ในวันที่ 13 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง แม่ค้าวัย 68 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ กระทำการขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388 เนื่องมาจากการเปลื้องผ้าต่อหน้าแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กันยา2564 #หยุดราชวงศ์ประยุทธ์ บริเวณแยกนางเลิ้ง เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า
การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่กลุ่มทะลุฟ้าและทะลุแก๊สมีการจัดชุมนุมอย่างต่อเนื่องแทบทุกวันในช่วงนั้น พร้อมกับสถานการณ์ปะทะและเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีการจับกุมผู้ชุมนุมรายวัน
ป้าเป้า วรวรรณ ได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสาเหตุการแสดงออกดังกล่าว ว่าสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องของประชาชน ซึ่งไม่มีอะไรจะสู้แล้ว มีแต่ตัวเปล่าๆ ไม่ได้มีอาวุธใดจะสู้กับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ซึ่งเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน
คดีนี้ป้าเป้าถูกออกหมายเรียกภายหลัง และแยกดำเนินคดีต่างหากจากผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ โดยในข้อหาตามมาตรา 388 มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท แต่ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
.
ภาพรวมการต่อสู้คดีและสืบพยาน
ศาลแขวงดุสิตสืบพยานคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 ก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณา ศาลอ่านทวนคำฟ้องให้จำเลยฟัง และปรึกษาจำเลยว่า ศาลเห็นว่าคดีนี้ในส่วนของความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันหน้าขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลนั้นเป็นคดีลหุโทษอันเป็นความผิดเล็กน้อย จึงสอบถามว่า จำเลยประสงค์จะยอมรับว่าได้กระทำการเช่นนั้นหรือไม่ หากจำเลยรับสารภาพ ศาลจะวินิจฉัยข้อกฎหมายประกอบคำรับสารภาพ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสืบพยานในคดีส่วนนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยกับจำเลยได้ขอออกไปปรึกษากันนอกห้องพิจารณาครู่หนึ่ง ก่อนจะแถลงยืนยันให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี
ด้านอัยการโจทก์แถลงจะนำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 4 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง, ร.ต.อ.ทองธาดา การะเกตุ ตำรวจฝ่ายสืบสวน และผู้กล่าวหาในคดี, พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวน สน.นางเลิ้ง และ ร.ต.อ.ชูเกียรติ ศรีจันทร์ พนักงานสอบสวน
ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 1 ปาก คือ ตัวจำเลยเอง
ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์นั้นพยายามเน้นย้ำว่า จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมที่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กล่าวคือ เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ มีการยุยงปลุกปั่น กีดขวางการจราจร และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคระบาดโควิด-19 อีกทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นการกระทำการขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลโดยการเปลือยกาย
ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลย คือ จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว เพียงเข้าไปขายของในที่ชุมนุม ทั้งเข้าร่วมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมยังเกิดในที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ได้แออัดแน่นจนเต็มพื้นที่เกิดเหตุ ทั้งในช่วงการสืบพยานคดีนี้ก็มีการประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว ในส่วนการเปลือยกายของจำเลยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อพยายามไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้ามาจับกุมผู้ชุมนุม ไม่ใช่การกระทำอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล ตามองค์ประกอบของมาตรา 388
.
.
