ในวันที่ 22 ธ.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) เจ้าหน้าที่ธุรการของหน่วยงานเอกชนวัย 29 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่า “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดบนถนน” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 33 และ “ตระเตรียมการวางเพลิง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 และ 219 จากกรณีเทน้ำมันบริเวณประตูทำเนียบรัฐบาลเพื่อประท้วงนายกรัฐมนตรี ในช่วงก่อนรุ่งเช้าวันที่ 5 ก.ค. 2564 เนื่องจากรู้สึกไม่พอใจการบริหารงานอันย่ำแย่ของรัฐบาล จนทำให้พ่อของณัฐวุฒิต้องติดโควิด-19 และไม่สามารถหาเตียงในช่วงนั้นได้ ส่วนแม่ไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจหาเชื้อได้
คดีนี้ดำเนินการสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดี 901 ของศาลอาญา รวมทั้งหมด 1 นัด ในวันที่ 25 พ.ย. 2565 จำเลยมาศาลตามนัดและเข้าเบิกความเป็นพยาน
ก่อนเริ่มการสืบพยาน ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าจำเลยต้องการปรึกษาหรือกับศาลเกี่ยวกับแนวทางต่อสู้คดี ในคดีนี้ อัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า ขณะที่จำเลยกำลังตระเตรียมการวางเพลิง ได้มีเจ้าหน้าที่มาตรวจพบเสียก่อน จำเลยจึงได้รีบขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป แต่ข้อเท็จจริงที่ยืนยัน คือจำเลยไม่ได้พบเห็นเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด แต่จำเลยได้กลับใจแล้วเลิกกระทำการเอง โดยยังไม่ได้แม้แต่จะหยิบจับอุปกรณ์สำหรับจุดไฟขึ้นมา
กรณีเช่นนี้ ทนายจำเลยเห็นว่า ในทางข้อกฎหมาย ยังไม่ถือว่าเป็น “ตระเตรียมการวางเพลิง” สำเร็จ เพราะจะเป็นขั้นตอนตระเตรียมการได้นั้น จำเลยต้องหยิบจับอุปกรณ์สำหรับจุดไฟขึ้นมาเป็นเงื่อนไขสุดท้ายของการตระเตรียมการเสียก่อน เมื่อจำเลยยังไม่ได้หยิบจับอุปกรณ์สำหรับจุดไฟขึ้นมา การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการตระเตรียมการ ย่อมไม่มีความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิงตามไปด้วย ทนายและจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีในแนวทางนี้ จึงขอปรึกษาหารือกับศาลว่าเห็นด้วยหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร
ศาลตอบว่าเห็นด้วยกับแนวทางต่อสู้คดี แต่จำเป็นต้องพิจารณาให้ดีว่าความจริงเท็จของเหตุการณ์เป็นอย่างไร หากข้อเท็จจริงเป็นดังเช่นที่จำเลยกล่าวอ้าง การนำสืบย่อมเป็นคุณแก่จำเลย เพราะจำเลยกลับใจเลิกกระทำการเอง ไม่ได้ถูกบังคับให้เลิกกระทำ แต่หากนำสืบแล้วพบว่าพฤติการณ์ของจำเลยไปไกลกว่านั้น กล่าวคือ เห็นว่าจำเลยไม่ได้กลับใจเลิกกระทำด้วยความสมัครใจของตน แต่ถูกคนอื่นพบเห็น จึงเกิดความกลัวจนตัดสินใจเลิกกระทำแล้วหลบหนีไป เช่นนี้แล้วจะเป็นโทษแก่จำเลย และส่งผลให้ต้องรับโทษในอัตราเต็ม
แต่หากจำเลยเลือกรับสารภาพ ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจเพื่อลดโทษแก่จำเลยได้มากถึงกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลง อย่างไรก็ตาม ศาลบอกไม่ได้ว่าจะลงโทษเพียงใดหรือจะให้มีการรอการลงโทษหรือไม่ เนื่องจากต้องพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีและผลรายงานการสืบเสาะพินิจ เพราแม้ว่าจำเลยจะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และการกระทำของจำเลยนั้นก็ไม่ถึงขนาดเป็นการบรรลุผล แต่สถานที่ที่เกิดเหตุในคดีนี้คือทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่ราชการที่มีความสำคัญ ศาลจำเป็นต้องปรึกษากับองค์คณะผู้พิพากษาและผู้บริหารของศาลก่อน จึงจะสามารถกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมได้
ศาลขอให้ทนายและจำเลยปรึกษาหารือกันให้ดี ทนายและจำเลยจึงออกจากห้องพิจารณาคดีเป็นระยะเวลาประมาณ 20 นาที ก่อนจะกลับเข้ามาใหม่ จำเลยแถลงต่อศาลว่า ยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี
.
