เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 62 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “อยู่กับบาดแผล เมื่อตุลาการเป็นใหญ่” โดยเป็นการเสวนาแนะนำหนังสือสองเล่ม ได้แก่ “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” เขียนโดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape และ “อยู่กับบาดแผล” เขียนโดยบุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิชาการจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ papyrus
ในการเสวนา นอกจากผู้เขียนหนังสือทั้งสองเล่มแล้ว ยังได้ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล-นักเขียนอิสระ และอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองจากการอ่านหนังสือทั้งสองเล่มอีกด้วย
การขยายอำนาจของศาล กับความสนใจศึกษาสถาบันตุลาการ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล เล่าที่มีที่ไปของหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นหนังสือรวบรวมบทความที่เขียนขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ความสนใจเรื่องสถาบันตุลาการ จึงได้เขียนเป็นบทความเรื่องต่างๆ ออกมา ต่อมาทางสำนักพิมพ์อยากจะรวมบทความออกเป็นเล่ม
สมชายกล่าวต่อไปว่าเรื่องสถาบันตุลาการในแวดวงวิชาการไทย ก่อนทศวรรษ 2550 แทบไม่ค่อยถูกสนใจ ในทางนิติศาสตร์ที่ศึกษาตุลาการก็จะศึกษาในเชิงที่เรียกว่า “นิติ-สถาบัน” คืออธิบายว่าอำนาจตุลาการมีอำนาจในการตัดสินคดี ระบบตุลาการเป็นอย่างไรบ้าง ศาลเดี่ยว ศาลคู่ เป็นการอธิบายในเชิงโครงสร้างสถาบัน แต่ในด้านรัฐศาสตร์ ก่อนทศวรรษ 2550 สำหรับตนคิดว่าแทบไม่มีการเข้ามาศึกษาสถาบันตุลาการอย่างจริงจัง แต่ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2550 สถานการณ์นี้เปลี่ยนไป ตุลาการกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกสนใจมากขึ้น
สมชายเห็นว่าการหันมาสนใจบทบาทตุลาการในเมืองไทย ยังสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในระนาบที่กว้างกว่า คือในระดับสากล ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาถึงต้นศตวรรษที่ 21 ในยุโรปหลายประเทศ เกิดปรากฏการณ์ที่คล้ายกัน คือการขยายอำนาจของฝ่ายตุลาการ ที่ฝ่ายตุลาการเข้ามาตัดสินข้อพิพาทในหลายเรื่อง ที่แต่เดิมไม่ใช่เรื่องที่ศาลเข้ามาตัดสิน ทั้งในปัญหาทางเศรษฐกิจ-การเมือง
สถานการณ์นี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงหนึ่งเกิดขึ้น คือการเผชิญหน้าระหว่างสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง กับสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ใครควรจะเป็นองค์กรที่มีความชอบธรรมในการแก้ไขวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ อันนี้กลายเป็นข้อถกเถียงในระดับสากล ไม่ใช่เพียงในเมืองไทย และทำให้เกิดการสร้างคำอธิบายในหลายๆ เรื่อง
สมชายยกตัวอย่างงานศึกษาของนักวิชาการฝรั่งที่นำเสนอเรื่อง Juristocracy หรือที่อาจแปลว่าตุลาการธิปไตย คืออำนาจตุลาการกลายเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง โดยอำนาจตุลาการขยายตัวมากขึ้นในสังคมการเมือง ทำให้คำอธิบายในทางรัฐศาสตร์กระแสหลัก ที่พูดเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เริ่มถูกตั้งคำถาม ว่าท่ามกลางการขยายตัวของอำนาจตุลาการ การแบ่งแยกอำนาจยังเป็นแบบนั้นอยู่หรือไม่
