เมื่อกฎธรรมชาติไม่ใช่กฎหมาย และกฎหมายไม่ใช่กฎทางศีลธรรม: ทำความเข้าใจข้อถกเถียงต่อความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย กฎธรรมชาติ และศีลธรรม ผ่านมุมมองทางนิติปรัชญา

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์

ภายใต้บทสนทนาสาธารณะ เหตุผลที่หลากหลายถูกหยิบยกขึ้นเพื่ออภิปรายต่อประเด็นสิทธิในการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนบางกลุ่มเห็นว่า “เพราะขัดต่อหลักธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิในการแต่งงานสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ”  ขณะที่บางคนยืนยันว่า “การแต่งงานของเพศเดียวกันไม่อาจจะเป็นสิทธิตามกฎหมาย เพราะขัดต่อศีลธรรมทางศาสนา” บางคนอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์เพื่อปฏิเสธ ขณะที่บางคนอ้างอิงของอย่างเดียวกันเพื่อสนับสนุนสิทธิเหล่านั้น

การปะทะกันของความคิดความเชื่อที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมการเมือง ความขัดแย้งเป็นคุณต่อการเปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่ามันสำคัญต่อการผลักเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า การสนทนาสาธารณะที่เกิดขึ้น แม้แต่ในพื้นที่ที่ธรรมดาสามัญที่สุดอย่างโลกออนไลน์ จนกระทั่งในพื้นที่ทางการอย่างห้องประชุมรัฐสภา ไปจนถึงหน้าบัลลังก์ตุลาการ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ แต่การอภิปรายของพวกเขาต่อประเด็นสิทธิในการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ล้วนเป็นภาพฉายขนาดย่อมของสกุลความคิดทางนิติปรัชญาที่ทั้งแผ่กว้างและลุ่มลึกต่อประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย กฎศีลธรรม และกฎธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นประเด็นถกเถียงหลักทางนิติปรัชญาที่ทั้งดุเดือดและมีสีสันที่สุดประเด็นหนึ่งตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพาผู้อ่านย้อนกลับไปสำรวจและทำความเข้าใจในเบื้องต้นต่อมโนทัศน์กฎธรรมชาติ-กฎศีลธรรม และพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของมันในความสัมพันธ์ต่อกฎหมาย และข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ผ่านมุมมองทางนิติปรัชญาสมัยใหม่ โดยเฉพาะผ่านสายตาของสํานักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย 

กฎธรรมชาติปรากฏตัว

ภายใต้กลุ่มของความเห็นที่หลากหลาย หนึ่งในวาทะสำคัญที่มีบทบาทในการสนทนาต่อประเด็นกฎหมายการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คงหนีไม่พ้น ชุดวาทะว่าด้วย ‘กฎธรรมชาติ’ (Natural Law) ซึ่งถูกพูดถึงและอ้างอิงตลอดพื้นที่การสนทนา  

อย่างไรก็ดี ชุดวาทะดังกล่าวค่อนข้างมีความผสมปนเปของถ้อยคำ และถูกฉวยใช้อย่างสลับไปมาระหว่าง กฎธรรมชาติในแง่กฎทางศีลธรรม-จริยธรรม (Natural Law in Moral/Ethics Theory) กับ กฎของธรรมชาติ (Laws of Nature) ในแง่กฎเชิงกายภาพ หรือกฎทางวิทยาศาสตร์ ของสองอย่างนี้ แม้จะมีความเหลื่อมซ้อนในบางแง่มุม แต่ทั้งสองนั้นแตกต่าง  ขณะที่อย่างแรกมักถูกใช้ในทางปรัชญาจริยศาสตร์ (Ethical Philosophy) เพื่อบ่งชี้ถึงสิ่งที่ควรจะเป็น/ควรจะปฏิบัติ  อย่างหลังมักถูกใช้ในทางปรัชญาวิทยาศาสตร์และอภิปรัชญา (Metaphysics) เพื่ออธิบายถึงสิ่งที่เป็นอยู่  ทั้งนี้ แม้จะมีความแตกต่าง แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากความเชื่อมโยง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านมุมคำอธิบายของกฎธรรมชาติในแง่กฎทางศีลธรรม-จริยธรรม ซึ่งพวกเขาเห็นว่าของทั้งสองอย่างนั้นมีความสัมพันธ์กัน  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขาเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกันระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็น/ควรจะปฏิบัติ 

หนึ่งในกรณีการหยิบยกวาทะ ‘กฎธรรมชาติ’ ขึ้นมา เพื่อถกเถียงต่อประเด็นกฎหมายการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกกล่าวถึงและมีนัยยะสำคัญที่สุดกรณีหนึ่ง คงหนีไม่พ้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ในประเด็นเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยดังกล่าวได้อ้างอิงความคิดและถ้อยคำหลายตอนจากชุดวาทะว่าด้วยกฎธรรมชาติ ส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยที่สะท้อนแนวคิดกฎธรรมชาติได้อย่างชัดเจนที่สุด ได้แก่  

“ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 เป็นประมวลกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมีเหตุผลสอดคล้องตามธรรมชาติ (True law is right reason, harmonious (in agreement) with nature)”  

คำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญดังกล่าว โดยเฉพาะข้อความในวงเล็บถูกหยิบยกมาจากวาทะของนักคิดสายกฎหมายธรรมชาติคนสำคัญอย่าง ซิเซโร แห่งโรม (Marcus Tullius Cicero; 106 – 43 ก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเขากล่าวว่า 

“กฎหมายที่แท้จริงคือเหตุผลที่ถูกต้อง สอดคล้องไปกับธรรมชาติ แผ่ซ่านไปในทุกสรรพสิ่ง ดำรงอยู่อย่างคงที่ถาวรไม่เปลี่ยนแปลงชั่วนิจนิรันดร์ กำหนดหน้าที่ให้ต้องกระทำตามคำบัญชา และป้องกันความชั่วร้ายด้วยข้อห้าม … เป็นพันธะอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องไม่พยายามออกกฎหมายให้ขัดแย้งกับกฎนี้ กฎนี้เป็นกฎที่ไม่อาจถูกตัดทอนแม้สักเสี้ยวหนึ่ง และเป็นไปไม่ได้หากจะยกเลิกเพิกถอนกฎนี้เสียให้สิ้น ไม่ว่าวุฒิสภาหรือประชาชนก็ไม่สามารถเปลื้องปลดเราให้พ้นไปจากพันธะแห่งกฎนี้ … กฎหมายนี้ไม่เป็นอย่างหนึ่งที่โรมและเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เอเธนส์ เป็นอย่างหนึ่งในปัจจุบัน และเป็นอีกอย่างหนึ่งในอนาคต แต่เป็นกฎหมายที่เป็นหนึ่งเดียวสถิตสถาวรดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์” [1]

ดังนั้น สำหรับซิเซโร่ เขากำลังยืนยันกับเราว่า มีกฎที่แท้จริงบางอย่างดำรงอยู่และมันจะให้คำตอบกับเรา ว่าเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ซึ่งการที่จะรู้ได้ว่าอะไรคือกฎที่แท้จริง ซิเซโร่เสนอว่า กฎที่แท้จริงคือเหตุผลที่ถูกต้องสอดคล้องไปกับธรรมชาติ

ดังนั้นแล้วสำหรับซิเซโร่ กฎที่แท้จริงจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างโดยมนุษย์ และไม่อาจถูกสร้างโดยมนุษย์ ในทางกลับกันมันคือสิ่งที่ต้องถูกค้นพบ ข้อพึงปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อน เป็นสากล หนึ่งเดียว และไม่ขึ้นกับพื้นที่และเวลา  ข้อเสนอของซิเซโร ส่งผลให้กฎที่อ้างอิงกฎธรรมชาติเป็นของที่มีเหตุผลมีผล มั่นคงทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับที่สามารถการันตีความมั่นคงแก่ชุดคุณค่าอย่างความยุติธรรมได้   

กระนั้นก็ดี เช่นเดียวกับนักคิดคนอื่นๆ แม้การกล่าวอ้างความเป็นสากล (Universality) จะเกิดขึ้นทั่วไปในโลกปรัชญาตะวันตก ตั้งแต่ยุคโบราณเรื่อยมาจนกระทั่งก่อนเข้าสู่ปรัชญาหลังสมัยใหม่ แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างถึงความเป็นสากล พันธะหน้าที่ในการพิสูจน์ย่อมตกเป็นของผู้กล่าวอ้าง  คำอธิบายต่อกฎธรรมชาติที่เป็นระบบ มีอิทธิพลสูงและยาวนานที่สุดเกิดขึ้นให้หลังจากยุคของซิเซโร่ กว่า 1,000 ปี 

