาจหลายอย่าง อย่างเช่นผ่านการให้อำนาจกับตัวบุคคลเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่เห็นต่างจากคณะรัฐประหาร นอกจากนั้น รศ.สมชาย ยังได้ชี้ให้เห็นถึงคานอำนาจ 3 ขา คือ MMJ ได้แก่ Military และ Judiciary โดยเลี่ยงพูดถึงตัว M อีกตัวด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งการใช้อำนาจทั้ง 3 ขา นั้นซ้อนทับกัน การหวังจะใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง ตามประวัติศาสตร์แล้วเกิดขึ้นได้ยาก เหตุเพราะต้องรอให้สังคมเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยบางส่วนเสียก่อน ไม่ใช่สังคมที่อยู่ในสภาพของเผด็จการ เพราะจะถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยรัฐ รศ.สมชาย ยังได้ยกตัวอย่างถึงกรณีของละตินอเมริกาที่ต้องรอให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเสียก่อนถึงจะสามารถใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อจัดการระบอบเผด็จการได้ เพราะความยุติธรรมนั้นสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่งกับเรื่องของการเมือง โดยที่เราไม่สามารถแยกระบอบกฎหมายและความยุติธรรมออกจากโครงสร้างทางสังคมเดิมได้

อ.ฐิติรัตน์ ถามต่อว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบอบการใช้กฎหมาย ที่อาจไปกำกับการเมืองในอนาคต จะต้องเกิดในยุคที่โมเมนตัมทางการเมืองเอนเอียงมาทางประชาชนหรือฝ่ายประชาธิปไตยเสียก่อนใช่หรือไม่ แล้วจะมีอะไรที่เราจะทำเตรียมรอไว้ได้บ้างหรือไม่ หรือเราจะต้องรอให้โมเมนตัมเบนมาทางประชาชนเสียก่อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่?

อ.เบญจรัตน์ แสดงความคิดเห็นกับคำถามของอ.ฐิติรัตน์   “มองคล้ายๆกับอาจารย์รศ.สมชาย ว่ามันจะเปลี่ยนได้ มันต้องมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้เรายังต้องการความกล้าหาญของรัฐบาลพลเรือน เพราะที่ผ่านมา หลังการทำรัฐประหารได้มีการนิรโทษกรรมให้คณะทหารที่มาทำรัฐประหาร มีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา แต่ไม่มีใครเท้าความสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ระหว่างนี้เราทำอะไรได้?  มองว่าเราต้องทำให้รัฐบาลพลเรือนกล้าหาญพอที่จะทำอะไรบางอย่าง อาจจะไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ เกาหลีใต้ใช้เวลา 20 – 30 ปี กว่าที่จะผ่านกระบวนการนี้ทั้งหมด หลายประเทศต้องใช้เวลา มันจึงโยงกับหลายเรื่อง ความเป็นการเมือง การสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน เรื่องการทำข้อเท็จจริง อย่างที่ศูนย์ทนายกำลังทำ การชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมันผิด อาจจะยังไม่สามารถเอาผิดได้ในวันนี้  แต่บอกสังคมได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องที่ผิด และพยายามทำงานร่วมกับรัฐบาลพลเรือน” อ.เบญจรัตน์มองว่า เราจะต้องใช้ระบบรัฐสภาให้เป็นประโยชน์ในการที่จะสร้างกลไกขึ้นมา นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงเรื่องการใช้ภาษาโดยยกตัวอย่างถึงผู้ที่ทำงานเพื่อรับใช้เผด็จการ ซึ่งสังคมต้องมองบุคคลนั้นในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นตัวแทนของเผด็จการที่ได้รับมอบอำนาจมาเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้อ.ฐิติรัตน์ ได้แสดงความเห็นต่อจาก อ.เบญจรัตน์ เรื่องการสร้างรัฐบาลที่กล้าหาญว่า “การที่ศูนย์ทนายพยายามที่จะเสนอว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น มันอาจจะเป็นเป้าหมายที่ดูเป็นอุดมคติหน่อย หากเราดูไปทีละหน้า แต่อย่างน้อย ๆ เราก็มีสิ่งที่จับต้องได้ว่าอะไรคือเป้าหมายที่อยากไปให้ถึง มันอาจนำไปสู่ยุทธศาสตร์ว่าแต่ละเป้า เมื่อไหร่มันจึงพอจะไปได้ เมื่อไหร่มันจะไปถึง ในแง่นี้จึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่เราควรจะนำมาพูดคุยกันต่อ”

ประชาคมความมั่นคงต้องคิดถึงนิยามของเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีในแบบใหม่    