สมชายยังกล่าวถึงงานวิชาการจำนวนมากในโลกตะวันตก ที่อาจเรียกรวมๆ ได้ว่าศึกษาเกี่ยวกับ Judicialization of Politics ที่ตนแปลว่าการเมืองเชิงตุลาการ คำนี้กลายเป็นคำเรียกปรากฏการณ์ที่สถาบันตุลาการเข้าไปวินิจฉัยปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ทำให้ประเด็นปัญหาที่เคยเป็นข้อถกเถียงทางการเมือง มันเข้าไปอยู่ในอำนาจการชี้ขาดของตุลาการ ในตอนแรกที่ตนเริ่มสนใจเรื่องนี้ เมืองไทยยังแทบไม่มีคนศึกษา แต่เมื่อเข้าไปดูในโลกตะวันตก พบว่ามีงานจำนวนมาก จนน่าตกใจว่าแวดวงวิชาการทางรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ไทยล้าหลังในเรื่องนี้
สมชายอธิบายว่างานศึกษาเรื่องนี้อาจเป็นสองแบบใหญ่ๆ ได้แก่ แบบ Empirical Approach คือศึกษาบทบาทหน้าที่ตุลาการในความเป็นจริง กับแบบ Comparative Approach คือศึกษาเชิงเปรียบเทียบ
บทบาทของตุลาการเมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะ งานศึกษาของตะวันตกก็ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีแต่ด้านที่เป็น “ตุลาการภิวัฒน์” (Judicial Activism) คือบทบาทตุลาการที่เข้าไปช่วยตีความขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่จริงๆ แล้วพบว่าตุลาการออกไปได้หลายหน้า อาทิเช่น “ตุลาการการเมือง” (Politicization of the Judiciary) หรือตุลาการเลือกข้างทางการเมือง ซึ่งงานของฝรั่งบางชิ้นบอกว่าของไทยไม่ใช่ตุลาการภิวัฒน์หรอก แต่คือตุลาการการเมืองนี่แหละ
สมชายยังยกตัวอย่างงานศึกษาของ Ran Hirschl เรื่อง Juristocracy งานนี้ชี้ให้เห็นว่าในหลายประเทศ ตราบเท่าที่ชนชั้นนำยังยึดครองสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ ตุลาการจะแทบไม่มีบทบาท ในแอฟริกาใต้ ในช่วงเวลาที่คนผิวดำยังไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง คนผิวขาวยังยึดครองรัฐสภาได้ ตุลาการยังไม่แทบไม่มีหน้าที่อะไร เรื่องทางการเมืองยังเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่พอคนผิวดำมีสิทธิเลือกตั้ง ชนชั้นนำผิวขาวไม่สามารถคุมรัฐสภาได้เหมือนเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นคือชนชั้นนำหันไปใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือในการกำกับนโยบายและทิศทางทางสังคม
สมชายเห็นว่าวิธีวิเคราะห์นี้น่าสนใจ เมื่อถ้าเทียบกับเมืองไทย บทบาทของตุลาการมาเห็นเด่นชัดหลัง 2549 เกิดขึ้นเมื่อชนชั้นนำไม่สามารถยึดกุมรัฐสภาได้ เพราะทศวรรษ 2540 พรรคการเมืองมายึดกุมรัฐสภาได้ โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย รัฐสภากลายเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง ตุลาการจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทหลังจากที่ชนชั้นนำไม่สามารถยึดกุมรัฐสภาได้ หลัง 2549 ตุลาการจึงกลายมาเป็นสถาบันที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเสียงข้างมากอย่างชัดเจน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ
สมชายสรุปว่าบริบทความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้สถาบันตุลาการกลายเป็นพื้นที่ใหม่ของการศึกษาหลัง 2550 เป็นต้นมา มีการศึกษาตุลาการเพิ่มมากขึ้นในหลายแง่มุม ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ของตนก็จะทดลองเข้าไปมองอำนาจของตุลาการในแง่มุมแบบอื่นๆ ภายใต้สมมติฐานของตนที่เห็นด้วยกับนักวิชาการฝรั่งท่านหนึ่ง ที่ว่าอำนาจของตุลาการไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า แต่มันถูกสร้างขึ้นในทางการเมือง เมื่อมันถูกสร้างขึ้นทางการเมือง มันจึงทำหน้าที่ทางการเมืองด้วย
บาดแผลของความรุนแรงทางการเมืองในทั้งสองสีเสื้อ
