จิรารัตน์ มูลศิริ
.
หมายเหตุ จิรารัตน์ มูลศิริ เป็นทนายความที่คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด (Labor Law Clinic: LLC) ซึ่งทำงานคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มาหลายปี แต่การเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบแม่สอดเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ทำให้เธอตกเป็นจำเลยคดีแรกในชีวิต
.
วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ของศาลจังหวัดแม่สอด ศาลนัดฟังคำพิพากษาในหลายคดี หน้าห้องพิจารณาวันนั้น มีทั้งญาติและจำเลยที่ได้รับการประกันตัวในคดีอื่นๆ ต่างก็มานั่งรอศาล รวมถึงเรา…จำเลยที่ 1 ในคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ เนื่องมาจากการไปร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบแม่สอด
เราถูกแจ้งข้อหาเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมวันนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 คือคุณประวิทย์ หรือ “เฮียซ้ง” ถูกกล่าวหาเป็นผู้ร่วมชุมนุม จากผู้ชุมนุมหลายร้อยคน ฟังดูตลกหน่อย ในกิจกรรมคาร์ม็อบแม่สอด มีการดำเนินคดีผู้เข้าร่วมเพียง 2 คนนี้เท่านั้น
เราและเฮียซ้ง ถามว่าทำไม แต่ก็ยังหาคำตอบชัดเจนไม่ได้ อาจเพราะเจ้าหน้าที่รู้จักมักคุ้นกัน ไม่รู้จะแจ้งใครดี ไม่รู้จะเริ่มยังไง เลยเอาพวกเราสองคนนี้แหละง่ายดี คนหนึ่งกล่าวหาเป็นผู้จัด คนหนึ่งผู้เข้าร่วม ส่วนคนอื่นๆ ทิ้งท้ายไว้ในสำนวนคำฟ้องว่า “อยู่ระหว่างหลบหนี ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง”
อันที่จริง กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสืบสวนและสอบสวน มันแปลกประหลาดตั้งแต่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาส่องดูเฟซบุ๊กเรา แล้วก็ก๊อปเอาภาพ ข้อความ ที่เราแชร์มาว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2564 จะมีกิจกรรมคาร์ม็อบกันทั่วประเทศ รวมทั้งที่อำเภอแม่สอด แต่ในข้อความคือมีเงื่อนไข ให้ผู้เข้าร่วมใส่หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์และร่วมกันรักษาความปลอดภัย แต่กลับเอาข้อความพวกนี้แหละมาเป็นพยานหลักฐานว่าเราเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยไม่มีการตรวจสอบด้านอื่นๆ
ขณะเดียวกันมีภาพเราอยู่ในเหตุการณ์กิจกรรม แต่ไม่ปรากฏภาพว่าเราได้ร่วมกับขบวนไปแบบไหนอย่างไร และใช้รถคันใด เราคิดว่าการดำเนินคดี-แจ้งข้อหาดำเนินไปโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ละเอียดถี่ถ้วนเลย
เมื่อวันที่หมายเรียกถูกมาส่งถึงที่บ้าน จำได้แม่นว่าคือวันที่ 16 สิงหาคม 2564 กำหนดวันให้ไปพบพนักงานสอบสวน จำได้ว่าเราติดโควิด จึงทำหนังสือขอเลื่อนออกไปก่อน แต่ตำรวจคะยั้นคะยอให้ส่งใบรับรองแพทย์มาทางไลน์ว่าติดจริงหรือไม่ จนทำให้รู้สึกว่านี่คือคดีอะไร ค้าอาวุธสงครามข้ามชาติ หรือคดีค้ามนุษย์ เกรงเราจะหลบหนีขนาดนั้นเลยหรือ
หลังหายจากโควิด เราไปพบพนักงานสอบสวนวันที่ 28 กันยายน 2564 ขณะนั้น ผู้กำกับคนเดิมที่ได้ย้ายไปประจำที่อื่นแล้ว ทราบว่าเป็นไปแบบเร่งด่วน จึงได้มีรักษาการแทนตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรแม่สอด มาจากจังหวัดตาก เขาตั้งใจลงจากห้องทำงานมาหาเรามาก ขณะที่พนักงานสอบสวนกำลังซักถาม เขามาถามว่า ป่วยโควิดจริงหรือเปล่า และพูดจาต่อว่าพนักงานสอบสวนเรื่องการสอบสวนล่าช้า
