FIDH – สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและสมาชิกองค์กรอื่น ๆ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
แถลงข่าวร่วม
ประเทศไทย: ตัวเลขของผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มากถึง 200 คนแล้ว
(กรุงเทพฯ, ปารีส) วันที่ 17 มิถุนายน 2565: จำนวนผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดตามมาตรา 112 ซึ่งบัญญัติให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่มีความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ขณะนี้ได้มียอดถึง 200 คนแล้ว ในเวลาไม่ถึง 18 เดือน สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (FIDH) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าววันนี้ ซึ่งการจับกุม กักขัง และดำเนินคดี ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ โดยมุ่งเป้าไปที่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ชุมนุมมากมาย ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา รวมไปถึงบนพื้นที่ออนไลน์
“ด้วยอัตราการดำเนินคดีในปัจจุบัน และด้วยอัตราการตัดสินลงโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่สูงเป็นปกตินั้น ในไม่ช้าประเทศไทยอาจกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักโทษการเมืองจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค รัฐบาลไทยต้องยุติการแพร่ระบาดของการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยทันที และปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” Adilur Raman Khan เลขาธิการ FIDH
จากข้อมูลที่ศูนย์ทนายฯ ที่ได้รวบรวม ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ระบุว่า 201 บุคคล ในจำนวนนี้รวมเยาวชน 16 คน ถูกแจ้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ทำให้เสื่อมเสีย ดูหมิ่น หรือคุกคามพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บุคคลที่พบว่ามีความผิดในการละเมิดมาตรา 112 จะได้รับโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปีต่อกระทง จำเลยคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บางคนต้องเผชิญกับการดำเนินคดีหลายกระทงภายใต้มาตรา 112 และโดนตัดสินโทษจำคุกตั้งแต่ 120 ถึง 300 ปี
การฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และการจับกุมในระลอกปัจจุบันเริ่มขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศบังคับใช้ “ทุกกฎหมายและมาตรา” กับแกนนำนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย
จนถึงปัจจุบันที่มีการเขียนบทความฉบับนี้ มีประชาชนอย่างน้อยสี่คนที่ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ กำลังถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดี ได้แก่ สมาชิกทะลุวัง[1] ณัฐนิช [สงวนนามสกุล], เนติพร [สงวนนามสกุล]; สมาชิกภาคีสหาย[2] เวหา แสนชนชนะศึก ; และพลทหาร เมธิน (นามสมมติ) โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณัฐนิชและเนติพร ได้เริ่มอดอาหารเพื่อประท้วงต่อการลิดรอนเสรีภาพของพวกเขา นอกจากนี้ ประชาชนอีก 2 ราย ได้แก่ อัญชัญ ปรีเลิศ และ สมบัติ ทองย้อย ยังถูกจองจำหลังจากถูกตัดสินจำคุก 87 และ 6 ปี ตามลำดับ
กลไกการติดตามตรวจสอบสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN) จำนวนมากได้แสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่เพิ่มขึ้นของไทยและการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเข้มงวด และยังได้มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (WGAD) ได้ประกาศให้การลิดรอนเสรีภาพของผู้ต้องขังในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 9 คนเป็น “การกระทำโดยพลการ” เนื่องจากฝ่าฝืนบทบัญญัติหลายประการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ผู้ถูกคุมขังแปดคนดังกล่าวข้างต้นได้รับการปล่อยตัวหลังจากรับโทษ ขณะที่คนที่เก้า อัญชัญ ปรีเลิศ ยังคงถูกคุมขังต่อไป
การจับกุมและดำเนินคดีเยาวชนภายใต้มาตรา 112 นั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยมาตรา 13 (1) ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี กำหนดว่าเด็กมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับ และถ่ายทอดข้อมูลและความคิดในทุกรูปแบบ มาตรา 37 (b) ของ CRC ระบุว่าเด็กไม่ควรถูกลิดรอนเสรีภาพโดยพลการและควรใช้การจับกุม การกักขัง หรือการจำคุกเด็กเป็นมาตรการสุดท้าย
FIDH และ ศูนย์ทนายฯ ย้ำถึงการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยุติการจับกุม ดำเนินคดี และคุมขังประชาชนที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกอย่างสันติและชอบด้วยกฎหมาย FIDH และ ศูนย์ทนายฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้ ICCPR
[1] ทะลุวัง เป็นกลุ่มกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อตั้งเมื่อต้นปี 2565 โดยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 กลุ่มทะลุวังได้จัดกิจกรรมโพลสาธารณะในหลากหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบที่สถาบันฯ มีต่อชีวิตประชาชน และความต้องการปฏิรูปสถาบันฯ
[2] ภาคีสหาย เป็นกลุ่มกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาฑิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อตั้งเมื่อปี 2565 กลุ่มภาคีสหายเป็นที่รู้จักจากการจัดกิจกรรมรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
.
อ่านแถลงการณ์ >>> ฉบับภาษาอังกฤษ
ดูตาราง >>> สถิติคดีมาตรา 112
.