ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 ของ “บอส ฉัตรมงคล” ที่เชียงราย เจ้าตัวยันไม่ใช่คนคอมเมนต์เฟซบุ๊กถึงในหลวง

ในวันที่ 27 มี.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “บอส” ฉัตรมงคล วัลลีย์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริษัทเอกชนวัย 28 ปี ผู้ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้คอมเมนต์ข้อความมีเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์ฯ ในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ศรีสุริโยไท”

คดีนี้มี นัธทวัฒน์ ชลภักดี แอดมินเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อเดียวกับฉัตรมงคล เนื่องจากเห็นว่าข้อความที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กมาคอมเมนต์ในเพจ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทำให้ฉัตรมงคลต้องเดินทางไกลจากที่พักในปทุมธานี เพื่อมาต่อสู้คดีที่จังหวัดเชียงรายในช่วงปีเศษที่ผ่านมา

อ่านเรื่องราวชีวิตของฉัตรมงคล ชีวิต–จิตใจของ “บอส ฉัตรมงคล” หนุ่ม รปภ. ผู้เผชิญหน้าคดี ม.112

ศาลสืบพยานในคดีไประหว่างวันที่ 20–24 ธ.ค. 2565 โดยพนักงานอัยการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 7 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, แอดมินเพจเฟซบุ๊ก “ศรีสุริโยไท”, นักวิชาการทางด้านกฎหมาย, นักวิชาการทางด้านภาษา, เจ้าพนักงานสืบสวน และพนักงานสอบสวน โดยฝ่ายจำเลยได้รับคำให้การพยานโจทก์ 2 ปาก ได้แก่ แอดมินเพจร่วมและพนักงานสอบสวน ที่มีเนื้อหาคล้ายกันกับพยานที่เข้าเบิกความแล้ว ทำให้โจทก์ไม่ต้องนับพยานมาสืบ

นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตว่าอัยการไม่นำสืบพยานนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อีกหนึ่งปากที่เดิมระบุในบัญชีพยานโจทก์ เนื่องจากพบว่าเคยให้การในชั้นสอบสวนในประเด็นคำว่า “ในหลวง” นั้น ว่าไม่ได้หมายถึงแค่พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันเท่านั้น อาจหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ใดก็ได้

ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ จำเลยอ้างตนเป็นพยาน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้คอมเมนต์ข้อความดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา ทั้งพยายามชี้ถึงปัญหาความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์

.

ผู้กล่าวหา–แอดมินเพจโพสต์กิจกรรมในกลุ่ม จนมีคนมาคอมเมนต์ จึงนำมาแจ้งความ แต่ไม่มีพยานหลักฐานระบุตัวบุคคล

นัธทวัฒน์ ชลภักดี และ มนัส เหล่าสุนทรวณิช สองผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก “ศรีสุริโยไท” ซึ่งเป็นเพจที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมจิตอาสา เผยแพร่การปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ ซึ่งเพจนี้ก่อตั้งในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งสองเบิกความโดยสรุปทำนองเดียวกันว่า ในวันที่ 17 พ.ค. 2564 วันเกิดเหตุ พยานได้นำกิจกรรมของทางกลุ่มมาโพสต์ลงในเพจ มีข้อความว่า “เป็นกำลังใจให้เราด้วยนะครับ หัวใจของพวกเราคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สื่งที่พวกเราต้องการที่สุดก็คือกำลังใจ ไม่แบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งสี” จากนั้นมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ ข้อความว่า “ในหลวงก็แค่คนติด*” พยานทนไม่ได้จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 พ.ค. 2564

ต่อมาจึงได้เข้าไปตรวจสอบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นดังกล่าว พบว่าในหน้าโปรไฟล์ขึ้นสถานะกำลังคบหากับบุคคลหนึ่งอยู่ จึงได้ติดต่อพูดคุยทางแชทถามว่า “รู้จักกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้มาก่อนหรือไม่” ได้คำตอบว่า “ใช่ รู้จักมาก่อน”

