ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพในช่วงประชามติ เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่ออนุฯ สิทธิพลเมือง กสม. ประธานอนุฯ เห็นด้วยเสนอรัฐบาลเลิกดำเนินคดี
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 59 ตัวแทนชาวบ้านจาก จ. หนองบัวลำภู และ จ.อุดรธานี ที่ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมศูนย์ปราบโกงประชามติ รวมทั้งนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ เดินทางมาพบนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมทั้งอนุกรรมการฯ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 59 มีกลุ่มประชาชน นักศึกษา และนักกิจกรรม ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเกี่ยวกับประชามติ ได้ยื่นหนังสือ ถึงประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง เรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจับกุมและดำเนินคดีแก่ประชาชนผู้รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงเรียกร้องให้ กสม.ทำความเห็นเสนอต่อรัฐบาล คสช. เพื่อให้ยกเลิกการดำเนินคดี ดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความเป็นธรรม และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอีกต่อไป ในเมื่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านพ้นไปด้วยดีแล้ว
นายสนิท สมงาม อายุ 70 ปี หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จากกรณีจัดกิจกรรมเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.หนองบัวลำภู เล่าว่า ตนและนายสุวาจิตร คำป้อง ถูกกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.หนองบัวลำภู เรียกตัวเข้าพบก่อนวันเปิดศูนย์ปราบโกงฯ และพูดข่มขู่ให้เซ็นข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ตนและนายสุวาจิตรจึงจำเป็นต้องยุติกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ของจังหวัดหนองบัวลำภู แต่ปัจจุบันตนยังถูกดำเนินคดี และยังถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังมีชาวบ้านอีกหลายคนในหลายจังหวัดที่ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมดังกล่าว จึงเดินทางมาเพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริงในวันนี้
ด้านจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน กล่าวว่า เรายืนยันว่าประชาชนที่ออกมารณรงค์เกี่ยวกับมติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผิด เพราะมันเป็นสิทธิทางการเมืองที่เราต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเราควรมีสิทธิเสรภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นได้ ยิ่งเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญยิ่งต้องให้ความสำคัญดังนั้นประชาชนไม่ควรถูกดำเนินคดี แต่ในทางกลับกันประชาชนที่ออกมารณรงค์กลับถูกดำเนินคดีและต้องขึ้นศาลทหาร อีกทั้ง กสม. เคยบอกว่าจับกุมและดำเนินคดีเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราจึงอยากให้ทาง กสม.ทำความเห็นต่อรัฐบาลให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับประชามติ
ทั้งนี้ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กล่าวว่า จากหนังสือร้องเรียนที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบยื่นให้ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจับกุมและดำเนินคดีกับประชาชนในช่วงประชามติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีการกระทำที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การจับกุมโดยใช้กำลังเกินสมควรแก่เหตุ หรือมีการข่มขู่คุกคามไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้น วันนี้อนุฯ ลงมารับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้น และต้องเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงด้วยเช่นกัน ก่อนสรุปเป็นรายงาน ส่วนประเด็นที่ให้ กสม.ทำความเห็นถึงรัฐบาล คสช. เพื่อให้ยกเลิกการดำเนินคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนั้น ตนเองเห็นด้วยว่า การดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ กสม. สามารถทำความเห็นเสนอรัฐบาลได้ อีกทั้งอยู่ในอำนาจ ที่รัฐบาลจะออกเป็นนโยบายได้ แต่อนุฯ สิทธิพลเมืองต้องมีการประชุมลงความเห็นในเรื่องนี้ก่อน หากอนุฯ สิทธิพลเมืองเห็นด้วยในประเด็นนี้ ก็ต้องเขียนรายงานเสนอ กสม. ชุดใหญ่ 7 คน ให้มีความเห็น ซึ่งบอกไม่ได้ว่า กสม.ชุดใหญ่จะเห็นด้วยในประเด็นนี้หรือไม่
นอกจากกรณีผู้ถูกดำเนินคดีจากประชามติแล้ว นายเจด็จ แก้วสิงห์ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และนายศรายุทธ ฤทธิพิณ เจ้าหน้าที่กองเลขาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ยังเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กรณีที่ถูกนายทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 8 อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น แจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลอันเป็นเท็จ
นายเจด็จและนายศรายุทธให้ข้อมูลว่า กรณีดังกล่าว คาดว่าเกิดจากการที่เพจสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้รายงานข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารแต่งชุดในเครื่องแบบครึ่งท่อน พร้อมพกอาวุธปืน เข้าไปพบผู้นำชุมชนหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ในยามวิกาล เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 59 และรายงานข่าวอีกครั้งว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายมหาศักดิพลเสพ (ร.8 พัน 2) ปลัดอำเภอภูผาม่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรชุมแพ ไปบ้านของนายเจด็จ เมื่อวันที่ 4 และ 5 ส.ค.59 จนเป็นเหตุให้แม่ของนายเจด็จเกิดอาการเครียด ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว
ทั้งนี้ ในหนังสือที่ยื่นต่อประธานอนุฯ สิทธิพลเมือง เรียกร้องให้ประสานงานรัฐบาล เพื่อยุติการดำเนินคดีทั้งสอง โดยการถอนแจ้งความ, ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย โดยนางอังคณากล่าวว่า อนุฯ สิทธิพลเมืองจะนัดคุยกับทหารที่กล่าวโทษภายในเดือนธันวาคม 2559 นี้