กฎธรรมชาติในฐานะกฎทางศีลธรรม 

ในหนังสือ “Summa Theologica” นักบุญโทมัส อไควนัส (Thomas Aquinas; ค.ศ.1225 – 1274) ได้ให้คำอธิบายถึงกฎธรรมชาติด้วยชุดคำอธิบายที่แตกต่างออกไปจากซิเซโร่ โดยผูกโยงมันเข้ากับหลักการทางเทววิทยาและจักรวาลวิทยาภายใต้คติความเชื่อแบบคริสต์ศาสนา  กล่าวอย่างย่นย่อคือ แม้อไควนัสจะเป็นนักบวชผู้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า แต่ในฐานะนักคิด คำถามสำคัญที่ยังรบกวนใจเขาคือ หากพระเจ้าสร้างจักรวาลและมนุษย์ขึ้นตามแผนการของพระองค์ และการเป็นคนดี (ปฏิบัติในสิ่งที่พึงปฏิบัติสำหรับมนุษย์) เป็นสิ่งสำคัญต่อการบรรลุแผนการนั้น แต่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะทราบ หรือได้พบกับหลักศีลธรรมคำสอน หรือได้รับการเปิดเผยคำบัญชาโดยตรงจากพระองค์ (Divine Command) 

คำถามสำคัญคือ มนุษย์จะปฏิบัติตามกฎทางศีลธรรมของพระเจ้าได้อย่างไร หากพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำเกี่ยวกับมันหรือผู้สร้างมัน  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว อไควนัสเห็นว่าพระเจ้าย่อมต้องตระเตรียมการบางอย่างเพื่อให้มนุษย์สามารถทราบถึงข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับพวกเขา (Theory of Divine Providence) ซึ่งสำหรับอไควนัส กฎธรรมชาติ คือคำตอบต่อคำถามดังกล่าว[2]

Thomas Aquinas; ค.ศ.1225 – 1274

อไควนัสชี้ให้เราสังเกตกลับไปในธรรมชาติ ซึ่งสรรพสิ่งต่างดำเนินไปอย่างมีแบบแผนในทิศทางที่ ‘ดี’ ต่อการดำรงอยู่และเติบโตของมัน ตัวอย่างเช่น ต้นไม้ลู่เข้าหาแสงจึงเติบโต สัตว์กระโจนหลบเมื่อมีภัย จึงมีชีวิตรอด มนุษย์อยู่รวมกลุ่มจึงเกิดการพัฒนา  ในแง่นี้ แสงจึงดีสำหรับต้นไม้ การหลบหลีกดีสำหรับสัตว์ และการรวมกลุ่มดีสำหรับมนุษย์ ฯลฯ สิ่งหล่านี้ทำให้อไควนัสเห็นว่า มีสิ่งที่ดีสำหรับบางสิ่ง และการที่จะมีสิ่งที่สอดคล้องกันเหล่านี้ได้ จักรวาลย่อมต้องถูกออกแบบขึ้นภายใต้กฎบางอย่างที่เป็น ‘ระบบแบบแผน’ มีเหตุมีผล มีเป้าหมาย เพื่อให้สรรพสิ่งดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งเขาเรียกกฎเกณฑ์ดังกล่าวว่า ‘กฎธรรมชาติ’ ซึ่งผูกพันในระดับสากล[3]  

อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญคือ เราจะรู้ถึงกฎธรรมชาติได้อย่างไร  อไควนัสชี้ไปยังความโน้มเอียง (Inclinationism) และการพิจารณาผ่านเหตุผล โดยเขาเสนอว่า พระเจ้าได้ทรงมอบความโน้มเอียงในการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติไว้ภายในแก่มนุษย์อยู่แล้ว เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ และมนุษย์ย่อมสามารถแน่ใจอย่างแจ่มแจ้งและมั่นคงขึ้นผ่านการใช้เหตุผลพิจารณาไตร่ตรองซึ่งพวกเขาย่อมจะพบกับคำตอบ คือ กฎธรรมชาติ[4]

ทั้งนี้ เมื่อมนุษย์พิจารณาไตร่ตรองผ่านเหตุผล พวกเขาย่อมพบว่า การปฏิบัติตามวิถีที่สอดคล้องไปกับ ‘แบบแผน’ เพื่อการบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิต เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ ดังนั้นจึงนำมาสู่หลักพื้นฐานที่ว่า ‘กระทำในสิ่งที่ดี หลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ดี’ (Good is to be done and pursued, and bad avoided)[5] โดยอไควนัสเสนอว่า เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบผ่านเหตุผล สิ่งที่ดีพื้นฐาน (ฺฺBasic Goods) สำหรับมนุษย์ย่อมประกอบด้วย (i) ชีวิต (ii) การสืบพันธุ์ (iii) ความรู้ (iv) การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น (v) ความสมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ และ (vi) การแสวงหาสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ [หรือพระเจ้า][6]  

ดังนั้น สำหรับสิ่งที่ดีพื้นฐานเช่น ‘ชีวิต’ กฎธรรมชาติบอกกับมนุษย์ว่า สิ่งที่พึงปฏิบัติ (Positive Injunction) คือ การสนับสนุนและการปกป้องชีวิตมนุษย์ ส่วนสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง (Prohibition) ย่อมหมายถึง การไม่ทำลายชีวิตมนุษย์ สำหรับสิ่งที่ดีพื้นฐาน เช่น ‘การสืบพันธุ์’ กฎธรรมชาติบอกกับมนุษย์ว่า สิ่งที่พึงปฏิบัติ ย่อมหมายถึง การให้กำเนิด ส่วนสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง ย่อมหมายถึง การคุมกำเนิด การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการกำเนิด ฯลฯ ซึ่งนั่นยอมหมายรวมไปถึงการสมรส/มีเพศสัมพันธ์ในเพศเดียวกัน  

ความคิดดังกล่าวของอไควนัสมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อสังคมตะวันตก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในรูปอธิบายอย่างกฎธรรมชาติที่ดูมีเหตุมีผล และมันยังคงดำรงอิทธิพล แม้กระทั่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งวินิจฉัยในประเด็นเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่า 

การสมรส หมายถึง การที่ชายและหญิงตกลงใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาเพื่อการสืบพันธุ์ … เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมเพื่อผลิตสมาชิกให้แก่สังคม … การสมรสจึงสงวนไว้เฉพาะชายและหญิงตามเพศที่กำเนิด” 

“ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 เป็นประมวลกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมีเหตุผลสอดคล้องตามธรรมชาติ (True law is right reason, harmonious (in agreement) with nature)” 

ทั้งนี้ แม้อไควนัสจะไม่ใช่คนแรกที่กล่าวถึงการสมรสเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ ในฐานะสิ่งที่ดี เนื่องจากความคิดดังกล่าวเป็นคติที่ดำรงอยู่ก่อนแล้วในศาสนาสายอับราฮัม (Abrahamic Religions) ซึ่งพวกเขาถือว่า การแต่งงาน การมีเพศสัมพันธ์เพื่อการสืบทอดเผ่าพันธุ์ เป็นส่วนสำคัญในแบบแผนและคุณค่าของชีวิตที่สมบูรณ์ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า อไควนัสถือเป็นนักปรัชญาคนแรกๆ ที่ให้ข้อสนับสนุนการสมรสเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ที่ผูกโยงมันเข้ากับกฎธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้มันกลายเป็นบรรทัดฐานข้อพึงปฏิบัติที่อ้างอิงความเป็นสากล ซึ่งไม่ขึ้นกับวัฒนธรรม พื้นที่และเวลา และสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในบรรทัดฐานทางสังคมที่หลากหลายได้ มากกว่าการเป็นเพียงหลักคำสอนทางศาสนาล้วนๆ

เมื่อกฎธรรมชาติไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว

อย่างไรก็ดี คงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี หากโลกได้เข้าใกล้ความเข้าใจต่อกฎธรรมชาติขึ้นอีกขั้นจากคำอธิบายของอไควนัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันเป็นคำตอบสุดท้ายแก่มาตรฐานทางศีลธรรม-จริยธรรม  อย่างไรก็ดี ดูเหมือน Summa Theologica จะไม่ใช่ที่สุดท้ายของการถกเถียงต่อกฎธรรมชาติ เมื่อการตั้งคำถามและความสงสัยใคร่รู้เป็นคุณลักษณะทั่วไปของนักปรัชญา การใคร่ครวญต่อกฎธรรมชาติยังคงเกิดขึ้น  แม้อไควนัสจะให้คำอธิบายต่อกฎธรรมชาติอย่างเป็นระบบ แต่ใช่ว่านักปรัชญาทุกคนที่ค้นเข้าไปยังธรรมชาติจะได้คำตอบที่ใกล้เคียงกับที่อไควนัสเข้าใจ ซึ่งนั่นก่อให้เกิดความยุ่งยากที่สำคัญตามมาในการกล่าวอ้างถึงกฎธรรมชาติ เมื่อมันให้คำตอบที่แตกต่างกันไปคนละทิศละทาง

ขณะที่อไควนัสผูกโยงคำอธิบายกฎธรรมชาติของเขาไว้กับพระผู้เป็นเจ้า และเสนอว่าพระองค์ได้ประทานความโน้มเอียงในการปฏิบัติสิ่งที่ดีตามกฎธรรมชาติไว้ภายในของมนุษย์  นักปรัชญาคนสำคัญอย่าง โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes; ค.ศ. 1588 -1679) เห็นต่างออกไป เขาขยับคำอธิบายต่อกฎธรรมชาติออกห่างจากพระองค์ และไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายทางศีลธรรมของอไควนัส  แม้ว่าพวกเขาทั้งสองจะพิจารณาลงไปยังธรรมชาติเพื่อใคร่ครวญถึงกฎธรรมชาติ แต่สิ่งที่ฮอบส์ตั้งต้นในการพิจารณาดูจะใกล้เคียงกับกฎของธรรมชาติเสียยิ่งกว่า 

