เลื่อนตรวจพยานหลักฐานคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ”-ศาลทหารให้ประกันตัว “โรม” โดยมีเงื่อนไข

ศาลทหารขอนแก่นเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ออกไปก่อนจนกว่าจะถามคำให้การของรังสิมันต์ โรม แล้วเสร็จ ด้านไผ่ จตุภัทร์ เผย ICCPR เป็นกลไกสำคัญ แต่กลับใช้ไม่ได้จริงในประเทศนี้

 

วันนี้ (23 มี.ค.61) ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร จังหวัดขอนแก่น นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีจัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ” โดยในช่วงเช้า เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่นได้นำตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” มาเพื่อขึ้นศาล พร้อมกับจำเลยในคดีเดียวกันอีก 7 ราย ประกอบด้วยนายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และนายชาติไท น้อยอุ่นแสน นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ นายอาคม ศรีบุตตะ และนายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน น.ส.ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ และ น.ส. ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลได้เริ่มขึ้นบัลลังก์ ก่อนเริ่มตรวจพยานหลักฐาน อัยการทหารได้ยื่นแถลงต่อศาลว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องนายรังสิมันต์ โรม จำเลยในคดีพูดเพื่อเสรีภาพ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 17/2561 เนื่องจากจำเลยถูกฟ้องในความผิดเดียวกันกับจำเลยทั้ง 8 ในคดีนี้ และพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว จึงขอเลื่อนตรวจพยานหลักฐานที่นัดไว้ในวันนี้ออกไปก่อน เมื่อศาลทหารได้นัดถามคำให้การจำเลยในคดีนี้เสร็จแล้ว โจทก์จะได้แถลงต่อศาล ขอให้รวมการพิจารณาทั้ง 2 คดีนี้เข้าด้วยกัน ด้านทนายจำเลยไม่ติดใจค้าน ศาลจึงพิจารณาอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน แต่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดพิจารณา หลังจากนัดถามคำให้การนายรังสิมันต์ โรม เสร็จแล้วจึงจะกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไป โดยกำหนดนัดสอบคำให้การของรังสิมันต์ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2561

ต่อมา ศาลทหารได้ให้ทนายจำเลยส่งพยานเอกสารพร้อมกับบัญชีพยาน โดยศาลให้เหตุผลว่าจะขอตรวจสอบก่อน ว่าเอกสารที่ยื่นมาตรงกับบัญชีที่ยื่นหรือไม่

ด้านทนายจำเลยได้ตั้งข้อสังเกตหลังจากยื่นพยานเอกสารพร้อมกับบัญชีพยานว่า ในวันนี้การตรวจพยานหลักฐานได้เลื่อนออกไป ดังนั้นตามมาตรา 173/2 พยานเอกสารจะต้องส่งในวันตรวจพยานหลักฐาน แต่ในวันนี้ศาลทหารได้สั่งให้ยื่นพยานเอกสารก่อน อีกทั้งการยื่นพยานเอกสารในวันนี้ศาลไม่ได้ระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาอีกด้วย

ด้านนายจตุภัทร์ กล่าวว่า ในขณะที่ ICCPR หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นกติกาสากลระหว่างประเทศที่เป็นกลไกสำคัญ และประเทศไทยได้เป็นภาคีในสัญญาดังกล่าว แต่ ICCPR กลับใช้ไม่ได้จริงในประเทศนี้ ทั้งที่กฎหมายหลายบทก็ขัดกับสิทธิมนุษยชนเยอะมาก แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

นอกจากนี้ ขณะที่จำเลยทั้ง 8 รายอยู่ในห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวนายรังสิมันต์ โรม ขึ้นรถทหารเพื่อไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จ.ขอนแก่น หลังจากถูกอัยการทหารสั่งฟ้องคดี จากนั้นทนายความได้ยื่นเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลทหารขอนแก่น โดยวางเงินประกันเป็นหลักทรัพย์ 10,000 บาท และศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีการกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามชุมนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือ หรือด้วยวิธีอื่นใด อันก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. รังสิมันต์จึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ โดยมีประชาชนมารอให้กำลังใจที่หน้าเรือนจำประมาณสิบห้าคน

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ นับเป็นกิจกรรมเดียวที่ถูกดำเนินคดี และมีนักสิทธิมนุษยชนที่เข้าสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิถูกดำเนินคดีด้วย กิจกรรมมีการเล่นดนตรีบรรเลงเพลงจากวงดนตรี มีการเปิดเวทีนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและนักศึกษาที่ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาชุมชนต่างๆ ได้มีพื้นที่ได้พูดคุยอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญและแลกเปลี่ยนปัญหาในพื้นที่ ในบรรยากาศที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่จัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่อื่นๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

10 ผู้ต้องหาพูดเพื่อเสรีภาพปฏิเสธข้อหา เห็นว่าการพูดเรื่องรัฐธรรมนูญและประชามติเป็นเสรีภาพ

ตำรวจสั่งฟ้อง 10 ผู้ต้องหาคดี “พูดเพื่อเสรีภาพฯ” นัดส่งตัวให้อัยการศาลทหาร

ศาลทหารรับฟ้องคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” ศาลให้ประกันจำเลย 7 คน คนละหมื่นบาท

 

 

X