ตำรวจอ้างการชุมนุมเป็นไปโดยไม่สงบและเกิดความรุนแรง แต่แกนนำคือ “กลุ่มทะลุฟ้า” ป้าเป้าไม่ได้ใช้ความรุนแรงใดๆ
ในวันเกิดเหตุ ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง พยานปากแรกได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้ง ร่วมกับลูกน้องในสังกัดประกอบด้วย พยานโจทก์ปากที่สองและปากที่สาม
ร.ต.อ.ทองธาดา และ พ.ต.ท.บุญโปรด พยานโจทก์ปากที่สองและสาม ซึ่งมีหน้าที่ในการหาข่าวและติดตามการชุมนุมทางการเมือง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 22.00 น. พบว่ามีการนัดและเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้งและเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 28 ก.ย. 2564 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ผ่านเพจเฟซบุ๊กของ “กลุ่มทะลุฟ้า” และใช้ชื่อการชุมนุมว่า “ม็อบ 28 กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์” โดยพยานทั้งสองได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ พ.ต.อ.นิมิตร จึงจัดกำลังพลลงพื้นที่เกิดเหตุในวันดังกล่าว
วันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมทยอยเข้าพื้นที่ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ในระยะแรกมีกลุ่มแกนนำและพวก ประมาณ 50-100 คนรวมตัวกันบริเวณถนนพิษณุโลกซอย 9 เพื่อรอผู้ชุมนุมอื่นมาสมทบ และต่อมาจึงได้เคลื่อนขบวนไปยังบริเวณแยกนางเลิ้งเพื่อเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาลต่อไป โดยพบว่ามีผู้ชุมนุมเพิ่มรวมราว 100-150 คน
พยานทั้งสามเบิกความว่า ผู้ชุมนุมบางคนมีการยิงหนังสติ๊ก, ปาขวดน้ำ และยั่วยุ ด่าทอเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม อีกทั้ง ผู้ชุมนุมยังพยายามตัดลวดหนาม และดันแผงเหล็กที่เจ้าหน้าที่นำมากั้นพื้นที่ เพื่อเป็นแนวกั้นมิให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้าไปในเขตพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล
พ.ต.อ.นิมิตร เบิกความว่า ในการชุมนุม แกนนำกลุ่มทะลุฟ้ามีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยบนพื้นถนนในลักษณะโจมตีรัฐบาล และในระหว่างปราศรัย มีผู้ชุมนุมบางส่วนก่อความวุ่นวายขึ้น ตนในฐานะผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง จึงประกาศแจ้งต่อผู้ชุมนุม ว่าการชุมนุมดังกล่าวฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมเสีย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมยุติ และยังก่อเหตุวุ่นวายต่อไป
ร.ต.อ.ทองธาดา และ พ.ต.ท.บุญโปรด เบิกความว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจึงประกาศให้ผู้ชุมนุมที่พยายามดันพื้นที่เข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาลถอยกลับ แต่ก็ไม่เป็นผล จึงประกาศว่าจะทำการฉีดน้ำเปล่า, น้ำสี, แก๊สน้ำตา ตามลำดับระเบียบการสลายการชุมนุม แต่ยังคงไม่เป็นผล ทำให้เจ้าหน้าที่จึงต้องยิงแก๊สน้ำตาไปหลายลูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งผู้ชุมนุมยอมถอยร่นออกไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจึงเข้าควบคุมพื้นที่ไว้ได้
พ.ต.ท.บุญโปรด ให้ความเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในช่วงทนายถามค้าน ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.นิมิตร ว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ข้อกำหนดห้ามมิให้ชุมนุมใกล้บริเวณทำเนียบรัฐบาลในรัศมี 50 เมตร ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั้น เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ใด จะไม่นำ พ.ร.บ. ดังกล่าวมาบังคับใช้ด้วย ในกรณีนี้จึงไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้ผู้ชุมนุมเข้าไปชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาลในรัศมี 50 เมตร พยานตอบแต่เพียงว่า “ไม่ทราบ”
อย่างไรก็ตาม พยานทั้งสามตอบทนายจำเลยว่า ในการชุมนุมดังกล่าว จำเลยไม่ได้ใช้ความรุนแรงใด ๆ ไม่ได้กล่าวปราศรัยในการชุมนุมวันนั้น และมิใช่กลุ่มแกนนำ “กลุ่มทะลุฟ้า” แต่มักพบเห็นจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ บ่อยครั้ง
พ.ต.ท.บุญโปรด และ ร.ต.อ.ชูเกียรติ ตอบคำถามค้านด้วยว่า ตนไม่ได้ตรวจสอบว่าบุคคลใดเป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มทะลุฟ้า และ ไม่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าวหรือมีความเชื่อมโยงกันกับกลุ่มทะลุฟ้าหรือไม่ นอกจากนี้ ยังทราบว่าจำเลยมักจะไปขายของในการชุมนุมต่างๆ ซึ่งในการชุมนุมหลายครั้ง ก็ได้พบเห็นจำเลยขายของอยู่บ้าง แต่เข้าใจว่าจำเลยเข้าร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ พยานโจทก์ปากที่สี่ คือ ร.ต.อ.ชูเกียรติ พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ร.ต.อ.ทองธาดา เป็นประจักษ์พยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดมาส่งให้ตน ตนจึงทำหน้าที่ออกหมายเรียกจำเลยให้มารับทราบข้อกล่าวหา และต่อมาตนได้มีการสรุปสำนวน มีความเห็นสั่งฟ้องและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และจำเลยมีความผิดตามข้อกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.ชูเกียรติ ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ตามสำนวนการสืบสวน จำเลยมีลักษณะเพียงเข้าไปอยู่ในที่เกิดเหตุเท่านั้น มิได้กระทำการใดอันเป็นการยุยง และก่อให้เกิดความรุนแรงและความวุ่นวายใดๆ
.