ฮอบส์อ้างอิงแนวคิดภววิทยาเชิงกลไกวัตถุ (Mechanistic-Materialistic Ontology) เพื่ออธิบายความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ในจักรวาล โดยเห็นว่าทุกสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนตกอยู่ภายใต้กฎการเคลื่อนที่ของสสาร (Matter in Motion)[7] ซึ่งนั่นย่อมรวมไปถึงมนุษย์ผู้เคลื่อนที่อยู่ภายใต้กลไกของความปรารถนา ได้แก่ การหลีกหนีสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาโดยเฉพาะความตาย และมุ่งเข้าหาสิ่งที่ปรารถนา[8] มนุษย์โดยธรรมชาติสำหรับฮอบส์จึงเต็มไปด้วยตัณหา ความรู้สึกไม่มั่นคง และความหยิ่งทรนงในศักดิ์ศรี ซึ่งส่งผลให้พวกเขาพร้อมที่จะห้ำหั่นฆ่าฟันกันตลอดเวลาโดยธรรมชาติ[9] 

Thomas Hobbes; ค.ศ. 1588 -1679

สิ่งนี้แตกต่างอย่างสุดขั้วจากความเข้าใจของอไควนัส ขณะที่อไควนัสเห็นว่ามนุษย์มีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติในการปฏิบัติและรับรู้สิ่งที่ดีที่พึงปฏิบัติ ฮอบส์กลับยืนยันว่ามนุษย์โดยธรรมชาตินั้นปราศจากสิ่งที่ใกล้เคียงกับศีลธรรม เราแทบไม่อาจกล่าวได้ว่ามีสิ่งที่ ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ อย่างเป็นพื้นฐานหรือสากล เพราะ ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ มันล้วนเป็นอัตวิสัย (Subjective) สิ่งที่ปัจเจกปรารถนาเป็นสิ่งที่ ‘ดี’ สำหรับเขา ส่วนสิ่งที่เขาไม่ปรารถนาคือสิ่งที่ ‘ไม่ดี’[10]

กระนั้นก็ตาม ในบรรดาความปรารถนาที่แตกต่าง ดูเหมือนจะมีเพียง ‘ความตาย’ เท่านั้นที่มนุษย์เห็นตรงกันว่าไม่พึงปรารถนา ดังนั้น ‘การอยากรักษาชีวิต’ จึงเป็นอัตวิสัยร่วมเดียวสำหรับมนุษย์ (Intersubjective)  กฎธรรมชาติจึงไม่ใช่อย่างที่อไควนัสเสนอ แต่สำหรับฮอบส์ กฎธรรมชาติคือข้อแนะนำในการที่มนุษย์ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นภยันตรายต่อชีวิตของพวกเขา ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงพึงออกจากสภาวะธรรมชาติ (State of Nature) โดยการสละสิทธิ์ตามธรรมชาติที่จะกระทำใดก็ได้ตามที่พวกเขาปรารถนา และยกมันให้แก่บุคคลผู้หนึ่ง เพื่อตั้งเขาเป็นองค์อธิปัตย์ทำหน้าที่ในการปกครองและออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพในการมีชีวิตของมนุษย์[11]

ดังนั้น แม้ทั้งอไควนัสและฮอบส์จะพิจารณาลงไปยังธรรมชาติเพื่อค้นหากฎของมัน แต่เนื่องจากมุมมองและท่าที ในการพิจารณาธรรมชาติที่แตกต่าง คำตอบของพวกเขาจึงต่างวางอยู่คนละทิศละทาง ความแตกต่างนี้นำมาสู่ความยุ่งยากที่สำคัญคือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า กฎธรรมชาติที่พวกเขากล่าวอ้างเป็นกฎธรรมชาติที่แท้จริง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต่างกล่าวอ้างถึงความเป็นสากลหนึ่งเดียว ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นทั้งในระดับการสรุปกฎของธรรมชาติ (Laws of Nature) ความโน้มเอียงหรือธรรมชาติของมนุษย์ (Human Inclination/Nature) หรือแม้แต่สภาวะธรรมชาติ  

แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะคำอธิบายจากนักคิดทั้งสอง แต่ทั้งซิเซโร, เซนต์ ออกัสติน. (St. Augustine ค.ศ. 354-430), สปิโนซา (Baruch Spinoza ค.ศ. 1632-1677) เรื่อยมาจนกระทั่งนักปรัชญากฎธรรมชาติร่วมสมัย และทุกคนที่กล่าวอ้างถึงมัน พวกเขาล้วนตกอยู่ภายใต้ปัญหาดังกล่าว  

ในแง่นี้ ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ แม้กฎธรรมชาติด้วยตัวมันเองจะยืนยันความเป็นสากล แต่ตลอดการถกเถียงทางปรัชญา ไม่เคยมีคำตอบใดของกฎธรรมชาติที่ถูกยอมรับว่าเป็นคำตอบที่สากล และแน่นอนว่า แม้ว่ามันจะยืนยันถึงความเป็นธรรมชาติ แต่คำตอบต่อกฎธรรมชาติไม่เคยปราศจากทัศนคติ  ดังนั้นกฎธรรมชาติจึงยังคงเป็นที่ถกเถียง (Debatable) และการกล่าวอ้างถึงกฎธรรมชาติ ด้วยตัวมันเองจึงยังคงไม่เป็นที่ยุติ

ปัญหาการเชื่อมโยงธรรมชาติสู่กฎทางศีลธรรม 

ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติกับกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมยังคงเป็นที่กังขา ขณะที่นักคิดผู้นิยมกฎธรรมชาติได้พยายามพิจารณาเข้าไปยังธรรมชาติด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่อ้างอิงและไม่อ้างอิงพระเจ้า เพื่อค้นหากฎเกณฑ์ทางศีลธรรม-จริยธรรม โดยพวกเขาเห็นว่าธรรมชาติจะสามารถให้คำตอบแก่มนุษย์ได้ว่า พวกเขาควรปฏิบัติอย่างไร?  กระนั้นก็ดี นักคิดบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาเช่นนั้น และเห็นว่าการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับศีลธรรมเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของพวกนักหาศีลธรรมจากธรรมชาติ  

เดวิด ฮูม (David Hume; ค.ศ. 1711 – 1776) นักปรัชญาคนสำคัญได้ตั้งข้อสังเกตอันแหลมคมต่อระบบการให้เหตุผลของบรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติ ไว้ว่า

“ในทุกระบบของศีลธรรมที่ข้าพเจ้าเคยพบมา ข้าพเจ้ามักสังเกตเห็นเสมอว่า ผู้เขียนดำเนินไปในวิถีแห่งการให้เหตุผลตามปกติ และสถาปนาขึ้นซึ่งการดำรงอยู่ของพระเจ้า หรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกิจการของมนุษย์ แต่แล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่า แทนที่ข้อเสนอจะถูกเชื่อมโยงกันตามปกติโดยกริยา “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” ข้าพเจ้ากลับพบแต่ข้อเสนอที่เชื่อมโยงกันด้วยคำวิเศษณ์อย่าง “ควร” หรือ “ไม่ควร”  การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ทันสังเกตเห็น แต่อย่างไรเสียก็เป็นผลลัพธ์ในท้ายสุด เนื่องจาก “ควร” หรือ “ไม่ควร” นี้ แสดงถึงความสัมพันธ์หรือการยืนยันสิ่งใหม่บางประการ เป็นเรื่องจำเป็นที่มันพึงถูกสังเกตและอธิบาย และในขณะเดียวกันก็พึงให้เหตุผลแก่สิ่งที่อาจเกินการคาดเดาโดยสิ้นเชิง” [12]

ดูเหมือนจะปรากฎช่องว่างขนาดใหญ่ในระบบการให้เหตุผลของบรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติ เมื่อพวกเขาเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ ‘เป็น’ (Is) ไม่ว่าจะเป็น ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ กฎของธรรมชาติ (Laws of Nature) ความโน้มเอียงของมนุษย์ หรือแม้แต่สภาวะธรรมชาติ และมาจบลงที่สิ่งที่ ‘ควรจะเป็น’ (Ought) อย่างศีลธรรม-จริยธรรม หรือกฎธรรมชาติ (Natural Law)  ซึ่งการให้เหตุผลดังกล่าวบางครั้งอาจก่อให้เกิดความไม่ปะติดปะต่อ เนื่องจากเป็นการกระโดดข้ามในเชิงตรรกะที่ก่อให้เกิดช่องว่างในระบบเหตุผลที่เรียกว่า ‘ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่ควร’ (Is-Ought Gap)[13] ซึ่งเป็นผลจากการไม่แยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็น   

