อย่าปล่อยให้ “บอย” ธัชพงศ์ แกดำ ติดคุกฟรี

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล (ทนายความ)

.

ผมติดตามข่าวที่ชาวบ้านบางกลอยถูกบังคับขับไล่และถูกจับกุมดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ยินชื่อของ “ธัชพงศ์ แกดำ” อยู่บ่อยๆ ในหลายครั้ง ผมเห็นเขาใส่เสื้อกะเหรี่ยงออกมาชุมนุมหรือเคลื่อนไหวเรียกร้อง เคยเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นกะเหรี่ยงจริงๆ เสียด้วยซ้ำ

ผมไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เห็นบทบาทเพียงแต่ในสื่อที่นำเสนอชื่อและภาพของเขาที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านและเรียกร้องสิทธิให้ชาวบ้านบางกลอย ตั้งแต่ตอนที่ชาวบ้านบางกลอย 36 ครอบครัว ตัดสินใจท้าทายอำนาจรัฐ โดยเดินทางกลับไปทำไร่หมุนเวียนยังที่ตั้งบ้านใจแผ่นดิน ที่ๆ เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกเขา ทำให้ถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งหมด 22 คน เป็นเหตุให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งไม่อาจยอมรับได้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น จึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในนาม “ภาคี Save บางกลอย”

ธัชพงศ์ คือหนึ่งในสมาชิกของภาคี Save บางกลอย ที่ออกมาขับเคลื่อนอย่างสม่ำเสมอ เขาทำกิจกรรมต่างๆ และพูดถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ที่เอาจริงเอาจัง ทั้งการจัดชุมนุมขึ้นเอง และนำประเด็นปัญหาไปเคลื่อนไหวนำเสนอในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วงขับไล่ประยุทธ์ ทำให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจปัญหาที่คนบางกลอยเผชิญมากขึ้น จนเกิดกระแส “#saveบางกลอย” ในเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันเขายังร่วมเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในภาพใหญ่ และสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของราษฎรไปพร้อมกัน

และนั่นทำให้เขาถูกออกหมายจับ ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ (มาตรา 215), ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากการเข้าร่วมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนที่หน้า บก.ตชด.ภาค 1 จนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ธัชพงศ์เดินทางไปมอบตัวกับตำรวจที่สถานีตำรวจคลองห้า ปทุมธานี ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จนเขาถูกคุมขังมาจวนครบหนึ่งเดือนแล้ว รายงานข่าวยังระบุว่าธัชพงศ์ติดเชื้อโควิด 19 ในเรือนจำ และมีอาการค่อนข้างรุนแรง จนน่าเป็นห่วง

ทั้งกรณีชาวบ้านบางกลอยถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิด เมื่อจะกลับไปก็ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า และกรณีที่ธัชพงศ์ ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการร่วมชุมนุม ชวนให้สะเทือนอารมณ์ยิ่ง ไม่แตกต่างกัน

สำหรับผมก็รู้สึกขมขื่นกับความมักง่ายและพฤติกรรมผลักภาระให้พ้นตัวของผู้มีอำนาจ ทุกครั้งที่ชาวบ้าน ทนายความ หรือนักวิชาการ โต้แย้งว่าชาวบ้านนั้น ถูกตรวจยึดและจับกุมดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมักจะอ้างว่าเขาเพียงทำตามหน้าที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ที่ผมขมขื่นไม่ใช่เพราะตัวอักษรในกฎมาย แต่เพราะผมรู้ว่ากฎหมายเหล่านั้น ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งคุ้มครองผืนป่าของประเทศ

ผมคิดว่าสิ่งที่ธัชพงศ์ ออกมาขับเคลื่อนนั้น เขาไม่ได้เพียงเรียกร้องให้กับคนบางกลอย 36 ครอบครัวเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาเรียกร้องเป็นปัญหาของทั้งคนชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงกว่า 15 ล้านคน เนื้อที่รวมกันกว่า 20 ล้านไร่ เฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ มีจำนวนกว่า 8 แสนครัวเรือน เนื้อที่รวมกันกว่า 8.6 ล้านไร่ ที่ถูกแย่งยึดสิทธิในที่ดินและฐานทรัพยากรไปโดยใช้ “กฎหมาย” และนโยบายรัฐเป็นเครื่องมือ ทำให้คนชายขอบถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเสมอมา

การเคลื่อนไหวของธัชพงศ์ ในนามภาคี Save บางกลอย ไม่เพียงแต่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านบางกลอยเท่านั้น แต่ยังพยายามนำปัญหานี้ไปเป็นประเด็นขับเคลื่อนทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วย

.

