วันที่ 6 มิ.ย. 2566 ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จะต้องเดินทางไป จ.บุรีรัมย์ ในนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หลังศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีที่ถูกศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ในขณะนั้น) แจ้งความดำเนินคดี กรณีมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2564
คดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ยื่นฟ้องซีต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานความผิด “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใด” ซึ่งอัยการเห็นว่า เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยมีศักดิ์สยาม ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ขณะที่ซีให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นตำรวจจนถึงชั้นศาล
กระทั่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า คดีน่าเชื่อว่า จำเลยไม่แน่ใจว่าบุคคลในภาพถ่ายเป็นศักดิ์สยามหรือไม่ จึงตั้งข้อสงสัยไปตามกระแสข่าวโดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันจะถือว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยขาดเจตนาจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ก่อนที่ ทิวา การกระสัง ทนายโจทก์ร่วม จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 อ้างว่า จำเลยไม่ได้ขาดเจตนาตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เนื่องจากมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ ย่อมต้องรู้จักคุ้นเคยศักดิ์สยาม ซึ่งเป็น ส.ส.จ.บุรีรัมย์ และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง
ซึ่งต่อมา จำเลยได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ โต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าว ระบุว่า จำเลยไม่ได้รู้จักศักดิ์สยามเป็นการส่วนตัว หรือเคยพบศักดิ์สยามมาก่อน ย่อมทำให้เข้าใจผิดคิดว่าบุคคลในภาพถ่ายตามฟ้องคือศักดิ์สยาม จึงไม่มีเจตนาทุจริตหรือหลอกลวงผู้ใด และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น
ก่อนศาลจังหวัดบุรีรัมย์อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชวนอ่านอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม และคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย รายละเอียดดังนี้
ศักดิ์สยามอุทธรณ์ จำเลยเจตนาโพสต์ให้ตนเสียหาย ระบุจำเลยเป็นคนบุรีรัมย์ ย่อมรู้ภาพนั้นไม่ใช่ศักดิ์สยาม
อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมซึ่งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยโพสต์ภาพชายคนหนึ่งพร้อมข้อความว่า “อยู่นี่หรือป่าวน๊า เอ๊…คนหน้าคล้าย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ #ศักดิ์สยามชิดชอบ #ศักดิ์สยาม #โควิด19 #โควิด” โดยไม่ได้ยืนยันว่าบุคคลในภาพเป็นนายศักดิ์สยามหรือไม่ หรือนายศักดิ์สยามติดโควิด-19 จากการเที่ยวสถานเริงรมณ์ ต่อมา วันที่ 9 เม.ย. 2564 จำเลยได้ลบข้อความ คดีจึงเชื่อว่า จำเลยไม่แน่ใจว่าบุคคลในภาพถ่ายเป็นนายศักดิ์สยามหรือไม่ จึงตั้งข้อสงสัยไปตามกระแสข่าวโดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันจะถือว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยขาดเจตนา จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง นั้น
โจทก์ร่วมยังไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบประกอบบันทึกคำให้การของผู้รับมอบอำนาจและเฟซบุ๊กที่จำเลยโพสต์เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่า เฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลย จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ จำเลยทราบอยู่แล้วว่าภาพชายดังกล่าวไม่ใช่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่งเป็น ส.ส.ของ จ.บุรีรัมย์ คนที่คุ้นเคยหรือรู้จักศักดิ์สยาม จะทราบได้ว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ศักดิ์สยาม
แต่จำเลยกลับนำภาพดังกล่าวมาโพสต์ และใช้ข้อความว่า “ไทม์ไลน์ที่หายไป อยู่นี่หรือป่าวน๊าาาาา เอ๋…คนหน้าคล้าย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ” อันเป็นการแสดงให้บุคคลซึ่งอ่านโพสต์ของจำเลยเข้าใจว่า ชายดังกล่าวคือศักดิ์สยาม ซึ่งขณะเกิดเหตุติดโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2564 และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์
การที่จำเลยโพสต์ภาพตามฟ้อง โดยทราบอยู่แล้วว่าชายดังกล่าวไม่ใช่ศักดิ์สยาม และโพสต์ข้อมูลข่าวเท็จเกี่ยวกับไทม์ไลน์ที่สื่อโทรทัศน์และข่าวสังคมออนไลน์นำมาลงข่าว ซึ่งไม่ใช่ไทม์ไลน์ที่แท้จริงที่ศักดิ์สยามแจ้งแก่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จึงเป็นเจตนาทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงมิใช่การขาดเจตนาตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
จำเลยยืนยัน ตั้งข้อสงสัยตามกระแสข่าวเท่านั้น ไม่รู้จัก-สนิทกับศักดิ์สยาม ย่อมทำให้เข้าใจผิดว่าภาพนั้นคือศักดิ์สยาม
อย่างไรก็ดี วันที่ 1 ธ.ค. 2565 จำเลยได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าว ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยระบุว่า จำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษายกฟ้องของศาลชั้นต้น และไม่เห็นพ้องกับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม เนื่องจากจำเลยไม่ได้รู้จักหรือสนิทสนมกับโจทก์ร่วมเป็นการส่วนตัว อีกทั้งยังไม่เคยพบเจอกับโจทก์ร่วมตัวจริงมาก่อน ย่อมทำให้เข้าใจผิดคิดว่าบุคคลในภาพถ่ายตามฟ้อง คือศักดิ์สยาม
ซึ่ง ร.ต.อ.สรรพาวุธ พยานโจทก์ ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยืนยันว่า บุคคลในภาพถ่ายมีใบหน้าคล้ายศักดิ์สยาม และอดุลย์ศักดิ์ ประชาชนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ ก็ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยยืนยันว่า หากดูเฉพาะภาพถ่ายดังกล่าว โดยไม่มีรูปจริงของศักดิ์สยามมาเปรียบเทียบ ก็อาจจะเข้าใจว่าบุคคลในภาพคือศักดิ์สยาม เนื่องจากมีใบหน้าคล้ายกัน
จำเลยเพียงแต่ตั้งข้อสงสัยไปตามกระแสข่าวเท่านั้น ไม่ได้กระทำโดยมีเจตนาทุจริตหรือหลอกลวงผู้ใด จำเลยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันจะถือว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยย่อมขาดเจตนา การที่โจทก์ร่วมถือว่า จำเลยทราบอยู่แล้วในขณะเกิดเหตุว่าชายในภาพดังกล่าวมิใช่ศักดิ์สยาม โดยอาศัยเพียงแค่เหตุที่ว่าศักดิ์สยามเป็นนักการเมืองที่เกิดและมีภูมิลำเนาที่เดียวกับจำเลยนั้นย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พนักงานบริษัทโดน พ.ร.บ.คอมฯ เหตุถูกระบุเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์โพสต์โยง ‘ศักดิ์สยาม’ กับสถานบันเทิง