กฎหมายที่ควรรู้ประกอบการสืบพยาน “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 บัญญัติว่า ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท” “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 บัญญัติว่า ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 หรือมาตรา 219 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำความผิดนั้นๆ” “พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ ‘สิ่งปฏิกูล’ หมายความว่า อุจาระ หรือปัสสาวะ รวมตลอดจนถึงวัตถุอื่นใดซึ่งเป็นของโสโครกหรือมีกลิ่นเหม็น ‘มูลฝอย’ หมายความว่า เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์หรือซากสัตว์ รวมตลอดถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น” “พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 33 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนนหรือในทางน้ำ” |
.
ภาพรวมของการสืบพยาน
การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมดรวม 4 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ณัฐฐโภคิน เหลืองลักษมี ผู้กล่าวหา, พลทหารวรัญญู ต่อดำรงค์ ผู้ประสบเหตุ, ร.ต.อ.พนม ศรีสุวรรณ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม และ ร.ต.อ.ชัยชน เรืองเพชร พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี
ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความ 1 ปาก คือ ณัฐวุฒิ จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน
ในคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่จำเลยรับไว้ก่อนแล้วว่า จำเลยเป็นผู้กระทำการเทราดน้ำมันที่ประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาลจริง และเคยให้การรับสารภาพไว้ในชั้นสอบสวน ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์จึงมุ่งเน้นไปที่การชี้ให้เห็นว่า จำเลยมีพฤติการณ์ในการก่อเหตุและมีแรงจูงใจในการกระทำความผิดอย่างไร จุดที่สำคัญที่สุด คือการนำสืบให้เชื่อว่า สาเหตุที่จำเลยเลิกกระทำนั้นไม่ได้มาจากความสมัครใจของจำเลย หากแต่เป็นเพราะจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งลาดตระเวนผ่านมาตรวจพบ จึงเกิดความกลัวและตัดสินใจขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป
สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลย คือ การชี้ให้เห็นว่า จำเลยได้ตัดสินใจเลิกกระทำการวางเพลิงด้วยใจสมัครของตนเอง ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งลาดตระเวนผ่านมาตรวจพบ รวมถึงต่อสู้ในทางข้อกฎหมายว่าเมื่อจำเลยตัดสินใจหยุดยั้งและเลิกกระทำการแล้ว การกระทำของจำเลยซึ่งยังไปไม่ถึงขั้นตอนของการหยิบจับอุปกรณ์สำหรับจุดไฟนั้น ย่อมไม่ถือว่าเป็น “การตระเตรียม” จำเลยย่อมไม่มีความผิด เพราะการก่อเหตุของจำเลยยังไม่ครบองค์ประกอบความรับผิดทางอาญา ซึ่งจำเป็นต้องมีการกระทำเกิดขึ้นก่อน
ส่วนข้อกล่าวหาว่าจำเลยได้เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย หรือน้ำโสโครกลงบนถนน จำเลยต่อสู้ว่า สิ่งที่จำเลยทิ้ง ซึ่งคือน้ำมันแก๊สโซฮอล์นั้น ไม่ใช่สิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามความนิยามใน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เนื่องจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ใช้เทราด มีคุณสมบัติที่สามารถระเหยได้เองในสภาพอากาศตามปกติ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประตูของทำเนียบ ทั้งยังไม่มีกลิ่นเหม็น หรือต่อให้มีกลิ่นเหม็น กลิ่นก็จะจางหายไปเมื่อระยะเวลาผ่านไป
.
