ศาลลงโทษปรับ 5,000 บาท คดีบินโดรนถ่ายภาพที่ชุมนุม #ประชาชนปลดแอก ปี 63

วันที่ 8 ก.พ. 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของเอกอนันต์ ด่านเพชรดำรง วัย 49 ปี กรณีนำโดรนขึ้นไปถ่ายภาพที่ชุมนุม #ประชาชนปลดแอก บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 

เกี่ยวกับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงคมนามให้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่คอยควบคุมการบินภายนอก (โดรน) และได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนแล้ว ได้ปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทควบคุมภายนอก หรือโดรนติดกล้อง ขึ้นบินเหนือบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามเฉพาะ

จากพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแล้ว ฝ่ายโจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยว่าได้กระทำความผิดต่อกฎหมายและบทมาตราดังนี้

1. พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2547 มาตรา 22

2. พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 76

3. ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ข้อ 5(2)(ข)

4. ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ และพื้นที่อันตราย พ.ศ. 2563 ข้อ 2 

.

การสืบพยานของคดีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 โดยภาพรวมคือ ฝ่ายโจทก์นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 2 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 1 ปาก 

สำหรับข้อต่อสู้สำคัญของจำเลย คือต่อสู้ประเด็นข้อกฎหมายว่า เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว ไม่ถือว่าได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2547 มาตรา 22 ซึ่งระบุว่า “ห้ามมิให้อากาศยานบินเข้าหรือบินผ่านเขตห้ามหรือเขตกำกัดการบิน ซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งมีระวางโทษระบุไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันตามมาตรา 76 คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกทั้งใน พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดบทเฉพาะว่าด้วยการกระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่คอยควบคุมการบินภายนอกเอาไว้ในมาตรา 24 แล้ว ความว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือทิ้งร่มอากาศนอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด” ซึ่งมีระวางโทษระบุไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันตามมาตรา 78 คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2547 มาตรา 22 เป็นการปรับใช้ข้อกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีข้อกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) ประกอบกับใน พ.ร.บ. ดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่กำหนดไว้เฉพาะสำหรับการกระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน หรือโดรน

.

เวลาประมาณ 10:00 น. ผู้พิพากษาได้ออกพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาสรุปโดยสรุปได้ว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนอนุญาตให้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) จากรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมแล้ว หากแต่จำเลยได้นำขึ้นบินเหนือบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามเฉพาะ (VT R 1 Bangkok City) ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในการอนุญาตตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดพ้นที่หวงห้ามเด็ดขาด พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ และพื้นที่อันตราย พ.ศ. 2563

โดยพื้นที่เขต VT R 1 คือพิกัดห้ามอากาศยานทุกชนิด รวมทั้งโดรน ขึ้นบินในเขตกรุงเทพมหานคร รัศมี 19 กิโลเมตร นับจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และความสูงจากพื้นดิน 3,000 ฟุต ยกเว้นอากาศยานทหาร และอากาศยานที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

จากพฤติการณ์ของจำเลยที่แม้จะเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) หากแต่ได้นำโดรนขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ และพื้นที่อันตราย พ.ศ. 2563 ข้อ 2  

อย่างไรก็ดี โจทก์ได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2547 มาตรา 22 นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วว่าในข้อกฎหมายดังกล่าวมีข้อบัญญัติมาตรา 22 และมาตรา 24 อยู่ในหมวดเดียวกัน แสดงให้เห็นเจตนารณ์ของกฎหมายที่มุ่งหมายจะลงโทษผู้ปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) โดยบทเฉพาะ ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ทำการนำโดรนบินขึ้นในพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพื้นที่ VT R  1 ซึ่งประกาศดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่สามารถบินโดรนได้ ต่อมาได้มีประกาศสำนักงานการบินพลเเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานซึ่งควบคุมการบินจากภายนอกบินเข้าพื้นที่หวงห้ามเฉพาะ VT R1 Bangkok City พ.ศ.2563 โดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่จะทำการบิน ซึ่งหากจะลงโทษจำเลยตามมาตรา 22 วรรค 1 จะทำให้ไม่สามารถบังคับใช้มาตรา 24 ได้ ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 24 ที่ตั้งขึ้นเพื่อบังคับใช้กับโดรนโดยเฉพาะ ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 22 วรรค 1 และต้องรับโทษตามมาตรา 76 นั้น ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเมื่อโจทก์ไม่ได้ระบุท้ายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2547 มาตรา 24 มาด้วย ศาลมีอำนาจลงโทษหรือไม่ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้โจทก์จะไม่ได้ระบุมาตรา 24 มาในคำขอท้ายฟ้อง แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นการบรรยายฟ้องที่ชอบแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องสืบสมแล้ว ศาลย่อมลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วเห็นว่าสามารถลงโทษได้

ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน หรือโดรน ขึ้นบินในพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ และพื้นที่อันตราย ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในการอนุญาตตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดพ้นที่หวงห้ามเด็ดขาด พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ และพื้นที่อันตราย พ.ศ. 2563 ข้อ 2 และพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 10,000 บาท แต่จากการสืบพยาน จำเลยเบิกความเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 5,000 บาท

.

X