ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือ “เจมส์” คือนักศึกษาชั้นปีที่ 6 สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในสมาชิก สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ผู้เคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองบ่อยครั้ง จนตัวเขาเองตกเป็นผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06) ที่สิ้นสุดแล้ว คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (UN62) ที่เตรียมสืบพยานช่วงต้นปี 2564 และล่าสุดคดีจากกิจกรรมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ของชาวเชียงใหม่ที่บริเวณลานประตูท่าแพ ซึ่งมีนัดหมายสืบพยานระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค. 63 นี้
แง่มุมที่อาจไม่เป็นที่รู้จักกันนักของเจมส์ คือพร้อมกับการเรียนและทำกิจกรรมทางการเมือง เจมส์ยังต้องหารายได้เสริมเพื่อเลี้ยงดูตนเองและลดภาระทางบ้าน โดยเจมส์มีงานที่สร้างรายได้ให้เขาจาก 3 ทางด้วยกัน 1. เป็นครูสอนพิเศษอิสระวิชาสังคมศึกษา โดยตระเวนสอนตามโรงเรียนต่างๆ เป็นครั้งคราวหรือสอนพิเศษตัวต่อตัว 2. รับจ้างดูดวงชะตาด้วยไพ่หลากหลายรูปแบบ 3. เป็นฟรีแลนซ์งานวิทยากร จดบันทึกประชุมในงานกิจกรรมต่างๆ รับงานพิสูจน์อักษร ฯลฯ
ภายหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เขาในฐานะนักศึกษาและคนพยายามหารายได้ด้วยตนเอง กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและการวางแผนชีวิต แต่กลับถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ไม่ต้องได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากภาครัฐ
“หลังจากมีวิกฤตทำให้ขาดงานไปหลายอย่าง ทั้งงานสอนพิเศษตามโรงเรียน ซึ่งต้องขยับมาเป็นการสอนพิเศษออนไลน์ และงานสอนส่วนตัวกับนักเรียนแต่ละคน แต่พอสถานการณ์รุนแรงขึ้นอีก หลายบ้านเลือกตัดการสอนพิเศษส่วนตัวให้ลูกเขาออกไปด้วยเพราะรายได้เขาก็ลดลง การรับดูดวงก็คล้ายกัน พอเจอตัวคนดูแบบเป็นส่วนตัวไม่ได้ ต้องปรับมาเป็นการดูดวงออนไลน์ ซึ่งมีข้อจำกัดและปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยกว่าการพบเจอกัน”
เจมส์เหลือรายวิชาที่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัยอีกเพียงสองวิชาเขาก็จะจบการศึกษา แต่เนื่องจากทั้งสองวิชาปกติจะเริ่มเปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 เดือนมิถุนายน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเขาไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดการเรียนการสอนได้ตามเดิมหรือไม่ ส่วนเทอมนี้เจมส์ต้องดร็อปการเรียนไว้ เพราะต้องวางแผนรับงานฟรีแลนซ์เพื่อเก็บเงินไว้ใช้จ่าย
“ก่อนหน้านี้ตารางงานของเจมส์เต็มแทบทุกอาทิตย์ ทั้งงานบันทึกโน้ต ฟรีแลนซ์ ดูดวง ฯลฯ พอเกิดสถานการณ์ล้มหมดเลย เดือนนี้ 2-3 งาน ที่เข้ามาถูกยกเลิกหมด สอนพิเศษก็หาย สุดท้ายแผนเก็บเงินเพื่อจ่ายค่าเทอมเทอมต่อไปมีปัญหาแล้ว เก็บเงินใหม่ไม่ได้ และต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้”
สถานะ “นักศึกษา” ที่มหาวิทยาลัยไม่รองรับและรัฐไม่เหลียวแล
เมื่อมองจากมุมนักศึกษาคนหนึ่งที่พยายามหารายได้ด้วยตัวเอง เมื่อเผชิญวิกฤตเขามองว่า “กลายเป็นว่านักศึกษาไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ ทั้งที่นักศึกษาส่วนใหญ่ทำงานและงานหายไปหมดเหมือนกัน นักศึกษาหลายคนเสียรายได้ที่ควรจะได้ในช่วงนี้ งานพาร์ทไทม์บางอย่างถูกยกเลิกหมด หรือถูกขอให้หยุดงาน 1 เดือน มันก็ไม่มีรายได้นั่นแหละ คือไม่มีงาน เงินก็ไม่มี แล้วพอไม่ได้รับเงินชดเชยอีกเท่ากับจบ เพราะรัฐไม่มีมาตรการรองรับเมื่อสังคมต้องหยุดทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เรา เพื่อนรอบตัวได้รับผลกระทบนี้ทั้งหมด”