ด้าน บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้กล่าวถึงหนังสือของตนเองว่าเป็นการปรับปรุงมาจากงานวิจัยเรื่อง “อยู่กับบาดแผล: เสียงจากสามัญชนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางการเมือง (พ.ศ.2553-57)” โดยเข้าไปศึกษา “เหยื่อ” จากความรุนแรง ได้แก่ ผู้บาดเจ็บ พิการจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง และกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีเหตุเพลิงไหม้ศาลากลางที่จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มศึกษาทั้งหมดเป็นสามัญชน ไม่ใช่แกนนำ และไปอยู่ที่ front line (แนวหน้า) โดยมีทั้งคนที่ถูกยิงเข้าที่ตา ตาบอด คนที่ถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา จนทำลายสมอง กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงตลอดชีวิต คนที่ถูกตีจนสมองกระทบกระเทือน ร่างกายเกือบจะเป็นอัมพาต เหล่านี้ล้วนเป็นคนเล็กคนน้อยที่เราแทบจะไม่รู้จัก
บุญเลิศระบุว่าตนเข้าไปศึกษาว่าคนเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน ทำไมพวกเขาเข้าไปอยู่ตรงนั้น เขาให้เหตุผลการไปอยู่ตรงนั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และหลังจากที่ความรุนแรงกระทำต่อเขาแล้ว เขามีชีวิตอยู่กับบาดแผลอย่างไร เมื่อเขาได้รับความพิการต่างๆ บาดแผลมันอยู่บนร่างกายของเขาตลอดเวลา เขาจะทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร
บุญเลิศกล่าวว่าเมื่อทำวิจัยไปแล้ว มีข้อค้นพบที่คิดไม่ถึง คือกลับพบว่าเหยื่อจากความรุนแรงทั้งสองสีเสื้อ ให้ความหมายกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน โดยคนที่บาดเจ็บหรือพิการจากการชุมนุมของ กปปส. และคปท. ซึ่งมีหลายคนบาดเจ็บหนัก บางคนถูกยิง กระสุนทะลุใกล้ไขสันหลัง ต้องนั่งวีลแชร์ บางคนถูกตีจนเดินไม่ได้ ชีวิตลำบาก สูญเสียการงาน แต่เขาจะบอกว่ายอมรับมันได้ อย่างน้อยภูมิใจที่ได้ร่วมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์
แต่กลุ่มที่จะ suffer มากกว่า กลับเป็นคนเสื้อแดง ที่นอกจากจะเจ็บตัว ยังเจ็บใจ คือยังถูกสังคมมองว่าพวกนี้สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง ถูกมองว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง คนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกเจ็บแค้นจากการถูกกระทำ รู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง รู้สึกไม่เป็นธรรม และมักจะย้ำเรื่องการไม่ต้องพูดถึงการปรองดอง เพราะพวกเขาถูกกระทำ ฝั่งเขาทำอะไรก็ไม่ผิด ฝั่งเราทำอะไรก็ผิด เป็นบาดแผลในความรู้สึกที่ยังคงอยู่
ขณะที่ปฏิกิริยาหนึ่งของคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บ คือมีคนหนึ่งรู้สึกแย่จากประสบการณ์ของตัวเอง พยายามจะสร้างระยะห่างจากสิ่งที่เกิดขึ้น ตอนนั้นไม่น่าไปเลย พอดีผมไปเป็นไทยมุง ไปถ่ายรูป ไม่ได้ตั้งใจไปชุมนุม กลายเป็นการให้คำอธิบายที่ต่างจากคนฝั่ง กปปส. ที่จะมีเซ้นส์ของความภูมิใจ เหมือนทหารผ่านศึก เจ็บตัวแต่อย่างน้อยก็ได้ต่อสู้ ได้เรียกร้องมา
บุญเลิศยังระบุว่าในฐานะนักมานุษยวิทยา งานชิ้นนี้จึงมากับการเล่าเรื่อง ซึ่งต่างจากการพูดถึงคนบาดเจ็บ ล้มตายจากการชุมนุมที่ผ่านมา ที่เรามักจะเห็นแต่ตัวเลข ตายกี่คน บาดเจ็บกี่คน แต่ตัวเลขไม่สามารถสะท้อนผลกระทบได้ เพราะคนที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต คนได้รับผลกระทบมันติดตัวเขาไปตลอด งานชิ้นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่พยายามเชื้อเชิญอย่างน้อยที่สุดเรื่องการเยียวยาคนที่บาดเจ็บพิการ และเป็นบทเรียนของความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
.