ในวันนั้นเราปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยขอให้การเป็นหนังสือ และขอยื่นคำให้การภายใน 30 วัน หัวหน้า สภ. ไม่พอใจรีบตอบกลับเราบอกว่า ไม่ได้ ช้าไป ขอภายใน 7 วัน เราก็โมโหกลับบ้างเถียงและยืนยันว่า 30 วัน ไม่ทำให้คดีเสียหายเลย แล้วเขาก็เดินออกไป แล้วเดินกลับมาถามอีกว่าแล้วที่ติดโควิดนี่ จริงไหม ก็ตอบไปว่าติดจริง ได้ส่องเฟซบุ๊กแล้วใช่ไหม น่าจะเห็น แล้วเขาก็เงียบไป
วันนั้น เรายังยื่นส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรม แต่ตำรวจจะไม่รับ อ้างโน้นนั้น จนเกือบจะไม่ได้ส่ง สรุปพนักงานสอบสวนต้องรับไว้ แต่ก็แทบไม่มีผลอะไรเลย ตำรวจและอัยการยังคงมีคำสั่งฟ้องคดี
นอกจากนี้เราทำหนังสือยื่นจดหมายเปิดผนึกจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หัวหน้า สภ. ไม่ยอมเซ็นรับสำเนา แต่ก็ต้องรับหนังสือไว้
เรื่องที่ สภ.แม่สอด ยังไม่จบแค่พบพนักงานสอบสวน พอดีมีเพื่อนไปร่วมให้กำลังใจและกางป้ายถ่ายรูปหน้าสถานีตำรวจ ป้ายเขียนว่า “ประยุทธ์ออกไป” มีหัวหน้า สภ.แม่สอด (รักษาการณ์ตำแหน่งผู้กำกับการ) มาขออ่านป้ายและจะยึดป้าย เจรจากันอยู่นาน เมื่อแจ้งว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จึงคืนให้ และไล่ให้ไปถ่ายภาพที่อื่น
.
.
ในวันส่งสำนวนไปอัยการก็เช่นเดียวกัน พบว่ากระบวนการเป็นไปอย่างรีบร้อน และอัยการเพิ่งได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนเพียง 3 วัน เราได้ส่งหนังสือขอชะลอฟ้องและร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งไปในวันนั้น แต่พนักงานอัยการแจ้งว่ากำลังร่างฟ้องแล้ว “รับๆ ไปเถอะ ปรับไม่กี่บาท คดีมันไม่มีไรเลย”
เรางงมาก ทีคดีอื่นๆ ทำไมชะลอฟ้องได้ เลื่อนคดีให้ได้ แต่คดีเรา เอกสารหลักฐานที่ขอให้ชะลอฟ้องมีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอ ทำไมท่านถึงรีบสั่งฟ้อง แถมในวันฟ้อง เป็นวันศุกร์ เรามารอแต่เช้า จนเกือบเที่ยง เดินไปตามว่าเมื่อไหร่จะฟ้อง เจ้าหน้าที่บอกว่าให้รอก่อนยังทำฟ้องไม่เสร็จ อ้าว วันก่อนบอกว่าร่างฟ้องไว้แล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่า ร่างกับทำฟ้องมันไม่เหมือนกัน
หลังจากนั้น บ่ายโมงครึ่ง เราถูกพาตัวไปที่ศาล เราได้เห็นคำฟ้อง ส่วนที่สะดุดตาทันที คือบอกว่าหากจำเลยขอประกันตัว โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็น “บุคคลต่างด้าว”…ท่านอัยการ รีบทำฟ้องจนไม่อ่านทวนเลยหรือไร
จนมาถึงช่วงการสืบพยานคือตื่นเต้นที่สุด เพราะเราได้เห็นสิ่งที่โจทก์และพยานโจทก์ทำ ทั้งการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างไม่รอบคอบ และการจ้องจับผิด
นายตำรวจคนที่กล่าวหาว่าเราเป็นผู้จัด ถูกตั้งคำถามค้านว่า ไม่ได้ส่งข้อมูลให้ทางเฟซบุ๊กหรือกระทรวงดิจิทัลฯ ตรวจสอบใช่หรือไหม ว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องหรือเป็นอะไรกับเพจแม่สอดต้านเผด็จการ ซึ่งเป็นเพจที่โพสต์ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรม แต่กลับกล่าวหาเราว่าเป็นผู้จัด เขาตอบไม่ได้ชัดเจน และไม่ขอตอบ พยานได้แสดงออกด้วยอารมณ์ ทำให้ศาลต้องปรามให้สุภาพ พูดตอบคำถามด้วยถ้อยคำดีๆ
หลังจากสืบพยานเสร็จ เราก็คิดเอาไว้แล้วว่าได้แสดงให้เห็นชัดเจนทุกอย่างถึงข้อเท็จจริงและเหตุที่เราไม่ได้กระทำความผิดใด แต่หากอย่างเลวร้าย ถ้าศาลมองว่ายังเป็นความผิดต่อกฎหมาย คงจะโดนโทษปรับ เราประเมินแบบนั้น
.
