ศาลให้รอลงอาญา พร้อมปรับ 2 หมื่นบาท “อาร์ต ทศเทพ” เหตุพ่นสีสเปรย์ “ยกเลิก 112” ชี้ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการจับกุมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่-ฐานประติมากรรมเป็นสาธารณสมบัติ

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อาร์ต” ทศเทพ ดวงเนตร สมาชิกทีมการ์ด We Volunteer วัย 25 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่า “ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 กรณีพ่นสีสเปรย์สีแดงเป็นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ใส่ฐานประติมากรรมรูปปั้นทั้งสิ้น 3 จุด ในบริเวณ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 10 – 14 ม.ค. 2564

ย้อนอ่าน เปิดแฟ้มคดี “อาร์ต ทศเทพ” การ์ดวีโว่ ม.360 เหตุพ่นสีสเปรย์ “ยกเลิก 112” ที่ฐานรูปปั้น ต่อสู้ถูกฟ้องข้อกม.เกินกว่าเหตุ-ถูกตร.คุมตัวเกิน 48 ชม.

.

จำเลยเดินมาถึงห้องพิจารณาคดี 13 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันนี้เป็นไปตามปกติของศาล ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือตำรวจศาลมาเฝ้าระวังเป็นพิเศษ มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ มาคอยควบคุมตัวจำเลยตามระเบียบของศาลระหว่างการอ่านคำพิพากษา ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอื่นก่อนหลายคดี จากนั้นจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาของคดีนี้ในเวลา 9.55 น.

.

เนื้อหาคำพิพากษาในช่วงแรกกล่าวถึงได้กล่าวคำร้องของ อบต.ราชาเทวะ ที่ยื่นต่อศาล ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยได้กระทำละเมิดต่อผู้ร้องด้วยการพ่นสีสเปรย์เป็นอักษรถ้อยคำว่า “ยกเลิก 112” ที่ฐานประติมากรรมบนเกาะกลาง ถ.กิ่งแก้ว ทั้งหมด 3 จุด เป็นเงินจำนวน 12,495 บาท ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าการพ่นสีเปรย์ไม่ได้ทำให้ฐานประติมากรรมทั้ง 3 จุดได้รับความเสียหาย เสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์แต่อย่างใด ฐานประติมากรรมยังคงอยู่และใช้งานได้ตามเดิม

ต่อมาจึงเข้าสู่ส่วนของการวินิจฉัย สรุปใจความได้ว่า ฐานประติมากรรมทั้ง 3 จุด ในบริเวณ ถ.กิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ ได้แก่ (1) ประติมากรรมรูปยักษ์ (2) ประติมากรรมพานพุ่มพระบรมฉายาลักษณ์ และ (3) ประติมากรรมพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เป็นทรัพย์สินของ อบต.ราชาเทวะ นิติบุคคลตามกฎหมาย สร้างขึ้นเพื่อประดับ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นไทยและใช้งานในพระราชพิธีต่างๆ ตามวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง มีผู้ใช้สีสเปรย์พ่นถ้อยคำว่า “ยกเลิกมาตรา 112” ที่ฐานประติมากรรมที่เกิดเหตุ

โจทก์มีผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่จาก อบต.ราชาเทวะ เบิกความทำนองเดียวกันว่า ฐานประติมากรรมดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ อบต.ราชาเทวะ จัดสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสพบเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 10 และเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเคารพและเป็นประโยชน์ด้านจิตใจ การพ่นสีสเปรย์ถ้อยคำว่า “ยกเลิก 112” ที่ฐานประติมากรรมดังกล่าว ทำให้ฐานประติมากรรมดังกล่าวสกปรก เลอะเทอะ

โจทก์ยังมีพยานปาก ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ไหมดี เจ้าหน้าที่สืบสวน สภ.บางแก้ว ที่ติดตามกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุ ได้ติดตามตรวจสอบไปยังบ้านพักของจำเลย และได้เข้าไปพูดคุยกับจำเลย โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้พ่นสีสเปรย์ตามที่เกิดเหตุจริง และได้นำเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันก่อเหตุมามอบให้ ส่วนสีสเปรย์และบล็อกตัวอักษร จำเลยวางไว้อยู่ที่หน้าบ้าน พยานจึงยึดสิ่งของดังกล่าวไว้เป็นของกลาง จากนั้นจึงเชิญตัวจำเลยไปที่ สภ.บางแก้ว พยานได้ส่งมอบพยานหลักฐานทั้งหมดให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อขอออกหมายจับ และจำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกจับกุม

ศาลเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานเห็นคนร้ายขณะกระทำความผิดโดยตรงก็ตาม แต่โจทก์มีพยานปาก ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ที่เบิกความถึงรายละเอียดการสืบสวน ทั้งในชั้นสอบสวน จำเลยก็ให้การรับสารภาพ เชื่อว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจตามความเป็นจริง ประกอบกับในชั้นพิจารณา จำเลยเบิกความยอมรับว่าตนเองเป็นผู้พ่นสีสเปรย์บนฐานประติมากรรมจริง

คดียังมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ฐานประติมากรรมดังกล่าว เป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือไม่ เห็นว่า คำว่า “สาธารณะ” “ประโยชน์” และ “สาธารณะประโยชน์” มิได้มีบทบัญญัตินิยามไว้เป็นการเฉพาะในประมวลกฎหมายอาญา การพิจารณาความหมายของถ้อยคำดังกล่าว จึงต้องพิจารณาไปตามความหมายทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “สาธารณะ” หมายความว่า “เพื่อประชาชนทั่วไป” คำว่า “ประโยชน์” หมายความว่า “สิ่งที่มีผลใช้ได้ดีสมกับ, ที่คิดมุ่งหมายไว้, ผลที่ได้ตามต้องการ, สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ” และคำว่า “สาธารณประโยชน์” หมายความว่า “ประโยชน์ทั่วไปแก่ประชาชน”

เมื่อพิจารณาความหมายของถ้อยคำข้างต้น ประกอบกับเจตนาในการสร้างฐานประติมากรรมที่เกิดเหตุแล้ว ฐานประติมากรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ผู้เสียหายสร้างขึ้นจากเงินภาษีของประชาชน นำไปวางไว้บริเวณเกาะกลาง ถ.กิ่งแก้ว ซึ่งเป็นถนนสาธารณะและเป็นเส้นทางหลักในการผ่านเข้าและออกไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เกิดความสวยงาม เป็นที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็น

ทั้งยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายได้อนุญาตให้ประชาชนหรือหน่วยงานอื่นขอใช้ประโยชน์ฐานประติมากรรมดังกล่าวได้ มิได้จำกัดการใช้งานไว้เฉพาะผู้เสียหาย ฐานประติมากรรมดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์ที่มีไว้หรือใช้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป แม้ฐานประติมากรรมที่เกิดเหตุยังคงมีลักษณะดังเดิม มิได้ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่าก็ตาม แต่การพ่นสีสเปรย์เช่นว่านั้น ย่อมเป็นเหตุให้ฐานประติมากรรมเกิดความสกปรก เปรอะเปื้อน ต้องแก้ไขด้วยการทำความสะอาด ทาสีทับให้กลับสู่สภาพเดิม มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

.

ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า พ่นสีสเปรย์เนื่องจากไม่พอใจที่เพื่อนสมาชิกร่วมกลุ่มวีโว่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ มีเจตนาเพื่อแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น มิได้มีเจตนาทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์แต่อย่างใด แม้การแสดงความคิดเห็นจะเป็นเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็ต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น จำเลยจะอ้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ให้รับผิดทางอาญาหาได้ไม่

และที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.บางแก้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. โดยไม่มีหมายจับและหมายค้นตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 17 ม.ค. 2564 เวลา 20.00 น. โดยพนักงานตำรวจมิได้ให้จำเลยพบกับญาติพี่น้องและทนายความนั้น เห็นว่า การตรวจค้นและจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวไปในอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน ไม่ส่งผลกระทบต่อผลการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์ ทั้งยังไม่มีผลให้การแสวงหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจกลายเป็นมิชอบด้วยกฎหมายไม่

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทดแทนต่อผู้ร้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ทำให้ทรัพย์ของผู้ร้องที่มีไว้หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการทำละเมิดต่อผู้ร้อง ต้องรับผิดและจ่ายค่าสินไหมทดแทน

ในคดีนี้ได้ความจากผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องว่า ในการทำความสะอาดฐานประติมากรรมที่เกิดเหตุ ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไว้ที่ 12,495 บาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเหตุโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย แต่เมื่อผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงต่อศาลให้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องทำความสะอาดทาสีทับฐานประติมากรรมที่เกิดเหตุ โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวจริง ทั้งยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณราคาโดยกองช่าง จึงกำหนดให้จำเลยรับชดใช้พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราผิดนัด นับตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไป

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน นิสัยและความประพฤติไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี กำหนดเงื่อนไขควบคุมความประพฤติจำเลย ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในเวลา 1 ปี และทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง

.

X