หัวหน้าชุดสืบ รับไม่เคยได้รับแจ้งว่าผู้ประสบเหตุพยายามเข้าไปห้ามปราม และภาพกล้องวงจรปิดเองก็ไม่เห็นตัวผู้ประสบเหตุ
พ.ต.ท.ณัฐฐโภคิน เหลืองลักษมี รองผู้กำกับการ (สืบสวน) สน.ดุสิต และผู้กล่าวหา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 04.30 น. พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารชุดกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ว่าพบชายไม่ทราบชื่อ รูปร่างท้วม สวมเสื้อคอวีสีเข้ม สกรีนข้อความว่า “กองทัพบก” ที่หน้าอก สวมกางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะ ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนมาจอดที่บริเวณประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล และจอดนิ่งอยู่ประมาณ 15-20 นาที จากนั้นชายคนดังกล่าวได้นำถังสแตนเลสออกมาและเทของเหลวที่อยู่ภายในออก แล้วจึงขับรถหลบหนีออกไปทางแยกนางเลิ้ง
พยานจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สืบสวนชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบว่าในที่เกิดเหตุมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ใกล้เคียง สามารถจับภาพคนร้ายได้ชัดเจน พยานจึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ให้ดำเนินคดีชายคนดังกล่าวในข้อหาเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครก หรือสิ่งอื่นใดลงบนถนนหรือในทางน้ำ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 33
ภายหลัง เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้จัดเก็บตัวอย่างของเหลวและนำส่งพิสูจน์หลักฐาน ตรวจพบว่าเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ พยานจึงได้ไปพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งเพื่อแจ้งความเพิ่มเติม ในข้อหาตระเตรียมการวางเพลิง
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ณัฐฐโภคิน อธิบายว่า เขาได้รับแจ้งเหตุหลังจากเกิดเหตุแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง โดยได้รับแจ้งจากทางวิทยุ สน.ดุสิต ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้รับแจ้งทันทีหลังจากเกิดเหตุ พยานคาดว่า เป็นเพราะช่วงเกิดเหตุเป็นเวลาดึก ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักผ่อน ผู้ประสบเหตุจึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้วจึงรายงานต่อมาทางวิทยุ สน.
พ.ต.ท.ณัฐฐโภคิน ยังรับอีกว่า เขาไม่ได้รับแจ้งว่าผู้ประสบเหตุได้พยายามเข้าไปห้ามปรามผู้กระทำความผิด และไม่ได้รับแจ้งว่าคนร้ายขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปที่ใด ได้รับแจ้งเพียงว่าไปทางแยกนางเลิ้งเท่านั้น
ส่วนภาพขณะเกิดเหตุจากกล้องวงจรปิด พยานไม่แน่ใจว่า ภายหลังเทราดน้ำมันเสร็จ คนร้ายได้นั่งรอบนรถจักรยานยนต์เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนจะขับรถออกไปหรือไม่ เนื่องจากพยานตั้งใจดูเพื่อตรวจสอบเส้นทางการหลบหนีมากกว่าดูพฤติกรรมของคนร้าย นอกจากนี้ หัวหน้าชุดสืบสวน สน.ดุสิต ยังรับว่า ไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารผู้ประสบเหตุ ยืนอยู่บริเวณใดของที่เกิดเหตุ
.
