ตร.ส่งสำนวนคดี ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ ให้อัยการทหาร นัดฟังคำสั่งคดี 6 ก.ค.

ตร.ส่งสำนวนคดี ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ ให้อัยการทหาร นัดฟังคำสั่งคดี 6 ก.ค.

2 มิ.ย.59 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ต.ท.อิทธิรัชต์ แสนปัญญา พนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก นัดหมายผู้ต้องหาในคดี “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ได้แก่ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาและส่งสำนวนคดีให้กับอัยการทหาร

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58  โดยเป็นการแถลงให้ความเห็นต่อคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ (ดูแถลงการณ์) ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าแจ้งความดำเนินคดีที่สภ.ช้างเผือก ในข้อหาความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ก่อนหน้านี้ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะจัดทำสำนวนเสร็จสิ้น โดยมีความเห็นสั่งฟ้องคดี และนัดหมายส่งสำนวนคดีให้อัยการทหารในวันนี้

img_7271

ภาพสองผู้ต้องหาคดี “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” แถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58

สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่าทางอัยการทหารเพิ่งได้รับสำนวนคดีในวันนี้ ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา จึงได้มีการนัดหมายมาฟังคำสั่งอีกครั้งว่าจะมีการส่งฟ้องคดีหรือไม่ ในวันที่ 6 ก.ค.59 เวลา 9.30 น. นอกจากนั้นสมชายยังระบุว่าอัยการทหารมีการพูดคุยถึงการให้ผู้ต้องหาลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อให้คดีเลิกแล้วต่อกัน ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ในวรรคที่ 2 แต่ทางผู้ต้องหาทั้งสองยืนยันว่าไม่สามารถยอมรับว่าการกระทำตามที่ถูกแจ้งข้อหานั้นเป็นความผิดแต่อย่างใด

สมชายระบุว่าการแถลงข่าวดังกล่าว ไม่ได้เป็นการกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด หรือแม้แต่ไม่ได้เป็นการขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. โดยเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาปลุกปั่นยั่วยุใดๆ แต่เป็นการแถลงเพื่อให้สังคมเกิดการใช้เหตุผลและปัญญาในการแก้ไขความขัดแย้ง ทางกลุ่มนักวิชาการเองก็ยินดีพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือยินดีแจ้งให้ทราบหากจะมีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการต่างๆ แต่ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางวิชาการ

สมชายยังกล่าวว่าในส่วนตัว ไม่ได้กังวลกับคดีของตนเอง เพราะนักวิชาการยังมีสถานะระดับหนึ่งในสังคม แต่สิ่งที่น่ากังวลประชาชนคนอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาต่างๆ หลังรัฐประหาร เช่น คดีชาวบ้านหลายคดี ซึ่งยังไม่ถูกสังคมสนใจมากนัก หรือคดีที่ไม่น่าจะถือเป็นความผิดใดๆ เช่น คดีที่นักกิจกรรมยืนเฉยๆ ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงการถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพอย่างมากในสังคมไทยขณะนี้

สำหรับบรรยากาศในวันนี้ มีเพื่อนนักวิชาการและนักศึกษามาให้กำลังใจผู้ต้องหาราว 10 คน และมีเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 20 นาย ดูแลพื้นที่บริเวณศาลทหาร ซึ่งตั้งอยู่ภายในค่ายกาวิละ เจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งเต้นท์ให้ผู้มาให้กำลังใจอยู่ที่ข้างศาลทหาร มีการตรวจคนเข้าออกจากค่ายทหารอย่างเข้มงวด พร้อมกับห้ามถ่ายรูปใดๆ โดยอนุญาตให้เฉพาะผู้ต้องหากับทนายความเข้าไปภายในอาคารศาล อีกทั้ง ยังไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปในค่ายกาวิละ

ทั้งนี้ตาม คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ในวรรคที่ 2 ระบุว่าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกัน

X