บันทึกเยี่ยมวารณี : ทำงานเสียภาษี ดีกว่าอยู่ในนี้

วันที่สามของการสูญเสียอิสรภาพ วันนี้ (30 มิ.ย. 2566) ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน “วารุณี” ในคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ภาพ พระแก้วมรกตทรงชุดราตรีแบรนด์ Sirivannavari ขณะ ร.10 กำลังเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูกาล หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษเธอ 1 ปี 6 เดือน เมื่อสองวันก่อนหน้านี้ ทำให้เธอต้องถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

หนูไม่เคยจะหลบหนีอะไรเลย ทำไมถึงไม่ให้ประกันไม่เข้าใจ

คำสั่งไม่ให้ประกันระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูงจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง”

วารุณีได้รับทราบคำสั่งผ่านทนายความ  “ขนาดคดีร้ายแรงกว่านี้ยังได้ประกันเลยใช่ไหมคะ” เธอถามกลับมา เรายืนยันว่าใช่ 

“อีกไม่กี่วันก็จะต้องลงมาอาบน้ำด้านล่างแล้วหนูบอกตรงๆ นะว่าหนูเครียด คิดว่าตัวเองไม่ได้มีอาการมาก เพียงแต่รู้ว่าตัวเองเครียดที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน หนูไม่เคยจะหลบหนีอะไรเลยทำไมถึงไม่ให้ประกันไม่เข้าใจ”

.

เราอธิบายถึงเหตุตามกฎหมายที่ศาลสามารถไม่อนุญาตให้เธอประกันตัวได้ “เกรงว่าจะหลบหนี” เป็นหนึ่งในเหตุผลตามกฎหมาย แต่การให้เหตุผลตามกฎหมายนั้น ก็จำเป็นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคดีก่อน ซึ่งในคดีของเธอ ความจริงแล้วก็ไม่มีข้อเท็จจริงอะไรที่จะเป็นเหตุให้ศาลมาพิจารณาได้เลยว่าเธอจะหลบหนี 

.

เธอถูกจับที่บ้าน เธอได้ประกันตัวตั้งแต่ชั้นสอบสวน และเธอก็มาตามนัดของตำรวจ อัยการและศาลโดยตลอด เธอถูกดำเนินคดี 112 เป็นครั้งแรก และเธอรับสารภาพ ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน เพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลจะเอามาพิจารณาว่าเธอจะ “หลบหนี” ได้

.

เราสอบถามถึงความเป็นอยู่ของเธอ เธอเรียนจบแพทย์แผนไทยประยุกต์ แต่ไม่ได้ทำงานตรงสาย ด้วยมีภาระในการเลี้ยงดูน้องสาว ช่วยผ่อนบ้านให้น้องชาย ส่งเงินให้พ่อรายเดือน ผ่อนค่ารถ ค่าคอนโด และจ่ายค่ายารักษาตัวรายเดือนรวมกันหลายหมื่นบาท

กฎหมายมาตรา 112 กว้างเกินไปหรือเปล่า

เราถามความเห็นเธอต่อมาตรา 112  “มาตรา 112 เป็นมาตราที่ต้องแก้ไข แค่หนูโพสต์รูปๆ เดียว โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ท่านเสื่อมเสียหรืออาฆาตมาดร้าย แต่หนูโดนแบบนี้ หนูอาจจะทำผิดก็จริง อาจจะทำให้หลายคนไม่พอใจ แต่ลงโทษเกินไปหรือเปล่า เดือนๆ หนูมีภาระเยอะมากอยู่บนบ่า ตอนนี้หนูไม่ได้ทำงาน น้องสาวหนูก็ยังไม่ได้งาน เป็นผลกระทบที่มันกว้างมาก”

.

วารุณีเป็นคนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมหรือมีบทบาททางการเมือง เธอมีชุมชนเพื่อนๆ อยู่ในเพจ “น้องง”

.

“เป็นกลุ่มที่ make fun กับทุกเรื่อง” ภาพที่เธอโพสต์นำมาจากกลุ่มดังกล่าว

.

“จริงๆ หนูไม่ใช่คนตัดต่อด้วยซ้ำ มันขนาดนั้นเลยเหรอพี่ หนูไม่ใช่คนตัดต่อและภาพก็ไม่ได้ตัดต่อที่ท่าน แล้วคือกฎหมายกว้างไปหรือเปล่าควรถูกพิจารณา ท่านอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ยิ่งทำแบบนี้ยิ่งเสื่อมมันควรแก้ไขจริงๆ ค่ะ”

.

