ศาลยกคำร้อง กรณีไผ่ขอให้ศาลสั่งปล่อยตัว เนื่องจากถูกขังเกินกำหนดโทษในคดีแล้ว ก่อนสืบพยานช่างภาพ ระบุ ถูกห้ามบันทึกภาพขณะดาวดินถูกจับกุม ส่วนดีวีดีบันทึกภาพ ซึ่งเป็นวัตถุพยานในคดี ทหารเป็นผู้ขอไป พยานไม่ได้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนเอง
20 พ.ย. 60 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร จังหวัดขอนแก่น นัดสืบพยานโจทก์คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน หมายเลขคดีดำที่ 61/2559 ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จากกรณีนักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 ราย ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ในวันครบรอบ 1 ปี การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น บรรยากาศการสืบพยานโจทก์มีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังและให้กำลังใจ ไผ่ จตุภัทร์ ประมาณ 20 คน
ศาลขึ้นพิจารณาคดีเวลาประมาณ 10.30 น. พยานโจทก์ที่นัดไว้ 2 ปาก มาศาลเพียง 1 ปาก คือ นายราชา ถิ่นทิพย์ ช่างภาพของสำนักข่าว Thai PBS ส่วนอีกปากคือ พ.ต.ท. นรวัฒน์ คำพิโล ซึ่งเป็นชุดจับกุมจำเลยในวันเกิดเหตุ ไม่มาศาลโดยไม่ทราบเหตุขัดข้อง แต่โจทก์ยังความประสงค์จะนำพยานปากนี้เข้าเบิกความอยู่ เนื่องจากเป็นพยานสำคัญในคดี ศาลจึงให้เลื่อนสืบพยานปากนี้ไปในนัดหน้า พร้อมกับ พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวน ในวันที่ 22 ม.ค. 61
ก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลได้ไต่สวนคู่ความประกอบคำร้องของจำเลยที่ยื่นเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 60 ที่ขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจำเลย เนื่องจากจำเลยถูกคุมขัง ระหว่างพิจารณาเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด (6 เดือน) แล้ว จากการไต่สวนได้ความว่า จำเลยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดีรวม 7 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมา นายประกันขอถอนประกันเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 60 ซึ่งศาลได้ออกหมายขังระหว่างพิจารณานับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน เพื่อจะได้มีตัวจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาคดีในอำนาจของศาล ทั้งนี้ จำเลยต้องโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 59 และเนื่องจากโจทก์ได้มีคำขอแก้ฟ้อง ซึ่งศาลอนุญาตโดยระบุว่า จำเลยไม่ได้ถูกคุมขังในคดีนี้ แต่ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่นดังกล่าว กับขอให้ศาลนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณาได้จนกว่าศาลจะได้เพิกถอนโดยออกหมายปล่อยหรือหมายจำคุกแทน ประกอบกับในมาตรา 22 แห่งประมวลกฎหมายอาญากำหนดว่า โทษจำคุกให้นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องหาถูกคุมขังก่อนพิพากษา ให้หักวันคุมขังออกจากโทษจำคุก เว้นแต่คำพิพากษาจะกล่าวเป็นอย่างอื่น
ดังนั้น การคุมขังในคดีนี้ นับแต่วันที่ 27 มี.ค. 60 เป็นต้นมา จึงเป็นการคุมขังในระหว่างพิจารณาที่ทับซ้อนกับโทษจำคุกในคดีของศาลจังหวัดขอนแก่น และเมื่อโจทก์ได้มีคำขอมิให้หักวันคุมขังในระหว่างต้องโทษจำคุกออกจากโทษในคดีนี้ ดังนั้น หากคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาจำคุกจำเลย ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวเนื่องจากถูกคุมขังมาพอแก่โทษจำคุกในคดีนี้แล้ว จึงยังไม่อาจรับฟังได้ในเวลานี้ จึงให้จำเลยมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวอีกครั้งเมื่อจำเลยพ้นโทษจำคุกตามหมายจำคุกของศาลจังหวัดขอนแก่นแล้ว และได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยยื่นเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 60
ด้านไผ่ จตุภัทร์ แถลงต่อศาลว่า ในทางปฏิบัติจำเลยต้องได้รับการประกันตัว แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่ได้ให้ตนได้รับสิทธิการประกันตัวในคดี 112 ดังนั้นตนจึงควรถูกนับโทษตั้งแต่ถอนประกันแล้ว มิเช่นนั้นจะทำให้ตนในฐานะจำเลยเสียสิทธิ
.