.
ตำรวจยังเห็นว่าการชุมนุมกีดขวางการจราจร และเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19
ร.ต.อ.ทองธาดา ยังเบิกความว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุ สถานการณ์ของประเทศไทยยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก็มีการระบาดในหลายพื้นที่ จึงมีการประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยในข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ดังนั้นการชุมนุมใดที่เข้าความผิดเช่นว่านี้ จึงถือว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามยังเบิกความว่า ผู้ชุมนุมมีการนำยานพาหนะเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม ทั้งการทำกิจกรรมยังเป็นลักษณะของการยืนบนพื้นถนนซึ่งเป็นการกีดขวางการจราจร จากนั้นผู้ชุมนุมค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรผ่านบริเวณดังกล่าวได้ และจำต้องปิดการจราจรในที่สุด
นอกจากนี้ การชุมนุมในวันนั้นมีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 100-150 คน ยืนชิดติดกันในลักษณะแออัด ทั้งไม่มีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวคือ ไม่มีจุดคัดกรอง, ไม่มีการจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้ผู้เข้าร่วม, ไม่มีการจัดเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์หรือสาธารณสุขเข้าไปดูแล, ไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร และผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย อันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคระบาดโควิด-19
พ.ต.ท.บุญโปรดตอบคำถามติงอัยการเพิ่มเติมว่า การชุมนุมวันนั้นมีการตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขว้างปาหิน ผลักแนวแผงกั้น และจำเลยซึ่งพยานพบในการชุมนุมวันนั้นก็ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยแต่อย่างใด ทั้งยังด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
นอกจากนี้ การเทียบเคียงสถานการณ์การชุมนุมกับสถานการณ์ภายในตลาดหรือคอนเสิร์ตที่ว่า หน้าที่ในการจัดให้มีมาตรการต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของเจ้าของตลาดหรือผู้จัดคอนเสิร์ต ซึ่งเทียบได้กับเป็นหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมในกรณีนี้ โดยจำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมจึงไม่ได้มีหน้าที่เช่นว่านี้ ดังนั้นจะถือว่ามีความผิดไม่ได้ พยานมีความเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ เนื่องจากการชุมนุมมีประชาชนจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ อันเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ขณะที่การเดินตลาดหรือการดูคอนเสิร์ตเป็นสถานการณ์ปกติในชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่างๆ ได้น้อย
ในช่วงทนายถามค้าน ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.นิมิตร และ พ.ต.ท.บุญโปรด ว่า ตามแผนที่สถานที่เกิดเหตุนั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมีการตั้งแถวและนำแผงเหล็กกั้นเป็นแนวยาวบริเวณใต้สะพานถนนพิษณุโลกเลี้ยวซ้ายเข้าถนนนครสวรรค์ มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล แสดงให้เห็นว่า แม้จะไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้น ประชาชนก็ไม่สามารถสัญจรผ่านบริเวณดังกล่าวได้ ใช่หรือไม่
พ.ต.อ.นิมิตร ตอบว่าไม่ใช่ แม้ว่าบริเวณดังกล่าวจะมีการปิดการจราจรจริง แต่บริเวณถนนพิษณุโลกเลี้ยวขวาเข้าถนนยมราช เพื่อไปทำเนียบรัฐบาลนั้น หากไม่มีการชุมนุม ยานพาหนะต่างๆ ก็ยังสามารถสัญจรได้อยู่ แต่เนื่องจากมีการชุมนุม จึงเป็นเหตุให้ต้องปิดการจราจรบริเวณดังกล่าวทั้งหมดไปโดยปริยาย ขณะที่ พ.ต.ท.บุญโปรด รับว่าใช่