คุณรอมฎอน ร่วมแสดงความเห็นในคำถามเรื่องการจัดการ คสช. ด้วยกฎหมาย “จากประสบการณ์ของผม การใช้กฎหมายในฐานะเครื่องมือทางการเมืองไม่ต่างจากการใช้อาวุธหรือการใช้กองกำลังทางการทหาร เพราะจริง ๆ กฎหมายในภาษาอังกฤษใช้คำว่า enforce มันคือการใช้ force เหมือนกัน พูดง่ายๆ คือว่าเมื่อมีการใช้ force มันก็ทำให้พื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ต่อรองมันน้อยลง” รอมฏอน มองว่าสิ่งที่ต้องทำในการต่อสู้คือการขยายพื้นที่ทางการเมือง การฟื้นฟูและใช้อำนาจของรัฐสภา ในฐานะที่เป็น “การขยายพื้นที่ของการปะทะต่อสู้มาสู่พื้นที่ทางการเมือง” ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องความกล้าหาญของรัฐบาลพลเรือน แต่ขณะเดียวกัน เขายังชี้เพิ่มว่า เราไม่เพียงต้องเรียกร้องต่อรัฐบาลพลเรือน แต่ต้องเรียกร้องกับประชาคมความมั่นคงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแค่เพียงกองทัพ แต่ยังรวมถึงข้าราชการประจำในกระทรวงยุติธรรม ในสำนักงานสภาความมั่นคง ในสำนักข่าวกรองหรือแม้กระทั่งหน่วยข่าวของกองทัพ “คนพวกนี้ ผมคิดว่าเขาเห็นปัญหา นอกจากเสนอเรื่องว่ามันควรจะต้องมีการปฏิรูปตัวเองอย่างไร ยังต้องมีการเสนอให้คนในระบบคิดถึงเรื่องความกล้าหาญ เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของเขาในแบบใหม่เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้มันทำลายเกียรติภูมิ เราต้องสร้างบทสนทนาแบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้มีการทบทวนเกี่ยวกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ ที่ผมพูดแบบนี้ได้เพราะผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนที่ทำงานเรื่องภาคใต้จากมุมของเจ้าหน้าที่รัฐเองนั่น การวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองมันมีอยู่ แต่พลังของคนเหล่านี้น้อยและพื้นที่ของพวกเขาน้อย เราจำเป็นต้องทำให้พวกเขามีที่ยืน อาจจะเป็นในรัฐสภา ตัวแทนในองค์กร Think Tank เวทีองค์กรระหว่างประเทศ หรือพื้นที่อย่าง FCCT เอง เราต้องคิดเรื่องการสร้างพื้นที่ให้เสียงที่ต่างภายในของกลไกเหล่านี้ให้มากขึ้น ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้ว เรื่องนี้เป็น priority นั่นคือต้องมีพื้นที่รองรับพลังพวกนี้จากข้างใน”

ยิ่งเผด็จการใช้อำนาจ ยิ่งแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในอำนาจของตนเอง

รอมฏอน ยังมองว่า สิ่งที่คุณบ. (นามสมมติ) ทำ มีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมากในประชาคมและนั่นสะท้อนถึงความอ่อนแอภายในของกองทัพเอง “หนึ่งในข้อวิจารณ์ของผม ขออนุญาตหยิบยกข้อมูลจากหนังสือ “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนใต้ : ความท้าทายของการต่อสู้ทางความคิดตามแนวทางสันติวิธีในทัศนะของผู้ปฏิบัติงาน ห้วงปี 58 ถึงปี 61” เขียนโดยพลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ อดีตเลขานุการคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย โดยเขาได้วิจารณ์ว่าข้างในมันมีความขัดแย้งหรือว่ามีความเห็นต่างกันอย่างไรในเรื่องทิศทางการคลี่คลายปัญหา ซึ่งนี่คือคนที่ทำงานการพูดคุยและมีอีกเล่มหนึ่งคือของ ศรีหร่าย นายทหารรบพิเศษที่ไม่เห็นด้วยเลยกับทิศทางการกดปัญหา เช่น การจัดการถ้อยคำ การกดปัญหาไว้และไม่เผชิญกับการจัดการปัญหาความขัดแย้งโดยตรงและจัดการกับมัน คือผมเจอคนแบบนี้อยู่เยอะและผมคิดว่าในรอบ 4 – 5 ปีนี้ถ้าเฟ้นหากันดี ๆ เราสามารถแสวงหาพันธมิตรที่สามารถที่จะ address เรื่องการปฏิรูปกองทัพมาจากข้างในได้และยิ่งนานวันเข้า ความตึงเครียดและการที่ในกองทัพมีคนอย่างคุณบ.เยอะๆ มีการปฏิบัติการแบบคุณบ.เยอะๆ มันยิ่งจะมีความเห็นต่างเช่นนี้ออกมา” นอกจากนี้เขายังได้เน้นย้ำอีกครั้งถึงเบื้องลึกในท่าทีที่แข็งกร้าวของกองทัพ “พี่สิทธิ (พลตรีสิทธิ) แกพูดถึงประเด็นนี้ แกบอกว่า สิ่งที่รัฐไทยทำกับปัญหาสามจังหวัดใช้แดนใต้ไปไปมามา กลับเป็นรัฐไทยเองต่างหากที่ไม่มั่นใจในอำนาจรัฐของตัวเอง เพราะว่าถ้าคุณมั่นใจ คุณต้องพร้อมที่จะนั่งลงและสนทนาและต่อรองกับฝ่ายที่เห็นต่าง แต่พอคุณไม่มั่นใจคุณเลยจัดการด้วยการใช้กำลัง ผมว่าสิ่งที่ คุณบ. ทำเป็นเพราะไม่มั่นใจว่าตัวเองแข็งแกร่งพอต่างหาก”

