ณัชชา วนวนากร
เรื่องราวของชุมชนบางกลอยกับประเด็นพิพาทบนผืนป่าแก่งกระจาน สะท้อนให้เห็นแนวทางการอนุรักษ์ป่าของภาครัฐที่ต้องการให้ป่าปราศจากคนอยู่อาศัย และปฏิเสธสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอในการเข้ามามีส่วนร่วมบริหารและจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ นำไปสู่การใช้ทั้งกฎหมายและกำลัง เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านที่อาศัยและตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ มานานกว่า 100 ปี ออกจากป่าแก่งกระจาน
จากข้อเท็จจริงพบว่ามาตรการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าของภาครัฐมีความรุนแรงอย่างมาก ตั้งแต่การดำเนินคดีกับชาวบ้าน ไล่เผาที่พักและยุ้งฉาง ไปจนถึงการอุ้มฆ่า “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐ “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพวก ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี
เมื่อในพื้นที่ป่ามีชุมชนท้องถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอยู่แล้วหลายชั่วอายุคน ก่อนที่รัฐจะออกกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ใช้เทคโนโลยีทางอากาศเข้ามาขีดเส้นในแผนที่ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่ใดคืออุทยาน และเปลี่ยนสถานะของชุมชนจากผู้บุกเบิกเป็นผู้บุกรุก โดยที่รัฐไม่ได้มีความพยายามในการเข้าไปทำความเข้าใจชาวบ้าน ทำให้เกิดความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ระหว่างภาครัฐกับชุมชน แทนที่จะเกิดความร่วมมือในการสร้างระบบจัดการทรัพย์สินที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
จากการได้พูดคุยกับ “จัน” เยาวชนชาวปกาเกอะญอ จากกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ซึ่งเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งที่ต่อสู้เรียกร้องให้ชาวบ้านบางกลอยได้กลับบ้านที่ถูกบังคับให้จากมา ทำให้ได้ทราบว่าชุมชนบางกลอยมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ชาวบ้านไม่ได้ฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังอนุรักษ์และฟื้นฟูไปในเวลาเดียวกัน ดังนั้นในตลอดระยะเวลาหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านก็ได้สืบทอดภูมิปัญญา และความเชื่อต่างๆ ซึ่งเรียกว่า ‘กฎธรรมชาติ’ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยที่ป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์
ชุมชนท้องถิ่นหลายชุมชน ไม่เพียงแต่ชุมชนบางกลอย วิถีชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตายล้วนต้องพึ่งพาธรรมชาติ พวกเขาจึงเป็นผู้ที่รักป่ามากที่สุด เคารพนบนอบต่อธรรมชาติมากที่สุด และรู้จักทรัพยากรในพื้นที่ที่ตนอยู่อาศัยดีที่สุด กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จึงเป็นบุคคลที่รัฐควรจะให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
.
หลักการสากลและกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิชุมชน
สิทธิชุมชนในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ได้รับการรับรองไว้ในเอกสารระหว่างประเทศอย่างปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) ซึ่งกําหนดยุทธศาสตร์เรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประชาคมโลก เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยในหลักการข้อที่ 22 กล่าวถึงชนพื้นเมือง (Indigenous people) และชุมชนท้องถิ่น (Local comunities) ว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการและการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพราะมีความรู้และมีแนวปฏิบัติสืบทอดกันมา รัฐจึงควรจะต้องยอมรับ และให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสมต่อเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และประโยชน์ของพวกเขา รวมทั้งทำให้มีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) ยังได้รับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองไว้ในมาตรา 26 ว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร ซึ่งพวกเขาครอบครองและเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้หรือเคยได้รับมาก่อน โดยรัฐจักต้องให้การยอมรับและคุ้มครองในทางกฎหมายต่อที่ดิน เขตแดน และทรัพยากรเหล่านี้ การยอมรับดังกล่าวนั้นจักต้องกระทำโดยการให้ความเคารพต่อจารีตประเพณี และระบบการถือครองที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองที่เกี่ยวข้อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 43 ก็มีการบัญญัติรับรองสิทธิชุมชนไว้ว่า บุคคลและชุมชนมีสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา 57(2) ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ให้สอดคล้องกันคือ รัฐต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ
ดังนั้นตามหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อม กรณีที่เดิมทีในพื้นที่ป่ามีชุมชนท้องถิ่นอาศัยอยู่ก่อนแล้ว และรัฐเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ด้วยการสำรวจหรือบังคับใช้กฎหมายในภายหลัง หากพบว่าชุมชนท้องถิ่นมีระบบจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐจะต้องมีกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมสร้างระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชนโดยให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นฐาน เพื่อไม่ให้รัฐเข้ามาครอบงำหรือทำลายระบบการจัดการเดิมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เนื่องจากรัฐไม่ใช่เจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาดูแลแทนประชาชนเท่านั้น
เมื่อพิจารณากฎหมายลำดับรองอย่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 19 พบว่ามีการกำหนดให้ภายในอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม กล่าวคือโดยหลักแล้ว พ.ร.บ.นี้กำหนดว่าป่าอุทยานจะต้องไม่มีคนอาศัยอยู่ และการกำหนดพื้นที่เขตอุทยานในมาตรา 8 ก็ไม่ได้ให้บุคคลหรือชุมชนที่มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพียงแค่ให้ภาครัฐต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 ได้วางหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นข้อยกเว้นว่า ชุมชนจะสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่เขตอุทยาน จะต้องได้รับการสำรวจจากกรมอุทยานฯ ภายใน 240 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับ ต้องเป็นประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติมาก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับ โดยภาครัฐจะต้องจัดทำโครงการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและคุณสมบัติของบุคคล หน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน และการสิ้นสุดการอยู่อาศัยหรือทำกิน และมาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลการดำเนินโครงการ โดยประชาชนไม่ได้สิทธิในที่ดินนั้น
หากบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินได้ครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม เก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือนำหรือปล่อยสัตว์ในเขตพื้นที่โครงการ หากการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ และปฏิบัติตามที่ระเบียบกำหนด ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับโทษ
หากในข้อเท็จจริงพบว่ามีชุมชนตกสำรวจจากกรมอุทยานฯ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าชุมชนนั้นจะยังคงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 64 หรือไม่ และการจัดทำโครงการของภาครัฐตามมาตราดังกล่าวก็มิได้วางกลไกการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนไว้ ดังนั้นเพื่อให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ สอดคล้องกับปฏิญญาสากลและรัฐธรรมนูญ การวางโครงการและดำเนินนโยบายของรัฐก็ควรจะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ จารีตประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่มาก่อนแล้ว และให้ชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางหลักเกณฑ์
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 ยังกำหนดว่าภายใต้โครงการดังกล่าว ชุมชนจะไม่ได้รับสิทธิในที่ดิน ไม่ว่ากรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง สิทธิที่ชุมชนจะได้รับมีเพียงแค่สิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง จะพบว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากรด้วย
สิทธิชุมชนท้องถิ่นในที่ดินและในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามกฎหมายไทย จึงบัญญัติไว้ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดในปฏิญญาสากลทั้งสองฉบับข้างต้น นอกจากนี้การวางกลไกให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้สิทธิชุมชนเกิดขึ้นได้จริง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในปัจจุบันจึงเป็นระบบจัดการโดยรัฐเกือบทั้งหมด
.