ทนายจำเลยยังถามชี้ว่า บริเวณถนนพิษณุโลก หากมีการจุประชากรให้เต็มพื้นที่ถนนจะสามารถจุประชากรได้กว่า 1,000 คน ซึ่งการชุมนุมวันนั้นมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมเพียง 100-150 คน เมื่อเทียบกับความกว้างของพื้นที่แล้ว กล่าวได้ว่า ไม่มีความแออัดแต่อย่างใด ทั้งนี้ พ.ต.อ.นิมิตร ตอบเพียงว่า “ไม่ทราบ”
อย่างไรก็ตาม พยานตำรวจทั้งสามตอบคำถามค้านรับว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีหลังคาครอบปิดไว้ ส่วนเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ในลักษณะคลัสเตอร์ภายหลังการชุมนุมนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อมูลแต่อย่างใด
ร.ต.อ.ทองธาดา ตอบคำถามค้านทนายจำเลยด้วยว่า ภาพถ่ายรายงานการสืบสวนที่ปรากฏภาพผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีการสวมหน้ากากอนามัยนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในที่เกิดเหตุที่ถูกบันทึกภาพไว้เท่านั้น แต่ในเหตุการณ์จริงวันนั้น ตนยืนยันว่าส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่แม้ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย แต่มีการสวมหน้ากากป้องกันแก๊สซึ่งสามารถป้องกันละอองเชื้อทางอากาศได้อย่างดีอยู่แล้ว
ขณะที่ พ.ต.ท.บุญโปรด ระบุว่า การชุมนุมวันนั้นผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้ง ผู้สื่อข่าว, เจ้าหน้าที่ตำรวจ และตัวพยานเอง ก็สวมหน้ากากอนามัยเช่นกัน
นอกจากนี้ ร.ต.อ.ชูเกียรติ พนักงานสอบสวน เบิกความด้วยว่า ตนไม่ได้ตรวจสอบและเชิญผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุว่ามีลักษณะแออัดหรือไม่ ทั้งไม่ได้เชิญเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขมาประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการชุมนุมนี้ด้วย
.
.
ตำรวจเห็นว่าแม้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่ยกเลิกความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทนายจำเลยยังนำส่งประกาศให้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และการใช้บังคับข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้สิ้นสุดลง พร้อมแถลงว่า ตามความในมาตรา 2 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายเดิมนั้น การกระทำที่เคยเป็นความผิด หากกฎหมายใหม่กำหนดให้ไม่มีความผิดแล้ว ก็ย่อมเป็นการยกเลิกความผิดเช่นว่านั้น ให้ถือว่าไม่มีความผิดด้วย
ฝ่ายโจทก์ได้โต้แย้งในประเด็นนี้ โดยพยานโจทก์ทั้งสี่เห็นว่า กฎหมายใหม่ที่มีผลเป็นการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายเดิมนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการยกเลิกความผิดที่เคยกระทำมาก่อนแล้วไปด้วย โดยต้องพิจารณาว่าความผิดเช่นว่านั้นเกิดขึ้นก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ทั้งสี่ปากตอบเพียงว่า “ไม่ทราบ” ว่าแท้จริงแล้วกฎหมายใหม่ที่ออกมาจะเป็นการยกเลิกความผิดตามกฎหมายเดิมหรือไม่ เพียงเบิกความไปตามความคิดเห็นของตน
ร.ต.อ.ทองธาดา เบิกความเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ความผิดตามฟ้องนี้เกิดขึ้นก่อนมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินจึงถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นการยกเลิกความผิดเดิม อีกทั้ง ประกาศดังกล่าวเป็นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยแต่อย่างใด
.