อ.ฐิติรัตน์ ชวนย้อนประเด็นไปยัง อาจารย์เบญจรัตน์ ซึ่งพูดถึงการใช้กฎหมาย การเจรจาและวิธีการอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่การเยียวยาไว้ในตอนต้นของงานเสวนา  “ที่อาจารย์บอกว่าจริง ๆ แล้วการเยียวยาไม่ได้จำเป็นต้องเกิดขึ้นในเวทีของกฎหมายหรือเวทีของศาลหรือในกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว แต่มันอาจเกิดขึ้นพร้อมกันไปกับกระบวนการอื่น ๆ ได้ เมื่อเราพูดถึง transitional justice หรือความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มักจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า พอเราไปให้น้ำหนักกับประเด็นทางการเมืองและการเจรจา มันเท่ากับว่าเรากำลังพยายามแลกความถูกต้องทางกฎหมายกับความถูกต้องในเชิงกฎเกณฑ์กับการประนีประนอมในการเดินไปข้างหน้าหรือเปล่า?” ฐิติรัตน์มองว่าคำถามนี้เป็นประเด็นคลาสสิคที่คนทำงานในเชิงกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคุยกันค่อนข้างเยอะ จึงอยากให้ อ.เบญจรัตน์ ช่วยคลี่คลายประเด็นข้างต้น

Dilemma ของการต่อสู้ : ไม่ว่าปรองดองหรือประนีประนอม แต่อย่าปิดวิธีทางในการสร้างพื้นที่และสร้างมิตร

อ.เบจรัตน์ เริ่มต้นตอบคำถามด้วยการกล่าวว่า ส่วนตัวแล้ว เธอเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องการปรองดอง เพราะไม่คิดว่าความพยายามในการปรองดองที่ผ่านมาสามารถเรียกได้ว่าเป็นการปรองดองเนื่องจากมองว่าเป็นความประนีประนอมเสียมากกว่า “คนผิด เราก็ต้องบอกว่าเขาผิด แต่ว่าในทางปฏิบัติจริงมันมีหลายขั้นหลายอุปสรรคซ้อนทับกัน เช่น เราอาจจะบอกว่าเราต้องการเอาหัวหน้ารัฐบาลเผด็จการขึ้นศาลเข้าสู่ขบวนการยุติธรรม นั่นคือเป้าหมายสูงสุด ถามว่าเป็นไปได้ไหม ยากมาก เราอาจจะต้องมีขั้นตอนอะไรที่จะนำไปสู่ตรงนั้นได้หรือมีมองหาการชดเชยรูปแบบอื่นที่มันสามารถแสดงให้เห็นถึงการรับผิดเหมือนกัน อาจจะไม่ถึงขนาดเอาตัวเข้าคุก” อ.เบจรัตน์ กล่าวว่า ในอีกมุมหนึ่ง หากมองจากตัวผู้เป็นเหยื่อเอง ในหลายกรณี เหยื่อไม่ได้พร้อมเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมที่เหนื่อยยากและอาจต้องใช้เวลาหลายปี ซ้ำยังต้องมาพูดถึงสิ่งที่ตนเองโดนกระทำหลายๆ ครั้ง “บางครั้งสำหรับผู้ถูกกระทำ เพียงการได้รับการยอมรับว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นก็น่าจะพอ เพราะมันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปเหมือนกัน”