พลทหารผู้ประสบเหตุ ยืนยันตนอยู่ในมืด ไม่มีแสงไฟ คนร้ายไม่สามารถมองเห็นตนได้
พลทหารวรัญญู ต่อดำรงค์ เจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เบิกความว่า พยานจำวันที่และเดือนเกิดเหตุไม่ได้ จำได้แต่เพียงว่าเกิดขึ้นในปี 2564 เวลา 03.35 น. ขณะนั้นพยานกำลังปฏิบัติหน้าที่ปั่นจักรยานตรวจตราตามจุดเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานปั่นจักรยานจนไปถึงหัวมุมของวัดเบญจมบพิตร ฝั่งตรงข้ามประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาล ถนนด้านหน้าประตูคือถนนพิษณุโลก พยานยืนห่างจากประตูเป็นระยะประมาณ 100 เมตร
ระหว่างปั่นจักรยาน พยานพบเห็นชายคนหนึ่งนั่งหันหลังให้พยานอยู่บนรถจักรยานยนต์ เขาจอดรถอยู่บริเวณหน้าประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาลเป็นระยะเวลาประมาณ 3-5 นาที พยานเห็นแล้วรู้สึกว่าผิดสังเกตจึงได้รีบโทรศัพท์แจ้งหัวหน้าชุด ในระหว่างที่กำลังแจ้งอยู่นั้นเอง พยานได้ยินเสียงเทราดของเหลวและได้กลิ่นน้ำมัน เมื่อหันไปดูพบเห็นชายคนดังกล่าวกำลังเทราดของเหลวออกจากกระป๋องสีเงิน พอเทราดเสร็จ ก็ขับรถจักรยานยนต์ออกไปจากพื้นที่ พยานพยายามจะวิ่งเข้าไปแต่ก็ไม่ทัน ชายคนดังกล่าวหลบหนีออกไปก่อน โดยขับรถจักรยานยนต์ไปทางบนถนนพิษณุโลกแล้วข้ามสะพาน
พลทหารวรัญญู ตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่า พยานอยู่ในที่มืด ส่วนคนร้ายอยู่ในที่โล่งแจ้ง มีแสงไฟเล็กน้อย แต่ไม่สามารถมองเห็นพยานได้ พยานมองไม่เห็นหน้าคนร้ายเนื่องจากนั่งหันหลังให้พยาน เห็นเพียงแต่รูปพรรณสัณฐาณ และบริเวณที่คั่นกลางระหว่างพยานและคนร้ายก็เป็นที่มืด และไม่มีแสงไฟเช่นกัน
พยานปากนี้ยังรับอีกว่า ตนไม่ได้ร้องห้ามหรือเข้าไปปรามไม่ให้คนร้ายกระทำความผิด แต่ระหว่างเหตุการณ์ พยานได้ถ่ายภาพคนร้ายขณะนั่งหันหลังให้ไว้ ซึ่งตอนนั้นพยานยังยืนอยู่จุดเดิม ไม่ได้ขยับไปไหน
พยานได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิด ก่อนให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน พบว่า เมื่อคนร้ายเทน้ำมันเสร็จแล้ว คนร้ายได้ขับรถจักรยานยนต์ไปในทันที โดยไม่ได้หยุดรอหรือเว้นพัก และยังทิ้งกระป๋องน้ำมันไว้ในที่เกิดเหตุด้วย
.
.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ระบุจุดที่จอดรถจักรยานยนต์เป็นที่เปิดเผย ไม่มีลักษณะปิดบัง
ร.ต.อ.พนม ศรีสุวรรณ รองสารวัตร (สืบสวน) สน.ดุสิต เบิกความว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 ขณะพยานกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ห้องสืบสวน สน.ดุสิต ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ณัฐฐโภคิน ผู้บังคับบัญชา ให้ไปสืบสวนเหตุการณ์ชายเทราดน้ำมันที่บริเวณประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาล หลังจากได้รับคำสั่ง พยานและเจ้าหน้าที่สืบสวน พร้อมพนักงานสอบสวน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 04.00 น. ตรวจพบแกลลอนลักษณะคล้ายสำหรับบรรจุน้ำมัน ทรงสี่เหลี่ยม ทำจากสแตนเลส และมีสีขาว รวมถึงตรวจพบร่องรอยการเทราดน้ำมันที่บริเวณประตู หลังจากนั้นพยานจึงเดินทางกลับมาที่ห้องสืบสวน สน.ดุสิต ส่วนแกลลอนของกลาง พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้ตรวจยึดเอาไว้