มายาคติของสองฝั่งสี และบาดแผลจากความรุนแรงโดยรัฐ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าวถึงการอ่านหนังสือ “อยู่กับบาดแผล” ว่า ที่ผ่านมาเราเรียนรู้จากคนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองน้อยมาก ส่วนใหญ่คนที่ประสบปัญหาออกไปชุมนุมทางการเมืองแล้วถูกจับหรือบาดเจ็บ ในสื่อกระแสหลักแทบจะมีการติดตามทำข่าวน้อยมาก แม้แต่ฝั่ง กปปส. แทบจะไม่มีเอ่ยถึงเลยในสื่อ หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจ ที่มีการนำผู้ได้รับผลกระทบทั้งสองฝั่งมาเปรียบเทียบ โดยพบว่าทั้งสองฝั่ง จะเห็นความคล้ายคลึงมากกว่าแตกต่างด้วยซ้ำ อาจจะแตกต่างในแง่ของความรู้สึกในการยอมรับต่อความทุกข์ทนของตัวเอง แต่ในแง่ของภูมิหลัง ในเชิงวิถีชีวิต แทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย
ภัควดี ยังเห็นว่าข้อดีของกรณีศึกษาในเล่มนี้ คือมีกลุ่มที่เรามักมองไม่ค่อยเห็น ได้แก่ กรณีไฟไหม้ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีประชาชนที่ถูกจับกุมและถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมค่อนข้างมาก ส่วนตัวก็เคยได้ยินมาก่อน แต่แทบจะไม่รู้รายละเอียดว่าเป็นอย่างไรบ้าง
สิ่งที่กระทบใจอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องที่เกี่ยวกับคนในฝั่ง กปปส. หรือคปท. โดยถ้าเราอยู่ในกลุ่มโลกของคนเสื้อแดงมากๆ พบว่ามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนเสื้อแดงรักกัน และคนอีกฝั่งถูกจ้างมาก แล้วคนอีกฝั่งก็มองเสื้อแดงแบบนั้นเหมือนกัน คือถ้าไม่จ้างมา ก็ถูกหลอกใช้ แต่พอมาอ่านหนังสือเล่มนี้ เราจะพบว่าตรงกันข้ามกับความคิดนี้ เราพบว่าคนฝั่ง กปปส. ก็ไม่ได้ต่างจากคนเสื้อแดง ที่พูดถึงความรักกัน และคนที่อาจารย์บุญเลิศไปคุย ก็ยืนยันเรื่องไม่มีใครจ้าง เขามาเอง แม้กระทั่งว่าเขาต้องพิการหรือได้รับผลกระทบ เขาก็ไม่เคยรู้สึกว่าแกนนำหลอกเขา แต่รู้สึกว่าได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการดูแล การมาเยี่ยม
ในขณะที่ฝั่งของเสื้อแดง กลับพบว่ามีบางคนบอกว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าไร แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นการโทษกัน เพราะในแง่หนึ่งในบริบทตอนนั้น เสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบมันเยอะมาก และหลังการปราบปราม มันก็มีความกระจัดกระจาย แต่ประเด็นก็คืออคติที่คนฝั่งหนึ่งมีต่อคนอีกฝั่งหนึ่ง หลายอย่างมันไม่จริง ภัควดีจึงเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับการเป็นพื้นฐานไปดำเนินการในสิ่งที่เรียกว่า “การสานเสวนาเชิงสันติวิธี” เป็นการทำความเข้าใจระหว่างสองฝ่าย ถ้าอยากจะให้มีเกิดขึ้น หนังสือเล่มนี้มันใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานได้