David Hume; ค.ศ. 1711 – 1776

กล่าวคือ ในขณะที่บรรดานักคิดผู้นิยมกฎธรรมชาติพิจารณาเข้าไปยังธรรมชาติเพื่อค้นหากฎเกณฑ์ทางศีลธรรม/จริยธรรม แต่สิ่งที่พวกเขากล่าวอ้าง ทั้งข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ กฎของธรรมชาติ ความโน้มเอียงของมนุษย์ หรือแม้แต่สภาวะธรรมชาติ ทั้งหมดล้วนอยู่ในรูปของ ‘ข้อความเชิงปฎิฐาน’ (Positive Statement) ที่เป็นความเชิงพรรณนา (Descriptive Statement) เกี่ยวกับสิ่งที่ ‘เป็น’ ‘เคยเป็น’ หรือ ‘จะเป็น’ (“Is”, “Was”, Or “Will Be”) เช่น มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงรูปด้วยนม, การปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิจะก่อให้เกิดการตั้งครรภ์, มนุษย์เคลื่อนที่เข้าหาสิ่งที่เขาปรารถนา, สภาวะธรรมชาติคือสภาวะสงคราม ฯลฯ  ซึ่งการเชื่อมร้อยเหตุผลเหล่านี้ย่อมอยู่ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ของ ‘สิ่งที่เป็น’ ส่งผลให้ข้อสรุปที่ถูกอนุมานก็ย่อมต้องอยู่ในรูปของ ‘สิ่งที่เป็น’ หรือ ข้อความเชิงปฏิฐานด้วย  

ขณะที่กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม-จริยศาสตร์นั้น อยู่ในรูปของข้อความเชิงบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นการตัดสินเชิงคุณค่าเกี่ยวกับ ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ หรือพึงปรารถนา อย่าง ‘ควร’ (Should/Ought) หรือคำสั่งอย่าง ‘ต้อง’ (Must) ดังนั้นข้อความเชิงบรรทัดฐานจึงมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากข้อความเชิงปฎิฐาน และหากมีแต่เพียงสิ่งที่เป็นอยู่ล้วนๆ มันย่อมจำกัดให้เราไม่สามารถอนุมาน ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ จาก ’สิ่งที่เป็น’ ได้  เหตุนี้จึงนำมาสู่สิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า กฎของฮูม (Hume’s Law) ซึ่งหมายถึง ในกรณีที่ผู้ให้เหตุผลสามารถเข้าถึงเพียงข้อเท็จจริงที่ปราศจากข้อความเชิงบรรทัดฐานหรือการประเมินเชิงคุณค่า ผู้ให้เหตุผลย่อมไม่สามารถอนุมานข้อความทางศีลธรรมใหม่ขึ้นมาได้[14]

ข้อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘สิ่งที่เป็น’ กับ ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ ดังกล่าว มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อมุมมองในโลกปรัชญาตะวันตก โดยเฉพาะการแบ่งแยกระหว่างโลกแห่งปรากฏการณ์/ข้อเท็จจริง (Sein) กับโลกแห่งบรรทัดฐาน (Sollen) ซึ่งมโนทัศน์ดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญของนักนิติปรัชญาสายปฏิฐานนิยม (Legal Positivism) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen; ค.ศ. 1881–1973) ผู้มีข้อถกเถียงที่แหลมคมต่อบรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติ  

เคลเซ่นเห็นว่า การพยายามอนุมานกฎเกณฑ์เชิงบรรทัดฐานจากธรรมชาติ เป็นความไม่สอดคล้องในเชิงตรรกะจากการไม่แยกแยะระหว่างโลกของความเป็นกับโลกของสิ่งที่ควรจะเป็นให้ชัดเจน เนื่องจากกฎเกณฑ์เชิงบรรทัดฐาน หรือ ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ ทั้งศีลธรรม-จริยธรรม กฎหมาย ข้อพึงปฏิบัติ ทั้งหมดล้วนอยู่ในโลกแห่งบรรทัดฐานซึ่งเป็นเรื่องของคุณค่า ขณะที่ธรรมชาติอยู่ในโลกของปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ลำพังเพียงข้อเท็จจริง เช่น สัตว์ที่แข็งแกร่งกว่าเป็นจ่าฝูง สิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอกว่าเป็นเหยื่อ มนุษย์เพศชายและเพศหญิงสามารถสืบพันธุ์ได้ มนุษย์มีอารมณ์โกรธเมื่อถูกกระตุ้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ด้วยตัวมันเองไม่ได้บ่งชี้เชิงบรรทัดฐานว่า ถูกหรือผิด ดีหรือเลว ควรหรือไม่ควร มันเพียงพรรณนาว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างไรเท่านั้น[15]   

Hans Kelsen; ค.ศ. 1881–1973

ยิ่งไปกว่านั้น จริงอยู่ที่ทางโลกแห่งปรากฏการณ์และโลกแห่งบรรทัดฐานล้วนมีกฎเกณฑ์ดำรงอยู่ แต่ลักษณะของกฎเกณฑ์ในโลกทั้งสองนั้นแตกต่างกัน  ขณะที่ในโลกธรรมชาติ สรรพสิ่งเชื่อมโยงกันภายใต้กฎของธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ ‘ถ้า เหตุ เกิดขึ้นแล้ว ผล ย่อมเกิดขึ้น’ หรือ ‘If A is, then B must be’ คือเป็นความสัมพันธ์ในเชิงข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์ที่ ‘ย่อม’ เกิดขึ้น (Is-Statement)  ในขณะที่ในโลกบรรทัดฐาน มนุษย์เชื่อมโยงกันภายใต้กฎแห่งบรรทัดฐาน ซึ่งอยู่ในลักษณะ ‘ถ้า เหตุ เกิดขึ้นแล้ว ผล ควรเกิดขึ้น’ หรือ ‘If A is, then B ought be’ คือเป็นความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผลที่ ‘ควร’ เกิดขึ้น (Ought-Statement)[16] ซึ่งเป็นผลจาการบังคับใช้เมื่อมีผู้กระทำขัดต่อบรรทัดฐาน ไม่ใช่ผลที่เกิดขึ้นเองจากสาเหตุเหมือนอย่างในโลกธรรมชาติ  

ด้วยความแตกต่างเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องผิดวิสัยที่จะค้นเข้าไปยังธรรมชาติเพื่อหากฎเกณฑ์เชิงบรรทัดฐานซึ่งไม่เคยดำรงอยู่  ดังนั้น ภายใต้ข้อถกเถียงของนักนิติปรัชญาสายปฏิฐานนิยม จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถสืบสาวกฎเกณฑ์เชิงบรรทัดฐานจากธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติอย่างที่บรรดานักคิดผู้นิยมกฎธรรมชาติเข้าใจ 

เมื่อกฎทางศีลธรรมคือกฎหมาย

ท่ามกลางโลกแห่งบรรทัดฐาน ศีลธรรมไม่ใช่เพียงบรรทัดฐานเดียวที่ดำรงอยู่ กฎหมายเป็นอีกหนึ่งในบรรทัดฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม มันจัดวางตำแหน่งแห่งที่ความสัมพันธ์ กำหนดว่าอะไรคืออะไร บอกเราเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกและผิด ชี้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำ ห้ามทำ หรือสามาารที่จะกระทำ มันอยู่กับเราแทบทุกอณูของชีวิต และหลายคราวอยู่กับเราแม้แต่ในระดับเจตนาเช่นเดียวกับที่ศีลธรรมเป็น  บางครั้งกฎหมายก็มีเนื้อหาเช่นเดียวกับศีลธรรม แต่บ่อยครั้งก็ไม่ ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือ อะไรคือความแตกต่าง และความสัมพันธ์ของกฎหมายและศีลธรรม

แน่นอนว่า สำหรับบรรดาผู้นิยมแนวคิดกฎธรรมชาติแบบคลาสสิก (Classical Natural Law Theory) กฎหมายและศีลธรรมถูกมองว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน (Connection Thesis) อย่างไม่อาจถูกปฏิเสธ  สำหรับพวกเขาศีลธรรมหรือกฎเกณฑ์ที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่โดยธรรมชาติ มันมอบคำตอบที่แน่นอนและสมบูรณ์แก่มนุษย์ กำหนดว่าพวกเขาควรทำหรือไม่ควรทำอะไร มันอาจถูกเรียกขานด้วยนามที่แตกต่าง เช่น ศีลธรรม จริยธรรม หรือ แม้แต่กฎธรรมชาติ และอาจเข้าถึงได้จากหลายแหล่งที่มา อย่างคัมภีร์ทางศาสนา เหตุผลสากล หรือแม้แต่การมีอยู่โดยธรรมชาติของมนุษย์ ฯลฯ กระนั้นก็ดี โดยพื้นฐานแล้วพวกเขาเห็นว่า กฎเกณฑ์ที่แท้จริงนั้นมีลักษณะเป็นภววิสัย สมบูรณ์ เป็นนิรันดร์ ไม่ขึ้นกับการกระทำหรือการแสดงเจตจำนงของมนุษย์  ดังนั้น เมื่อศีลธรรมหรือกฎเกณฑ์ที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ หน้าที่ของมนุษย์จึงไม่ใช่การกำหนดมัน แต่คือการค้นหามัน  

