ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ คดีทวิตภาพชายคล้าย ‘ศักดิ์สยาม’ เที่ยวผับช่วงโควิด เชื่อ จำเลยตั้งข้อสงสัยตามกระแสข่าว ไม่มีเจตนาโพสต์ข้อมูลเท็จ

วันที่ 6 มิ.ย. 2566 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 3 คดีที่ ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ถูกศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ในขณะนั้น) แจ้งความดำเนินคดี กรณีมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2564 โดยศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2566 ก่อนที่โจทก์จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3

>>>ลุ้น! คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี พ.ร.บ.คอมฯ เหตุทวิตภาพคล้าย ‘ศักดิ์สยาม’ เที่ยวผับช่วงโควิด หลังศักดิ์สยามอุทธรณ์ขอให้ลงโทษ ขณะจำเลยยัน ตั้งข้อสงสัยตามกระแสข่าว

เวลา 09.50 น. สุมิตร์ ทองกล่อม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดบุรีรัมย์ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใจความโดยสรุปว่า การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ จำเลยจะต้องมีเจตนาโดยรู้หรือควรรู้ว่าข้อมูลหรือภาพที่นำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเท็จ 

คดีมี ร.ต.อ.สรรพาวุธ ลำมะนา ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน เป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วม เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า พยานเข้าใจว่า จำเลยนำภาพถ่ายดังกล่าวมาจากโลกออนไลน์ที่มีการลงอย่างแพร่หลาย และมี ร.ต.อ.อนุเปรม ทุมนานอก ตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน เป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วม เบิกความตอบคำถามค้านว่า พยานเคยเห็นภาพที่จำเลยโพสต์ ในสื่อโทรทัศน์และโลกออนไลน์มาก่อน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มโพสต์ภาพดังกล่าว 

และข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า “อยู่นี่หรือป่าวน๊า เอ๊…คนหน้าคล้าย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ #ศักดิ์สยามชิดชอบ #ศักดิ์สยาม #โควิด19 #โควิด” ก็เป็นการตั้งข้อสงสัยว่า บุคคลในภาพเป็นศักดิ์สยาม ชิดชอบ โจทก์ร่วมหรือไม่ จำเลยไม่ได้ยืนยันว่า บุคคลในภาพคือโจทก์ร่วม หรือโจทก์ร่วมติดเชื้อโควิด-19 จากการท่องเที่ยวสถานบันเทิงโดยตรง   

ร.ต.อ.สรรพาวุธ ยังเบิกความเองว่า บุคคลในภาพมีหน้าคล้ายโจทก์ร่วม อีกทั้งอดุลย์ศักดิ์ ประชาชนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ ก็ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยืนยันว่า หากดูเฉพาะภาพถ่ายดังกล่าว โดยไม่มีรูปจริงของศักดิ์สยามมาเปรียบเทียบก็อาจจะเข้าใจว่าบุคคลในภาพคือศักดิ์สยาม เนื่องจากมีใบหน้าคล้ายกัน 

เจือสมกับที่จำเลยเบิกความว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่ที่อยู่ในช่วงติดเชื้อ เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่โจทก์ร่วมไม่ได้แจ้งไทม์ไลน์ช่วงวันที่ 27-28 มี.ค. 2564 และ 2-3 เม.ย. 2564 เมื่อจำเลยทราบข่าวจากโทรทัศน์และสังคมออนไลน์จึงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดโจทก์ร่วมจึงไม่แจ้งวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ร่วมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อันเป็นบุคคลสาธารณะ ไม่ได้แจ้งไทม์ไลน์ถึงวันเวลาและสถานที่ในช่วงที่หายไป จึงเป็นข้อสงสัยของบุคคลทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม จำเลยเบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 โจทก์ร่วมแจ้งวันเวลาและสถานที่ที่อยู่ในช่วงเวลาที่หายไปแล้ว วันต่อมาจำเลยจึงลบโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องออกจากทวิตเตอร์ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อจำเลยทราบความจริงจากการแถลงไทม์ไลน์ของโจทก์ร่วมที่หายไป จำเลยก็หายสงสัยและลบโพสต์ดังกล่าวไป 

พฤติการณ์แห่งคดีมีมูลเหตุให้เชื่อว่า จำเลยได้ตั้งข้อสงสัยไปตามกระแสข่าว โดยไม่รู้ว่าบุคคลในภาพเป็นโจทก์ร่วมหรือไม่ จึงไม่เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย การกระทำของจำเลยขาดเจตนา จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อเท็จจริงอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น ซีที่เพิ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงบุรีรัมย์ในช่วงเช้า กล่าวว่า ดีใจที่หลุดพ้นจากคดีในชั้นอุทธรณ์อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าคดีจบสิ้นโดยบริบูรณ์หรือยัง เพราะตนเข้าใจว่าโจทก์ร่วมยังมีสิทธิจะต่อสู้ในชั้นฎีกา อย่างไรก็ตาม ตนยังยืนยันว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ร่วมกล่าวหา

ทั้งนี้ ซีเคยสะท้อนถึงคดีของเธอเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องว่า ที่ตนโพสต์ข้อความดังกล่าวลงในทวิตเตอร์เป็นการตั้งคำถามในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก และทุกคนต่างหวาดระแวง จึงอยากทราบและตรวจสอบไทม์ไลน์ที่หายไปดังกล่าวของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และเพื่อจะทำให้ประชาชนคนอื่น ๆ ระวังตัวในการเดินทางไปจุดที่มีการแพร่เชื้อ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์ทำให้ใครเสียชื่อเสียง และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง ทำให้ซีไม่ต้องโทษจำคุกหรือปรับ ทั้งยังไม่มีประวัติในการกระทำความผิด แต่นับตั้งแต่เธอถูกแจ้งความดำเนินคดีจากทนายของศักดิ์สยาม ซีต้องเดินทางจากสมุทรปราการหรือกรุงเทพฯ มาที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อต่อสู้คดี ระยะทางไปกลับราว 400 กิโลเมตร ถึง 8 ครั้งแล้วในช่วงเวลา 2 ปี ในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท นับว่าเป็นภาระที่หนักเป็นอย่างมากต่อซีซึ่งเป็นเพียงพนักงานบริษัทธรรมดาๆ คนหนึ่ง 

X