อีกประเด็นหนึ่ง คือแทบทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บพิการในหนังสือเล่มนี้ เกิดจากการกระทำของรัฐ ไม่ว่าในทางกายภาพ หรือการถูกตัดสินลงโทษ เราจะเห็นว่าการควบคุมการชุมนุมหรือการจลาจลของเจ้าหน้าที่รัฐไทย มันมีปัญหาของการใช้ความรุนแรงไม่ได้สัดส่วน เราจะเห็นกรณีของคนอายุมากฝั่ง กปปส. ที่จะเดินไปห้ามทหารไม่ให้ทำร้าย แต่เขากลับถูกตำรวจตี ทั้งที่เขาล้มไปและยกมือแล้ว แต่ก็ยังถูกตีซ้ำไปมา
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความตั้งใจหรือเปล่า ที่รัฐไทยใช้แนวคิดแบบสงครามเย็น พยายามใช้ความรุนแรงให้เกิดความกลัวและหลาบจำ หรือเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไทยไม่มีการฝึกฝนอบรมการปราบจลาจลที่ถูกต้อง เพราะเราจะพบหลายกรณีที่การบาดเจ็บพิการเกิดจากการยิงแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยางผิดวิธี ถ้าลองไปเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตก มันก็มีกรณีการยิงแก๊สน้ำตากันไม่น้อย แต่ก็ไม่ค่อยเกิดกรณีแบบนี้มากเท่าไร
ภัควดียังเสริมถึงประเด็นความทุกข์ทน ว่ายังมีความทุกข์ทนอีกอันหนึ่งคือเรื่องการเยียวยา เราพบว่าพอมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยเฉพาะฝั่งเสื้อแดง พอได้รับการเยียวยาเป็นตัวเงิน บางครั้งมันเกิดปัญหาว่าไปถูกประณามซ้ำ หรือถูกต่อว่าในเรื่องการไปรับเงิน เราจะเห็นชัดในช่วงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งทางฝั่งญาติไม่เห็นด้วย แล้วญาติก็ถูกประณามด่าว่าจากคนฝั่งเดียวกัน โดยมีการยกเรื่องเงินมา
ในส่วนประเด็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทย ภัควดีเห็นว่าปัญหาอย่างหนึ่ง ตัวเองเรียกว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมแบบ clan หรือแบบเผ่า คือมีการนำอัตลักษณ์ทางการเมืองของคนอะไรมาตัดสิน โดยไม่ได้ดูว่าคนนั้นทำความผิดทั้งหมดจริงไหม แล้วรัฐก็ใช้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการปราบปราม มาสยบไม่ให้เคลื่อนไหว เราจะเห็นได้ชัดในกรณีของจังหวัดอุบลฯ บางคนนี่แทบไม่ได้มีหลักฐานอะไรเลยว่าได้กระทำความผิด แต่กลับถูกดำเนินคดี
ภัควดียังกล่าวถึงว่าอาจารย์บุญเลิศได้พูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านด้วย โดยอาจารย์ไม่แน่ใจว่าควรจะเอาผิดเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยด้วยไหม สำหรับตน ระยะหลังเมื่อได้อ่านงานเรื่องนี้หลายชิ้น ส่วนใหญ่เขาก็จะยืนยันเรื่องการต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย พออ่านเรื่องกรณีอุบลราชธานี ทำให้ยิ่งคิดว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยต้องถูกเอาผิด เหมือนกับว่าเขาสามารถทำตามคำสั่งได้ โดยไม่มีวิจารณญาณ ซึ่งบางทีกลับยิ่งสร้างปัญหา และเกิดบาดแผลในสังคมมากขึ้น
ภัควดีสรุปว่าสิ่งสำคัญของการเยียวยาอย่างหนึ่ง คือการฟื้นฟูศักดิ์ศรีของผู้ถูกละเมิด ของผู้ถูกกระทำ อย่างกรณีอุบลฯ คนถูกดำเนินคดีหลายคน จะรู้สึกว่าตนเองถูกตราหน้าว่าเผาบ้านเผาเมือง และเขาก็อยู่ในชุมชนของเขาไม่ได้ เราอาจจะต้องมีกระบวนการฟื้นฟูศักดิ์ศรีของเขา ขณะเดียวกันก็เอาผิดเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ที่ทำตามคำสั่งโดยไม่สนใจความเป็นจริง