หนูสามารถออกไปทำงานแล้วเสียภาษีให้ประชาชน อยู่ในนี้แค่นอนรอให้เวลาผ่านไป

.

ก่อนหน้านี้เรื่องที่คิดว่ามีผลกระทบกับตัวเธอมากที่สุดคือ “เรื่องแม่เสียค่ะ แม่เสียก่อนที่จะเรียนจบ”  จนเจอเรื่องนี้ “หนูคิดว่าหนูยังไหว แต่รู้สึกว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน หนูยังมีภาระอีกตั้งเยอะ แล้วแบบภาระอยู่บนบ่าหนูตั้งเยอะอ่ะ แล้วน้องๆ หนูอ่ะ”

“ในชีวิตอ่ะ ไม่เคยทำเรื่องอะไรที่มันแบบเลวร้ายขนาดตัวเองจะต้องมาติดคุกนะคะ แบบคนอื่นเจอแต่คดีใหญ่ๆ ฉ้อโกงนู่นนี่นั่นยังได้ประกัน แต่คดีหนู…..ก็คงใหญ่แหละในสายตากับใครหลายๆ คน”

“ตอนนี้หนูไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากนอนกินภาษีประชาชน หนูสามารถออกไปทำงานแล้วเสียภาษีให้ประชาชน อยู่ในนี้แค่นอนรอให้เวลาผ่านไปแค่นั้น  มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยค่ะ”

“ตอนแรกหนูนึกว่าจะได้ออกวันนี้ ทุกคนในนี้บอกว่าหนูจะได้ออก  หนูยังเข้มแข็งอยู่ เพราะว่าหนูยังเชื่อกระบวนการยุติธรรม หนูยังไม่ร้องไห้เพราะเชื่อว่าจะได้ออกไปเป็นพลเมืองดีของประเทศไทยเหมือนเดิมค่ะ 

“สิ่งที่หนูทำไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นจะต้องติดคุก มานั่งกินภาษีของประชาชนอยู่เปล่าๆ หนูสามารถออกไปทำงานเสียภาษีมากกว่ามาติดคุกแบบนี้ หนูยังเชื่อมั่นในศาล”

“หนูไม่ได้มีเจตนาร้าย และไม่เคยคิดว่าชีวิตต้องพังเพราะรูปๆ เดียว”

อยู่ที่นี่ไม่มีคำว่าร่างกายเรา (และไม่มีคำว่าส่วนตัว)

“ถ้าศาลไม่ให้ประกัน ชีวิตหนูคงจบสิ้น หนูต้องเอาผมออก ไม่อยากไม่สวย” เราแลกเปลี่ยนว่าเราถูกขังอยู่จริง แต่ “ผม” ก็คือร่างกายเรา  

“อยู่ที่นี่ไม่มีคำว่าร่างกายเราเลย ขนาดขอยายังทำได้วันละ 5 คน”  เราขอให้เธออธิบายเพิ่มเรื่องยาวันละ 5 คน “ถ้าวันหนึ่งมีคนขอยาเกินห้าคนในห้องก็จะไม่ได้ อย่างคืนนี้หนูต้องเบรครับยานอนหลับละ ให้คนที่เขาป่วยมากกว่า” 

เธอบอกว่าในห้องที่ขังเธอมีคนอยู่ตอนนี้ยี่สิบกว่าคน หากมีคนขอยาในห้องหนึ่งๆ จะได้ไม่เกินห้าคน คืนก่อนหน้าเธอนอนหลับได้ไม่ลึก ได้ยินเสียงตลอด คนไอ คนคุยกัน เธอจึงขอยานอนหลับ

.

เมื่อได้ยินเรื่องยา เจ้าหน้าที่ที่ฟังการสนทนาอยู่ด้วย พยายามเข้ามาชี้แจงว่ายายังไม่ได้ เพราะอาจจะต้องรอพบแพทย์ก่อน (หมายถึงยาประจำตัวของวารุณี ที่ทนายความฝากเข้าไปให้ตั้งแต่เมื่อวาน) 

เราไม่ได้ติดขัดเรื่องยา แต่การเข้ามาแทรกบทสนทนาของเจ้าหน้าที่ ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การสนทนาระหว่างทนายความและลูกความนั้นไม่ได้ถูกเคารพถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวตามที่ควรจะเป็น

X