พยานสืบสวนระบุตัวคนร้ายจากภาพกล้องวงจรปิด เป็นผู้ชาย ขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่หน้าประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาล นั่งรอสักพักหนึ่ง จากนั้นได้นำเอาแกลลอนสแตนเลสบรรจุน้ำมันออกมาเทราดที่ประตู แล้วจึงขับรถจักรยานต์ไปทางแยกนางเลิ้ง
พยานตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามเส้นทางหลบหนีจนไปสิ้นสุดที่ซอยแห่งหนึ่ง คนร้ายได้นำรถจักรยานยนต์ไปจอดที่หน้าแมนชั่น พยานจำชื่อแมนชั่นไม่ได้ แต่ได้ลงพื้นที่เพื่อไปตรวจสอบรถจักรยานยนต์ จากนั้นจึงนำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลของกรมขนส่ง ทราบว่าผู้ครอบครองคือจำเลยในคดีนี้
ต่อมา พยานได้ตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของจำเลย และตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก เพื่อเปรียบเทียบรูปถ่าย อนุมานได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับบุคคลที่ไปก่อเหตุที่ทำเนียบรัฐบาล จึงจัดส่งข้อมูลให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อขอศาลอาญาออกหมายจับ
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 พยานได้นำหมายจับเข้าจับกุมจำเลยที่แมนชั่นที่พัก จำเลยยังได้นำรถจักรยานยนต์และเครื่องแต่งกายที่ใช้ในการก่อเหตุมาส่งมอบให้กับพยานด้วย
ร.ต.อ.พนม ตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่า พบรถจักรยานยนต์ของคนร้ายในวันที่ 5 ก.ค. 2564 ช่วงสาย โดยจุดที่จอดรถเป็นจุดจอดรถของอพาร์ทเมนต์ เป็นที่เปิดเผย ไม่มีลักษณะปิดบัง ส่วนสถานที่จับกุม พยานไม่แน่ใจว่าเป็นที่พักของจำเลยหรือของเพื่อน
นอกจากนี้ ในรายงานสืบสวนที่พยานจัดทำนั้น พยานจัดทำโดยการสืบสวนจากกล้องวงจรปิด ซึ่งภาพที่ปรากฏในรายงานสืบสวน เป็นภาพจากกล้องแต่ละจุดที่ตั้งอยู่ในแต่ละช่วงของเส้นทางหลบหนี ไม่ใช่ภาพจากกล้องวิดีโอตัวเดียวที่มีความต่อเนื่องกัน
เจ้าหน้าที่สืบสวน สน.ดุสิต ยังรับกับทนายจำเลยต่อไปว่า พยานเคยดูภาพกล้องวงจรปิดในจุดเกิดเหตุเล็กน้อย ทราบว่าหลังเทราดน้ำมันเสร็จ จำเลยได้นั่งบนรถจักรยานยนต์ชั่วครู่หนึ่งก่อนขับหนีไป แต่พยานจำไม่ได้ว่าขณะจำเลยนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ จำเลยได้หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นหรือไม่
ทั้งนี้ ร.ต.อ.พนม ยืนยันว่า ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ น้ำมันที่เทราดได้ระเหยแห้งจนเหลือเพียงแต่คราบแล้ว
.