คุณรอมฎอน ร่วมแลกเปลี่ยนต่อประเด็นเรื่องการเจรจาและการเยียวยากับ อ.เบญจรัตน์  “ขออนุญาตเสริม ผมเข้าใจ dilemma ตรงนี้ดี คือมันมีความไม่เป็นธรรม จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะปล่อยให้คนทำความผิดสามารถหลุดลอยนวลพ้นผิด นี่เป็นข้อถกเถียงที่ถูกพูดถึงเสมอเวลาคุยเกี่ยวกับบริบทในชายแดนใต้ เพราะคุณจะยอมคุยกับศัตรูที่กระทำต่อเราเหรอ? ปัญหาคือว่ามีคนตายถึงราว 7,000 ราย ตราบใดที่ความขัดแย้งยังอยู่ การบังคับใช้กฎหมายที่วิปริตแบบนี้ยังคงอยู่ ความซวยและความทุกข์ของชาวบ้านก็จะยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น การคิดหาทางออกทางการเมืองผ่านการเจรจาต่อรองจำเป็นต้องวางอยู่บนอำนาจที่พอๆ กัน แม้ไม่เท่ากันแต่ต้องพอๆ กัน ที่มากไปกว่านั้น มันไม่มีคนให้หลักประกันได้ว่า ต่อให้ผ่านการเอาผิด การลงโทษดำเนินคดีแล้วจะนำมาซึ่งความรู้สึกว่าได้รับการเติมเต็มด้านความยุติธรรมได้จริง ๆ”  รอมฎอน มองว่าเรื่องเหล่านี้มีช่องว่างเสมอ จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องหามิตรหรือพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับเรา เพราะจะก่อให้เกิดความเป็นไปได้ทางการเมือง ทั้งนี้เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่ทำได้คือการเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนแปลงและพยายามสร้างพันธมิตรที่มากพอที่จะรองรับข้อเสนอเหล่านั้น โดยตนมองว่าเป็นโจทย์ที่ยากมากแต่ก็เข้าใจได้

อ.ฐิติรัตน์ แลกเปลี่ยนต่อว่า ในทางกลับกัน เราอาจจะต้องย้อนกลับมาที่ฝั่งของคนที่ต้องการเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้วยว่า ในบรรดาข้อเสนอนี้ อะไรคือ priority อะไรคือสิ่งที่จับต้องได้ อะไรคือสิ่งที่แลกได้ เราอาจต้องคิดตั้งต้นเกี่ยวกับสิ่งที่อยากได้ เพื่อหาว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด หลังจากนั้นจึงฝากให้รศ.สมชาย ได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนจะปิดงานเสวนา เนื่องจากเป็นผู้เริ่มเปิดการเสวนาได้อย่างออกรสชาติเป็นท่านแรก

มาช้าแต่มาแน่ : รักษาร่างกายเอาไว้เพื่อรอดูการเปลี่ยนแปลง

รศ.สมชายกล่าวถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอในหนังสือว่า “ผมอยากจะพูดแบบนี้ หนังสือเล่มนี้คือข้อเสนอหรืออะไรก็ตาม แต่แน่นอนว่าเราไม่น่าจะเห็นผลได้ในเวลา 5 ปี ผมคิดว่าหลายๆ คนคงคิดคล้ายๆ กันว่ารอบนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบที่จะทำให้รัฐบาลพลเรือนหรือเสียงของประชาชนเป็นใหญ่มันจะต้องใช้เวลากว่าจะกลับคืนมาและไม่แน่ใจว่ามันจะเปลี่ยนไปในรูปแบบอย่างที่เราต้องการโดยที่ไม่เกิดความรุนแรงได้หรือเปล่า” รศ.สมชาย ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมไทยซึ่งรอดพ้นจากความรุนแรงขนานใหญ่มาได้เพราะชนชั้นนำมักจะผนวกเอากลุ่มคนใหม่ๆ ในสังคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบการเมือง เช่นในปี 2475 มีการผนวกเอาข้าราชการมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง หรือในช่วง14 ตุลา 16 ตุลา มีการผนวกเอาชนชั้นกลางเข้าไป แม้จะไม่แน่ใจว่าความเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะออกมาในเชิงบวก แต่เชื่อแน่นอนว่าจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น “สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือ โครงสร้างของระบบการเมืองที่เป็นอยู่ มันพยายามจะไล่คนออกซึ่งแบบนี้มันอันตราย เพราะมันทำให้เราไม่เห็นสัญญาณที่เป็นไปในทางบวก แต่เราจะต้องตระหนักเรื่องความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรงไว้ก่อนเพื่อที่รอเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งคงไม่ได้มาในระยะเวลาอันใกล้ หากดูจากบริบทแวดล้อมทางการเมืองต่าง ๆ และไม่แน่ใจด้วยว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาในทิศทางที่เราต้องการหรือเปล่า”  

อ.ฐิติรัตน์ช่วยกล่าวสรุปสั้นๆ ในตอนท้ายของงานเสวนาไว้ว่า “เราอาจจะต้องเข้มแข็งให้มากเพื่อรักษาสภาวะที่ไม่ยอมจำนน จนกว่าจะถึงวันที่เราจะสามารถผลักดันข้อเสนอเหล่านี้ให้มันใกล้เคียงกับอุดมคติที่เราคิดไว้”

X