หลังจากเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 เวลา 14.30 น. ศาลปกครองสูงสุด นัดฟังคำพิพากษาคดีของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้อง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2558 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 เรื่องลงโทษไล่ออกจากราชการ และขอให้เพิกถอนการอุทธรณ์คำสั่งที่ ศธ. 0592(3)1.9/6266 สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา โดยอ้างเหตุแห่งการไล่ออกว่าเป็นการละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ย้อนอ่านคำฟ้อง >> ศาลปกครองกลางรับฟ้องสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
จากนั้น ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2559 ให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงโทษไล่ออกจากราชการ และเพิกถอนคำอุทธรณ์ของของ ก.พ.อ. ให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สมศักดิ์มีพฤติการณ์ที่จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ หรือละทิ้งหน้าที่ราชการเกิน 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร จึงไม่ถือว่าสมศักดิ์ได้กระทำความผิดวินัยร้ายแรง
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นคำอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นพ้องกับคำพิพากษาดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลหลายประการในคำวินิจฉัยคำพิพากษา ดังนี้
- คำพิพากษาที่ว่า “คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ คำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่เป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนได้เสีย จึงทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง ทำให้คำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะขาดสภาพความเป็นกลางได้”
- คำพิพากษาที่ว่า “การที่ผู้ฟ้องกล่าวว่าถูกข่มขู่ คุกคาม และอาจมีภัยอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ เนื่องจากเคยถูกปืนยิงใส่บ้านของผู้ฟ้อง รวมถึงถูกข่มขู่ จนไม่สามารถไปทำงานได้ เห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมากว่า 10 เดือน ก่อนที่จะมีหนังสือให้ผู้ฟ้องกลับมาทำงาน (ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2558) แต่ว่าก็ไม่ได้ปรากฏถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่สามารถใช้กรณีนี้อ้างได้ว่าไม่สามารถกลับมาทำงานได้ ส่วนภัยคุกคามจากคณะที่เข้ามายึดการปกครอง ผู้ฟ้องจะต้องต่อสู้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้”
- และสุดท้าย คำพิพากษาที่ว่า “การที่ผู้ฟ้องไม่มาปฏิบัติราชการตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย เห็นว่า ผู้ฟ้องจงใจไม่ทำตามระเบียบทางราชการ เป็นประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไปดำเนินการตามระเบียบต่อไป”
ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และผู้ถูกฟ้องที่ 2 ก็ยื่นคำอุทธรณ์ด้วยเช่นกัน
วันที่ 11 ส.ค. 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีนัดฟังคำพิพากษา ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 เวลาประมาณ 14.35 น. มีทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี เดินทางมาฟังคำพิพากษา ส่วนผู้ถูกฟ้องทั้งสองทราบนัดแล้ว แต่ไม่มาศาล ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเฉพาะส่วนวินิจฉัยคดี
ประเด็นต้องวินิจฉัยประเด็นแรก ผู้ฟ้องคดีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ และการปฏิบัติตามคำสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฏหมายหรือไม่
เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขออนุมัติไปปฏิบัติงานในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2557- 31 ก.ค. 2558 ถึงแม้ว่าหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปศาสตร์จะพิจารณาแล้วเห็นว่าควรอนุมัติตามคำขอได้ แต่เป็นการพิจารณาความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ แต่เมื่อรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการได้มีหนังสือแจ้งคณบดีคณะศิลปศาสตร์ยุติการขอลาไปปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี ถือว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยังไม่ได้อนุมัติตามคำขอ
จากนั้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 หัวหน้าภาควิชาฯ เรียกให้ผู้ฟ้องกลับมาปฏิบัติราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ ลงวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ซึ่งในระหว่างการลาออกยังไม่มีผล ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่จะต้องอยู่ปฏิบัติราชการไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ลาออก หรือครบสามสิบวันนับแต่วันที่ยื่นขอลาออก แต่ผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้กลับมาปฏิบัติราชการอีกเลย