ภายใต้ความคิดดังกล่าว มโนทัศน์ต่อกฎหมายของบรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติจึงมีลักษณะเป็นทวินิยมทางกฎหมาย  (The Dualism of Law) คือเห็นว่ามีกฎเกณฑ์ที่แท้จริงดำรงอยู่ในระดับที่สูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ดำรงอยู่โดยปราศจากขอบเขตข้อจำกัดของพื้นที่และเวลา ไม่เปลี่ยนแปลงแม้ในรัฐหรือชนชาติใด มีความถูกต้อง สมบูรณ์ ยุติธรรม เป็นที่สุด ขณะที่กฎหมายที่มนุษย์บัญญัติเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในห้วงเวลาหนึ่ง ถูกกำหนดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ ดังนั้นด้วยตัวมันเองจึงปราศจากความสมบูรณ์ และจำเป็นต้องอาศัยกฎเกณฑ์ที่แท้จริงซึ่งมีความสมบูรณ์เป็นต้นแบบ   

ในแง่นี้ กฎหมายจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของการออกคำสั่ง การบัญญัติ หรือการแสดงเจตนา ไม่ว่าจะโดยรัฐสภา ตุลาการ หรือแม้แต่องค์อธิปัตย์ แต่เป็นเรื่องของการสืบสาวหากฎเกณฑ์ที่แท้จริงและเชื่อมโยงมันสู่กฎหมาย ทั้งนี้เพื่อหลอมรวมมันเข้ากับกฎเกณฑ์ที่แท้จริง   ดังนั้นหัวใจของกฎหมายจึงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากศีลธรรม-จริยธรรมหรือแม้แต่กฎธรรมชาติ และหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ นักปรัชญาคนสำคัญผู้นิยมกฎธรรมชาติอย่างอไควนัสได้ยืนยันว่า 

“ถ้ามันเบี่ยงเบนไปจากกฎธรรมชาติไม่ว่าจุดใด มันก็จะไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไป จะเป็นก็แต่เพียงกฎหมายที่ถูกบิดเบือนจนเสียสภาพความเป็นกฎหมายเท่านั้น” [17]  

รวมถึง วิลเลียม แบล็คสโตน (William Blackstone; ค.ศ. 1723 – 1780) ปราชญ์กฎหมายชาวอังกฤษผู้ยืนยันว่า “มันมีผลผูกพันทั่วโลก ในทุกประเทศ และตลอดกาลสมัย: ไม่มีกฎหมายของมนุษย์ใดที่จะมีผลบังคับใช้หากขัดต่อมัน” [18]  

ด้วยเหตุนี้ ภายใต้มโนทัศน์ของผู้นิยมกฎธรรมชาติ ความสมบูรณ์ของกฎหมายบัญญัติ (The Validity of Positive Law) จึงขึ้นอยู่กับความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่แท้จริง โดยหากปราศจากสิ่งเหล่านั้น กฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นย่อมปราศจากความสมบูรณ์ (Invalid) ปราศจากอำนาจบังคับ หรือกระทั่งไม่อาจถือว่าเป็นกฎหมาย[19] แนวคิดดังกล่าวมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการรักษาคุณค่าทางศีลธรรม-จริยธรรมให้ดำรงอยู่ภายในกฎหมาย พร้อมกับที่การันตีว่า สิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นจะคงสถานะเป็นกฎหมายเพียงตราบเท่าที่มันไม่ออกนอกลู่นอกทางของศีลธรรม-จริยธรรม  

อะไรคือปัญหาเมื่อกฎหมายกลายเป็นเรื่องของศีลธรรม 

กระนั้นก็ดี การนำศีลธรรม-จริยธรรมมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินสถานะความเป็นกฎหมาย ย่อมส่งผลให้กฎหมายต้องเผชิญกับข้อท้าทายเช่นเดียวกับศีลธรรม กล่าวคือ ด้วยเหตุว่า ในการอภิปรายต่อประเด็นศีลธรรม-จริยธรรม การค้นหาคำตอบที่ว่า อะไรคือกฎเกณฑ์ที่แท้จริงทางศีลธรรม-จริยธรรม? ยังคงเป็นที่ถกเถียงและดูเหมือนจะยังคงห่างไกลจากคำตอบที่ถูกยอมรับร่วมกัน  การนำเอาศีลธรรม-จริยธรรมมาเป็นเกณฑ์ย่อมส่งผลให้กฎหมายที่กำลังถูกบังคับใช้ ไม่อาจให้คำตอบที่แน่นอนหนึ่งเดียว แต่อยู่ในสถานะที่สามารถถูกถกเถียงอย่างไม่รู้จบ เช่นเดียวกับปัญหาที่กฎธรรมชาติต้องเผชิญซึ่งได้อภิปรายในส่วนก่อนหน้า  

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวย่อมจะไม่เกิดขึ้นหากมนุษย์ทั้งปวงมีคำตอบต่อบรรทัดฐานทางศีลธรรมร่วมกัน  ดังที่นักปรัชญาจำนวนมากกล่าวอ้างไว้ว่า คำตอบต่อศีลธรรมที่แท้จริงย่อมเป็นคำตอบที่เป็นสากลสำหรับมนุษย์ทั้งมวล  ทว่าในความเป็นจริง มุมมองดังกล่าวกลับนำมาซึ่งความไม่ลงรอย  เนื่องจากท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในสังคม การกล่าวอ้างคำตอบที่เป็นสากลกลับไม่ได้มีเพียงหนึ่ง แม้ว่าแทบทุกระบบทางศีลธรรม-จริยธรรมจะต่างยืนยันคำตอบที่เป็นภววิสัย (Objective) และสากลของตน แต่เมื่อมีระบบทางศีลธรรมจำนวนมากอยู่ร่วมกัน คำตอบที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภววิสัยและสากลในมุมมองของพวกเขา ถึงที่สุดมันกลับมีสถานะเป็นเพียงอัตวิสัยในมุมมองของผู้อื่น  ความเป็นภววิสัย เที่ยงแท้ และสากลจึงอาจไม่เคยดำรงอยู่ในสังคมที่แตกต่างหลากหลายตั้งแต่ต้น  

อย่างไรก็ดี บนสนามการถกเถียงทางศีลธรรม บรรดาผู้ที่ต่างสมาทานระบบศีลธรรมสากลจำนวนมาก ดูเหมือนพวกเขาไม่เพียงแต่จะไม่ยอมรับถึงสถานะความเป็นอัตวิสัยในระบบศีลธรรมของตนจากมุมมองอื่น ในทางตรงกันข้าม พวกเขามักพยายามสถาปนาความเหนือกว่าแก่ระบบศีลธรรมสากลของตน ด้วยการนำมันมาเป็นบรรทัดฐานตัดสินการกระทำและศีลธรรมทั้งหลาย  แน่นอนว่าความพยายามดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในเฉพาะบนพื้นที่ของการถกเถียงทางศีลธรรม เนื่องจากเมื่อศีลธรรมมีสถานะเป็นแหล่งที่มาของเนื้อหาและเป็นหัวใจในการตัดสินความสมบูรณ์ของกฎหมาย กฎหมายย่อมกลายเป็นพื้นที่ของการพยายามแข่งขันเพื่อสถาปนาความเหนือกว่าของระบบศีลธรรมไปโดยปริยาย 

แล้วอะไรคือผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อกฎหมายกลายเป็นพื้นที่ในการประชันขันแข่งของศีลธรรม ลองจินตนาการดูว่า หากเราอยู่ในรัฐที่นำเอาศีลธรรม-จริยธรรมมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินสถานะความเป็นกฎหมาย  ในด้านหนึ่ง ผู้มีส่วนในกระบวนการใช้กฎหมาย พวกเขาย่อมต่างเป็นตัวแทนของระบบศีลธรรม-จริยธรรมที่พวกเขาถือว่าเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่สามารถถูกยกขึ้นเป็นกฎสากลอย่างคานท์ ความสุขสูงสุดในปริมาณที่มากที่สุดอย่างพวกอรรถประโยชน์นิยม ศีลธรรมตามคัมภีร์สำคัญต่างๆ ทางศาสนา การเปิดเผยวิวรณ์จากพระผู้เป็นเจ้า กฎธรรมชาติอย่างอไควนัส หรือแม้แต่กฎธรรมชาติที่ดูห่างไกลจากศีลธรรมอย่าง โทมัส ฮอบส์[20] เป็นต้น 

แน่นอนว่า ภายใต้ความหลากหลายดังกล่าว เมื่อมีการกระทำที่ต้องถูกพิจารณาตามกฎหมาย แม้จะเป็นการกระทำและกฎหมายอย่างเดียวกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งกฎหมายที่มีเนื้อหาเดียวกันอาจมีสถานะเป็นทั้งกฎหมายที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์เมื่อถูกพิจารณาจากสังกัดมุมทางศีลธรรม-จริยธรรมที่แตกต่าง  ในสภาวะดังกล่าว กฎหมายย่อมกลายเป็นรองจากศีลธรรม และกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นของที่วูบไหวขึ้นลงตามแต่อัตวิสัยทางศีลธรรมของผู้พิจารณา  

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อศีลธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินสถานะความเป็นกฎหมาย หากมีกฎหมายใดที่พวกเขาไม่เห็นด้วย พวกเขาอาจถือเอาข้อกล่าวอ้างทางศีลธรรมมาปฏิเสธสถานะความเป็นกฎหมายและละเลยการปฏิบัติตามมันเสีย  ซึ่งผลที่อาจเกิดขึ้นย่อมหนีไม่พ้นสภาวะโกลาหลทางสังคม

แน่นอนว่า เราไม่อาจปล่อยให้สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น กฎหมายไม่อาจปราศจากความมั่นคงแน่นอนและกลายเป็นอัตวิสัยเช่นเดียวกับศีลธรรม กฎหมายจำเป็นต้องถูกบังคับใช้ได้แม้จะอยู่ท่ามกลางความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย  แต่กระนั้นเราก็ไม่อาจขจัดระบบศีลธรรมของผู้คนให้เหลือเพียงหนึ่ง หรืออ้างความเป็นสากลเพื่อสถาปนาศีลธรรมชุดหนึ่งชุดใดขึ้นเป็นกฎหมาย  ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หนึ่งในทางออกที่สำคัญที่สุด ถูกเสนอโดยบรรดานักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย นั่นคือ เราจำเป็นต้องแยกกฎหมายและศีลธรรมออกจากกัน!!

แยกกฎหมายออกจากศีลธรรม

สำหรับนักนิติปรัชญาสายปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย พวกเขาเห็นแย้งจากแนวคิดของบรรดาผู้นิยมกฎหมายธรรมชาติที่ถือว่ากฎหมายและศีลธรรมมีความสัมพันธ์อันจำเป็นต่อกัน (Necessary Connection) ในแง่ที่ศีลธรรมเป็นตัวกำหนดความถูกต้องในเชิงเนื้อหาของกฎหมาย (Correctness of Content) และเป็นหัวใจในการตัดสินความสมบูรณ์ของกฎหมาย  

John Austin; ค.ศ. 1790 – 1859

นักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายมีจุดยืนอยู่บนทฤษฎีแบ่งแยก (Separation Thesis) พวกเขาปฏิเสธความสัมพันธ์เชิงจำเป็นดังกล่าว โดยเห็นว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่เนื้อหาของกฎหมายต้องสอดคล้องกับเนื้อหาของศีลธรรม ความสมบูรณ์ของกฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น กฎหมายยังคงเป็นกฎหมาย แม้ว่ามันจะไม่สอนคล้อง [หรือแม้แต่ตรงข้าม] กับศีลธรรม หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า พวกเขาแบ่งแยกระหว่าง ‘กฎหมายที่เป็นอยู่’ กับ ‘กฎหมายที่ควรจะเป็น’ หรืออุดมคติทางกฎหมายออกจากกัน และปล่อยให้การถกเถียงทางศีลธรรมอยู่ในพื้นที่ของกฎหมายที่ควรจะเป็น ส่วนกฎหมายที่เป็นอยู่นั้นให้เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ที่ดำรงอยู่จริงล้วนๆ ดังที่ จอห์น ออสติน (John Austin; ค.ศ. 1790 – 1859) ได้กล่าวประโยคอันเป็นอมตะไว้ว่า

“การดำรงอยู่ของกฎหมายเป็นประการหนึ่ง การที่กฎหมายจะดีหรือเลวก็เป็นอีกประการหนึ่ง การที่สิ่งใดจะเป็นหรือไม่เป็นกฎหมายนั้น ก็เป็นคำถามหนึ่ง ส่วนการที่สิ่งนั้นจะสอดคล้องต้องกันกับมาตรฐานสมมุติ [ทางศีลธรรม] หรือไม่นั้น ก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง กฎหมายที่ดำรงอยู่จริงย่อมเป็นกฎหมาย แม้ว่าเราจะไม่ปรารถนามันก็ตาม” [21] 

การแบ่งแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมอย่างนักปฎิฐานนิยมทางกฎหมาย จึงเป็นการปฏิเสธความสัมพันธ์ที่ทำให้กฎหมายเป็นเรื่องเดียวกับกฎเกณฑ์ที่แท้จริงอย่างที่บรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติยึดถือ  กฎหมายไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ สากล และเป็นนิรันดร์อีกต่อไป มันไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าเพื่อถูกค้นพบหรือรอการค้นพบ แต่กฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์  ดังที่เคลเซ่นได้กล่าวไว้ “ย่อมไม่มีคำบัญชา หากปราศจากผู้บัญชา”[22]  

สิ่งนี้เป็นการคืนอำนาจในการบัญญัติกฎหมายให้แก่สังคมมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือออกไป  ด้วยเหตุนี้ กฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นจึงอาจแตกต่างไปตามแต่พื้นที่และเวลา และสามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้  มันได้ทำให้กฎหมายเป็นอิสระจากการถูกครอบงำจากศีลธรรมชุดใดชุดหนึ่ง โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ที่แท้จริงซึ่งได้กลายเป็นเพียงหนึ่งในข้อกล่าวอ้างทางศีลธรรมเช่นเดียวกับศีลธรรมชุดอื่นๆ ที่แตกต่างหลากหลายในสังคม

สำหรับนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย พวกเขาต่างตระหนักดีว่า ถึงที่สุดแล้วศีลธรรม-จริยธรรมนั้นเป็นสิ่งสัมพัทธ์ในทางคุณค่า (Relative Value) มันไม่อาจให้หลักเกณฑ์ที่แน่นอนโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านสังกัดมุมทางศีลธรรมที่หลากหลาย[23] กระนั้นก็ดี แม้พวกเขาปฏิเสธที่จะถือเอาความสอดคล้องกับศีลธรรมเป็นหลักเกณฑ์ความสมบูรณ์ของกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คำถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ความสมบูรณ์ของกฎหมายจะไม่อยู่ในความคิดคำนึง  เพียงแต่พวกเขาได้ผละคำอธิบายออกจากศีลธรรม และมุ่งหน้าเข้าหาหลักเกณฑ์ที่เป็นปฏิฐาน (Positive) ซึ่งสามารถสังเกตชี้วัดได้ยิ่งกว่า อย่างความมีประสิทธิภาพและ/หรือความสอดคล้องกับกฎหมายในลำดับที่สูงกว่า ดังเช่นที่เคลเซ่นเสนอว่า ความสมบูรณ์ของกฎหมายประกอบด้วย ความสอดคล้องทั้งในเชิงเนื้อหาและรูปแบบ กับปทัสถานกฎหมายในลำดับที่สูงกว่าและสามารถไล่สืบสาวเรื่องไปจนกระทั่งถึงปทัสถานขั้นมูลฐาน (Basic Norm)[24] รวมถึงความมีประสิทธิภาพขั้นต่ำของกฎหมาย[25] 

ถ้าศีลธรรมไม่ใช่กฎหมาย แล้วอะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม 

แม้จุดยืนของนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายจะแตกต่างออกไปจากบรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องการแยกกฎหมายออกจากศีลธรรม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาเป็นนักนิติปรัชญาผู้นิยมความชั่วร้าย หรือเห็นว่ากฎหมายต้องเป็นปรปักษ์ต่อศีลธรรม ในทางตรงกันข้าม ไม่มีนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายคนใดเห็นว่ากฎหมายต้องถูกทำให้ขัดแย้งแตกต่างจากศีลธรรม พวกเขาต่างยืนยันว่า กฎหมายอาจมีเนื้อหาซ้อนทับ (Overlap) กับศีลธรรมได้ แม้จะมีมุมมองต่อระดับความเข้มข้นในความเกี่ยวข้องระหว่างกฎหมายกับศีลธรรมแตกต่างกันไป[26] แต่หัวใจที่ต้องเน้นย้ำคือ การที่กฎหมายจะซ้อนทับกับศีลธรรมหรือไม่นั้น มิใช่เงื่อนไขที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นหรือไม่เป็นกฎหมาย  

อย่างไรก็ดี การแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมไม่ได้หมายความว่าพวกเขาปฏิเสธว่า กฎหมายกับศีลธรรมปราศจากสัมพันธ์ต่อกันอย่างสิ้นเชิงในทุกมิติ  เอช. แอล. เอ. ฮาร์ต (H. L. A. Hart; ค.ศ. 1907-1992) นักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายคนสำคัญ ได้ยืนยันว่าแม้จะไม่มีความสัมพันธ์เชิงจำเป็นต่อกันระหว่างกฎหมายและศีลธรรม แต่บ่อยครั้งเนื้อหาทางศีลธรรมก็อาจเข้ามาอยู่ในระบบกฎหมาย ฮาร์ตเห็นว่าศีลธรรมโดยพื้นฐานแล้วมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับกฎหมายในหลายแง่มุม และบ่อยครั้งก็ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมเป็นการทั่วไปด้วยอำนาจทางสังคมดังเช่นกฎหมาย[27] 

ยิ่งไปกว่านั้น ศีลธรรมยังเกี่ยวข้องกับความมีเสถียรภาพในการปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากระบบกฎหมายที่มีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพสูงมักเป็นระบบที่ประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมายมีมุมมองภายใน (Internal Aspect) ที่เห็นว่ากฎหมายนั้นมีเหตุผลสนับสนุนซึ่งสอดคล้องไปกับกฎเกณฑ์เชิงศีลธรรม[28]  

