จากกรณีที่ นายเจริญชัย แซ่ตั้ง นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระมหากษัตริย์) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซึ่งอ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยึดอุปกรณ์สื่อสารและจับกุมตัวจากบ้านพักโดยนำตัวไปควบคุมต่อในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 จนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อนายเจริญชัยได้ ทั้งนี้ ญาติของนายเจริญชัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุคคโล ว่ามีการจัดทำบันทึกเชิญตัวโดยระบุเหตุที่ควบคุมนายเจริญชัยว่ามีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาแต่ยังมิได้ดำเนินคดี และแม้ญาติจะติดตามขอเข้าพบนายเจริญชัย ณ มทบ.11 ถึง 2 ครั้ง แต่กลับได้รับการปฏิเสธโดยไม่มีการชี้แจงอำนาจ เหตุและระยะเวลาในการควบคุมตัวแต่อย่างใด (อ่านต่อที่นี่)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ารูปแบบการจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐสามารถกล่าวอ้างการใช้อำนาจนั้นได้เพราะได้รับการรับรองไว้ให้ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 44 และโดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 กระบวนการควบคุมตัวบุคคลได้มากสุดถึง 7 วัน จึงกลายเป็นมาตรการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมโดยมิได้รับการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการ (อ่านต่อที่นี่) ยิ่งไปกว่านั้น กรณีที่มีการดำเนินคดีกับผู้ถูกควบคุมตัวในภายหลัง ข้อเท็จจริงที่ได้มาระหว่างการควบคุมดังกล่าวกลับถูกรวมเข้าในสำนวนการสอบสวน ซึ่งขัดต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
ศูนย์ทนายความฯ ขอย้ำว่า การกระทำดังกล่าวของรัฐเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจซึ่งอาศัยฐานที่มาแห่งกฎหมายจากการรัฐประหาร อันมีผลโดยตรงทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งขณะนี้อยู่ในที่ลับและไม่สามารถติดต่อบุคคลใดได้ เสี่ยงต่อการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่เลวร้ายอื่น ซึ่งศูนย์ทนายความฯ เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญโดยไม่สมัครใจอันละเมิดต่อตราสารระหว่างประเทศอย่าง ICCPR อย่างร้ายแรง และหากเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ยุติการปฏิบัติตามมาตรา 44 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 ยิ่งจะเป็นการจงใจละเลยต่อพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีด้วยการเปิดช่องว่างทางกฎหมายให้เกิดการควบคุมตัวโดยไม่ชอบตลอดทั้งไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลของการควบคุมตัว ยกเว้นการตรวจสอบและควบคุมโดยศาลและตัดสิทธิมิให้ผู้ถูกควบคุมตัวเรียกร้องความรับผิดและการชดเชยจากรัฐ
การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ควรถูกทำให้กลายเป็น “เรื่องปกติ” ที่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในสังคม และเพื่อยุติมิให้เกิดอาชญากรรมที่กระทำโดยรัฐและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้
1. เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวนายเจริญชัย แซ่ตั้ง โดยเร็วที่สุดและขอให้ผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวนายเจริญชัยชี้แจงถึงอำนาจและเหตุในการควบคุมตัวดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ทหารต้องรับผิดชอบชดเชยเยียวยาหากเกิดความเสียหายใดๆต่อสิทธิเสรีภาพของนายเจริญชัย
2. เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ การจับกุมและการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะอ้างอำนาจตามมาตรา 44 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559
3. ยกเลิกมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และคำสั่งที่ออกตามความในมาตราดังกล่าว โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน