ศาลไม่ยอมให้จำเลยทั้ง 13 นำ ‘ประยุทธ์’ และ 4 เอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศ – งบฯ ในพระองค์ ของ ร.10 เข้าสืบพยานในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ปี 63

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสืบพยานนัดแรก ในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี หรือ #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ในคดีนี้จำเลย 13 ราย ถูกฟ้องในฐานความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ร่วมกันยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ 

วันดังกล่าวมีจำเลยเดินทางมาศาลเพียง 12 ราย ได้แก่ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (จำเลยที่ 1) นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, “ปอ” กรกช แสงเย็นพันธ์ (จำเลยที่ 2) นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี (จำเลยที่ 3) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “เอฟ” ชลธิศ โชติสวัสดิ์ (จำเลยที่ 4) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “ซัน” วัชรากร ไชยแก้ว (จำเลยที่ 6) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ (จำเลยที่ 7) นักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที, “บ็อบ” อัครพล ตีบไธสง (จำเลยที่ 8), โจเซฟ (นามสมมติ) จำเลยที่ 9, “ฟ้า” สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ (จำเลยที่ 10) นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “เดียร์” รวิสรา เอกสกุล (จำเลยที่ 11) บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แอน (นามสมมติ) (จำเลยที่ 12) และ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา (จำเลยที่ 13)

โดยเบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยที่ 5 ไม่ได้เดินทางมาในวันนี้ด้วย เนื่องจากติดสอบของมหาวิทยาลัย

จำเลยยื่นคำร้องเลื่อนสืบพยาน 3 นัด เหตุจำเลยติดภารกิจส่วนตัว หลังรอกว่า 1 ชม. ศาลได้อนุญาตตามคำร้อง

ณ ห้องพิจารณาคดี 603 เวลา 09.00 น. ก่อนศาลจะออกพิจารณาคดีเพื่อดำเนินการสืบพยานโจทก์เป็นนัดแรก ทนายความได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการสืบพยานออกไปจำนวน 3 นัด ได้แก่ นัดสืบพยานโจทก์ที่ 1-3 ในวันที่ 2, 3 และ 7 มี.ค. 2566 ด้วยเหตุผลที่เบนจาติดสอบที่มหาวิทยาลัยในนัดแรก อัครพลมีนัดเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในนัดที่ 2 และสุธินีติดสอบที่มหาวิทยาลัยในนัดที่ 3 ตามลำดับ แต่จำเลยทั้งสามประสงค์ที่จะเข้าร่วมการสืบพยานโจทก์และจำเลยในนัดอื่นที่เหลืออยู่ 

เวลา 10.35 น. คณะผู้พิพากษาออกพิจารณาคดี โดยได้รับคำร้องขอเลื่อนนัดของฝ่ายจำเลยไว้ แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน คณะผู้พิพากษาจึงขอเวลานำคำร้องไปปรึกษากับรองอธิบดีศาลก่อน และให้คู่ความรออยู่ในห้องพิจารณา คณะผู้พิพากษายังได้ถามอัยการโจทก์ด้วยว่า คัดค้านการเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ 3 นัดของฝ่ายจำเลยหรือไม่

โดยอัยการโจทก์ไม่คัดค้านการเลื่อนคดี พร้อมทั้งแถลงว่า วันนี้ได้นัดพยานโจทก์ที่จะเข้าเบิกความไว้ 2 ปาก ในช่วงเช้าและบ่ายช่วงละ 1 ปาก และตลอดการสืบพยานโจทก์ทั้งหมด อัยการโจทก์ประสงค์นำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวมทั้งสิ้น 29 ปาก ตามที่เคยแถลงต่อศาลไว้ 

เวลา 11.20 น. คณะผู้พิพากษากลับเข้าห้องพิจารณาคดี และได้แจ้งข้อสรุปจากการปรึกษากันว่า รองอธิบดีศาลเห็นว่าการขอเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ทั้ง 3 นัด มีเหตุผลเพียงพอและมีหลักฐานประกอบครบถ้วน จึงอนุญาตให้ยกเลิกนัดสืบพยานโจทก์ทั้ง 3 นัดตามคำร้อง และให้เริ่มสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในนัดที่เหลือต่อไป ซึ่งนัดแรกเป็นวันที่ 8 มี.ค. 2566 และรองอธิบดีศาลฝากคณะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเน้นย้ำและขอความร่วมมือจากคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า หากมีเหตุขัดข้องไม่สามารถเข้าร่วมการสืบพยานได้ขอให้แจ้งล่วงหน้าก่อนที่จะถึงนัดสืบพยาน

ศาล ‘ยก 3 คำร้อง’ ขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ – บัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 – ขอออกหมายเรียกพยาน ทนายจำเลยชี้สำคัญกับการสู้คดีและสืบพยานคดีนี้อย่างมาก

ในวันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีและสืบพยานคดีนี้ของฝ่ายจำเลย ได้แก่ คำร้องขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ (หมาย วจ.), คำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 จำนวน 5 ลำดับ และคำร้องขอออกหมายเรียกพยานจำเลย จำนวน 5 ลำดับ ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้องทั้ง 3 คำร้อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. คำร้องขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์: คาดเป็นวิดีโอปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในวันเกิดเหตุ ศาลยกคำร้องไม่ให้คัดถ่าย อ้างภาพเคลื่อนไหวมีถ้อยคำผิดตามฟ้องจำนวนมาก หากสำเนาเผยแพร่ออกไปจะเกิดความเสียหายในวงกว้างได้  

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 ทนายจำเลยเคยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ (หมาย วจ.) ทุกลำดับต่อศาลแล้ว แต่ต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยอ้างว่า ไม่อนุญาตให้คัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ แต่สามารถตรวจสอบวัตถุพยานดังกล่าวได้ที่ศาล โดยให้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ศาล

ครั้งนี้ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ทุกลำดับต่อศาลอีกครั้ง โดยระบุเหตุผลในคำร้องว่า วัตถุพยานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่โจทก์ใช้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด การที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปตรวจดูวัตถุพยานโจทก์ที่ศาลด้วยตัวเองเป็นการสร้างภาระให้แก่จำเลยเกินความจำเป็น และอาจจะไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

เย็นวันเดียวกันศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องเป็นครั้งที่ 2 โดยมีรายละเอียดคำสั่งโดยสรุปว่า เมื่อพิจารณาว่าภาพเคลื่อนไหวดังกล่าว (วัตถุพยานโจทก์) อาจมีถ้อยคำที่เป็นการกระทำความผิดตามฟ้องจำนวนมาก หากไม่มีการควบคุมดูแลโดยเจ้าพนักงานศาล และมีการทำสำเนาหรือตัดต่อจนเกิดการแพร่หลายออกไป จะเกิดความเสียหายในวงกว้าง แต่ทนายจำเลยสามารถตรวจสอบวัตถุพยานโจทก์ดังกล่าวได้ที่ศาล โดยให้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ศาลตามคำสั่ง

ทั้งนี้ “วัตถุพยานโจทก์” หรือ “หมาย วจ.” หมายถึง พยานหลักฐานเชิงวัตถุที่โจทก์ประสงค์นำเข้าประกอบการสืบพยาน เพื่อสนับสนุนการเบิกความของพยานโจทก์ ใช้เพื่อการถามค้านพยานจำเลย และสนับสนุนน้ำหนักในการกล่าวหาจำเลยว่ากระทำความผิดจริงตามฟ้อง ซึ่งวัตถุพยานสามารถเป็นได้ทั้งภาพถ่าย วิดีโอ ภาพจากกล้องวงจรปิด หรือวัตถุอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคดี ซึ่งในคดีนี้ วัตถุพยานโจทก์มีอยู่ด้วยกัน 6 ลำดับ เป็นแผ่นซีดีบันทึกวิดีโอจำนวน 6 แผ่นด้วยกัน แต่ยังไม่ทราบว่าแต่ละแผ่นเป็นวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องใด คาดเป็นวิดีโอปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในวันเกิดเหตุ 

โดยปกติในคดีการเมืองอื่นๆ ศาลก็อนุญาตให้คัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์เป็นปกติอยู่แล้ว แม้จะเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “ยุยงปลุกปั่น” อย่างเดียวกับในคดีนี้ก็ตาม

การที่ศาลไม่ยินยอมให้คัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ แต่ให้ฝ่ายจำเลยเดินทางไปตรวจสอบด้วยตัวเองที่ศาลในเวลาราชการและอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ศาลนั้นจะสร้างภาระให้จำเลยอย่างมาก ด้วยอุปสรรคที่จำเลยมีจำนวนมาก โดยในคดีนี้มีจำเลยถูกฟ้องรวมทั้งสิ้น 13 คน มีทนายความจำเลยประมาณ 11 คน เวลาในการดูและตรวจสอบวัตถุพยานโจทก์ที่มีจำกัดเฉพาะในเวลาราชการเท่านั้น ทั้งยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าวัตถุพยานโจทก์ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวนั้นผ่านการตัดต่อหรือดัดแปลงมาหรือไม่ รวมถึงไม่สามารถปรึกษาหารือถึงแนวทางการต่อสู้คดีได้อย่างเป็นส่วนตัวอีกด้วย เนื่องจากจะต้องอยู่ในพื้นที่ศาลที่มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลอยู่ตลอดเวลา

  1. คำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2: ขอเพิ่ม ‘ประยุทธ์’ เป็นพยานบุคคล และขอเพิ่มพยานเอกสาร 4 ลำดับ เกี่ยวกับการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ของ ร.10 รวมถึงงบฯ ในพระองค์ แต่ศาลยกคำร้อง อ้างไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดีนี้

