13 มิ.ย. 2566 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ธิดา” (นามสมมติ) บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากการเผยแพร่คลิปวิดีโอในแอพพลิเคชัน TikTok ลิปซิงค์เพลง “พระราชาในนิทาน” ที่เป็นกระแสนิยมเล่นกันในช่วงเดือน ส.ค. 2564
คดีนี้มี นายชุมพล ศรีวิชัยปัก เป็นผู้กล่าวหาที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร โดยธิดาไม่เคยรู้จักผู้กล่าวหามาก่อน และเธอต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ มาเพื่อต่อสู้คดีหลายครั้ง ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.ปรัชญา ทาบ้านฆ้อง พนักงานสอบสวน ได้ออกหมายเรียกธิดามาแจ้งข้อกล่าวหาสองครั้ง คือเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 ซึ่งตำรวจแจ้งเฉพาะข้อหาตามมาตรา 112 ก่อนในวันที่ 6 ต.ค. 2565 จะเรียกมาแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มเติม
จากนั้นวันที่ 29 พ.ย. 2565 พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร โดยสรุปคำฟ้องระบุว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์วิดีโอลงในแอพพลิเคชั่น TikTok โดยการลิปซิงค์หรือการขยับปากตามเสียงเพลง โดยมีเนื้อหาไม่ตรงกับเพลงที่แท้จริงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเมื่อบุคคลทั่วไปได้รับชมวิดีโอทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
หลังจากผ่านวันนัดตรวจพยานหลักฐาน 20 ธ.ค. 2565 ไปแล้ว และมีนัดสืบพยานในเดือนเมษายน 2566 ธิดาได้ปรึกษาครอบครัว คนใกล้ชิด และสุดท้ายตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยทนายความยื่นคำร้องขอกลับคำให้การเดิม ศาลออกนั่งพิจารณาในวันที่ 18 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานวันแรก โดยศาลสอบถามคำให้การจำเลยอีกครั้ง และสั่งให้สถานพินิจสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลยเพิ่มเติม ประกอบการจัดทำคำพิพากษา
ต่อมาวันนี้ ศาลอ่านคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวมีความผิดหลายบท ให้ลงโทษบทหนักคือตามมาตรา 112 พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน
เมื่อพิเคราะห์รายงานจากคุมประพฤติแล้วเห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพสุจริต และใช้ TikTok ในการเพิ่มยอดวิวและหาได้รายได้ เห็นว่าจำเลยโพสต์คลิปดังกล่าวเพื่อต้องการเพิ่มยอดวิวเท่านั้น เป็นไปได้ว่าจำเลยจะขาดความยับยั้งชั่งใจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นควรรอการลงโทษของจำเลยมีกำหนด 2 ปี และให้รายงานตัวต่อคุมประพฤติไว้ 1 ปี มีกำหนด 4 ครั้ง
หลังอ่านคำพิพากษาศาลได้ตักเตือนจำเลยห้ามกระทำการลักษณะเดียวกันนี้อีก
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในจังหวัดกำแพงเพชร อย่างน้อย 5 ราย ใน 5 คดี ทุกคดีมีบุคคลทั่วไปเป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ โดยผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด และถึงปัจจุบัน อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีไปแล้วจำนวน 4 คดี และมีอีกหนึ่งคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน
สำหรับคดีของ “ธิดา” มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันกับกรณีของ “สายชล” โดยทั้งสองคดีมีนายชุมพล ศรีวิชัยปัก (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อไปแล้ว) เป็นผู้กล่าวหาเช่นเดียวกัน และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้พิพากษาคดีของสายชลให้รอการลงโทษเช่นเดียวกัน
.