ในหน้าบัญชีของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่กำลังคบหาอยู่กับผู้ต้องหานั้น ระบุว่ากำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง  พยานจึงเข้าติดต่อพูดคุยกับผู้อำนวยการสถานศึกษาดังกล่าว ผ่านช่องทางไลน์ ต่อมาผู้อำวยการแจ้งกลับมาว่าสามารถตรวจสอบจนรู้ข้อมูลได้และได้มีการเชิญผู้ปกครองมาสอบถามข้อมูล

ขณะที่มีการสอบถามข้อมูลนั้น พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และไม่มีพยานหลักฐานอ้างส่งต่อศาลด้วย เนื่องจากฝ่ายโจทก์ไม่ได้ยื่นเข้ามาในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน

พยานตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่าหลักฐานที่เป็นภาพหน้าบัญชีเฟซบุ๊กที่นำไปมอบให้พนักงานสอบสวนมาจากแคปหน้าจอโทรศัพท์ ไม่ได้พิมพ์ออกจากเว็บบราวเซอร์ จึงไม่มีข้อมูล URL รวมไปถึง IP Address ด้วย

พยานรับว่า เมื่อพิมพ์ชื่อเฟซบุ๊กซึ่งเป็นชื่อของจำเลยในหน้าค้นหา พบว่าจะมีบัญชีที่มีชื่อเหมือนกันอยู่หลายบัญชี แต่มีความต่างกันที่ข้อมูลหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กซึ่งไม่เหมือนกัน สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือชื่อบัญชีเฟซบุ๊กเท่านั้น

พยานทราบว่าการสร้างบัญชีเฟซบุ๊กสามารถตั้งชื่อซ้ำกันได้ และสามารถนำรูปโปรไฟล์ของคนอื่นมาตั้งเป็นรูปในบัญชีของตนเองได้ด้วย

ขณะที่ในเรื่องการไปพูดคุยกับผู้อำนวยการสถานศึกษาที่พยานเบิกความนั้น ก็ไม่ได้มีการเชิญมาสอบปากคำแต่อย่างใด และไม่มีประวัติการติดต่อกันนั้นมาแสดงต่อศาล

.

.

พยานนักวิชาการด้านกฎหมาย ระบุข้อความเป็นการดูหมิ่น และสื่อถึงรัชกาลปัจจุบัน

อภิชัย พรหมมินทร์ ประกอบอาชีพทนายความ และ สุรชัย อุฬารวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เบิกความต่อศาลทำนองเดียวกันว่า ในช่วงปลายปี 2564 พนักงานสอบสวนเชิญพยานมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ในเฟซบุ๊ก  พยานได้เห็นข้อความคอมเมนต์และได้ตรวจสอบแล้ว พยานให้การว่า พระมหากษัตริย์อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ไม่อาจดูหมิ่น หรืออาฆาตได้ และเห็นว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นความผิด

พยานเห็นว่า คำว่า “ในหลวง” คือพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดของทุกสถาบัน และย่อมหมายความถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน คือรัชกาลที่ 10

สุรชัยยังเบิกความเพิ่มเติมว่า หากแปลความหมายให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ใช่รัชกาลปัจจุบัน ต้องมีปัจจัยจากบริบทการพูดคุย รูปประโยค หรือสถานการณ์ขณะนั้นร่วมด้วย เช่น ระบุว่า “ในหลวง ร.9” แต่หากคำว่า “ในหลวง” อย่างเดียวย่อมหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี อภิชัยตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่าพยานไม่ทราบว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ซึ่งต้องใช้หลักการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 และ 326 ซึ่งเป็นหลักการเรื่องดูหมิ่นตามหลักทั่วไปมาเทียบเคียง

