จับตา! บุคคลอ้างมาจากศาลอาญาโทรแจ้งให้นายประกันนำ “ยาใจ ทะลุฟ้า” มาส่งตัวในวันที่ 24 ม.ค. เนื่องจากอัยการยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน แม้ยังไม่ได้รับหมายเรียก-ไม่รู้เหตุขอถอน

ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากนายประกันของ “ยาใจ ทะลุฟ้า” หรือทรงพล สนธิรักษ์ ว่าได้รับสายโทรศัพท์จากบุคคลที่อ้างว่ามาจากงานประกันของศาลอาญา แจ้งให้นายประกันส่งตัวทรงพลมาที่ศาลอาญา รัชดาฯ ในวันที่ 24 ม.ค. 2566 เนื่องจากโจทก์หรือพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวของทรงพล ในคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ในคดีดังกล่าว ทรงพลและเพื่อนถูกฟ้องใน 6 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, ข้อหาบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามมาตรา 362 ประกอบมาตรา 365, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ศาลอาญาเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทรงพล โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินจำนวน 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นไปในทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน และให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแล โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว 

เนื่องจากทนายความและนายประกันไม่ได้รับแจ้งว่าสาเหตุของการร้องขอให้เพิกถอนประกันทรงพลในครั้งนี้มาจากเหตุใด และทรงพลเองก็ยังไม่ได้รับหมายเรียกให้มาปรากฏตัวต่อศาล ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอตรวจสำนวนและคัดถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องไปในวันที่ 6 ม.ค. 2566 

ระบบบริการออนไลน์ของศาลยุติธรรมระบุว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตรวจสำนวนในคดี ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566 

อย่างไรก็ตาม ทนายความแจ้งว่าภายหลังวันที่ 9 ม.ค. 2566 ได้เดินทางไปที่ศาลอาญาเพื่อติดตามเอกสารที่งานเก็บสำนวนคดีดำอยู่หลายครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่ายังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ตรวจสำนวนและคัดถ่ายเอกสารแต่อย่างใด โดยอ้างว่าสำนวนในคดีนี้อยู่ที่ผู้บริหารศาล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ทรงพลได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการชูสามนิ้ว ระหว่างเข้าพิธีรับปริญญา ณ หอกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างเข้ารับปริญญาบัตรจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงเกิดการคาดเดาว่าสาเหตุของการร้องขอให้เพิกถอนประกันในครั้งนี้อาจมาจากเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่

จนกระทั่งวันนี้ (20 ม.ค. 2566) ทรงพลก็ยังไม่ได้รับหมายเรียกจากศาลอาญาโดยชอบด้วยกฎหมาย และในบริเวณศาลเองก็มีการแปะป้ายประชาสัมพันธ์ เตือนให้ประชาชนระวังมิจฉาชีพ เนื่องจากศาลอาญาไม่มีนโยบายที่จะโทรศัพท์ไปแจ้งเกี่ยวกับกรณีหมายเรียกแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ปรากฎชัดว่ามีการร้องขอให้เพิกถอนประกันทรงพลจริงหรือไม่ ด้วยสาเหตุใด และในวันที่ 24 ม.ค. 2566 ซึ่งนายประกันได้รับแจ้งให้ส่งตัวทรงพลมาที่ศาลนั้น จะมีการดำเนินการอย่างไร

X