สำหรับปี 2565 ที่กำลังจะผ่านพ้น สถานการณ์ด้านคดีเสรีภาพการแสดงออกในภาคอีสานออกดูจะทรงตัว มีคดีที่เพิ่มมา 9 คดี ส่วนเรื่องราวคดีจากปี 2563-2564 ที่เคลื่อนไหวอยู่ต่างเริ่มมีฟังคำพิพากษา โดยเฉพาะคดีที่ประชาชนและนักกิจกรรมถูกกล่าวหาว่า ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการยกฟ้องไปถึง 10 คดี
แต่ถึงอย่างนั้นสถานการณ์คุกคามประชาชนในระหว่างที่มีบุคคลสำคัญเดินทางไปจังหวัดนั้น ๆ ยังคงปรากฏอยู่ตลอดทั้งปี ท่ามกลางปีที่ได้ชื่อว่า “ปีแห่งความท้าทาย” เพราะกลุ่มกิจกรรมบางกลุ่มเริ่มมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสมาชิก “ปีแห่งการตั้งหลักของฝ่ายประชาธิปไตย” เพราะตั้งหลักว่าในระยะยาวนับจากนี้จะเคลื่อนไหวกันอย่างไร “ปีของการทำงานจัดตั้ง” เพราะภาคประชาชนต้องกลับมาทำงานจัดตั้ง เชื่อมขบวน ให้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หรือเป็น “ปีแห่งการเรียนรู้” ของขบวนการประชาธิปไตย หาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะต่อสู้
เพราะสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้มาจากการร้องขอ แต่มาจากการต่อสู้ ก่อนปฏิทินจะขยับไปสู่ปี 2566 เราชวน 4 นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่อีสาน บอกเล่าทบทวนถึงปีที่กำลังจะล่วงผ่าน พร้อมมองเป้าหมายไปในหนทางข้างหน้าผ่านการอวยพรสิ่งที่หวังให้เกิดกับขวบปีที่จะมาถึง
ค่อย ๆ เดินหน้าและเชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา
อะตอม ชานน อาจณรงค์ จากพรรคปฏิวัติมอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่าปี 2565 ขับเคลื่อนประเด็นในมหาวิทยาลัยผ่านการผลักดันนโยบายกับนักศึกษา มีการจัดงาน Pride Month เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เปิดพื้นที่ให้แสดงจุดยืนและเรียกร้องความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการปฏิวัติสภานักศึกษาให้เป็นองค์กรที่ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจได้ รวมไปถึงพิทักษ์สิทธินักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
ภายนอกมหาวิทยาลัย อะตอมเล่าว่า ด้วยความคิดเปลี่ยนยาก แต่ถ้าเปลี่ยนได้มันจะไม่เหมือนเดิม ปีนี้พวกเขาทำงานทางความคิดมากขึ้น ผ่านการทำเพจรณรงค์ทางความคิดผ่านโรงเรียนการเมือง ลงพื้นที่สำรวจปัญหาประเด็นสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภครอบเมืองขอนแก่น ไปพูดคุยถึงปัญหาของชาวบ้าน และแนวทางที่กลุ่มนักศึกษาอยากจะช่วยแก้ไขปัญหา ทำให้ประชาชนไว้วางใจเชื่อในอุดมการณ์ที่กลุ่มมี
สิ่งที่แย่กับอะตอมคงเป็นเรื่อง โดนตำรวจล็อคคอ เพราะตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ขอนแก่นช่วงน้ำท่วม เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 อะตอมเล่าว่าวันนั้น อยากไปสอบถามพูดคุยการแก้ไขปัญหา เยียวยา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เข้า เลยจะเข้าผ่านเส้นทางวัดแห่งหนึ่ง พอเข้าไปในวัดกลับถูกปิดทางเข้าออก สถานการณ์ตึงเครียดมีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยถ่ายภาพ ถ่ายคลิปในลักษณะเอากล้องจ่อมาที่หน้า กลุ่มนักกิจกรรมจึงไม่ยอมและขอให้ลบคลิป แต่ตำรวจปฏิเสธ
ขณะกำลังเจรจา มีจังหวะตำรวจกรูเข้ามาอุ้มอะตอม ก่อนเขาจะดิ้นหลุดมาได้ และโดนด่าว่ามาชุมนุมทำไม จากนั้นมีตำรวจผลักเขาเข้าไปอีกและล็อคคอเอาไว้ จนสุดท้ายเพื่อน ๆ ช่วยยื้อแย่งจนหลุดมาได้ “เขาล็อคคอเพราะต้องการไม่ให้หลุดออกจากมือ และกักตัวเพื่อจะส่งไปดำเนินคดี” อะตอมคาดการณ์ถึงเหตุที่เกิด
ก่อนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์จะไปแจ้งความที่ สภ.บ้านเป็ด ข้อหาทำร้ายร่างกายและละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คดีอยู่ระหว่างชั้นสอบสวน
สำหรับอะตอม ปีที่ผ่านมา เป็นปีแห่งความท้าทาย ด้วยตอนนี้พรรคกำลังเปลี่ยนรุ่น “เรากำลังพยายามสร้างองค์กรให้แข็งแรง ต่อสู้ต่อไปในระยะยาวได้” อะตอนกล่าวไว้อีกตอน เขารับว่าในสถานการณ์ที่การเมืองไม่ได้หวือหวาแบบเดิม ยังมีบางเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ เช่น เสรีภาพทางวิชาการ ผ่านการเปิดพื้นที่งานเสวนาให้กลุ่มต่าง ๆ มาถกแถลงหาทางออก
ปีหน้า อะตอมยืนยันว่า ยังคงทำงานทางความคิดต่อไป สร้างฐานความเชื่อมั่นให้นักศึกษา ตามอุดมการณ์ของพรรค ที่ว่า สร้างสรรรค์สังคมให้คนเท่ากัน ทำงานเชิงพื้นที่มากขึ้น ในโอกาสปี 2566 จะมาถึงอะตอมอวยพรว่า “ผมก็อยากจะขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งทิ้งความฝัน อย่าวางความหวังไว้ข้างหลัง แล้วก็อย่ายอมแพ้กับอำนาจที่ไม่ยุติธรรม ค่อย ๆ เดินหน้าไป และเชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา ไม่ว่ามันจะมาถึงเมื่อไหร่ สุดท้ายมันจะมาถึงแน่”
ไม่ว่าจะปีไหน ประชาธิปไตยก็ยังไม่มา เพราะฉะนั้นปีหน้า พวกเราต้องก้าวไปด้วยกันต่อไป
นิติกร ค้ำชู หรือ ตอง โรงต้ม ขณะนี้อยู่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ก่อนนั้นเป็นสมาชิกดาวดิน ตั้งแต่เป็นนักศึกษา บทบาทตอนนี้ยังเป็นผู้ประสานงานของขบวนการอีสานใหม่ เริ่มจากประเด็นสิทธิมนุษยชนในอีสาน ลงไปเรียนรู้หนุนเสริมชาวบ้าน ที่ประสบปัญหาจากนโยบายที่ถูกกำหนดจากส่วนกลาง โดยไม่ผ่านการรับฟังความเห็น “การเคลื่อนประเด็นทรัพยากรต่าง ๆ คงไม่พอ เราอยากไปเปลี่ยนโครงสร้าง ให้ประชาชนกำหนดชีวิตตัวเองได้” ตอง เล่าถึงงานตัวเอง
เพราะงานที่ทำอยู่อยู่ในพื้นที่ท้องถิ่นเป็นหลัก สำหรับปีนี้ตองและทางกลุ่มเน้นทำเรื่องกระจายอำนาจ เป็นช่วงของการศึกษา รณรงค์ ให้ข้อมูลกับประชาชนเป็นหลัก ค้นหาข้อเสนอตัวเองในนามอีสานใหม่ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็เป็นอีกแคมเปญหนึ่ง ด้วยกระแสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. มาพอดี เลยลองเปิดกระแสเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ
แต่กับตองการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียวคงไม่พอ เพราะการกระจายอำนาจมีปัญหาตั้งแต่ปี 2557 จากการแช่แข็งเลือกตั้งท้องถิ่น รัฐแก้ไขระเบียบเพื่อดึงอำนาจกลับไปส่วนกลาง รวมถึงเซ็ตรัฐราชการให้เข็มแข็งขึ้น “พูดง่าย ๆ ว่าท้องถิ่นถูกครอบงำโดยรัฐราชการ และปัญหาการทับซ้อนกันของอำนาจ ท้องถิ่นใช้ศักยภาพได้ไม่เต็มที่ ไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญและเพียงพอในการทำประโยชน์สาธารณะ” ตองกล่าวถึงเหตุผลที่ทำประเด็นกระจายอำนาจ ที่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองประเทศในระยะยาว
ตองเล่าว่า สิ่งที่ดีของการเคลื่อนไหวในปี 2563-2564 คือ ขบวนการได้รับชัยชนะในพื้นที่เชิงวัฒนธรรม ความคิดของผู้คนก้าวล้ำไปกันแล้ว ปีนี้คนก็ยังพูดคุยและติดตามกันอยู่ ส่วนเรื่องที่แย่ ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจทั้งของผู้คน สังคม หลายรายต้องทำมาหากินไปด้วย การขยับในเชิงขบวนการจึงน้อยลง แต่เข้าใจว่าต้องเป็นไปตามอารมณ์ของสังคม ขณะที่คุณูปการทางสังคมจากปีก่อนยังคงมีผลต่อผู้คน อดีตนักกิจกรรมดาวดินสะท้อนอีกว่า
“ปีนี้เป็นปีแห่งนิติสงคราม การคุกคามไม่ได้ไปที่บ้าน แต่เป็นไปแบบแจกคดี แจกกำไลอีเอ็ม ที่โดนกันเยอะมาก ผมรู้สึกเจ้าหน้าที่ดันบาร์ขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เอาตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ออกมา มีการดันกับกลุ่มชุมนุม ฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา ไปถึงกระสุนปืน ความรุนแรงไม่ได้เริ่มจากเบาไปหนัก แต่เป็นแบบไร้รูปแบบ แล้วแต่เจ้าหน้าที่ ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่มีใครได้รับผิดจากการสลายชุมนุมเลย มันทำให้ตำรวจยังทำแบบนี้ต่อไป”
ด้วยปีนี้เป็นปีแห่งการตั้งหลักของฝ่ายประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าเป็นการต่อสู้ระยะยาวแล้ว มีการคุยกัน สื่อสารกันมากขึ้น และตั้งหลักว่าจะเคลื่อนไหวอะไรกันต่อ “บางทีเราหยุดเพื่อไปต่อยาว ๆ หยุดเพื่อพัฒนาตนเอง ซ่อมแซมตัวเอง”
สำหรับปีข้างหน้า หลังครบ 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์สืบทอดอำนาจ ตองคงทำเรื่องกระจายอำนาจและการเลือกตั้ง ตองกล่าวอย่างมีหวังว่า “อยากทำให้กระแสไปไกลกว่านี้ ทำให้ประเด็นชิดใกล้กับประชาชนมากขึ้น และอาจมีคำอธิบายที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตเขาได้ดีกว่านี้ รวมถึงเสนอข้อเรียกร้องทางนโยบายท้องถิ่นกับพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง”
ก่อนหล่นประโยคทิ้งท้าย “ไม่ว่าจะปีไหน ประชาธิปไตยก็ยังไม่มา เพราะฉะนั้นปีหน้า พวกเราต้องก้าวไปด้วยกันต่อไป สวัสดีปีใหม่”
ต้องพักผ่อนให้เต็มที่ กลับมาใช้พลังงานเพื่อสิ่งที่เราต้องการให้เป็นจริงเสียที
พายุ บุญโสภณ จากสมาชิกดาวดิน พอจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มทำงานที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน องค์กรติดตามปัญหาที่ดินจากนโยบายของภาครัฐ พื้นที่ทำงานอยู่ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด หน้าที่ของพายุคือลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐ อบรมให้เครื่องมือในการต่อสู้กับชาวบ้าน หนุนเสริมแนวคิดทางกฎหมาย
“บอกชาวบ้านว่า มีสิทธิต่อสู้อะไรบ้างในเรื่องที่ดิน และแนวทางการต่อสู้ตามกฎหมายว่ามีช่องทางยังไงบ้าง หรือพาไปดูการต่อสู้เครือข่ายอื่น ๆ ที่ได้ผลกระทบคล้าย ๆ กัน” พายุสะท้อนถึงงานของตัวเอง