ตามหลักแล้วการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ต้องเป็นการกล่าวถึงบุคคลใดอย่างชัดเจน แต่ตามข้อความดังกล่าวแล้ว ไม่มีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลใดเป็นการเฉพาะ

ส่วนสุรชัยตอบทนายถามค้านว่า ตอนที่พยานไปให้การกับพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ให้ตนตรวจสอบแค่ข้อความเพียงอย่างเดียว ไม่มีคลิปวิดีโอ หรือบริบทอื่นๆ

พยานยังรับว่าข้อความที่เพจ “ศรีสุริโยไท” ได้โพสต์กิจกรรมของกลุ่ม และต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเข้ามาคอมเมนต์ข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ไม่มีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับตัวโพสต์แต่อย่างใด

ตามความเห็นของพยาน ในหลวงรัชกาลก่อนหน้ารัชกาลปัจจุบัน ประชาชนทั่วๆ ไปก็เรียกพระองค์ท่านว่า “ในหลวง” และรับว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นมุ่งคุ้มครองเพียงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันเท่านั้น

.

พยานนักวิชาการด้านภาษา เพียงแค่ดูข้อความ เข้าใจว่าผู้โพสต์ข้อความหมิ่นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

อาภิสรา พลนรัตน์ ผู้ช่วยคณบดี และเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เบิกความต่อศาลว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 พนักงานสอบสวนมีหนังสือขอความร่วมมือให้พยานช่วยแปลข้อความ โดยพนักงานสอบสวนให้พยานตรวจสอบแค่ข้อความ แต่พยานไม่เห็นว่ามีภาพถ่ายของข้อความ บริบท หรือสถานการณ์อื่นๆ ว่ามีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร

พยานเห็นว่าคำว่า “ในหลวง” ตามความเข้าใจในภาษาปากสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้ระบุถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลใด ทั้งนี้ตามความเข้าใจของพยานคือพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน เมื่อพยานตรวจสอบข้อความทั้งหมดแล้ว สามารถแปลข้อความโดยมีความหมายไปในทางดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม พยานได้ตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่าการตีความข้อความ หรือประโยคสามารถตีความให้มีความหมายที่หลากหลายได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของประโยคนั้นๆ ซึ่งทางพนักงานสอบสวนเพียงแค่ให้พยานดูแค่ตัวข้อความ แต่ไม่ได้ให้เห็นถึงสถานการณ์ หรือเนื้อหาอย่างอื่นเข้ามาประกอบ เพื่อให้พยานทำการแปล

ทั้งนี้การตีความนั้นไม่สามารถแปลความหมายออกมาได้อย่างชัดเจนตามที่เห็นได้ พยานแปลไปเท่าที่เห็น ไม่มีรายละเอียดของข้อเท็จจริงอื่นๆ มาประกอบ

.

ตำรวจตรวจสอบเฟซบุ๊ก–ข้อมูลทะเบียนราษฎรของจำเลย เชื่อได้ว่าเป็นจำเลย แม้ไม่อาจตรวจสอบได้ว่าจำเลยใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวหรือไม่ ทั้งพบเฟซบุ๊กชื่อคล้ายกันหลายบัญชี

ร.ต.อ.ศุภากร ภัทรสุขเกษม รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงราย เบิกความต่อศาลโดยสรุปว่า ในวันที่ 20 พ.ค. 2564 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการตรวจสอบข้อความหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งพบเห็นใต้โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “ศรีสุริโยไท” โดยต้นโพสต์เป็นคลิปแนะนำตัวของสมาชิกกลุ่ม ความยาวประมาณ 53 นาที

ต่อมาวันที่ 26 พ.ค. 2564 พยานได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของผู้ที่คอมเมนต์ พบข้อมูลหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าวและทำการเก็บบันทึกไว้ จากนั้นในวันรุ่งขึ้น พยานได้เข้าไปค้นข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎรโดยใช้ชื่อจากชื่อบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่ามีข้อมูลในสารบบ 1 ชื่อ พบทั้งชื่อจริงและภูมิลำเนา จึงเชื่อว่าเป็นคนๆ เดียวกันกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่มาคอมเมนต์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ 