สิทธิชุมชนของชาวบ้านบางกลอยในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางกฎหมาย
ในกรณีของชุมชนบางกลอย เดิมทีชาวบ้านเป็นผู้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่มาก่อนจะมี พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ หลังจากนั้นพื้นที่ป่าก็ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งไม่ให้สิทธิอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่เขตอุทยานโดยเด็ดขาด และไม่มีกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทางสิ่งแวดล้อมเลยแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็น และในปี 2539 รัฐก็เจรจาให้ชาวบ้านลงมาบริเวณบางกลอยล่างและบ้านโป่งลึกจนสำเร็จ
วันที่ 3 ส.ค. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติ เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม จัดการข้อพิพาทโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนซึ่งทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชุมชนที่พิสูจน์ได้ว่าอยู่มานานก่อนรัฐจะเข้ามา ส่งเสริมและยอมรับวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง และส่งเสริมสนับสนุนและยอมรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และการจัดการของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เช่น การออกโฉนดชุมชน
อย่างไรก็ตามมติคณะรัฐมนตรีในข้างต้นก็ไม่ได้มีผลบังคับในทางกฎหมาย เป็นเพียงข้อเสนอแนะแนวนโยบายและหลักปฏิบัติให้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาก็แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐมิได้ดำเนินการกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงโดยคำนึงถึงข้อเสนอแนะดังกล่าวแต่อย่างใด
ในปี 2554 เมื่อชาวบ้านที่ลงมาอยู่บางกลอยล่างและบ้านโป่งลึกไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐตามจำนวนที่สัญญาและที่ดินที่ได้รับก็ไม่สามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้ตามวิถีชีวิตเดิม ชาวบ้านจึงมีความพยายามในการย้ายกลับขึ้นไปบริเวณพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ในขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ใช้ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี เผาบ้านและยุ้งฉาง เพื่อผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ จนเกิดประเด็นพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครอง
ในประเด็นเรื่องสิทธิของชาวบ้านบางกลอยในการอยู่อาศัยและทำกินบนพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดินนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า “ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้”
จากคำวินิจฉัยว่าชาวบ้านบางกลอยทั้งหกไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินข้างต้น นอกจากศาลจะอ้างว่าเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแล้ว ศาลยังอ้างว่าชาวบ้านไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากย้อนไปดูปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มาตรา 26 จะพบว่าเพียงแค่ชนเผ่าพื้นเมืองครอบครองและเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้หรือเคยได้รับ ที่ดิน เขตแดน และทรัพยากรมาก่อน รัฐก็ต้องรับรองและคุ้มครองในทางกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารสิทธิหรือเอกสารกฎหมายใดๆ เนื่องจากแทบจะเป็นไปไม่ได้ในข้อเท็จจริงที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอซึ่งเป็นบุคคลชายขอบจะมีเอกสารดังกล่าว
อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองนี้ มีขึ้นในวันที่ 31 พ.ค. 2561 ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จึงมีข้อน่าพิจารณาว่าในกรณีเช่นนี้ ชาวบ้านบางกลอยจะยังคงมีโอกาสเรียกร้องสิทธิอยู่อาศัยและทำกินบนพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในมาตรา 64 ได้หรือไม่ เมื่อชาวบ้านส่วนใหญ่ลงมาอยู่อาศัยในพื้นที่บางกลอยล่างและบ้านโป่งลึกตามที่รัฐบังคับและจัดสรรแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นไม่เข้าองค์ประกอบเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติมาก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับ
ต่อมาเมื่อต้นปี 2564 ชาวบ้านบางกลอยที่ประสบปัญหาเนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐตามสัญญาและที่ดินที่ได้รับการจัดสรรก็ไม่สามารถใช้ทำกินตามวิถีชีวิตเดิมได้ ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านเดินทางกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินและบางกลอยบน เมื่อพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่อยู่อาศัยหรือทำกิน ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จึงเข้าตรวจยึดพื้นที่บุกรุกพร้อมจับกุมและดำเนินคดีบุกรุกป่ากับบุคคลเหล่านั้น จนเกิด #Saveบางกลอย ขึ้นในโลกออนไลน์
