นักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement ถูกตำรวจปิดกั้นการทำกิจกรรมชูป้ายข้อความระหว่างมีขบวนเสด็จพระเทพฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ จ.นครราชสีมา ช่วงกลางเดือน ต.ค. และต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งการพยายามยึดป้าย บังป้าย ผลักดันให้ออกจากริมทาง จนถึงพยายามควบคุมตัว ภายหลังกิจกรรมตำรวจยังติดตาม ดำเนินคดีในความผิดเล็กน้อย และคุกคามโดยการกดดันครอบครัว คาดสร้างความหวาดกลัว กังวล หวังให้หยุดเคลื่อนไหว
.
สกัดหนัก 4 นักกิจกรรม-เยาวชน ชูป้าย “คน = คน” ระหว่างขบวนเสด็จ – ติดตามจับตาอีกหลาย ชม.
9 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. นักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement 4 ราย ทำกิจกรรมชูป้าย “ปล่อยเพื่อนเรา” “คน = คน” ที่ฟุตบาทหน้า ร.ร.บุญวัฒนา ซึ่งพระเทพฯ เสด็จมาเปิดอาคาร ตำรวจนอกเครื่องแบบหลายนายได้เข้าล้อมและบอกให้ยุติกิจกรรม พร้อมทั้งพยายามควบคุมตัว “ฟ้า” (นามสมมติ) หนึ่งในนักกิจกรรมที่ชูป้ายไป สภ.เมืองนครราชสีมา แต่เพื่อนช่วยกันมาดึงไม่ให้ไปกับตำรวจ ระหว่างนั้นขบวนเสด็จได้กลับออกจาก ร.ร.บุญวัฒนา นักกิจกรรมนำป้ายมาชูอีก ตำรวจจึงทั้งดึงทั้งผลักดันให้กลุ่มนักกิจกรรมออกจากริมถนนเข้าไปใต้อาคาร และพยายามแย่งป้ายจนนักกิจกรรมล้มลง
ไนท์ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี หนึ่งในผู้ทำกิจกรรมเล่าถึงเหตุการณ์ว่า ก่อนขบวนเสด็จผ่านตำรวจได้เดินมาถามตนว่า เป็นคนไทยรึเปล่า และขอดูบัตรประชาชน ไนท์ได้ยื่นบัตรประชาชนให้ตำรวจดู แต่ตำรวจได้ดึงบัตรประชาชนไปจากมือของเธอ พร้อมกับถ่ายรูปบัตรโดยไม่ได้ขออนุญาต แม้ว่าไนท์จะบอกว่าห้ามถ่าย
เธอยังเล่าอีกว่า ในระหว่างที่ขบวนเสด็จกำลังผ่านและเธอกำลังถือป้ายอยู่ ตำรวจหลายนายได้บีบล้อมเข้ามาเพื่อบังป้ายจนไนท์ล้มหงายหลังหัวฟาดพื้น เพื่อนอีกคนก็ล้ม ขณะเดียวกันตำรวจก็พยายามมาดึงป้ายผ้าและป้ายกระดาษไปจากมือ

ด้านปอน (นามสมมุติ) เยาวชนวัย 15 ปี อีกราย ซึ่งไลฟ์สดรายงานสถานการณ์การชูป้ายและการปิดกั้นของตำรวจเล่าว่า ตำรวจนอกเครื่องแบบพยายามเอาหน้าอกมาดันเธอเพื่อไม่ให้สามารถถ่ายไลฟ์ได้ จนเธอต้องถอยหลังไปติดกับรถ ตำรวจยังพยายามยืนล้อมเพื่อน 3 คน เพื่อกันไม่ให้ปอนสามารถไลฟ์ได้ แต่ปอนก็ยังพยายามไลฟ์ให้เห็นเพื่อน จนเมื่อเหตุการณ์เริ่มชุลมุนขณะขบวนเสด็จผ่าน และเธอพยายามเข้าไปถ่ายขณะตำรวจแย่งป้าย และเพื่อนถูกล้อม ตำรวจก็เอามือมาบังกล้องก่อนที่จะมีมือเจ้าหน้าที่ฟาดมาที่หูของเธอ