ในวันเดียวกันพยานได้ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของจำเลยพบว่าทำงานอยู่ในบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง ต่อมาในวันที่ 30 พ.ค. 2564 พยานได้เข้าไปตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของผู้ที่มาคอมเมนต์อีกครั้ง พบว่ามีการโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมือง และโพสต์เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณในส่วนของพระมหากษัตริย์ เป็นส่วนใหญ่ เมื่อพยานได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ จึงจัดทำรายงานการสืบสวน แล้วส่งต่อให้ พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ มณีจันสุข จากนั้นพยานไม่ได้ทำหน้าที่สืบสวนต่อ พยานได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนคนอื่นรับหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้พยานเบิกความตอบคำถามค้าน รับว่าพยานไม่เคยรับผิดชอบคดีที่ต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน และไม่เคยเข้าร่วมการอบรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการรวบรวมพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์มาก่อนเช่นกัน

พยานไม่ทราบว่าขั้นตอนการตรวจสอบพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น จำเป็นต้องส่งหลักฐานให้หน่วยงาน บก.ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ตรวจสอบด้วย

พยานเป็นผู้จัดทำเป็นเอกสารหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กที่คาดว่าเป็นของจำเลยนั้น ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อมูล URL ข้อมูลวันที่ และหน้าที่พิมพ์อยู่เลย ทั้งพยานไม่ทราบว่าการเก็บหลักฐานโดยการแคปหน้าจอโทรศัพท์แล้วนำภาพที่ได้มาใส่ในโปรแกรม Word แล้วทำการพิมพ์ออกมา จะทำให้หลักฐานที่ได้มานั้นไม่น่าเชื่อถือ

อีกทั้งเฟซบุ๊กดังกล่าวที่พยานตรวจสอบไม่ปรากฏข้อมูล IP Address ที่ชัดเจน ว่าบัญชีดังกล่าวเป็นของผู้ใด และจากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่

พยานยังรับว่า เมื่อเอาชื่อของจำเลยคดีนี้ไปค้นหาในเฟซบุ๊ก จะพบว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กถึง 6 บัญชี แต่เมื่อเอาชื่อจากบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวทั้งหมดไปค้นหาในทะเบียนราษฎรจะแสดงข้อมูลส่วนตัวของจำเลย และทั้ง 6 บัญชี พยานไม่ได้เข้าไปตรวจสอบทั้งหมด

พยานทราบว่าสามารถนำภาพในบัญชีเฟซบุ๊กของคนอื่นมาใช้เป็นภาพโปรไฟล์ของตนเองได้

ร.ต.อ.เกียรติพงษ์ ติ๊บมา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564  นัธทวัฒน์ ผู้กล่าวหา ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อฉัตรมงคล วัลลีย์ ในฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงได้ทำการสอบปากคำผู้กล่าวโทษไว้เป็นหลักฐาน และผู้กล่าวหาได้มอบหลักฐานเป็นภาพหน้าบัญชีโปรไฟล์เฟซบุ๊กและภาพข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ไว้ในวันเดียวกัน

พยานได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานกระทรวง ICT และ ปอท. ซึ่งต่อมาได้รับหนังสือแจ้งกลับมาว่า การตรวจสอบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กนั้น เป็นข้อมูลที่บริษัทเฟซบุ๊กไม่อาจเปิดเผยได้ พยานจึงไม่อาจตรวจสอบได้