ในคดีนี้ฝ่ายจำเลยได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยต่อศาลไว้แล้ว เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 โดยระบุพยานจำเลยทั้งสิ้น 80 ลำดับ แบ่งเป็นพยานบุคคลทั้งสิ้น 23 ปาก (ลำดับที่ 1 – 23) และเป็นพยานเอกสารและพยานวัตถุ 57 ลำดับ (ลำดับที่ 24 – 80) แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับพยานเอกสารลำดับที่ 48 – 51 

ต่อมา ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เนื่องจากต้องการจะระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม 1 ลำดับ รวมถึงต้องการให้ศาลรับพยานเอกสารลำดับที่ 48 – 51 ที่เดิมศาลมีคำสั่งไม่รับไว้ แต่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่รับพยานเอกสารทั้งสี่ลำดับ รวมถึงพยานบุคคล 1 ลำดับที่ยื่นเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีนี้ ทั้งนี้ แต่ละลำดับที่ศาลไม่รับมีรายละเอียด ดังนี้

พยานเอกสารลำดับที่ 48 – 51 เป็นเอกสารสำหรับใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นการประทับอยู่ในประเทศเยอรมันของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะครองราชย์และในวันเกิดเหตุคดีนี้ รวมถึงเพื่อพิสูจน์ว่าได้มีการเดินทางไปกลับประเทศเยอรมันโดยเครื่องบินพระที่นั่งจริง

ลำดับที่ 48  เป็นต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารทางราชการแสดงรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 ซึ่งเอกสารอยู่ในความรับผิดชอบของสถานกงสุลใหญ่ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 

ลำดับที่ 49 เป็นต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารทางราชการแสดงรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 เอกสารอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพฯ 

ลำดับที่ 50 เป็นต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารทางราชการแสดงรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่การบินไทย 

ลำดับที่ 51 เป็นต้นฉบับหรือสำเนารายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ถึงปี พ.ศ. 2563 อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยราชการในพระองค์ เพื่อใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นของหน่วยราชการส่วนพระองค์ซึ่งขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีการใช้งบประมาณแผ่นดินในการเดินทางและประทับในประเทศเยอรมันตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ

พยานบุคคลยื่นเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลำดับที่ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้เข้าเบิกความพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ในประเด็นการขยายขอบเขตพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์

ในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกนี้ ทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ระบุพยานบุคคลและพยานเอกสารทั้ง 5 ลำดับดังกล่าวไปอีกครั้ง โดยให้เหตุผลประกอบคำร้องว่า พยานบุคคลและพยานเอกสารทั้ง 5 ลำดับ เป็นพยานที่จะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จำเลยต้องใช้นำสืบเพื่อสนับสนุนคำให้การของจำเลยและประกอบการพิจารณาคดีของศาล  

แต่ศาลยังคงมีคำสั่งยกคำร้องไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติมทุกลำดับเช่นเดิม โดยให้เหตุผลว่า “ศาลได้มีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยให้เหตุผลแห่งการไม่อนุญาตอันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว เมื่อพิจารณาคำร้องนี้ จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง”

  1. คำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกประยุทธ์และเอกสารอีก 4 ลำดับ แต่ศาลยกคำร้อง เนื่องจากได้สั่งไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 จึงไม่สามารถออกหมายเรียกพยานให้ได้ 

ทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารทั้ง 5 ลำดับ ที่ได้ระบุไว้ในคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 โดยขอให้ศาลออกหมายเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เดินทางมาเบิกความต่อศาลในการสืบพยานจำเลยคดีนี้ เนื่องจากเป็นพยานภายนอกที่มีความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นต่อสู้คดีของจำเลย ซึ่งจำเลยไม่สามารถนำมาศาลเองได้

และขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารลำดับที่ 48 – 51 ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ที่ได้กล่าวไปข้างต้นเข้ามาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ด้วย โดยเอกสารทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานราชการและบุคคลภายนอก เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีนี้ ซึ่งทนายจำเลยจำเป็นต้องใช้ในการสืบพยานและถามค้านพยานบุคคลของโจทก์ทุกปาก  

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากศาลได้มีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ฉะนั้นจึงไม่สามารถออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารทั้ง 5 ลำดับที่ยังไม่ได้อยู่ในบัญชีพยานจำเลยได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

คำฟ้อง: ยื่นฟ้อง 12 ผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ชี้หมิ่นกษัตริย์ เหตุทำให้ปชช.เข้าใจว่า ร.10 ใช้อำนาจแทรกแซงการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ฐานข้อมูลคดี: คดี 112 – 13 ปชช.-น.ศ.-นักกิจกรรม อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน

X