หากถามถึงมาตรการช่วยเหลือจากทางมหาวิทยาลัย เจมส์เล่าว่ายังไม่ต้องพูดถึงการชดเชยเลย เพียงแค่การจัดรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ให้เป็นระบบในรูปแบบเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยยังทำได้ไม่ดีและกระจัดกระจาย ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ของนักศึกษา เช่นบางคนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำที่รองรับการเรียนไม่ได้ หรือบางคนไม่มีอินเทอร์เน็ตเลย กลุ่มเพื่อนเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยใช้ไวไฟของมหาวิทยาลัย แต่เมื่อต้องเรียนจากที่บ้านทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีปัญหา จนบางคนไม่สามารถเรียนได้
“มหาวิทยาลัยไม่มีการรองรับ ไม่มีการเยียวยา ไม่มีการช่วยเหลือ ไม่มีการแสดงความรับผิดชอบตอบสนองนักศึกษา มีอย่างเดียวที่มหาวิทยาลัยทำเข้าท่า คือยืดระยะเวลายืมหนังสือของห้องสมุดออกไปหลายเดือน เพราะเราเข้าไปคืนไม่ได้” เจมส์ให้ความเห็น
อีกเรื่องที่เจมส์ได้รับรู้จากเพื่อนนักศึกษา คือช่วงแรกที่มหาวิทยาลัยประกาศให้เรียนออนไลน์ ยังไม่มีระบบและคำสั่งชัดเจน ทำให้นักศึกษาหลายคนต้องเรียนบางวิชาในมหาวิทยาลัยอยู่ เมื่อมหาวิทยาลัยมีคำสั่งชัดเจนมากขึ้นให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ทั้งหมด เวลานั้นหลายพื้นที่ในภาคเหนือได้ล็อคดาวน์ไปแล้ว นักศึกษาหลายคนจึงกลับบ้านไม่ได้และติดอยู่หอพักช่วงเดือนนี้
เจมส์เห็นว่ากลุ่มนักศึกษาควรได้รับการเยียวยาในสถานการณ์นี้ เช่นมหาวิทยาลัยควรลดหรือคืนค่าเทอมบางส่วนให้นักศึกษา เพราะการเรียนที่บ้านเพิ่มรายจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตและค่าไฟฟ้าที่นักศึกษาเคยจ่ายพร้อมค่าเทอม หรือหากมองจากตัวของเขาเองซึ่งตอนเรียนปี 1-2 ไม่มีคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ต้องอาศัยใช้ของพื่อนหรือของมหาวิทยาลัย ทำให้เข้าถึงการเรียนได้ยากกว่าเดิม เขาคิดว่าน่าจะมีนักศึกษาตกอยู่สถานะเดียวกับเขาอีกจำนวนมากเช่นกัน เจมส์จึงเสนอว่ามหาวิทยาลัยควรจัดเตรียมอุปกรณ์บางส่วนให้นักศึกษายืมหรือจัดพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาเข้ามาใช้งานในมหาวิทยาลัย หากนักศึกษาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านการเรียนจริงๆ
พ้นจากมหาวิทยาลัยเมื่อมองภาพใหญ่ถึงมาตรการของรัฐที่เกิดขึ้นเพื่อเยียวยาคนไทยจากโควิด-19 เขากล่าวว่า “สำหรับเจมส์ คิดว่าวิกฤตครั้งนี้คนที่ได้รับผลกระทบคือทุกคน รัฐควรเยียวยาทุกคน ใครที่ไม่อยากรับให้ปฏิเสธไป ไม่ใช่ต้องพิสูจน์ความจน ว่าเราจนจริงๆ นะ ลำบากจริงๆ มันน่าจะมีมาตรการที่รองรับทุกคน เพราะทุกคนมีความจำเป็นมากขึ้น”
นอกจากนี้เจมส์ยังตั้งคำถามว่า “สถานการณ์ยากลำบากช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐป้องกันโควิดด้วยมาตรการอ่อนไปตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาดด้วยหรือเปล่า ? ตอนนี้สินค้าราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และไม่สมดุลกับตลาดที่ต้องการ รัฐไม่เข้ามาช่วยจัดการ รัฐไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีศักยภาพจัดการปัญหาอะไรได้ และไม่ฟังเจ้าหน้าที่ที่ทำงานจริงๆ รัฐควรทำอะไรที่สนับสนุนช่วยเหลือประชาชนจริงๆ แต่กลับกลายเป็นประชาชนช่วยกันเอง พึ่งตัวเอง พึ่งกันเอง เย็บหน้ากากกันเอง แจกหน้ากากกันเอง กลายเป็นว่ารัฐไม่ได้ทำงานที่เป็นของรัฐที่ต้องช่วยประชาชน มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน”
เจมส์ทิ้งท้ายไว้ด้วยความหวังว่าหลังจากนี้เขาคงต้องวางแผนชีวิตใหม่ หาทางขยับงานมาบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด แต่ยังคงต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เขาภาวนาว่าแผนชีวิตต่างๆ ของเขายังมีโอกาสเป็นไปตามตั้งใจไว้ได้
อ่านเรื่องราวของเจมส์และการต่อสู้คดีของเจมส์ เพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2VzE8yr