พนักงานสอบสวนไม่ยืนยัน ชนวนเหตุว่าคลิปวิดีโอที่ส่งต่อศาลถูกตัดต่อหรือไม่ เนื่องจากไม่เคยเปรียบเทียบกับภาพจากกล้องวงจรปิดโดยตรง
ร.ต.อ.ชัยชน เรืองเพชร พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เบิกความว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 เวลา 04.00 – 05.00 น. พยานได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.ณัฐฐโภคิน ว่ามีเหตุคนร้ายตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ที่ประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล พยานจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุและแจ้งเจ้าหน้าที่ชุดพิสูจน์หลักฐานให้มาตรวจสอบด้วย
ในที่เกิดเหตุ พยานพบร่องรอยการเทราดน้ำมันที่บริเวณประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล โดยเทราดบนประตูเป็นแนวยาวจนสุดประตู น้ำมันบางส่วนไหลนองบนถนน พยานได้ทำบันทึกตรวจสอบที่เกิดเหตุ แผนที่แสดงที่เกิดเหตุโดยสังเขป และนำตัวอย่างส่งพิสูจน์หลักฐาน
ผลการตรวจสอบตัวอย่าง พบว่าเป็นของเหลวที่เทราดเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดแก๊สโซฮอล์ ส่วนแกลลอนสังกะสีที่ตรวจพบรอยนิ้วมือ มีจุดลักษณะสำคัญพิเศษของลายเส้นเส้นเพียงพอแต่การพิสูจน์เปรียบเทียบเพื่อยืนยันตัวบุคคล แต่ในรายงานไม่ได้ระบุว่าเป็นรอยนิ้วมือของผู้ใด พร้อมกันนี้ ร.ต.อ.พนม ได้ทำการสืบสวนหาตัวคนร้ายและจัดทำรายงานสืบสวนส่งมอบให้กับพยาน
หลังจากสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พยานได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.พนม เข้าจับกุมคนร้าย แต่จะจับกุมในวันเดือนปีใด พยานจำไม่ได้ เมื่อจับกุมแล้ว ร.ต.อ.พนม ได้ส่งมอบตัวผู้ต้องหาและของกลาง ได้แก่ เสื้อ กางเกง หมวกนิรภัย และรถจักรยานยนต์ให้กับพยาน พยานได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาและถามว่าประสงค์จะพบทนายความหรือไม่ แต่จำเลยปฏิเสธไม่ประสงค์จะพบทนายความ พยานจึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าทิ้งหรือเทสิ่งปฏิกูล และตระเตรียมการวางเพลิง โดยจำเลยให้การรับสารภาพ
พนักงานสอบสวนระบุจากการสอบปากคำถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลย ได้ความว่า จำเลยโกรธแค้นและไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารงานหรือจัดหามาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นสาเหตุให้พ่อของจำเลยต้องติดเชื้อโควิด-19 จำเลยจึงได้ตระเตรียมการวางเพลิงทำเนียบรัฐบาลเพื่อเป็นการแก้แค้น โดยซื้อถังสแตนเลสและน้ำมันที่ปั้มน้ำมัน และได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ มาจอดที่บริเวณประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาล จากนั้นจึงนำถังสแตนเลสมาเทราดน้ำมันที่บริเวณประตู แล้วจะจุดไฟบุหรี่โยนใส่เชื้อเพลิงที่เทราดไว้ แต่มีรถยนต์ขับผ่านมา จึงเปลี่ยนใจไม่จุดไฟ แล้วขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป
ในชั้นสอบสวน พยานได้สอบปากคำ พ.ต.ท.ณัฐฐโภคิน ผู้กล่าวหา, พลทหารวรัญญู พยานผู้ประสบเหตุ และ ร.ต.อ.พนม เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม พยานตรวจสอบประวัติอาชญกรรมของจำเลยจากการพิมพ์รอยนิ้วมือ พบว่าไม่เคยกระทำความผิดในคดีอาญาใดมาก่อน
สำหรับการตอบทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.ชัยชน เบิกความรับว่า แกลลอนบรรจุน้ำที่ใช้ในการก่อเหตุ มีขนาดสูงประมาณ 1 ฟุต กว้างประมาณ 1 คืบ ในแกลลอนที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุยังมีน้ำมันเหลือประมาณ 1 ใน 4 ซึ่งช่วงขณะที่พยานลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบคราบน้ำมันมีทั้งส่วนที่แห้งแล้วและยังเปียกอยู่ เนื่องจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์บางส่วนจะระเหยไป บางส่วนอาจลงเหลือติดเป็นคราบบนยางมะตอย แต่กลิ่นของน้ำมันจะค่อยๆ หมดไปเมื่อเวลาผ่านไป
พยานรับว่า ในคำให้การในชั้นสอบสวนของพลทหารวรัญญู ระบุว่าตนอยู่บริเวณตรงข้ามประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล โดยยืนเยื้องออกมาเล็กน้อย บริเวณดังกล่าวเป็นที่มืด พลทหารเชื่อว่าจำเลยมองไม่เห็น แต่ขณะทหารวรัญญูเดินออกมายืนมอง บริเวณนั้นเป็นที่ๆ มีแสงสว่างชัดเจน สามารถมองเห็นได้
ร.ต.อ.ชัยชน เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านต่อว่า จากที่จอดรถของจำเลย หากขับขี่มุ่งหน้าต่อไปก็จะเข้าสู่แยกเทเวศร์ แต่หากกลับรถไปก็จะเข้าสู่แยกพาณิชยการ ระยะห่างระหว่างจุดเกิดเหตุถึงแยกเทเวศร์ประมาณ 200 เมตร หากขับขี่ด้วยรถจักรยานยนต์จะใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ส่วนระยะเวลาตั้งแต่จำเลยจอดรถ เทราดน้ำมันและวนรถกลับใช้เวลาประมาณ 15 นาที
สำหรับภาพจากกล้องวงจรปิด พยานรับว่าได้ดูภาพด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ค่อยมีรถยนต์หรือผู้คนสัญจรไปมา และพยานไม่ทราบว่าคลิปวิดีโอที่นำส่งต่อศาล จะคัดลอกมาจากกล้องวงจรปิดโดยตรงหรือไม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สืบสวนเป็นคนนำมามอบให้แก่พยาน
ทนายจำเลยเปิดคลิปวิดีโอในบัญชีวัตถุพยานโจทก์ ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุที่อัยการโจทก์นำส่งต่อศาล ให้พยานดู แล้วถามพยานว่า คลิปวิดีโอนี้เป็นคลิปเดียวกันกับที่มีการนำเสนอข่าว โดยสำนักข่าวอัมรินทร์ทางโทรทัศน์ใช่หรือไม่ พยานดูแล้ว ตอบว่า ไม่ทราบ
ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวมีการตัดต่อหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า พยานเคยตรวจสอบคลิปวิดีโอเปรียบเทียบกับภาพจากกล้องวงจรปิดโดยตรงหรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ แต่ขอยืนยันตามรายงานสอบสวน
ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า ตามคลิปวิดีโอที่เปิดให้ดูนี้ ภาพในช่วงท้ายมีการเร่งความเร็วกว่าภาพเหตุการณ์ตามปกติ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ แต่ขอยืนยันตามรายงานสอบสวน
ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า ตามคลิปวิดีโอที่เปิดให้ดูนี้ ภายหลังจำเลยเทราดน้ำมันเสร็จ จำเลยได้นั่งพักและนำโทรศัพท์มือถือออกมาเล่นอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ก่อนจะขับรถจักรยานยนต์ออกไปใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่คิดว่าจำเลยหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพในที่เกิดเหตุ
เกี่ยวกับประเด็นกระบวนการในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนเบิกความตอบอัยการโจทก์ถามติง ยืนยันว่าพยานไม่ได้บังคับขู่เข็ญจำเลยเพื่อให้การรับสารภาพ และพยานยังใช้วิธีการจัดพิมพ์คำให้การตามคำตอบที่ได้รับมา ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับรองด้วยความสมัครใจ
.
.