ในขณะเดียวกันกรมอุทยานฯ ก็เผยแพร่ภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ถูกบุกรุกและแผ้วถาง บริเวณพื้นที่บางกลอยบน จำนวน 18 แปลง จนเกิดแฮชแท็ก #Saveแก่งกระจาน สนับสนุนการดำเนินการของกรมอุทยานฯ แม้จะมีการโต้แย้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชนว่าพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางนั้นเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนเดิม พร้อมแสดงหลักฐานเป็นภาพถ่ายทางอากาศให้เห็นว่าพื้นที่มีร่องรอยแผ้วถางมานานแล้วก็ตาม
ดังนั้นแม้กฎหมายลำดับรองของประเทศไทยเรื่องสิทธิชุมชนในทางสิ่งแวดล้อมจะถูกรับรองไว้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ซึ่งควรได้รับการแก้ไขให้ชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น แต่เมื่อคำนึงถึงกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน สิทธิชุมชนที่ได้รับการรับรองใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 เป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นซึ่งอาศัยอยู่กับป่ามาก่อนที่รัฐจะเข้ามา ได้รับการคุ้มครองให้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นทีต่อไป ในขณะเดียวกันรัฐก็สามารถกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการว่าการให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เป็นไปโดยปกติสุขหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะทำให้เกิดระบบจัดการทรัพย์สินที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน โดยให้คำนึงถึงชุมชนเป็นฐาน
จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกับชุมชนบางกลอย จึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายภายในของประเทศไทยยังไม่สามารถรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังไม่สอดคล้องกับหลักการสากล ชาวบ้านบางกลอยก็ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวในทางข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่พวกเขามีองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ หากภาครัฐเข้ามาสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน เคารพวิถีชีวิต และคืนสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินซึ่งเคยเป็นบ้านของพวกเขามานานกว่า 100 ปี
.
.
เอกสารอ้างอิง
ข่าวสาร/บทความ
ธันยพร บัวทอง. บางกลอย: “ป่าปลอดคน” หรือ “คนอยู่กับป่า” อนาคตป่าแก่งกระจานกับการเป็นมรดกโลก[ออนไลน์]. บีบีซีไทย, 2564. แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-56453842
บีบีซีไทย. แก่งกระจาน : ยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนยูเอ็นค้าน[ออนไลน์]. 2564. แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-57968385
ไทยโพสต์. ‘ชาวบางกลอย’ ร้อง กก.มรดกโลก วอนรัฐบาลแก้ปัญหาที่ทำกินก่อนขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน[ออนไลน์]. 2563. แหล่งที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/87066
สำนักบริหารกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ชาวบางกลอยอยู่กับป่าแบบพอเพียง ฟื้นคืนสภาพ “ใจแผ่นดิน” ให้สมบูรณ์ตามธรรมชาติ[ออนไลน์]. DNP news, 2564. แหล่งที่มา: http://news.dnp.go.th/news/1777
สำนักบริหารกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรมอุทยานฯ แจง 4 ประเด็น ข้อเรียกร้อง คชท. ค้านขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน[ออนไลน์]. DNP news, 2564. แหล่งที่มา: http://news.dnp.go.th/news/4060
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สิทธิชุมชน[ออนไลน์]. 2563. แหล่งที่มา: https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=73103
The MATTER. ทำไมต้อง #Saveบางกลอย ? สรุปประเด็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐ ในพื้นที่แก่งกระจาน[ออนไลน์]. 2564. แหล่งที่มา: https://thematter.co/brief/133934/133934
THECITIZEN.PLUS. กางแผนที่ “ใจแผ่นดิน”ในความทรงจำ เปิดเหตุผลกะเหรี่ยงบางกลอย…ทำไมต้องกลับแผ่นดินแม่[ออนไลน์]. Thai PBS, 2564. แหล่งที่มา: https://thecitizen.plus/node/40599
วิศรุต สินพงศพร. สรุปทุกอย่างให้เข้าใจ #SAVEบางกลอย เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับชาวกะเหรี่ยง[ออนไลน์]. workpointTODAY, 2564. แหล่งที่มา: https://workpointtoday.com/explaine/
กฎหมาย/เอกสารสากล/เอกสารราชการ
ปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา.
ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560.
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504.
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562.
มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง.
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อส. 77/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อส. 4/2561.