ฟ้าเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ขณะที่ทำกิจกรรมกันอยู่ ชุดสืบนายหนึ่งพยายามจะควบคุมเขาไป สภ.เมืองนครราชสีมา อ้างว่า ไปคุยกับผู้กำกับ และมีตำรวจอีกหลายนายมายืนล้อมตนไว้ แต่เขาตอบตำรวจว่า จะไม่ไปไหน ต่อมาเมื่อขบวนเสด็จผ่านและเกิดเหตุชุลมุน ตำรวจได้กระชากแขนเขาและบีบอย่างแรงทั้งสองข้าง
หลังยุติกิจกรรมและขับรถออกจากบริเวณนั้น ฟ้าสังเกตว่ามีรถตำรวจขับตามอยู่ตลอด จากนั้นตำรวจก็เรียกและถามหาคู่มือรถมอเตอร์ไซค์คันที่ปอนและไนท์ขับมา รวมถึงถามหาใบขับขี่และหมวกกันน็อค ปอนบอกว่า คู่มือรถอยู่บ้าน ไม่ได้พกมา และไม่มีใบขับขี่ ตำรวจจึงให้ไปเสียค่าปรับที่ สภ.เมืองนครราชสีมา โดยไม่ยอมออกใบสั่ง ตำรวจยังขอดู พ.ร.บ.รถ ปอนแจ้งว่า รถคันนี้เป็นของแม่และต่อ พ.ร.บ.เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับยื่นภาพให้ดู ตำรวจให้ไปเอาตัวจริงมายืนยัน แต่เมื่อปอนบอกว่า จะกลับไปบ้านไปเอา พ.ร.บ.รถ มายืนยัน ตำรวจก็ไม่ให้เธอกลับ อ้างว่าถ้าไม่ไปเสียค่าปรับที่ สภ.เมืองฯ จะยึดรถ
สุดท้าย นักกิจกรรม Korat Movement ทั้งสี่ต้องยอมไปที่ สภ.เมืองฯ ขณะรอตำรวจเปรียบเทียบปรับ ตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปปอนโดยจ่อเข้าไปที่ใบหน้า จนผู้สังเกตการณ์ทักท้วงและขอให้ลบรูป แต่เจ้าหน้าที่กลับเมินเฉยพร้อมกับพูดว่า “พวกคุณก็ถ่ายผมเหมือนกัน” แต่ผู้สังเกตการณ์ยืนยันให้ลบรูป เนื่องจากปอนยังเป็นเยาวชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ตำรวจนายนั้นจึงยอมลบรูป โดยผู้สังเกตการณ์ย้ำให้ตำรวจลบรูปออกจากถังขยะด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรูปของปอนหลงเหลืออยู่ในโทรศัพท์ของตำรวจ
ในวันดังกล่าวนักกิจกรรมทั้งสี่ได้กลับออกจาก สภ.เมืองนครราชสีมา หลังเวลาล่วงเลยไปกว่า 2 ชั่วโมง
นอกจากการปิดกั้นการแสดงออกและติดตามนักกิจกรรมทั้งสี่นี้แล้ว วันเดียวกันตำรวจนอกเครื่องแบบ 7-8 นาย ยังได้ติดตามเฝ้า “บุ๊ค” วรัญญู คงสถิตธรรม และ “เตอร์” มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ ซึ่งมีนัดสืบพยานที่ศาลแขวงนครราชสีมาในคดีคาร์ม็อบโคราช โดยตำรวจให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่มาเฝ้าว่า กลัวว่าทั้งสองคนจะไปทำกิจกรรม เนื่องจากมีขบวนเสด็จพระเทพฯ ในวันนั้น
.