ขณะอีกงานของพายุเป็นการรวมกลุ่มกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านสิทธิพลเมือง จึงพยายามทำให้ขบวนประชาชนและคนรุ่นใหม่เกื้อหนุนกันในนามกลุ่ม “ราษฎร โขง ชี มูน” พายุให้ภาพว่า “เวลาชาวบ้านไปติดตามสถานการณ์เรื่องที่ดินที่กรุงเทพฯ เราก็จะพยายามชวนคนรุ่นใหม่ไปติดตามชาวบ้านด้วย จะได้หนุนเสริมขบวนการกัน ไปช่วยเขียนป้าย ช่วยรณรงค์ ปราศรัย และทำกิจกรรมร่วมกัน”
สำหรับปี 2565 ประเด็นการหยุด พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม เป็นจุดที่พายุประทับใจในขบวนการต่อสู้ของภาคประชาชน ที่เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน ก่อนขยายวงกว้างให้เป็นประเด็นที่หลายกลุ่มสามารถร่วมกันได้ ทำให้หลาย ๆ คนได้รู้จักมากขึ้น และคิดว่าวันหนึ่งจะรวมขบวนที่ใหญ่กว่านี้ เพื่อเคลื่อนไหวประเด็นอื่น ๆ
แต่แล้ว 18 พ.ย. 2565 ขณะชุมนุมราษฎรหยุดเอเปค ก็ทำให้พายุสูญเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง เพราะถูก คฝ.ใช้กระสุนยางยิงเข้าบริเวณใบหน้า พายุกล่าวว่า “อุบัติเหตุที่เราโดน เป็นสิ่งที่เราประเมินว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น เราประเมินฝ่ายรัฐต่ำไป กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ใส่ทั้งกระสุนยาง แก๊ส และพลุ ผมเสียตาไปข้างหนึ่ง แต่เราทำกับขบวนเต็มที่ เราไม่ต้องเสียดายขนาดนั้น ถ้าขบวนเคลื่อนต่อไปได้ ในอนาคตผมก็รู้สึกว่ามันสำเร็จเหมือนกัน”
ด้วยเติบโตผ่านงานต่อสู้ภาคประชาชนตั้งแต่เป็นนักศึกษา พายุเชื่อมั่นว่าการถูกรัฐใช้ความรุนแรงครั้งนี้ เขายังทำงานได้ และจะขยับทำงานเชิงประเด็นต่อไป กล่าวย้ำว่า “เป็นเส้นทางที่เราเลือกไว้แล้ว มันมีจังหวะที่รักษาตัว รักษาร่างกาย และต้องพักก่อน แต่ยังไงเราก็จะกลับมาทำงาน จนกว่าจะทำไม่ไหว”
พายุบอกเล่า อยากให้กรณีเขาเป็นกรณีสุดท้าย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงจากการใช้สิทธิของประชาชน ส่วนปีนี้คิดว่าเป็นปีของการทำงานจัดตั้งของภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อเชื่อมขบวนให้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง และเตรียมข้อเสนอต่อสังคมทั้งจากพื้นที่ชาวบ้านและคนรุ่นใหม่ ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง
“ในเส้นทางต่อสู้ยังอีกยาวไกล ไม่รู้ชัยชนะจะได้มาตอนไหน ผมว่าการเตรียมพร้อม การสรุปบทเรียน นำมาสู่การจัดตั้งความคิดเพื่อเป้าหมายของเราคงต้องใช้พลังอีกเยอะ อยากบอกทุกคนว่า อย่าเพิ่งท้อถอย ก่อนเข้าสู่ปีหน้า เราต้องพักผ่อนให้เต็มที่ และกลับมาใช้พลังงานทำงานเต็มที่เพื่อสิ่งที่เราต้องการให้เป็นจริงเสียที” พายุกล่าวอวยพรในสิ่งที่คิดฝัน
เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญประชาชน ทุกหมวด ทุกมาตราด้วยกัน