ต่อมาเมื่อพยานรวบรวมหลักฐานแล้ว จึงออกหมายเรียกจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อมาในวันที่ 8 ธ.ค. 2564 พยานเรียกจำเลยมาสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำเลยให้การปฏิเสธ โดยจำเลยได้ให้การเพิ่มเติม ว่าเปิดบัญชีเฟซบุ๊กในชื่อ “ฉัตรมงคล วัลลีย์” มาได้ 7 ครั้ง และจำเลยใช้บัญชีอยู่แค่บัญชีเดียว พยานจึงขอตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กจากโทรศัพท์ของจำเลย จำเลยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมทั้งได้ถ่ายภาพและถ่ายคลิปการตรวจสอบครั้งนี้ไว้ด้วย

พยานตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่าหลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมามอบให้แก่พยานนั้น มาจากการแคปหน้าจอโทรศัพท์ ส่งผลให้ไม่มีข้อมูล URL อีกทั้งในเอกสารไม่ได้ระบุว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเป็นจำเลยได้อย่างชัดเจน พนักงานสืบสวนก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวคือจำเลยหรือไม่

ตามที่พยานเบิกความไปว่า ได้ส่งหลักฐานให้หน่วยงาน ICT หรือ ปอท. ไปตรวจสอบ ผลปรากฏว่าข้อมูลอยู่ต่างประเทศไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงไม่อาจสรุปว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจะเป็นจำเลยหรือไม่ก็ได้

ในตอนที่พยาน ได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กจากโทรศัพท์ จำเลยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และบัญชีเฟซบุ๊กที่จำเลยใช้อยู่ไม่ตรงกับบัญชีที่ผู้กล่าวหานำมามอบให้ ส่วนเฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหานำมามอบนั้น จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ใช่ของตนเอง

พยานโจทก์ทุกปากที่พนักงานสอบสวนได้นำมาสอบปากคำ ทั้งหมดเพียงแค่ดูรูปโปรไฟล์จากบัญชีเฟซบุ๊ก และภาพจากทะเบียนราษฎรเท่านั้น

พยานรับว่าได้เรียกให้ ติณเมธ วงศ์ใหญ่ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มาให้ปากคำในประเด็น คำว่า “ในหลวง” ด้วย โดยอาจารย์ให้ความเห็นไปในลักษณะเห็นว่าข้อความตามข้อกล่าวหานี้ไม่ได้หมายรวมแค่พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันแต่เพียงเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก็ได้

.

.

จำเลยเบิกความไม่ได้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กตามฟ้อง เคยสมัครบัญชีใหม่หลายครั้ง แต่ใช้แค่บัญชีเดียว

ฉัตรมงคล วัลลีย์ เบิกความต่อศาลว่า พยานมาทราบว่ามีเหตุเกิดขึ้นในลักษณะตามข้อกล่าวหาเมื่อตอนถูกดำเนินคดีแล้ว เนื่องจากมีข้อความคอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊ก ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยส่วนตัวพยานจะไม่กล้าโพสต์แสดงความคิดเห็นเช่นนี้แน่นอน เพราะตนเคยเห็นคนอื่นๆ โดนดำเนินคดีมาตรา 112 พยานกลัวจะถูกดำเนินคดีเช่นกัน ซึ่งหน้าบัญชีเฟซบุ๊กตามที่ผู้กล่าวหานำไปมอบให้พนักงานสอบสวนนั้นไม่ใช่ของตน อีกทั้งพยานไม่ได้คบหากับบุคคลที่ผู้กล่าวหาอ้าง

ตอนที่ไปรับทราบข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่เพียงแค่ยื่นเอกสารบัญชีเฟซบุ๊กให้ตนยืนยัน พยานตอบไปว่า ชื่อเฟซบุ๊กและรูปโปรไฟล์เป็นของตน แต่พยานไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กนี้ หากใช้บัญชีเฟซบุ๊กอีกบัญชีหนี่งตามที่ได้เปิดให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบในวันนั้นเลย เหตุที่พยานให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และได้ให้การว่าสมัครบัญชีเฟซบุ๊กมาหลายครั้ง เนื่องจากว่าเคยมีบัญชีที่เข้าใช้งานไม่ได้ จึงจำเป็นต้องสมัครบัญชีใหม่ จนมาถึงบัญชีล่าสุด โดยบัญชีนี้ได้เปิดใช้งานมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว

พยานตอบอัยการถามค้าน รับว่าชื่อของบัญชีเฟซบุ๊กและชื่อของพยานนั้นตรงกัน พยานเคยศึกษาตามที่ปรากฏในหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหามามอบให้พนักงานสอบสวน ซึ่งมีการระบุถึงข้อมูลว่าเคยศึกษาที่ กศน. แต่ในข้อมูลโปรไฟล์ระบุถึงบัญชีแอพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งพยานไม่ได้ใช้บัญชีไลน์นี้

พยานรับว่าเคยไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองและมีกล่าวปราศรัย แต่ไม่เคยมีการปราศรัยหรือกล่าวโจมตีถึงพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

.

พยานผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ ชี้การเก็บหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ เก็บด้วยวิธีการเฉพาะ หลักฐานผู้กล่าวหาในคดีนี้ไม่น่าเชื่อถือ

พยานผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำงานในฐานะโปรแกรมเมอร์โครงการติดตามสปายแวร์ที่ชื่อ “เพกาซัส” ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) เบิกความต่อศาลว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่พบพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการจัดเก็บ ต้องพิมพ์เอกสารดังกล่าวจากคอมพิวเตอร์ โดยใช้เว็บบราวเซอร์ หากพิมพ์ข้อมูลด้วยวิธีนี้แล้วจะทำให้เอกสารที่พิมพ์ออกมานั้นปรากฏ URL ของเว็บไซต์ วันที่ และเวลาที่พิมพ์เอกสาร โดยจะทำให้เอกสารมีความน่าเชื่อถือมากกกว่าการแคปหน้าจอ

กรณีที่เป็นการโพสต์ข้อความต่างๆ หากจะให้ทราบโดยละเอียดว่าบุคคลใดเป็นผู้โพสต์ จำเป็นต้องทราบ IP address ของผู้ใช้บัญชีนั้นก่อน โดยการนำ IP address ไปขอกับบริษัทเฟซบุ๊ก ซึ่งการทราบ IP address ส่งผลให้ทราบตำแหน่งของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งจะทำให้สามารถนำไปขอหมายค้นต่อไปได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะมีการยึดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถตรวจสอบข้อมูลพยานหลักฐานที่อยู่ในอุปกรณ์เหล่านั้นได้

ตามภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหานำไปมอบให้พนักงานสอบสวน เป็นภาพที่ได้มาจากการแคปหน้าจอโทรศัพท์มือถือ และน่าจะนำมาวางในโปรแกรม Word ทำให้ภาพไม่มีข้อมูล URL ทำให้ยากต่อการกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง และการแคปภาพจากหน้าจอโทรศัพท์สามารถทำการตกแต่ง และแก้ไขภาพได้ ตามแอพพลิเคชั่นของโทรศัพท์เครื่องนั้นๆ และหากใช้โปรแกรม Word ซึ่งสามารถแก้ไขตกแต่งรูปภาพได้เช่นกัน สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะเป็นโปรแกรมพื้นฐาน

ตามความเห็นของพยานแล้ว มองว่าเอกสารที่ผู้กล่าวแคปหน้าจอแล้วไปมอบให้พนักงานสอบสวน รวมทั้งประวัติการโพสต์ของเฟซบุ๊กที่อ้างว่าเป็นของจำเลยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำเข้าสำนวน โดยทั้งหมดมาจากการแคปหน้าจอโทรศัพท์มือถือนั้นมีความน่าเชื่อถือน้อย เพราะสามารถถูกนำไปแก้ไขตกแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ได้ ทั้งโปรแกรมพื้นฐาน เช่น โปรแกรม Word หรือ Power Point หรือ Photoshop ได้

X