อีกทั้งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นเรื่องขอลาประเภทอื่นไว้ เป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวัน และมีพฤติการณ์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการและการปฏิบัติตามคำสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัย คือ การที่ผู้ฟ้องละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวันมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าถูกข่มขู่คุกคาม โดยถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่บ้านพักซึ่งเป็นภัยอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ ซึ่งเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ 12 ก.พ. 2557 ซึ่งเหตุนั้นได้เกิดและสิ้นสุดลงแล้ว อีกทั้งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชี้แจงให้ศาลเห็นว่ายังมีเหตุอื่นใดที่มีความจำเป็นถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถกลับมาปฏิบัติราชการได้
ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าถูกออกหมายจับกรณีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องที่ต้องไปต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมต่อไป การที่อ้างว่าไม่มาปฏิบัติราชการเนื่องจากมีประกาศกฎอัยการศึกและเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังไม่ถือว่าเป็นเหตุอันสมควรที่จะไม่มาปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีรับราชการมานานย่อมทราบดีว่าหน้าที่สำคัญคือการมาปฏิบัติราชการ
ดังนั้น พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัย คือ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชกาาร และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีถูกกองทัพบกอันเป็นส่วนสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมถือว่า คสช. เป็นปฏิปักษ์กับผู้ฟ้องคดี และเมื่อ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) เป็นผู้ออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. และ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เป็นประธานในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งผู้ฟ้องคดี อีกทั้งเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีเหตุทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง
เห็นว่า การแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นการแต่งตั้งคณะบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งในภาควิชาการได้มีการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 9 คน ไม่ได้แต่งตั้งเพียง ดร.สมคิด เท่านั้น ส่วนการดำเนินการทางวินัยได้ทำตามขั้นตอนและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และต้องรายงานการดำเนินการทางวินัยให้สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาถึงความถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม เพื่อเป็นการตรวจสอบกลั่นกรองอีกขั้นหนึ่ง
ส่วนกรณี พลเรือเอกณรงค์ นั้นเห็นว่า ในการประชุมพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมด และการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก และถ้าหากเสียง ดังนั้นการที่ ดร.สมคิด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ พลเรือเอกณรงค์ เป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. ยังไม่ถือว่าเป็นเหตุให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
จากการวินิจฉัยพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการอันเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีดุลยพินิจสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยอาศัยเหตุผลเดียวกัน ก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และเพิกถอนคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง
ตุลาการผู้พิจารณาคดีนี้ ได้แก่ ศิริวรรณ จุลโพธิ์, อนุพงศ์ สุขเกษม, ฤทัย หงส์สิริ, ภิรัตน์ เจียรนัย และ วชิระ ชอบแต่ง
หรืออ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม บนเว็บไซต์ศาลปกครอง
ทั้งนี้ การพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกไล่ออกจากราชการตามคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 358/2558 ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดเลย อย่างเช่น บำเหน็จบำนาญราชการ ทั้งที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเป็นอาจารย์มาอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 20 ปี ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งเหตุจำเป็นถึงชีวิตทำให้ต้องลี้ภัยหลังเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มิใช่การทุจริตคอรัปชั่น หรือการประพฤติผิดกฎหมายแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม >> สรุปคำแถลงตุลาการผู้แถลงคดี ทำไม ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ ไม่ควรถูกไล่ออก | ประชาไท Prachatai.com