จำเลยรับว่าไปจริง แต่หยุดกระทำเอง เหตุทบทวนแล้วเห็นว่าไม่มีประโยชน์ โดยในที่เกิดเหตุไม่มีสัญญาณของสิ่งมีชีวิตอื่น มีเพียงตัวเขาและความโกรธต่อรัฐบาล
ณัฐวุฒิ จำเลยในคดีนี้ เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ เมื่อพยานเรียนจบ ได้สมัครเข้ารับราชการทหารเกณฑ์จนปลดประจำการในปี 2558 แล้วจึงเริ่มงานเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการที่หน่วยงานแห่งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
ก่อนเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งว่า พ่อของพยานติดเชื้อโควิด-19 พยานจึงกังวลว่าแม่ของพยานที่อาศัยอยู่ด้วยกันกับพ่อ อาจจะติดเชื้อโควิด-19 ด้วยอีกคน ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ยังไม่มีการจำหน่ายชุดตรวจ ATK ตามร้านสะดวกซื้อและวัคซีนเองก็ยังไม่มีการให้บริการอย่างเต็มที่ แม่ของพยานต้องไปรอตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลตำรวจ ในวันที่ 4 ก.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 23.00 – 08.00 น. โดยประมาณ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตรวจ เนื่องจากเกินโควต้าที่โรงพยาบาลให้บริการ
ณัฐวุฒิเบิกความย้อนกลับไปว่า ช่วงเวลาดังกล่าว พยานเกิดความเครียดเป็นอย่างมาก พยานได้ไปพบกับแม่ที่บ้านในช่วงหัวค่ำของวันที่ 4 ก.ค. 2563 และอยู่ที่นั่นจนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. จากนั้นแม่ของพยานได้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปลงที่บริเวณปากซอยเพื่อต่อรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาล ส่วนพยานแยกเดินทางกลับมาที่พัก ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล
ขณะนั้น พยานยังมีความรู้สึกคับข้องใจว่าทำไมแม่ของพยาน ถึงต้องไปรอตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นเวลานานขนาดนั้น พยานรู้สึกโกรธแค้นและไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลยังคงไม่สามารถจัดหาชุดตรวจ ATK และวัคซีนชนิด mRNA มาให้บริการกับประชาชนได้เหมือนอย่างประเทศในยุโรป
พยานนอนไม่หลับ จึงตัดสินใจขับรถจักรยานยนต์ออกจากที่พัก เพื่อไปหาซื้อถังและน้ำมันเชื้อเพลิง จนกระทั่งได้อุปกรณ์ตามต้องการ พยานจึงเดินทางต่อไปที่ประตู 3 ทำเนียบรัฐบาลในเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 5 ก.ค. 2564 พยานจอดรถจักรยานยนต์และนั่งพักอยู่บนรถ เล่นมือถือและหันซ้ายหันขวามองลาดเลา ผ่านไปประมาณ 15 นาที เห็นว่าไม่มีรถหรือผู้ใดสัญจรผ่านไปมา พยานจึงนำน้ำมันออกมาเทราดที่ประตู แล้วกลับมานั่งบนรถจักรยานยนต์ พยานยังได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปที่เกิดเหตุ แต่ต่อมาได้ลบไป พยานนั่งอยู่ประมาณ 3-5 นาที จึงตัดสินใจขับรถจักรยานยนต์ออกไป
เมื่อออกจากที่เกิดเหตุแล้ว พยานได้ไปพบกับแม่ที่โรงพยาบาลเพื่อพูดคุย เป็นระยะเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงกลับที่พัก พยานหยุดงาน 1 วัน และวันต่อมาจึงได้ไปทำงานตามปกติ พยานจอดรถจักรยานต์ในที่จอดรถของที่พัก เป็นที่เปิดโล่งและเปิดเผย
เกี่ยวกับการตัดสินใจหยุดวางเพลิง ณัฐวุฒิ เบิกความว่า พยานรู้สึกว่าทำเพียงเท่านี้ก็พอ เพราะถึงทำต่อไปก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ และพ่อของพยานก็ติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้
ณัฐวุฒิ ยืนยันว่า ในที่เกิดเหตุ พยานไม่พบเห็นรถยนต์หรือบุคคลใดสัญจรไปมา และไม่มีใครร้องห้ามหรือเข้ามาปรามพยาน ส่วนคลิปวิดีโอซึ่งอัยการโจทก์นำส่งต่อศาล พยานเคยเห็นในรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ ทางโทรทัศน์ช่อง 3 และรายการข่าวในช่องอัมรินทร์ทีวีมาก่อน
อดีตทหารเกณฑ์ ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน รับว่า สาเหตุที่จำเลยไม่สามารถนำพยานบุคคลมายืนยันถึงการหยุดยั้งการกระทำของจำเลย ตามที่เบิกความไปได้นั้น เป็นเพราะ จำเลยสังเกตไม่เห็นถึงสัญญาณของสิ่งมีชีวิตโดยรอบ จำเลยไปคนเดียว ลงมือคนเดียว ไม่มีรถหรือผู้ใดอยู่ในบริเวณนั้น
.