H. L. A. Hart; ค.ศ. 1907-1992

ด้วยเหตุที่ฮาร์ตพิจารณากฎหมายในฐานะสิ่งที่เป็นอยู่ในโลกของความเป็นจริง เขาจึงเห็นและยอมรับถึงอิทธิพลของศีลธรรมที่ดำรงอยู่ในกฎหมาย  อย่างน้อยที่สุดได้แก่ เนื้อหาขั้นต่ำของกฎธรรมชาติ (minimum content of natural law) ซึ่งดูเหมือนเขาจะสืบทอดอิทธิพลทางความคิดในการมองธรรมชาติของมนุษย์มาจากฮอบส์อย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะมุมมองอย่าง ‘การพยายามหลีกหนีความตายและการรักษาชีวิต’[29] 

ฮาร์ตยอมรับว่า ธรรมชาติของมนุษย์เหล่านี้เป็นที่มาของเนื้อหากฎเกณฑ์ขั้นต่ำที่มักดำรงอยู่ในระบบกฎหมายทั้งหลาย  นองจากนี้ เขายังเห็นว่า บ่อยครั้งเนื้อหาของศีลธรรมได้เข้ามาปะปนอยู่ในระบบกฎหมายตลอดพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุว่า ศีลธรรมเป็นบรรทัดฐานที่ดำรงอยู่ควบคู่กับสังคมมนุษย์มายาวนาน ซึ่งมันได้ส่งอิทธิพลต่อระบบความคิดความเชื่อรวมถึงพฤติกรรมของผู้คนไม่เว้นแม้แต่ผู้มีอำนาจ ในแง่นี้ จึงไม่ใช่เรื่องผิดวิสัย หากกฎหมายจะได้รับอิทธิพลจากศีลธรรม หรือมีเนื้อหาเช่นเดียวกับศีลธรรม โดยอาจเข้ามาผ่านกระบวนการตรากฎหมายหรือผ่านคำวินิจฉัยของศาล เช่นที่เกิดขึ้นจริงในอังกฤษและอเมริกาที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งฮาร์ตได้ยืนยันอย่างแข็งขันว่า

“ไม่มีนักปฏิฐานนิยมผู้ใดที่ปฏิเสธความจริงของสิ่งเหล่านี้ หรือปฏิเสธว่าความมั่นคงของระบบกฎหมายส่วนหนึ่งขึ้นกับประเภทของความสัมพันธ์ทับซ้อนกับศีลธรรม”[30] 

อาจกล่าวได้ว่า สำหรับนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย กระบวนการรังสรรค์กฎหมายเป็นพื้นที่ที่ศีลธรรมดำรงอยู่ มันเป็นพื้นที่ในการถกเถียงและปะทะสังสรรค์กันของความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายในสังคมเพื่อแสวงหาคำตอบต่อกฎหมายที่ควรจะเป็น และทำหน้าที่เป็นรอยต่อในการเปลี่ยนกฎหมายที่ควรจะเป็นสู่การเป็นกฎหมายที่ดำรงอยู่จริง   

อย่างไรก็ดี การดำรงอยู่ของศีลธรรมในกระบวนการรังสรรค์กฎหมาย ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำคือ เพียงการที่สิ่งเหล่านั้นเป็นศีลธรรมหรือถูกกล่าวอ้างในฐานะที่เป็นศีลธรรม-จริยธรรม กฎธรรมชาติ หรือแม้แต่กฎของธรรมชาติ ด้วยตัวมันเองไม่ได้เป็นเงื่อนไขเพียงพอที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นมีสถานะเป็นกฎหมาย แต่การที่สิ่งใดจะมีสถานะเป็นกฎหมาย เคลเซ่น หนึ่งในนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย เห็นว่า โดยทั่วไปสิ่งใดจะเป็นกฎหมายก็ด้วยเพราะมันถูกตราขึ้นผ่านกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย มีเนื้อหาและรูปแบบสอดคล้องด้วยกฎหมายในลำดับที่สูงกว่าซึ่งมีสมรรถภาพในการบังคับควบคุม[31]   

ทั้งนี้การที่ศีลธรรมได้ผ่านกระบวนการที่ทำให้มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบกฎหมาย สำหรับฮาร์ต ย่อมหมายความว่าคุณค่าทางศีลธรรมดังกล่าวได้ถูกยอมรับภายใต้กฎของการรับรอง (Rule of Recognition) และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย[32] ในแง่นี้สถานะของศีลธรรมย่อมเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม แต่มันย่อมมีสภาพดำรงอยู่เป็นกฎหมายและแยกออกจากสภาพศีลธรรมเดิม 

ทั้งนี้ การที่นักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายจัดวางความสัมพันธ์ให้ศีลธรรมอยู่ในพื้นที่ของกฎหมายที่ควรจะเป็น มันย่อมส่งผลให้กฎหมายเป็นอิสระจากการถูกครอบงำ และเป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตยซึ่งโอบรับความแตกต่างหลากหลาย กล่าวคือ ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนมีอัตตาณัติในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคมการเมือง ความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ ศีลธรรม และอุดมการณ์เป็นสิ่งปกติในสังคม  ผู้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านช่องทางต่างๆ พวกเขาเลือกผู้แทนที่เห็นว่าเป็นตัวแทนความคิดความเชื่อของตนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา  ภายใต้กระบวนการรังสรรค์กฎหมาย ศีลธรรมหรือความคิดความเชื่อแต่ละชุดล้วนมีสถานะเป็นความเป็นไปได้หนึ่งของกฎหมายที่ควรจะเป็น ไม่มีคำตอบใดเป็นคำตอบที่สมบูรณ์หรือแท้จริงที่สุด  ศีลธรรมทั้งหลายต่างเสมอหน้ากันภายใต้การถกเถียง แต่แตกต่างกันในแง่ของจำนวนผู้สนับสนุน  

ในแง่นี้ กฎหมายจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกผูกขาดหรือครอบงำไว้อย่างเบ็ดเสร็จด้วยศีลธรรมชุดใดชุดหนึ่ง เนื้อหาของกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ก่อนหรือถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่มันเป็นสิ่งที่เปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ เปิดกว้างต่อการถกเถียงผ่านมุมมองของระบบศีลธรรมที่หลากหลาย  ดังนั้นเมื่อกฎหมายที่ดำรงอยู่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคำตอบที่สมบูรณ์ สูงสุด หรือแท้จริง รวมถึงอาจเป็นคนละอย่างกับกฎหมายที่ควรจะเป็น กฎหมายที่ดำรงอยู่จึงย่อมสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และสามารถถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเปลี่ยนแปลงของความคิดที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคมในขณะนั้น[33] 

นอกจากนี้ ในการปรับใช้กฎหมายของผู้พิพากษา  การแยกศีลธรรมออกจากกฎหมายที่เป็นอยู่ ย่อมส่งผลให้ระบบกฎหมายเป็นระบบที่มีความสมบูรณ์ในการให้เหตุผลภายในตนเอง มีความมั่นคงแน่นอน และเป็นภาววิสัย โดยในการวินิจฉัยปัญหาทางกฎหมายของผู้พิพากษา การหยิบยกเหตุผลสนับสนุนหรือโต้แย้งใดขึ้นพิจารณา พวกเขายอมถูกบังคับโดยปริยายให้ต้องอ้างอิงและพิจารณาภายใต้เหตุผลที่ดำรงอยู่ในระบบกฎหมาย หาใช่การตัดสินบนพื้นฐานอื่นทางศีลธรรมหรือการหยิบฉวยกฎเกณฑ์นอกเหนือระบบกฎหมายมาพิจารณาปะปนในระบบ เพราะนั่นจะส่งผลการใช้กฎหมายกลายเป็นเรื่องเชิงอัตวิสัยที่ขาดความมั่นคงแน่นอน และอาจก่อให้เกิดการใช้กฎหมายอย่างบิดผันตามแต่ความโน้มเอียงของผู้พิจารณา  

อย่างไรก็ดี ในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ อาจมีบางกรณีที่ศีลธรรมเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาของผู้พิพากษา หากกรณีที่ต้องถูกพิจารณานั้นเป็นประเด็นที่ปราศจากคำตอบจากระบบกฎหมายที่ดำรงอยู่ หรือปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ผู้พิพากษาอาจจำเป็นต้องรังสรรค์-พัฒนากฎหมาย (Innovating-Developing Law) ขึ้นใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การตัดสินคดีของศาลในกรณีนี้อาจต้องอาศัยการพิจารณาด้านศีลธรรม สังคม และข้อเหตุผลอื่นๆ ในบางส่วน[34] อย่างไรก็ดี ต้องเน้นย้ำว่า กรณีดังกล่าวเป็นคนละกรณีกับการปรับใช้กฎหมายซึ่งมีหลักเกณฑ์เหตุผลชัดเจนอยู่แล้วภายในระบบกฎหมาย