อ่านความเห็นโต้แย้งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดของ ดร.พัฒน์พงศ์ อมรวัฒน์
ด้าน ภาวิณี ชุมศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ได้ให้ความเห็นหลังจากศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ว่า ทางทนายได้ให้การว่าอาจารย์สมศักดิ์มีความจำเป็นที่จะไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เนื่องด้วยเหตุที่มีภัยอันตรายถึงชีวิต เมื่อมหาวิทยาลัยเรียกให้กลับมาทำงานนั้น ก็ไม่สามารถกลับมาทำงานได้ จึงเลือกที่จะยื่นหนังสือลาออก มิได้มีเจตนาที่จะหลีกหนีงานราชการขาดงานกว่าสิบห้าวัน
เมื่อครั้งที่ยื่นอุทธรณ์ไปเราให้เหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดสมศักดิ์จึงไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ แต่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าเมื่อยื่นหนังสือลาออกแล้ว ก็ยังไม่มาปฏิบัติราชการขาดงานเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นความผิดวินัยร้ายแรง
และคำสั่งลงโทษไล่ออกชอบด้วยกฎหมายแล้วดุลยพินิจคำสั่งลงโทษไล่ออกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคำยกอุทธรณ์ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้นคิดว่าไม่เป็นธรรม เพราะว่ามีส่วนได้เสียกับเรื่องดังกล่าว กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยก็สามารถพิจารณาใบลาออกของสมศักดิ์ได้ แต่ไม่ได้ทำในส่วนนี้ ถ้าหากมหาวิทยาลัยอนุมัติการลาออก สมศักดิ์จะได้รับสิทธิและสวัสดิการของข้าราชการ แต่การลงโทษไล่ออกทำให้ไม่ได้สิทธิประโยชน์ใดๆ
ลำดับเหตุการณ์ที่นำมาสู่ในคดีนี้พอสังเขป
10 ธ.ค. 2553 | สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ร่วมอภิปรายในงานเสวนาวิชาการจัดโดยคณะนิติราษฎร์ หัวข้อ “สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิไตย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเหตุให้เริ่มถูกคุกคาม อาทิ ถูกชายชุดดำขี่มอเตอร์ไซค์มาคอยติดตามความเคลื่อนไหว มีโทรศัพท์ไปถึงบ้านพักส่วนตัว |
11 พ.ค. 2564 | สมศักดิ์ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ม.112 ที่ สน.นางเลิ้ง โดยมีกองทัพบกเป็นผู้กล่าวหา จากกรณีเขียนจดหมายเปิดผนึกลงเฟซบุ๊กถึง เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ วิพากษ์วิจารณ์กรณีให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ |
ช่วงเดือนมีนาคม 2556 | หลังรายการตอบโจทย์ประเทศไทย จัดรายการพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ส.ศิวรักษ์ เข้าร่วม ได้ถูกกลุ่มบุคคลบุกประท้วงที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แสดงออกคัดค้าน และมีการไปแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 |
6 ก.พ. 2557 | รองโฆษกกองทัพบกให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าจะให้ฝ่ายกฎหมายกองทัพตรวจสอบใช้มาตรการทางสังคมกดดันสมศักดิ์ |
12 ก.พ. 2557 | สมศักดิ์ ถูกคนร้าย 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงกระหน่ำเข้ามาในบ้าน และปาระเบิดขวดซึ่งจุดไฟไม่ติดเข้ามาในบ้าน |
16 พ.ค. 2557 | สมศักดิ์ยื่นหนังสือขอไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2557 ถึง 31 ก.ค. 2558 |
22 พ.ค. 2557 | เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว ซึ่งสมศักดิ์ เป็นหนึ่งในรายชื่อดังกล่าวด้วย โดยที่สมศักดิ์ไม่ยอมรับอำนาจการรัฐประหาร จึงไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง |
18 ธ.ค. 2557 | คณะศิลปศาสตร์ มธ. เรียกให้สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติหน้าที่ |
19 ธ.ค. 2557 | สมศักดิ์ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ |
26 ธ.ค. 2557 | คณะศิลปศาสตร์ มธ. ส่งหนังสือให้สมศักดิ์กลับมาทำงานโดยด่วน |
23 ก.พ. 2558 | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกคำสั่งที่ 356/2558 ลงโทษไล่สมศักดิ์ออกจากราชการ เนื่องจากจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ และขาดการปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวัน นับตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2557 |
16 มี.ค. 2558 | สมศักดิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.พ.อ. |
9 มิ.ย. 2558 | ก.พ.อ. ยกอุทธรณ์ เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว |
4 ก.ย. 2558 | สมศักดิ์ ยื่นฟ้อง มธ. และ ก.พ.อ. ต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ และเพิกถอนคำอุทธรณ์ของ ก.พ.อ. |
1 มี.ค. 2559 | ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกหลังจากที่ยื่นคำฟ้อง |
11 เม.ย. 2559 | ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ และเพิกถอนคำสั่งของ ก.พ.อ. |
10 พ.ค. 2559 | ผู้ฟ้องคดี รวมถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด |
11 ส.ค. 2566 | ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นยกฟ้อง เป็นอันสิ้นสุดคดี |