วันที่ 27 ธ.ค. 2565 เวลา 11.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล” หรือ “ลุงศักดิ์” ดีไซเนอร์และอดีตผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงวัย 62 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีร่วมกันชุมนุมจัดงานวันคล้ายวันเกิดให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ ได้เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยระบุว่าในวันที่เกิดเหตุ วีรวิชญ์ได้เป็นแกนนำ พร้อมกับมวลชนราว 20 คน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจัดงานวันเกิดให้กับ ทักษิณ ชินวัตร เป็นการทำกิจกรรมในลักษณะเปิดเพลง เต้นรำ และจุดเทียนเป่าเค้ก ซึ่งเกิดการกีดขวางทางจราจร และเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 ทั้งยังใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ วีรวิชญ์ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2564
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวงดุสิต 3 ได้สั่งฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 โดยคำบรรยายฟ้องมีใจความสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564 จำเลยและพวกได้ร่วมกันจัดงานวันเกิดให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมดังกล่าวราว 20 คน มีการติดอุปกรณ์เครื่องขยายเสียงบนรถยนต์ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจำเลยและผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เปิดเพลง เต้นรำ และเป่าเค้กวันเกิด ซึ่งในขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การทำกิจกรรมของจำเลยเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มากกว่า 5 คนที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ตลอดจนการเปิดเพลง เต้นรำ และจุดเทียนเป่าเค้กโดยการใช้ลำโพงขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
คดีนี้มีการสืบพยานเมื่อวันที่ 2-3 พ.ย. 2565 ต่อมาในวันนี้ ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีใจความสำคัญระบุว่าการชุมนุมของจำเลยไม่ถึงขนาดเป็นการมั่วสุมที่แออัด ถึงแม้ในขณะเกิดเหตุของคดีนี้ จะมีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ และมีความเสี่ยงทำให้เกิดการแพร่โรคระบาด แต่จำเลยได้จัดการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพียง 20 คน
ตลอดจนมีการจัดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งจำเลยนำสืบว่ามีการแจกข้าวในที่ชุมนุม โดยจำเลยและพวกได้จัดกั้นแผงเหล็ก เพื่อจัดระเบียบให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมสามารถเข้าไปรับอาหารได้เพียงคร้ังละ 5 – 6 คน เท่านั้น อีกทั้งในกิจกรรมยังมีการสวมหน้ากากอนามัย และแจกจ่ายเจลแอลกอฮอล์ตลอดทั้งงาน การชุมนุมจึงไม่เป็นการแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่โรค ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษปรับเป็นเงิน 200 บาท
ทั้งนี้ วีรวิชญ์เป็นผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองคนหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ “จับตา” และติดตาม โดยในช่วงการชุมนุมปี 2563-64 เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีไปแล้วทั้งหมด 14 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้เขาจะเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งต่างๆ ก็ตาม