กดดันผ่านครอบครัว สร้างความกลัวหวังให้หยุดเคลื่อนไหว
หลังกิจกรรมชูป้าย ฟ้าเปิดเผยว่า มีตำรวจไปหาแม่ถึงที่ทำงาน และเอารูปที่เขาชูป้ายให้แม่ดู ทั้งยังใส่ความว่า เขาด่าพระเทพฯ ด้วยคำหยาบคาย ทั้งที่ไม่มีเหตุการณ์แบบนั้น ทำให้แม่มาต่อว่าเขา ก่อนหน้านั้น 1 วัน ก็มีทหารไปหาแม่ ฟ้าคาดว่าน่าจะเป็นครู รด. เพราะตอนมัธยมเขาเรียน รด. และเคยถูกเรียกไปเตือนหลายครั้งเรื่องทำกิจกรรมทางการเมือง
ไนท์เป็นอีกคนที่ถูกคุกคามโดยการกดดันไปทางครอบครัว ไนท์เล่าว่า ตำรวจโทรไปหาพ่อของเธอบอกว่า “ช่วยบอกลูกอย่าทำกิจกรรมได้ไหม” แต่พ่อเข้าใจเธอ ตำรวจจึงเปลี่ยนไปส่งข้อมูลการทำกิจกรรมของไนท์ให้อา แล้วอาก็ส่งต่อเข้าไปที่กรุ๊ปไลน์ของครอบครัว ซึ่งทำให้ไนท์เป็นกังวลว่า จะทำให้ปู่เป็นห่วงเธอ
.
ถูกกักตัวริมทางกว่าครึ่งชั่วโมง หลัง 3 นักกิจกรรมชูป้ายตั้งคำถามเชิงสัญลักษณ์ จบลงที่ปรับไม่พกบัตรประชาชน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 กลุ่ม Korat Movement 3 คน ที่ไปทำกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า “ไปไหนมาไหนก็เป็นภาระ” ริมถนนบริเวณสามแยกปักธงชัย ขณะขบวนเสด็จพระเทพฯ ผ่านในเวลาประมาณ 20.00 น. ก็เจอเหตุการณ์ปิดกั้นการแสดงออกและควบคุมตัวในลักษณะเดียวกัน โดยตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย พยายามบังและแย่งป้ายกระดาษดังกล่าวเพื่อไม่ให้ขบวนเสด็จเห็นข้อความ

บุ๊คเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า “หลังจากขบวนเสด็จผ่านไปแล้วก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 18-20 นาย มาล้อมเราทั้งสามคนไว้ พยายามจะยึดป้ายกระดาษ นุดา (นามสมมุติ) ซึ่งกำลังไลฟ์สดเหตุการณ์ก็ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบพยายามที่จะบังกล้องไว้ ทั้งยังเอาโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูป โดยจ่อเข้าไปใกล้ใบหน้าของนุดา”
ไม่เพียงเท่านั้น ตำรวจนายนั้นถามนุดาว่า “ถูกถ่ายเองแบบนี้รู้สึกอย่างไร และการถ่ายตำรวจแบบนี้มันอาจจะผิดกฎหมายถ้ามีคนมีคอมเมนท์ให้ตำรวจเสียหาย” แต่บุ๊กและนุดาแย้งว่า ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและพวกตนบันทึกภาพไว้เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ซึ่งประชาชนสามารถทำได้
ตำรวจนอกเครื่องแบบซึ่งเป็นชุดสืบสวน สภ.โพธิ์กลาง ยังขอตรวจบัตรประชาชนของทั้งสามคน บุ๊คบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าให้ดูได้แต่ห้ามถ่ายรูปหรือจดข้อมูลส่วนตัว แต่กลับถูกตำรวจละเมิดสิทธิโดยการถ่ายรูปบัตรประชาชนทั้งของบุ๊คและนุดา ส่วนเบล (นามสมมติ) ไม่ได้พกบัตรประชาชนไปด้วย ตำรวจจึงบอกว่า ต้องพาไปปรับที่ สภ.โพธิ์กลาง ข้อหาไม่แสดงบัตรประชาชน