หนังสือสองเล่มที่ช่วยเปิดตาและเปิดใจให้กว้างขึ้น
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวถึงหนังสือทั้งสองเล่มนี้ว่าได้ช่วยทำให้มองเห็น เข้าใจ และรู้สึกต่อสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราอาจจะมองไม่เห็น หรือไม่เคยรับรู้ และช่วยเปิดทางหรือเปิดตาให้เรามองไปได้กว้างขวางมากขึ้น
อรรถจักร์เห็นว่าในเล่ม “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ฯ” น่าจะอ่านสองบทสุดท้ายก่อน เรื่องคู่มืออ่านตุลาการ เพื่อให้ได้แว่นอันใหม่ แล้วกลับเข้าไปดูปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจารย์สมชายช่วยเปิดให้เห็น ทำให้ได้เห็นอะไรได้ลึกกว่าที่มองโดยทั่วไป เช่น บทความเรื่องผมจะเป็นประธานศาลฎีกา ซึ่งอาจารย์สมชายได้เปรียบเทียบการสอบผู้พิพากษาในสนามสอบต่างๆ โดยสนามจิ๋วคือสนามที่คนจบปริญญาโทจากเมืองนอกมา และมีสัดส่วนคนได้ถึง 30% จากผู้สมัคร ผู้มาสอบก็เป็นผู้มีสตางค์ไปเรียน หรือการทำให้เห็นการขยายตัวของอำนาจตุลาการ ที่ขยับมาในพื้นที่อื่นๆ เป็นแว่นที่อาจารย์สมชายช่วยให้มองเห็นอะไรได้ลึกขึ้น กว้างขึ้น และได้ความรู้สึกอันใหม่
อรรถจักร์กล่าวถึงหนังสือ “อยู่กับบาดแผล” เมื่ออ่านแล้วได้จดบันทึกความรู้สึกจากการอ่านครั้งแรกว่า “สดับฟังเสียงของหญ้าแพรก ความทุกข์ระทมของคนที่ไม่เคยมีเสียงในสังคมไทย ฝังลึกลงไปถึงจิตวิญญาณ เพราะเป็นความทุกข์ระทมและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นและไม่อาจคลี่คลายได้ด้วยตัวเอง จะทำได้อย่างมากก็เพียงหลบลี้หนีหน้าไปจากสังคม ซึ่งการหลบหนีออกจากสังคม ก็ยิ่งตอกย้ำให้จำ แม้ใจนั้นอยากจะลืมความเจ็บปวด”
อรรถจักร์เห็นว่าความทุกข์ระทมที่กระจายออกไปในสังคมเช่นนี้ เป็นเหมือนโรคภัยร้ายที่เกาะกินสังคมเราจนเสื่อมทรุด จนความสัมพันธ์ทุกมิติในสังคมไทยเรา ถูกกัดกร่อนจนเหลือเพียงความเกลียดชัง หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้ลองสดับฟังเสียงความเจ็บปวดทุกข์ระทมของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม เผื่อว่าเราจะมองเห็นเขาเป็นเพื่อนเราได้มากขึ้น เราจะได้ยินเสียงน้ำตาที่หลั่งรินในหัวใจเขา เราอาจจะเห็นคราบน้ำตาและรอยเลือดอยู่บนใบหน้า การรับฟังเสียงของพวกเขา เพื่อที่เราทั้งหมดจะได้ช่วยหาทางผ่อนคลายความทุกข์ระทมที่กระจายอยู่ในสังคมของเราได้บ้าง
ถ้าเราอ่านหนังสือเล่มนี้ เราจะเห็นว่าทั้งเหลืองและแดงเจ็บปวดเหมือนกัน ทั้งหมดนี้คือคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งเป็นคนเสียสละมาตลอดประวัติศาสตร์ของเรา ตนคิดว่าหนังสือเล่มนี้ควรจะหยิบมาบทเรียนรู้ร่วมกัน แล้ววัฒนธรรมไทยยังทำให้การเสียสละไปรับการตอบแทนไม่ได้ ทำให้การเสียสละกลายเป็นเรื่องสูญเปล่ามากขึ้น เหมือนที่คุณภัควดีพูดกรณีเรื่องเงินเยียวยา เราต้องเรียนรู้ว่าเราไม่อยากจะเห็นความเจ็บปวดของผู้คนเหล่านี้อีก