ณัฐพร อาจหาญ หรือ บี ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่พื้นที่ทำงานที่ จ.เลย และ จ.หนองบัวลำภู ยังทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน จากปี 2565 เริ่มจากสัญญาณที่รัฐจะหยุดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็ยังมี พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม จึงรู้สึกกังวลที่อาจส่งผลกระทบไกลไปในทุกกลุ่มรวมถึงชาวบ้าน มีการพูดคุยทั้งภาคประชาชนและกลุ่มเคลื่อนไหวทางภาคการเมือง ถ้าปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านจะสร้างปัญหาให้ขบวนการเคลื่อนไหวมาก “เราคิดว่าเป็นการรวมตัวครั้งใหม่ของนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมืองที่หลากหลาย และทำงานร่วมกันจนรัฐชะลอออกกฎหมายฉบับนี้”
สิ่งที่ดีสำหรับปีนี้บีเห็นว่า สังคมเริ่มเห็นกระบวนการพูดคุย นักกิจกรรมฟังเสียงกันมากขึ้น ถ้าปี 2564 ขบวนเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมีการชะลอตัว ปี 2565 จะเห็นความพยายามการกลับมาขับเคลื่อนร่วมกัน และหาหนทางไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
ส่วนที่แย่คงเป็นความรุนแรงที่ไม่ว่าจะปีไหนรัฐก็ทำมาโดยตลอด และไม่มีการแก้ไขปัญหาในเชิงรูปธรรม ในส่วนประเด็นทรัพยากร ยังพบปัญหาการคุกคามการข่มขู่ชาวบ้านที่ออกมาต่อต้านรัฐกับทุนอยู่ซ้ำ ๆ ยิ่งปรากฏความรุนแรงที่ชัดเจนในช่วงชุมนุมราษฎรหยุดเอเปค มีการคุกคามไปที่บ้าน ไปเฝ้าในชุมชน เป็นการกดดันที่ไม่ใช้ความรุนแรงทางตรง
ส่วนพื้นที่ชุมนุมในกรุงเทพฯ บีคิดว่า คฝ.ไม่มีรูปแบบทำงานตามมาตรฐาน เจ้าหน้าที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงก่อน ทั้งโล่ ทั้งกระสุนยาง ที่ยิงใส่ประชาชน ทั้งที่น่าจะประเมินแล้วว่าประชาชนแค่มาชุมนุมเฉย ๆ บีกล่าวอีกว่า สำหรับเธอ วันที่ 18 พ.ย. 2565 เป็นการสลายการชุมนุมที่ไร้มนุษยธรรมมากที่สุด “มันเป็นการใช้ความรุนแรง และไม่ใช่การระงับความรุนแรง เป็นการจ่อยิงและเลือกเป้า” บีกล่าวถึงการสลายชุมนุมครั้งนั้นไว้อีกตอน
ในทางหนึ่ง 2565 เป็นปีแห่งการเรียนรู้ของขบวนการประชาธิปไตย หาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะต่อสู้ ทุกคนเห็นภาพว่าต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ บีเล่าว่า ปีหน้าคงจับตาสถานการณ์การเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้กลุ่มสมัชชาคนจนทำรัฐธรรมนูญคนจน ฟังเสียงคนจน โดยไปคุยกับนักการเมืองในแต่ละพื้นที่ และชวนพรรคการเมืองมาฟังว่าสรุปแล้ว รัฐธรรมนูญคนจนต้องการอะไรบ้าง เรื่องสิทธิเสรีภาพก็เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึง “เราอยากผลักดันนโยบายให้พรรคการเมืองนำไปเสนอในระหว่างการหาเสียง หวังให้พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และจะผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน” บีเล่าถึงความคาดหวัง
เธอสะท้อนอีกว่า “ปี 2565 เป็นปีที่ทั้งเหนื่อย สนุก ตื่นเต้น เจ็บปวด เสียใจ ดีใจ เป็นบทเรียนที่มีความหมาย เราหวังว่าจะเป็นพลัง เป็นข้อมูลสำคัญให้ปี 2566 เป้าหมายที่วางไว้จะได้เดินหน้าต่อ ขอให้ทุกคนได้พักผ่อนปีใหม่อย่างเต็มที่ แล้วกลับมามีพลังขับเคลื่อน เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญประชาชน ทุกหมวด ทุกมาตราด้วยกัน”