ภาพจากเพจภาคีSaveบางกลอย

สำหรับผม การต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินและฐานทรัพยากร จำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจังด้วย เพราะปัญหาสิทธิในที่ดินในเขตป่า ไม่อาจคลี่คลายได้ด้วยการอะลุ่มอล่วยหรือขอความเมตตาจากเจ้าหน้าที่ หากแต่จะต้องปฏิรูประบบโครงสร้างอำนาจรัฐด้านป่าไม้ ที่เกาะกินและผูกขาดผลประโยชน์ในกิจการเกี่ยวกับป่าไม้และฐานทรัพยากรของประเทศนี้  ยิ่งนานวันยิ่งมีความชัดเจนว่าจำเป็นต้องไล่ประยุทธ์ออกไปก่อน และผลักดันทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ถึงจะเป็นหนทางไปสู่การแก่ไขปัญหาอย่างแท้จริงได้

ปัญหาสิทธิในที่ดินและฐานทรัพยากร เผชิญกับสภาพวิกฤติมากขึ้นและหนักยิ่งขึ้น ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 กล่าวคือ หลังรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง “การทวงคืนผืนป่า” ทำให้คนชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ถูกตรวจยึดและดำเนินคดีเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินจำนวนมาก เฉลี่ยประมาณ 7,000 คดี ต่อปี ที่ดินทำกินถูกยึดไปหลายหมื่นไร่ ที่เลวร้ายชนิดที่ไม่อาจยอมรับได้คือ การตัดทำลายสวนยางพารา ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น เพื่อปล่อยให้เป็นป่าหญ้าแห้งกรัง

อีกทั้ง ยังมีการแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่มีผลเป็นการแย่งยึดที่ดินทำกินของเกษตรกร อย่างน้อย 2 กรณี กรณีแรกคือการแก้ไข พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2559 เพื่อจัดทำหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในรูปแบบ คทช. แต่รูปแบบคือ เป็นการบังคับให้ชาวบ้านต้องเช่าที่ดินของตนเองที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยมีระยะเวลาเช่าไม่เกิน 30 ปี เนื้อที่ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่

กรณีที่สองคือ การแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยให้จัดทำหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินโดยมีเงื่อนไข ในรูปแบบโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ซึ่งผลในทางกฎหมายคือ ยึดที่ดินมาเป็นของรัฐโดยเบ็ดเสร็จ แล้วเจ้าของจะต้องมาขออนุญาตใช้ประโยชน์แบบมีเงื่อนไข ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ ระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี ซึ่งกฎหมายเหล่านี้นอกจากไม่ทำให้คนชนบทมีสิทธิที่ดีขึ้น กลับทำให้สิทธิถูกจำกัดลงไปอีก  

ทั้งการออกคำสั่ง คสช. การจัดทำ คทช. และการควบคุมที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ ที่ถูกจัดทำขึ้นมาภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งสองสมัย ซึ่งแน่นอนว่าตัวเขาไม่ใช่คนทำเอง แต่การอยู่ในอำนาจของเขา ทำให้ผู้มีอำนาจบางกลุ่มได้โอกาสเข้าไปแก้ไขปรับแต่งกฎหมายได้ตามใจ นอกจากจะทำให้เกษตรกรที่เป็นคนชายขอบในชนบทและบนพื้นที่สูงถูกลิดรอนสิทธิอย่างมากแล้ว ยังทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากเกษตรกรไม่สามารถใช้ที่ดินทำการผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ หน่วยงานรัฐเองก็ไม่สามารถเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมได้อย่างเต็มที่

ปัญหาป่าไม้และที่ดิน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผู้มีอำนาจถือครองผลประโยชน์บางอย่างอยู่ พวกเขากอดผลประโยชน์เหล่านั้นไว้ จึงไม่ยินยอมผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาภาคประชาชนชุมนุมเรียกร้องมาโดยตลอด ขบวนเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ดินและฐานทรัพยากรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ กลุ่ม P-move พวกเขาทำงานอย่างเข้มแข็งจริงจัง แต่ก็ยังทำได้เพียงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าบางเรื่อง ยังไม่สามารถเขย่าแก้ไขเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้

ที่สำคัญ ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากอำนาจไป การเมืองเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ และได้ผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่านี้ ย่อมจะเปิดพื้นที่ให้มีการทบทวนกฎหมายและนโยบายอย่างจริงจัง โดยกระบวนการที่ประชาชนมีอำนาจต่อรองมากกว่านี้

สิทธิในที่ดินและฐานทรัพยากรของคนชายขอบ ถูกรัฐและทุนรุกรานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสภาวะที่การเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบกว่า ซึ่งผู้ได้รับความเดือดร้อนจะต้องต่อสู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากต้องยันกับสถานการณ์เฉพาะหน้าแล้ว จะต้องต่อสู้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจอีกด้วย

บทบาทของ “บอย ธัชพงศ์” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในฐานะผู้เชื่อมต่อขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชน และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ผมคิดว่าหากคนชายขอบสามารถร่วมกันสานต่อและขยายขบวนการต่อสู้ที่ธัชพงศ์ และภาคี Save บางกลอย พยายามทำให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลให้สามารถพอจะเขย่าโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ทั้งในประเด็นการเรียกร้องเรื่องสิทธิในที่ดินและฐานทรัพยากร และในการเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยได้บ้าง

.

X