.
ต่อมา อัยการทหารนำนายราชา ถิ่นทิพย์ เข้าเบิกความ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
พยานเป็นผู้บันทึกภาพการจัดกิจกรรมของนักศึกษาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น โดยกลุ่มนักศึกษาได้มีการชูป้ายในวันครบรอบ 1 ปี ของการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในวันที่ 22 พ.ค. 58 เวลาประมาณ 13.00 น. พยานจากศูนย์ข่าวว่าจะมีกลุ่มนักศึกษาประมาณ 10 คนมาชูป้าย จึงได้มารอเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ โจทก์ขออนุญาตเปิดแผ่นดีวีดีที่บันทึกภาพเหตุการณ์ให้คู่ความและพยานดู แต่เกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถเปิดจนจบ พยานยืนยันว่าเป็นข้อมูลภาพที่พยานเป็นผู้บันทึกไว้ในวันเกิดเหตุ
พยานทำงานที่สำนักข่าว Thai PBS เป็นเวลา 10 ปี เคยบันทึกภาพเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 53 และปี 57 ซึ่งลักษณะไม่เหมือนกับเหตุการณ์ในคดีนี้ ในวันเกิดเหตุนักศึกษาไม่มีการตั้งเวทีปราศรัย
พยานเคยไปทำข่าวของจำเลยเกี่ยวกับการช่วยเหลือชาวบ้าน เช่น เรื่องเหมืองทองเมืองเลย เรื่องสัมปทานปิโตรเลียม เรื่องการสร้างเขื่อน และเรื่องที่ดินทำกิน พยานทราบว่าจำเลยเคยได้รับเหรียญรางวัลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเยาวชนต้นแบบจากรายการฅนค้นฅน
ภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุที่พยานบันทึกไว้เจ้าหน้าที่ทหารได้ขอไป แต่พยานไม่ได้ส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวนในคดีนี้แต่อย่างใด ส่วนจะมีการส่งภาพของผู้บันทึกภาพข่าวอย่างอื่นในวันเกิดเหตุให้กับพนักงานสอบสวนหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
พยานไปรออยู่ที่เกิดเหตุก่อนการจัดกิจกรรม เห็นเจ้าหน้าที่ประมาณ 20 นาย และเห็นเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับนักศึกษาหลังจากที่นักศึกษาเริ่มทำกิจกรรม โดยกลุ่มนักศึกษาแจ้งว่า ขอชูป้ายและทำกิจกรรมสักครู่ เจ้าหน้าที่ยินยอมสักครู่หนึ่งจึงเข้าทำการจับกุม
พยานทราบว่า พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี เป็นเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มนักศึกษา และเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ฝ่ายข่าว
คำพูดของนักศึกษาตามที่ปรากฏในภาพข่าวของพยานที่ว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ พยานไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และคำพูดอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และปัญหาชาวบ้าน พยานก็ไม่ขอให้ความเห็น
หลังกลุ่มนักศึกษาชูป้ายและกางผ้าที่มีข้อความแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ยืนดูอยู่ได้เข้าไปขอยึดป้ายและแผ่นผ้า แต่นักศึกษาแสดงอาการไม่ยินยอม ขณะมีการจับกุมและนำตัวนักศึกษาออกจากพื้นที่ พยานไม่เห็นเหตุการณ์ พยานพยายามจะบันทึกภาพในขณะนั้น แต่ถูกเจ้าหน้าที่กันและนําตัวออกจากพื้นที่
ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่ทหารแต่งชุดสีเขียวมาคอยกำกับการจับกุมนักศึกษาในวันนั้นหรือไม่ พยานจำไม่ได้ และจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารในเครื่องแบบใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขณะเกิดเหตุในคดีนี้หรือไม่ พยานไม่เห็นและไม่ได้บันทึกภาพไว้
ภาพถ่ายที่โจทก์อ้างส่งแก่ศาล พนักงานสอบสวนได้เอามาให้พยานดูเพื่อยืนยันว่าเป็นภาพกิจกรรมของนักศึกษาในวันเกิดเหตุจริงหรือไม่ ซึ่งพยานไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นผู้บันทึกภาพดังกล่าวเองหรือไม่
.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย
ศาลทหารสอบคำให้การ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นัดตรวจพยานหลักฐาน 27 ตุลาฯนี้ ก่อนได้ประกันตัว 1 หมื่นบาท