ส.ส.สหรัฐอเมริกา เสนอมติสภาผู้แทนราษฎรเข้ารัฐสภา เรียกร้องรัฐบาลไทยรักษาหลักการประชาธิปไตย-จัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและเป็นธรรม

นับจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประเทศไทยได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่เต็มไปด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ด้วยโครงสร้างที่บิดเบี้ยวเหล่านี้ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากลุกฮือขึ้นต่อต้านจนนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์อย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2563-2565 โดยมีการเรียกร้องให้ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยให้ออกจากเส้นทางเผด็จการ และหวนกลับคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องประสบกับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร Ms. Susan Wild ได้เสนอร่างมติสภาผู้แทนราษฎร 369 (H.Res. 369) เข้าไปที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นพันธมิตรอันมั่นคงกับสหรัฐฯ มาตลอด ทางสมาชิกผู้แทนราษฎรจึงเรียกร้องขอให้รัฐบาลไทยปกป้องและยืนหยัดในประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ปัจจุบัน (11 พ.ค. 2566) ร่างมติดังกล่าวได้ถูกส่งต่อไปให้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (Committee on Foreign Affairs) พิจารณา (ตรวจสอบสถานะของมติได้ที่นี่) ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะทำการลงคะแนนออกเสียง

ในข้อ 8 ของร่างมติดังกล่าว ได้มีเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิเทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ กฎหมายเกี่ยวกับ “ยุยงปลุกปั่น”

ไม่เพียงเท่านี้ ข้อ 5 ของร่างมติเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยและยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะเด็ก และนักเรียน เว้นจากการข่มขู่ คุกคาม หรือฟ้องดำเนินคดีผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบและกิจกรรมทางพลเมืองโดยทั่วไป อีกทั้งข้อ 4 ของร่างมติ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างสุจริตและเป็นธรรม ห้ามมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในช่วงเลือกตั้ง การนับคะแนนเสียงของประชาชนต้องเป็นธรรมและโปร่งใส

ร่างมติที่นำเสนอโดย ส.ส. Susan Wild ลงท้ายด้วยการระบุอย่างชัดแจ้งว่า หากมีการแทรกแซงโดยกองทัพหรือสถาบันกษัตริย์ก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จะกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทย และคุกคามการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแก่ประเทศไทย และความร่วมมือระดับภูมิภาคและทางเศรษฐกิจ

ร่างมติสภาผู้แทนราษฎร 369 (H.Res. 369) มีเนื้อหาใจความคล้ายคลึงกับร่างมติวุฒิสภา 114 (S.Res. 114) ที่สมาชิกวุฒิสภา Edward J. Markey และ Dick Durbin ได้เสนอเข้าไปที่วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 16 มี.ค. 2566

ร่างมติสภาผู้แทนราษฎร 369มีเนื้อหาเต็มดังนี้

____________________

มติ

เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและธำรงรักษาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออก และเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ

เนื่องด้วยราชอาณาจักรไทย (ซึ่งเคยรู้จักกันในชื่อ “ราชอาณาจักรสยาม”) และ สหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มความสัมพันธ์กันใน พ.ศ. 2361 และได้ทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ร่วมกัน ลงนามวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2376 ซึ่งถือเป็นการผนึกความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาของสหรัฐฯ ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนฐานของพันธกรณีต่อคุณค่าสากล ประเทศไทยเป็นมิตรอันมั่งคงของสหรัฐฯ เสมอมา

เนื่องด้วยสหรัฐฯ และประเทศไทยได้แสดงความประสงค์ร่วมกันในการ “สร้างความเข้มแข็งแก่โครงสร้างสันติภาพและเสรีภาพ และธำรงหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพของบุคคล และหลักนิติธรรม” ผ่านสนธิสัญญาการป้องกันร่วมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดทำขึ้น ณ กรุงมะนิลา ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2497

เนื่องด้วยใน พ.ศ. 2505 สหรัฐฯ และประเทศไทยได้ลงนามในแถลงการณ์ ถนัด-รัสก์ โดยสหรัฐฯ ได้ให้คำสัญญาในเอกสารดังกล่าวว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย หากประเทศไทยเผชิญการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน

เนื่องด้วยราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยได้ทำสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ประกอบกับมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่หลากหลายและงอกงาม

เนื่องด้วยสหรัฐฯ ยอมรับประเทศไทยในฐานะสมาชิกก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาเซียน”)

เนื่องด้วยในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ประธานาธิบดีโจเซฟ อาร์ ไบเดน และผู้นำอาเซียนได้ยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐฯ – อาเซียนไปเป็นหุ้นส่วนแบบยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ สำหรับความร่วมมือเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของสหรัฐฯ และรัฐสมาชิกอาเซียนในอนาคต

เนื่องด้วยประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2565

(1) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

(2) เพื่อฟื้นฟูเครือข่ายความเชื่อมโยงหลังเกิดการหยุดชะงัก จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และ

(3) เพื่อบูรณาการเป้าหมายด้านความเสมอภาคและความยั่งยืน ควบคู่ไปกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ

เนื่องด้วยประเทศไทยได้รับการแต่งตั้งเป็นพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโตในปี 2548 และเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งที่สุดของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติได้ถูกเน้นย้ำอีกครั้งในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตร ด้านการป้องกันประเทศ

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดการฝึกซ้อมรบร่วมกันเป็นจำนวนหลายครั้ง รวมถึงการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารนานาประเทศประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยเป็นภาคีในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในความร่วมมือในการบรรเทาภัยพิบัติระหว่างประเทศหลังจากการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียในปี 2547 และแผ่นดินไหวในประเทศเนปาลในปี 2558

เนื่องด้วยประเทศไทยปัจจุบันให้ที่อยู่ผู้ลี้ภายมากกส่า 95,000 คน ส่วนมากมาจากประเทศพม่า ประเทศไทยจึงเป็นหุ้นส่วนสำคัญของหสรัฐอเมริกาในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศพม่า

เนื่องด้วยประเทศไทยได้ล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี 2475 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยได้ทบทวนและตรารัฐธรรมนูญใหม่เป็นจำนวน 19 ครั้ง รวมถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ได้กำหนดให้มีตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเข้ามานั่งในสภาแห่งชาติที่เป็นระบบสองสภา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล

เนื่องด้วยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพไทยได้ทำรัฐประหารและได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประกาศกฎอัยการศึก และตั้งรัฐบาลทหารแทนรัฐบาลพลเรือนในชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ในอารัมภบทนี้จะเรียกว่า “คสช.”) ภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เนื่องด้วยในวันที่ 29 มีนาคม 2559 คสช. ได้เปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คสช. ได้จัดการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีข้อบกพร่องเป็นอย่างยิ่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

เนื่องด้วยการออกเสียงประชามติปี 2559 นั้นเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบในวงกว้าง

เนื่องด้วย คสช. ได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติและรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้เคารพสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี จำกัดเสรีภาพในช่วงก่อนการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ฟ้องดำเนินคดีนักข่าวและผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ปิดกั้นสื่อ และห้ามประชาชนรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากกว่าห้าคน

เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นั้น

(1) เป็นการเพิ่มอำนาจแก่กองทัพไทยโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายพลเรือน

(2) กำหนดให้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ออกโดยรัฐบาลทหาร

(3) บรรจุบทบัญญัติที่ลดทอนอำนาจสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่ง และกันที่นั่งวุฒิสภา 250 ที่นั่งสำหรับสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดย คสช. และแกนนำ คสช. รวมถึงบุคลากรระดับสูงสุดของกองทัพและตำรวจ และ

(4) ให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากเกินควร

เนื่องด้วยเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งที่

(1) มีกลุ่มเฝ้าติดตามอิสระหลายกลุ่มที่ชี้ให้เห็นถึงทั้งปัญหาเชิงกระบวนการและระบบ และประกาศว่าการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝั่งรัฐบาลทหารอย่างชัดเจน

(2) ส่งผลให้พรรคการเมืองของ คสช. ที่นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถตั้งรัฐบาลใหม่และแต่งตั้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

เนื่องด้วยในเดือนมกราคม 2563 พรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านถูกศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยสั่งห้ามและให้ยุบพรรค ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและข้อหาที่ไม่มีมูล

เนื่องด้วยศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี แม้ว่าประยุทธ์จะได้อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารเดือนสิงหาคม 2557 แล้วก็ตาม

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีการทำร้ายนักกิจกรรมประชาธิปไตยด้วยความรุนแรง และกรณีการบังคับให้สูญหายและการฆาตกรรมผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวไทยทั่วทวีปเอเชีย

เนื่องด้วยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ชุมนุมจำนวนหลายหมื่นคนทั่วประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาและเยาวชนเป็นส่วนใหญ่ ได้เรียกร้องให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การแก้รัฐธรรมนูญ และการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยสงบ

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยได้ตอบโต้การชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบเป็นส่วนใหญ่เหล่านี้ ด้วยมาตรการเชิงปราบปราม ได้แก่ กลยุทธ์ข่มขู่ การใช้กำลังในการชุมนุมมากเกินควร การสอดส่องติดตาม การคุกคาม การจับกุม ความรุนแรง และการจำคุก

