(กรุงเทพมหานคร, กรุงปารีส) การจับกุม คุมขัง และดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ระลอกใหม่อาจส่งผลให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยได้รับโทษจำคุกรวมตั้งแต่ 120-300 ปี แจ้งเตือนจากรายงานของสมาพันธ์นานาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน (International Federation for Human Rights; FIDH) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights; TLHR) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (Internet Law Reform Dialogue; iLaw)
รายงานเรื่อง “ระลอกสอง: การกลับมาใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อีกครั้งในประเทศไทย”ได้บันทึกวิธีการที่รัฐบาลไทยใช้และตั้งข้อหาในทางมิชอบด้วยมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (“หมิ่นประมาทกษัตริย์”) เพื่อพุ่งเป้าเอาผิดนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยและผู้ประท้วงเนื่องจากการแสดงออกทางการเมืองในออนไลน์และการเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยโดยสันติ
มาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกแก่ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยผู้ที่ฝ่าผืนจะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปีต่อหนึ่งกระทง
“การดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์บ่อนทำลายอย่างรุนแรงต่อสิทธิว่าด้วยเสรีภาพ การพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องแสดงความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 ในทางมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลให้หลายคนถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมและเป็นเวลายาวนาน”
อดีล ราห์เมน คาน, เลขาธิการใหญ่แห่ง FIDH
หลังจากละเว้นการบังคับใช้มาตรา 112 ได้สองปี ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลไทยรื้อฟื้นมาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อตอบโต้การชุมนุมของฝ่ายประชาธิปไตยที่แพร่กระจายทั่วประเทศเกือบตลอดปี 2563 ในระหว่างการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนมากเหล่านี้ ผู้ชุมนุมได้ทำลายข้อต้องห้ามทางการเมืองไทยที่มีมาช้านานด้วยการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยตรงและเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ช่วงระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 มีบุคคลจำนวน 124 รายถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ในจำนวนนี้เป็นเด็ก (บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี) แปดราย ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวบุคคลอย่างน้อย 19 รายที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ยังคงมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่สองคน
กว่าครึ่งหนึ่งของการตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ต่อนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตย ผู้ประท้วง และบุคคลทั่วไปในช่วงเวลาข้างต้นนี้มาจากการแสดงออกทางออนไลน์ด้วยรูปแบบต่างๆ คดีมาตรา 112 มักเกิดจากการร้องเรียนโดยกลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ กลุ่มศาลเตี้ยออนไลน์ และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไป และจากปฏิบัติการด้านข่าวสารออนไลน์ (Information Operations; IOs) ของกองทัพไทยในบางกรณี
เจ้าหน้าที่ไทยยังคงตีความมาตรา 112 ออกไปอย่างกว้างขวาง และขยายความตัวบทออกไปจนถึงขั้นแปลกประหลาด ซึ่งส่งผลให้ประชาชนบางรายถูกตั้งข้อหามาตรา 112 เนื่องจากวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิดของรัฐบาล ใส่เสื้อครอปท็อป ดูหมิ่นกษัตริย์องค์ก่อน หรืออ้างถึงแถลงการณ์สหประชาชาติเรื่องมาตรา 112
ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลไกติดตามตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมากมายได้แสดงความกังวลต่อมาตรา 112 มาหลายครั้ง พร้อมทั้งประกาศว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ สมาชิกแห่งประชาคมระหว่างประเทศยังได้แสดงความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 อีกด้วย
รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้มาตรา 112 และประกันว่าประเทศไทยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ
อ่านเพิ่มเติม: https://www.fidh.org/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/27354
.