ศาลอุทธรณ์ยืนโทษปรับ 60,000 ก่อนลดเหลือ 40,000 ‘นิว – สิริชัย’ กรณีปฏิเสธ ปอท.ไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในมือถือ โยงคดี ม.112 พ่นสีรูปราชวงศ์ แม้จำเลยต่อสู้ คดีพ่นสีไม่เกี่ยวกับเครื่องมือสื่อสาร 

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 18 และ 27 “ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่” สืบเนื่องจากกรณีปฏิเสธไม่ให้รหัสเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร 2 ชิ้น กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังได้รับการประกันตัวจากคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564

คดีนี้ต่อเนื่องกันกับการเข้าจับกุมสิริชัยตามหมายจับในช่วงคืนของวันที่ 13 ม.ค. 2564 จากกรณีถูกกล่าวหาว่า พ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”และ “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวม 6 จุด ทำให้เขาถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และมาตรา 358 “ทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสื่อมค่า” ทั้งเจ้าหน้าที่ยังบุกค้นห้องพัก และได้ยึดทรัพย์สินหลายรายการไปเป็นของกลาง รวมทั้งโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต

ในวันต่อมา แม้สิริชัยจะได้รับการประกันตัวจากศาล แต่ในขณะที่กำลังทำเรื่องประกันตัวนี้เอง เจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. ได้เข้าแสดงคำสั่งศาลขอเข้าถึงรหัสอุปกรณ์สื่อสารที่ตรวจยึดไป (พ.ต.ต.สุรโชค กังวานวาณิชย์ สารวัตรกองกำกับการกลุ่มงานสนับสนุน ของ บก.ปอท. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามคำสั่งอนุญาตของศาล) แต่สิริชัยปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง เนื่องจากยืนยันว่าเหตุในคดีแรกไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18  ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 5,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาปรับ 40,000 จำเลยอุทธรณ์ต่อประเด็น ตร.ขอศาลออกคำสั่งบังคับจำเลยให้ข้อมูลตาม พ.ร.บ.คอมฯ ม.18 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุต้นเรื่องถูกกล่าวหาว่าพ่นสี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบคอมฯ แต่อย่างใด

คดีนี้ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับเป็นเงิน 60,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 150 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับ 40,000 บาท และปรับรายวันวันละ 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งต่อมาศาลได้ยกเว้นโทษปรับให้กับจำเลย เนื่องจากจำเลยยังมีสถานภาพเป็นนักศึกษาและไม่ได้ประกอบอาชีพมีรายได้ โทษปรับของจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงเป็นอันยุติไป

จากนั้น จำเลยและทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ในประเด็นการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนบรรดาความผิดอาญาซึ่งได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้จัดเก็บคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิด หรือมีข้อมูลคอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นเท่านั้น 

รวมถึงคำสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุให้จำเลยส่งรหัสผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือไอแพด (iPad) ให้แก่เจ้าหน้าที่ การตรวจสอบข้อมูลจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ iPad จะทำให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของจำเลยซึ่งควรจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญด้วย

จากนั้นศาลจังหวัดธัญบุรีได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นวันนี้

ศาลอุทธรณ์ยืนโทษปรับ 40,000 บาท ชี้ ตร.มีอำนาจขอรหัสอุปกรณ์มือถือจำเลยได้ แม้จะมีข้อมูลส่วนตัวอยู่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ ระบุหากได้รับความเสียหายจากสามารถดำเนินคดีกับ ตร.ได้   

เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาที่ 17 ชั้นที่ 4 ศาลออกพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีรายละเอียดโดยสรุปว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว เพราะศาลชั้นต้นออกคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจที่จะสั่งให้จำเลยถอดรหัสลับหรือขอความร่วมมือในการถอดรหัสลับได้  จำเลยจะอ้างว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ 

หากจำเลยเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายส่วนหนึ่งส่วนใด หรือหากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำโดยมิชอบ จำเลยก็สามารถที่จะดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องได้ แต่ไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมให้รหัสลับเพื่อเข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ พิพากษายืน

ลงนามคำพิพากษาโดย วิชาญ เทพมาลี, กำจัด พ่วงสวัสดิ์ และรุ่งเรือง ลำพองชาติ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 

หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ นิวได้เดินทางกลับออกจากศาลไป โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างฎีกาอีก เพราะโทษปรับยุติไปตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

พิพากษาลงโทษปรับ 4 หมื่น พ.ร.บ.คอมฯ ‘นศ.มธ.’ เหตุปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในมือถือ โยงคดี ม.112 พ่นสีรูปราชวงศ์ แม้จำเลยต่อสู้คดีไม่เกี่ยวกับเครื่องมือสื่อสาร

X