.
จนวันที่ 26 ตุลาคม 2565 วันนัดฟังคำพิพากษา เราไม่ค่อยมีความรู้สึกตื่นเต้นเท่ากับวันสืบพยานแล้ว ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีอื่นๆ ก่อนหลายคดี เราและเฮียซ้งรอคอยคำพิพากษาคดีของตัวเอง
จนมาถึงคดีของเรา ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา จากพยานหลักฐานฟังได้เพียงว่าเราเป็นผู้นำข้อความประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นแอดมินของเพจ “แม่สอดต้านเผด็จการ” หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดเส้นทางคาร์ม็อบ หรือออกค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมหรือไม่ พยานหลักฐานจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดกิจกรรมตามฟ้อง
ส่วนในฟ้องเรื่องการเข้าร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ศาลเห็นว่าการชุมนุมเกิดขึ้นในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ใช่สถานที่แออัด ผู้ชุมนุมไม่ถึงขนาดอยู่ใกล้ชิดกัน ทั้งส่วนใหญ่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนเว้นระยะห่าง ขณะเคลื่อนขบวนรถ ผู้ชุมนุมก็อยู่ในรถของตนเองทั้งสิ้น ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่ามีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานจึงรับฟังได้ว่าการชุมนุมยังคำนึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ในส่วนฟ้องในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ และส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร ศาลก็ยกฟ้องเช่นเดียวกัน
ฟังคำพิพากษาของศาลแล้ว ทำให้มีความรู้สึกที่เกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีในฐานะจำเลย
หนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน ทำการรวบรวมพยานหลักฐานไม่รอบคอบ และไม่มีน้ำหนักใดที่จะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาเป็นแกนนำได้เลย แต่พนักงานสอบสวนก็ยังรับฟังและสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการ ไปจนถึงพนักงานอัยการก็ฟ้องไปตามข้อกล่าวหาของฝ่ายสืบสวนทุกข้อกล่าวหา และไม่อำนวยความเป็นธรรม ไม่แน่ใจว่าอ่านหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาหรือไม่ และการพิจารณาสำนวนเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบหรือไม่
สอง การที่พนักงานอัยการแจ้งกับเราทำนองว่า ส่งหนังสือมาทำไม มีค่าเท่าเดิม กลายเป็นว่ามีคำตอบอยู่แล้วว่ายังไงก็จะฟ้องคดี มีเหตุปัจจัยใดส่งเสริมให้รีบฟ้องและรีบด่วนตัดสินใจในคดีแบบนี้บ้าง มาจนถึงในบรรยายฟ้อง เขียนบรรยายหน้าฟ้อง อายุใส่ผิด ตัวบรรยายฟ้องช่วงท้ายยังระบุขอคัดค้านการประกันตัว เพราะผู้ต้องหาเป็นบุคคลต่างด้าว เกรงจะหลบหนี และทำไมศาลรับฟ้องนี้ไว้ โดยไม่สั่งแก้ไข ในคดีแพ่ง ถ้าลองทนายความยื่นแบบนี้ ศาลจะรีบสั่งแก้ไขหรือบางศาลสั่งยกฟ้องไปแล้ว
สาม ในชั้นพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้กล่าวหา คนที่รวบรวมหลักฐานอย่างไม่มีน้ำหนักกล่าวหาลอยๆ ยังมายืนยันว่าเรามีความผิด โยนให้ผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่พิสูจน์ตนเอง ขนาดเรามีวิชาชีพทนายความยังรู้สึกแย่กับกระบวนการของตำรวจและอัยการ ประชาชนทั่วไปหรือชาวบ้านเขาคงต้องเกรงกลัวมากกว่านี้และอาจจะรับสารภาพให้เรื่องมันจบๆ ไปเหมือนที่อัยการแนะนำ
สรุปว่า คดีจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่มีใครอยู่ข้างเรา เจ้าหน้าที่ที่เรารู้จัก บางคนทำงานด้วยความล่าช้าในเรื่องหนึ่ง แต่มาคดีพวกนี้กับทำด้วยความรวดเร็ว
ทิ้งท้ายไว้ว่า ตอนนี้อาจจะต้องคิดถึงการเตรียมดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้กล่าวหา ในความผิดใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เราต้องตกเป็นจำเลย ต้องเสียเวลา เสียความรู้สึก ในการต่อสู้คดีทั้งที่ไม่มีความผิด จะได้ไม่เป็นแบบอย่างคนที่อยากจะมีผลงาน หรือทำงานตามใจนาย นึกอยากจะใช้อำนาจแจ้งความใคร ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เสมอไป มันต้องแลกเปลี่ยนความยุติธรรมให้แก่กันบ้าง
.