สรุป

การสนทนาต่อประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติ กฎศีลธรรม และกฎหมายยังคงเป็นประเด็นถกเถียงทางนิติปรัชญาที่มีความดุเดือดและมีพัฒนาการทางความคิดอย่างต่อเนื่อง  คำตอบที่ถูกนำเสนอนั้นหลากหลายและมากไปด้วยแง่มุมที่แตกต่าง  บางครั้งกฎธรรมชาติก็ดูเหมือนจะให้คำตอบที่สูงส่งอย่างศีลธรรม-จริยธรรม แต่บ่อยครั้งก็อาจนำเราเข้าสู่เส้นทางที่ไม่แม้แต่จะเฉียดใกล้ศีลธรรม อย่างคำอธิบายต่อกฎธรรมชาติของฮอบส์ ที่แนะนำให้เราก้าวเข้าสู่การอยู่ใต้ปกครองของเผด็จการ  บางครั้งธรรมชาติก็ให้คำตอบที่น่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่การันตีเสมอไปว่าการกระทําที่สอดคล้องกับธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ดี  ข้อถกเถียงต่อบรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติได้ชี้ให้เราเห็นถึงปัญหาจากการสืบสาวบรรทัดฐานข้อพึงปฏิบัติทางศีลธรรมจากธรรมชาติ  ขณะเดียวกัน แม้บรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติจะนำเสนอข้อเด่นในคำตอบของตนว่ามันจะมอบกฎเกณฑ์ที่เป็นสากล แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าความแตกต่างหลากหลาย กฎธรรมชาติหรือกฎศีลธรรมของพวกเขายังคงเป็นที่ถกเถียง และยังไม่มีคำตอบใดที่ถูกยอมรับร่วมกันว่าเป็นคำตอบที่แท้จริงและเป็นสากล  

แน่นอนว่าการคัดง้างระหว่างแนวคิดของบรรดาผู้นิยมกฎธรรมชาติกับนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายยังคงดำรงอยู่แม้แต่ในการถกเถียงร่วมสมัย ไม่มีฝ่ายไหนที่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดหรือปราชัยอย่างสมบูรณ์  อย่างไรก็ดี แม้จะยังไม่มีบทสรุป แต่ข้อถกเถียงของนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายก็มีคุณูปการต่อเรา ในการชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อกฎหมายถูกปะปนไปด้วยอัตวิสัยทางศีลธรรม  ขณะเดียวกันก็ทำให้เราตระหนักว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตามการเปลี่ยนแปลงของความคิดความเชื่อในสังคม และไม่ควรถูกครอบงำอย่างเด็ดขาดจากศีลธรรมชุดใด 

ยิ่งไปกว่านั้น มุมมองของนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายได้ช่วยย้ำเตือนให้เราระแวดระวัง เวลาที่ใครก็ตามกล่าวอ้างกฎธรรมชาติหรือกฎศีลธรรมในการตัดสินปัญหาทางกฎหมาย เพราะถึงที่สุด สิ่งเหล่านี้อาจเป็นพาหนะที่แฝงฝังไปด้วยความคิดความเชื่อ ศีลธรรม หรืออุดมการณ์ส่วนบุคคล และการกล่าวอ้างกฎที่สูงส่ง อาจเป็นการเปิดทางให้ความคิดความเชื่อเหล่านั้นเข้ามาปะปนอยู่ในระบบกฎหมายอย่างแนบเนียน 

ดังนั้น ในประเด็นนี้หากนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายเข้าใจได้ถูกต้อง เราย่อมพึงระแวดระวังให้การพิจารณาเกี่ยวกับข้อปัญหาใดๆ ทางกฎหมาย เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุผลภายในตัวระบบกฎหมายเป็นหลัก และจับตาไม่ให้ผู้ใช้กฎหมายนำเอาข้อกล่าวอ้างอย่างกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือกฎธรรมชาติมาเป็นช่องทางในการนำส่งความคิดความเชื่อส่วนบุคคล เพื่อกันไม่ให้การพิจารณาทางกฎหมายกลายเป็นของที่วูบไหวขึ้นลง และถูกกำหนดผลลัพธ์อย่าบิดผันตามแต่ความโน้มเอียงของผู้พิจารณาไป 

เชิงอรรถอ้างอิง

[1] Cicero. De Re Publica. 3.33.

[2] Murphy, Mark. (Summer 2019 Edition). The Natural Law Tradition in Ethics. The Stanford Encyclopedia of Philosophy.  Edward N. Zalta (ed.). URL = <https://plato.stanford.edu/archives/sum2019/entries/natural-law-ethics/>.

[3] Aquinas, Thomas. Summa Theologiae. Part  I-II, question  94, and article 4.

[4] เพิ่งอ้าง, Part  I-II, question  94, and article 4&6.

[5] เพิ่งอ้าง, Part  I-II, question  94, and article 2

[6] เพิ่งอ้าง, Part  I-II, question  94, and article 2 & 3

[7] Adams, Marcus P.(Spring 2019 Edition). Hobbes’ Philosophy of Science. The Stanford Encyclopedia of Philosophy.  Edward N. Zalta (ed.), URL = <https://plato.stanford.edu/archives/spr2019/entries/hobbes-science/>.

[8] Hobbes, Thomas. (1996). Leviathan. New York: Oxford University Press. chapter 6, Paragraph 2

[9] เพิ่งอ้าง, chapter 13 

[10] เพิ่งอ้าง, chapter 6, Paragraph 7

[11] เพิ่งอ้าง, chapter 14

[12] Hume, David. (1739). A Treatise of Human Nature. Book III, Part I, Section I.

[13] ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ is-ought gap ใน  Black, Max. (1964). The Gap Between “Is” and “Should.” The Philosophical Review, 73(2), 165–181. https://doi.org/10.2307/2183334

[14] ดูการตีความข้อสังเกตของฮูมในแบบต่างๆ ใน Cohon, Rachel. (2018). Hume’s Moral Philosophy. The Stanford Encyclopedia of Philosophy. Edward N. Zalta (ed.), URL = <https://plato.stanford.edu/archives/fall2018/entries/hume-moral/>.

[15] วรเจตน์ ภาคีรัตน์. (2561). ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา. กรุงเทพฯ : อ่านกฎหมาย. หน้า 474-475

[16] Kelsen, Hans. (1992). Introduction to the Problems of Legal Theory: A Translation of the First Edition of the Reine Rechtslehre or Pure Theory of Law . trans. Bonnie Litschewski Paulson ad Stanlez L. Paulson. New York : Oxford University Press. pp.24

[17] อ้างแล้วใน เชิงอรรถ 3, Part  I-II, question  95, and article 2.

[18] Blackstone, William. (1979). Commentaries on the Law of England. Chicago: The University of Chicago Press. pp. 41

[19] Kelsen, Hans. (1967). Reine Rechtslehre. trans. Max Knight. Berkeley and Los Angeles : University of California Press. Pp.118

[20] มีข้อแตกต่างซึ่งสมควรต้องเน้นย้ำไว้ ณ ที่นี้คือ มีความแตกต่างระหว่างการอธิบายกฎธรรมชาติของฮอบส์กับของสำนักกฎหมายธรรมชาติ ขณะที่สำนักกฎหมายธรรมชาติเห็นว่ากฎธรรมชาติเป็น ‘แหล่งที่มาโดยจำเป็น’ ของเนื้อหากฎหมายบัญญัติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือกฎหมายบัญญัติ ‘จำเป็น’ ต้องสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ  กฎธรรมชาติของฮอบส์กลับมีลักษณะเป็นเพียง ‘ข้อแนะนำ’ แก่มนุษย์และผู้ออกกฎหมายเท่านั้น

[21] Austin, John, (1879), Lectures on Jurisprudence or The Philosophy of Positive Law, 4th ed. by R. Campbell, John Murray, London. Pp.220.

[22] Kelsen, Hans. (1973). Law and Logic. In: Essays in Legal and Moral Philosophy. Synthese Library, vol 57. pp.228-253.

[23] อ้างแล้วใน เชิงอรรถ 19 pp.67

[24] อ้างแล้วใน เชิงอรรถ 16 pp.55

[25] อ้างแล้วใน เชิงอรรถ 19 pp.10-11

[26] มีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันจากระดับความเข้มงวดในการแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวคิดปฏิฐานนิยมแบบอ่อน (Soft Positivism) กับ แนวคิดปฏิฐานนิยมแบบแข็ง (Hard Positivism)  โปรดดูเพิ่มเติมใน   Leiter, B. (1998). Realism, Hard Positivism, and Conceptual Analysis. Legal Theory, 4(4), 533-547. doi:10.1017/S1352325200001130

[27] H.L.A., Hart. (1961) The Concept of Law. Oxford : Oxford University Press. pp.168

[28] William C. Starr. (1984). Law and Morality in H.L.A. Hart’s Legal Philosophy. 67(4). pp.683

https://scholarship.law.marquette.edu/mulr/vol67/iss4/8

[29] อ้างแล้วใน เชิงอรรถ 26 pp.187

[30] อ้างแล้วใน เชิงอรรถ 26 pp.200 – 201

[31] สุรินทร์ สฤษฎ์พงศ์. (2562). ทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย ของ ฮันส์ เคลเซ่น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน. pp.33-34

[32] H.L.A., Hart. (1994) The Concept of Law, Second Edition. Oxford: Clarendon Press, pp.250

[33] จรัญ โฆษณานันท์. (2557). นิติปรัชญา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, หน้า 77

[34] Raz, Joseph, (1979). The Authority of Law: Essays on Law and Morality. Oxford: Clarendon Press pp. 49-50

X