เนื่องด้วยระหว่างปี 2563 ถึง 2566 เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ฟ้องดำเนินคดีอาญานักกิจกรรมกว่า 1,800 คน เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่และแสดงความคิดเห็น รวมถึงเด็กจำนวนกว่า 280 คน โดย 41 คนในนั้นมีอายุน้อยกว่า 15 ปี

เนื่องด้วยรายงานที่ถูกเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยองค์กรพัฒนาเอกชนพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ใช้โปรแกรมสปายแวร์เพกาซัสกับนักกิจกรรมประชาธิปไตยและผู้ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และกับนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างเปิดเผยจำนวนอย่างน้อย 30 คน

เนื่องด้วยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 รัฐบาลไทยงดออกเสียงในการลงคะแนนเกี่ยวกับมติสหประชาชาติ ซึ่งประณามการผนวกรวมดินแดน 4 ภูมิภาคทางตะวันออกของประเทศยูเครนที่มิชอบด้วยกฎหมายและขาดความชอบธรรม โดยประเทศรัสเซีย

เนื่องด้วยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 รัฐบาลไทยต้อนรับรัฐมนตรีอาวุโสจากรัฐบาลทหารพม่า ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ และอาเซียนพยายามปลีกตัวออกจากผู้นำของรัฐบาลทหารทางการทูตก็ตาม

เนื่องจากในปี พ.ศ. 2565 ประเทศจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยการค้าทวิภาคีมีมูลค่ามากถึง $107,000,000,000 คิดเป็นเกือบหนึ่งในห้าของปริมาณการค้าต่างประเทศทั้งหมดของไทย และ

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยยังคงดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านแล้ว กฎหมายฉบับนี้จะ

(1) กลายเป็นหนึ่งในกฎหมายที่จำกัดการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่เข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งในทวีปเอเชีย และ

(2) ส่งผลกระทบต่อภาคประชาสังคมในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมอย่างไม่สามารถย้อนกลับได้

เพราะฉะนั้นจึง

มีมติ ให้สมาชิกผู้แทนราษฎร

(1) เน้นย้ำความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนฐานคุณค่าร่วมด้านประชาธิปไตยและผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์

(2) สนับสนุนจุดยืนของประชาชนชาวไทยในการเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การปฏิรูปทางการเมือง สันติภาพในระยะยาว และการเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีอยู่

(3) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและธำรงรักษาหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ การแสดงออก และความเป็นส่วนตัว

(4) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและเที่ยงธรรมในเดือนพฤษภาคม 2566 เช่น โดย

(ก) อนุญาตให้พรรคฝ่ายค้านและแกนนำพรรคสามารถจัดกิจกรรมได้โดยปราศจากการแทรกแซงอันไม่เหมาะสมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

(ข) อนุญาตให้สื่อ นักข่าว และสมาชิกภาคประชาสังคมสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคมได้โดยไม่ต้องถูกตอบโต้และปราศจากความกลัวที่จะถูกฟ้องดำเนินคดี และ

(ค) รับประกันว่า การนับคะแนนเสียงจะเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใส

(5) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยและยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และเว้นจากการคุกคาม ข่มขู่ หรือฟ้องดำเนินคดีผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบและกิจกรรมทางพลเมืองโดยทั่วไป โดยให้ความสนใจกับสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและนักศึกษาเป็นพิเศษ

(6) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบอื่นๆ ที่จำกัดการแสดงออกอย่างเสรีและการเข้าถึงข้อมูล

(7) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบและหยุดการโจมตีของสปายแวร์ที่พุ่งเป้าไปที่นักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยต่างๆ

(8) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิกถอนและยุติการตรากฎหมายและคำสั่งที่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นเนื้อหาและคำพูดบนอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง อันได้แก่

(ก) กฎหมายหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ที่กว้างและคลุมเครือ

(ข) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

(ค) กฎหมายยุยงปลุกปั่น

(9) สื่อสารต่อรัฐบาลไทยว่า การละเมิดสิทธิของประชาชนไทยในการกำหนดอนาคตของตนเองโดยสงบและเป็นประชาธิปไตยต่อไปนั้น จะทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถยอมรับได้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้านั้นเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นใดก็ตาม

(10) ระบุอย่างชัดแจ้งว่า การแทรกแซงโดยกองทัพหรือสถาบันกษัตริย์ก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปทั้งทางตรงและทางอ้อมจะ

(ก) กระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง และ

(ข) คุกคามการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแก่ประเทศไทย และความร่วมมือระดับภูมิภาคและทางเศรษฐกิจ

X