ตำรวจยันป้าเป้าเปลือยกายเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอาญา ทนายจำเลยโต้ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ
ในประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการเปลือยกาย อัยการนำวิดีโอบันทึกเหตุการณ์เปลือยกายของจำเลย และภาพถ่ายจำเลยเปลือยกายให้พยานทั้งสี่ปากดู และพยานต่างเบิกความยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าว
พ.ต.อ.นิมิตร เบิกความว่า ตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุขณะที่จำเลยกระทำการเช่นว่านี้ แต่ได้รับรายงานว่าจำเลยได้กระทำการเปลือยกายนอนบนพื้นถนนต่อหน้าประชาชน, เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้สื่อข่าว
นอกจากนี้ ร.ต.อ.ทองธาดา และ พ.ต.ท.บุญโปรด เบิกความว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าควบคุมพื้นที่ได้แล้ว จำเลยซึ่งอยู่บริเวณแยกนางเลิ้งได้ทำการเปลือยกายไร้อาภรณ์ปกปิดร่างกาย นอนบนพื้นถนนต่อหน้าประชาชน, ผู้สื่อข่าว และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พ.ต.ท.บุญโปรด ตอบคำถามศาลด้วยว่า ภาพถ่ายรายงานการสืบสวนซึ่งปรากฏภาพหญิงสวมเสื้อสีดำ กางเกงสีขาวยืนอยู่ใกล้กันกับจำเลยในลักษณะคล้ายพูดถ้อยคำบางอย่างอยู่นั้น ตนไม่ทราบว่า ถ้อยคำที่หญิงดังกล่าวพูดมีถ้อยคำอย่างไร เนื่องจากในขณะนั้นเสียงบริเวณแยกนางเลิ้งดังมาก ทำให้พยานฟังไม่ถนัดและไม่สามารถจับใจความได้
นอกจากนี้ พยานตอบคำถามติงของอัยการในประเด็นนี้ว่า หญิงดังกล่าวคอยช่วยเหลือจำเลย และถือเสื้อผ้าที่จำเลยถอดออกไว้ด้วย
ในช่วงทนายถามค้าน ร.ต.อ.ทองธาดา ตอบคำถามค้านว่า การเปลือยกายของจำเลยที่ว่าเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมอันถือว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นั้น ตนเห็นว่าการกระทำเช่นว่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ไม่มีเหตุสัมพันธ์ต่อกันแต่อย่างใด
ขณะที่ พ.ต.ท.บุญโปรด ตอบคำถามค้านในประเด็นนี้เห็นว่า จำเลยกระทำการเช่นว่านี้เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่การชุมนุมที่มีความรุนแรง
ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ด้วยว่าการเปลือยกายของจำเลยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ โดยมีสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการ ได้ให้ความเห็นผ่านบทความเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยไว้ นอกจากนี้ยังมีบทความในลักษณะเดียวกันเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Matter ด้วย ทั้งในต่างประเทศยังมีการเปลือยกายในลักษณะของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นว่านี้มาก่อนด้วย
ป้าเป้าเบิกความต่อศาลว่า การที่ตนตัดสินใจเปลือยกาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม โดยมีการใช้ทั้งน้ำ, แก๊สน้ำตา และกระสุนยางกับผู้ชุมนุม หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประกาศว่า “บุคคลใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงนี้ให้ถอยออกไปและยืนบนทางเท้า” จากนั้นมีผู้ชุมนุมตะโกนว่า เจ้าหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่ไว้หมดแล้ว และจะมาทำร้ายพวกเรา
พยานเห็นดังนั้นจึงต้องการปกป้องผู้ชุมนุม จึงเข้าไปพูดกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนว่า “กูมาแต่ตัวกับหีและชีวิต มึงอยากจะดูไหม มึงจะเอายังไง กูมีแค่นี้” จากนั้นจึงตัดสินใจเปลื้องผ้า ซึ่งหลังจากพยานกระทำการเช่นว่านี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประกาศว่า “ให้ต่างฝ่ายต่างถอยคนละก้าว” และถอนกำลังออกไป ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยุติการชุมนุม
ป้าเป้าตอบคำถามทนายถามติงด้วยว่า การประกาศให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องถอยออกและขึ้นไปบนทางเท้านั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมแล้ว และเหตุที่ตนไม่ออกจากพื้นที่การชุมนุมหรือขึ้นไปบนทางเท้า เนื่องจากตนไม่สามารถออกไปนอกพื้นที่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมพื้นที่ไว้หมด ทั้งตนกลัวว่าหากออกไปแล้วพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตนจะถูกควบคุมตัวจึงไม่กล้าเดินออกไป นอกจากนี้ ตนเห็นว่าหากไม่ตัดสินใจกระทำการเช่นว่านี้ เจ้าหน้าที่จะยังคงทำร้ายผู้ชุมนุมต่อไป และสถานการณ์อาจไม่คลี่คลายลง
ในช่วงอัยการถามค้าน ป้าเป้าตอบคำถามค้านว่า เหตุที่ตนตัดสินใจเปลือยกายแทนที่จะบอกให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมนั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทำร้ายผู้ชุมนุม และปิดล้อมพื้นที่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตนไม่รู้จะทำอย่างไรกับสถานการณ์ในขณะนั้น จึงตัดสินใจเช่นนั้นไป เพราะเห็นว่าอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือผู้ชุมนุมได้
ทั้งนี้ อัยการนำวิดีโอภาพเหตุการณ์ในพื้นที่ชุมนุมให้พยานดูว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนปิดถนนเพียงฝั่งเดียว แต่จำเลยยืนยันต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดล้อมถนนไว้ทุกด้าน พร้อมตอบคำถามศาลว่า ตน “ไม่แน่ใจ” ว่าผู้ชุมนุมจะสามารถเดินออกจากพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งจำต้องผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยจะไม่ถูกควบคุมตัวหรือไม่ เนื่องจากในการชุมนุมครั้งนี้มีการจับกุมผู้ชุมนุมด้วยบางส่วน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการประกาศจริงว่าหากผู้ใดไม่เกี่ยวข้องให้ขึ้นไปบนทางเท้าและถอยออกไป
.
.
ป้าเป้ายันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดชุมนุม เป็นเพียงแม่ค้าที่เข้าไปค้าขายในการชุมนุมเท่านั้น ตัดสินใจเปลือยกายเพื่อหยุด คฝ. ที่อาจเข้าจับกุมผู้ชุมนุม
วรวรรณ แซ่อั้ง หรือ “ป้าเป้า” ประกอบอาชีพค้าขายตามสถานที่ชุมนุม ได้เข้าเบิกความย้อนไปในอดีตว่า เดิมทีตนมีอาชีพค้าขายบริเวณท่าพระจันทร์ ต่อมารัฐบาลสั่งไม่ให้ขายของในพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาช่วงปี 2551 พยานเริ่มกลับมาขายของโดยจะขายตามสถานที่ชุมนุมต่างๆ ตั้งแต่ยุคเสื้อแดง เรื่อยมาจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ตนไม่ใช่แกนนำในการจัดการชุมนุมครั้งนี้ เป็นเพียงแม่ค้าที่ไปค้าขายเท่านั้น โดยตนไปปูเสื่อขายสินค้าต่างๆ บนทางเท้าบริเวณแยกนางเลิ้ง มิได้ลงไปบนพื้นถนนแต่อย่างใด สินค้าที่ตนขายนั้น เช่น เสื้อ, น้ำเปล่า และบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากตนรักในประชาธิปไตย รักในความถูกต้อง เมื่อพบเห็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ก็อาจมีการพูดระบายความคับข้องใจบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าว ตนยังไม่ทันได้ขายของเลย เมื่อกลุ่มแกนนำเดินทางมาบริเวณแยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้ามาในพื้นที่จำนวนมากและปิดกั้นถนนไว้ จากนั้นกลุ่มแกนนำได้ขับยานพาหนะออกจากพื้นที่ไป และเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ขึ้นไม่ว่าจะเป็นการฉีดน้ำ, การยิงแก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม
ส่วนการที่ตนตัดสินใจเปลือยกาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม โดยมีการใช้ทั้งน้ำ, แก๊สน้ำตา และกระสุนยางกับผู้ชุมนุม หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประกาศว่า “บุคคลใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงนี้ให้ถอยออกไปและยืนบนทางเท้า” จากนั้นมีผู้ชุมนุมตะโกนว่า เจ้าหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่ไว้หมดแล้ว และจะมาทำร้ายพวกเรา
พยานเห็นดังนั้นจึงต้องการปกป้องผู้ชุมนุม จึงเข้าไปพูดกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนว่า “กูมาแต่ตัวกับหีและชีวิต มึงอยากจะดูไหม มึงจะเอายังไง กูมีแค่นี้” จากนั้นจึงตัดสินใจเปลื้องผ้า ซึ่งหลังจากพยานกระทำการเช่นว่านี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประกาศว่า “ให้ต่างฝ่ายต่างถอยคนละก้าว” และถอนกำลังออกไป ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยุติการชุมนุม
ป้าเป้าตอบคำถามทนายถามติงด้วยว่า การประกาศให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องถอยออกและขึ้นไปบนทางเท้านั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมแล้ว และเหตุที่ตนไม่ออกจากพื้นที่การชุมนุมหรือขึ้นไปบนทางเท้า เนื่องจากตนไม่สามารถออกไปนอกพื้นที่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมพื้นที่ไว้หมด ทั้งตนกลัวว่าหากออกไปแล้วพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตนจะถูกควบคุมตัวจึงไม่กล้าเดินออกไป นอกจากนี้ ตนเห็นว่าหากไม่ตัดสินใจกระทำการเช่นว่านี้ เจ้าหน้าที่จะยังคงทำร้ายผู้ชุมนุมต่อไป และสถานการณ์อาจไม่คลี่คลายลง
ในช่วงอัยการถามค้าน ป้าเป้าตอบคำถามว่า เหตุที่ตนจำต้องไปค้าขายในพื้นที่การชุมนุมนั้น เนื่องจากตนไม่มีเงินเสียค่าที่ในการตั้งแผงร้านขายของ จึงต้องเร่ขายตามสถานที่เช่นว่านี้เพื่อดำรงชีวิต นอกจากการชุมนุมแล้ว ตนยังค้าขายในสถานที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน อาทิ งานคอนเสิร์ต และงานกีฬา บ้างเป็นครั้งคราว
อัยการถามต่อว่า เหตุใด หลังจากพยานได้ยินการประกาศให้ยุติการชุมนุม พยานจึงไม่ออกไปจากพื้นที่เกิดเหตุ พยานตอบคำถามค้านในประเด็นนี้ว่า เนื่องจากวันนั้นตนไม่มีรถกลับ ซึ่งโดยปกติมักจะเดินทางกลับกับเพื่อนหรือกลับโดยรถขนส่งสาธารณะ
ส่วนเหตุที่ตนตัดสินใจเปลือยกายแทนที่จะบอกให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมนั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทำร้ายผู้ชุมนุม และปิดล้อมพื้นที่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตนไม่รู้จะทำอย่างไรกับสถานการณ์ในขณะนั้น จึงตัดสินใจเช่นนั้นไป เพราะเห็นว่าอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือผู้ชุมนุมได้
ทั้งนี้ อัยการนำวิดีโอภาพเหตุการณ์ในพื้นที่ชุมนุมให้พยานดูว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนปิดถนนเพียงฝั่งเดียว แต่จำเลยยืนยันต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดล้อมถนนไว้ทุกด้าน พร้อมตอบคำถามศาลว่า ไม่แน่ใจว่าผู้ชุมนุมจะสามารถเดินออกจากพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งจำต้องผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยจะไม่ถูกควบคุมตัวหรือไม่ เนื่องจากในการชุมนุมครั้งนี้มีการจับกุมผู้ชุมนุมด้วยบางส่วน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการประกาศจริงว่าหากผู้ใดไม่เกี่ยวข้องให้ขึ้นไปบนทางเท้าและถอยออกไป
.