ทั้งสามคนถูกควบคุมตัวไว้ที่ริมถนนกว่าครึ่งชั่วโมง แม้ว่าพวกเขาจะยืนยันว่า จะไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจและกลับบ้านแล้ว เพราะหิวข้าว จนเป็นเหตุให้บุ๊คถามตำรวจว่า “นี่เป็นการกักตัวใช่ไหมครับ” แต่ตำรวจตอบว่า ไม่ใช่ แค่อยากให้รอผู้กำกับมาพบ จนกระทั่งผู้กำกับมาถึง ซึ่งก็ยังไม่ให้บุ๊คและนุดากลับ อ้างว่าพูดคุยสอบถามก่อน จากนั้นตำรวจขับมอเตอร์ไซค์พาเบลไปที่สถานีตำรวจเพื่อเสียค่าปรับ โดยบุ๊คและนุดานั่งด้านหลังรถกระบะตำรวจติดตามไปดูแล
บุ๊คเล่าเพิ่มเติมว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวผู้กำกับและสารวัตรสืบสวนพยายามถามเขาว่า ข้อความในป้ายมีความหมายอย่างไร ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นการตั้งคำถามเชิงสัญลักษณ์กับสังคมเท่านั้น มีความหมายอย่างไรแล้วแต่การตีความของสังคม ตนเป็นนักกิจกรรมมีหน้าที่ถ่ายทอด สื่อสาร และยืนยันสิทธิในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ช่วงหนึ่งของการพูดคุยสารวัตรสืบได้กล่าวกับพวกเขาว่า “เป็นคนไทยเกิดมาต้องจงรักภักดี พี่เกิดมาก็ยกมือท่วมหัว”
ทั้งสามคนยังเปิดเผยอีกว่า เมื่อไปถึง สภ.โพธิ์กลาง ตำรวจไม่ได้ขับรถพาบุ๊คกับนาดาไปอาคารด้านหน้าที่ร้อยเวรปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่กลับพาไปห้องสืบสวนที่อยู่อาคารข้างหลัง บุ๊คจึงทักท้วงขึ้นว่า “ทำไมมาตรงนี้” ตำรวจจึงขับวนไปจอดด้านหน้า เช่นเดียวกับเบลที่ตำรวจพาไปห้องสืบสวนก่อนจะพามาพบร้อยเวร โดยร้อยเวรเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 100 บาท แล้วปล่อยตัวกลับ
บุ๊ค, นุดา และเบลเปิดเผยถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์และสภาวะที่ถูกล้อมไว้ในคืนนั้นว่า รู้สึกประหลาดใจกับอภินิหารของกฎหมาย และรู้สึกถึงความน่ากลัวของผู้บังคับใช้กฎหมายมาก เพราะตำรวจได้เสกข้อกฎหมายที่ไม่แน่ใจว่ามันมีจริงๆ หรือไม่ เช่น ตอนแรกก็บอกว่าเราไม่สามารถทำแบบนี้ ได้แต่พอเราบอกไปว่านั่นคือกฎของตำรวจ ไม่ใช่ของประชาชน ตำรวจก็เริ่มหาข้อกฎหมายใหม่มาอีกบอกว่าไลฟ์ให้เห็นตำรวจไม่ได้ ซึ่งถ้าพวกเขาไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายมาอาจจะถูกยัดข้อหาอะไรบ้างก็ไม่รู้
.
การคุกคามและปิดกั้นการแสดงออก ทั้งก่อนและในวันที่มีขบวนเสด็จของพระเทพฯ มาที่ จ.นครราชสีมา เกิดขึ้นกับนักกิจกรรม Korat Movement มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าพวกเขาเพียงยืนยันที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเท่านั้น
ทั้งนี้ กลุ่ม Korat Movement ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 เพื่อเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมการเมืองทั้งในระดับประเทศ และในจังหวัด ทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตย การปฏิรูปการศึกษา นำเสนอปัญหาความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในโคราช
.
อ่านข่าวการคุกคามก่อนหน้านี้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง