แถลงการณ์ชี้แจงการร้องเรียนว่ามีการทรมานคดีผู้ต้องหาปาระเบิด
เผยแพร่วันที่ 21 มีนาคม 2558
ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์เรื่อง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายรายได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการกระทำทรมานเกิดขึ้นนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอชี้แจงต่อสาธารณชนว่ามาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) 2557 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองและตามพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งการทำร้ายผู้ต้องหาเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นการกระทำความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degradind Treatment or Punishment – CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ดังต่อไปนี้
- เมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้น รัฐมีหน้าที่ในการสอบสวนโดยพลันโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจและปราศจากความลำเอียง[1]
- รัฐต้องประกันว่าบุคคลซึ่งอ้างว่าถูกทรมานมีสิทธิในการร้องทุกข์ และทำให้กรณีของตนได้รับการตรวจสอบโดยพลันและปราศจากลำเอียง ในการดำเนินการรัฐต้องประกันว่าผู้ร้องเรียนและพยานจะได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการประทุษร้ายหรือข่มขู่ให้หวาดกลัว[2]
ดังนั้นเมื่อศูนย์ทนายความได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวทั้งยังพอปรากฏร่องรอยการทำร้ายในผู้ต้องหาบางราย จึงขอเรียกร้องให้รัฐซึ่งมีหน้าที่เข้ามาสอบสวนโดยพลันโดยเจ้าหน้าที่และแพทย์ซึ่งเป็นอิสระและเป็นกลาง เนื่องจากหากเนิ่นช้าไปก็จะไม่ปรากฏบาดแผลอีก การร้องเรียนของผู้ต้องหาและของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้นกระทำโดยสุจริตเพื่อให้ได้รับการตรวจสอบที่เป็นธรรม การเรียกร้องให้ตรวจสอบจึงเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและจะสามารถตอบข้อสงสัยในสังคม ไม่ได้เป็นการกล่าวหาหรือกุข่าวเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอยืนยันว่ารัฐมีหน้าที่ในการสอบสวนและคุ้มครองผู้ที่ร้องเรียน การปฏิบัติในทางตรงกันข้ามโดยการข่มขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีกลับต่อผู้ร้องเรียนโดยสุจริตจะยิ่งทำให้ผู้ต้องหาซึ่งมีความหวาดกลัวอยู่แล้วไม่กล้าดำเนินการทางกฎหมาย ทำให้ขาดความโปร่งใสและจริงใจในการตรวจสอบการทรมานไม่สามารถนำมาสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด ทั้งยังละเมิดต่อพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งรัฐได้แสดงเจตนามุ่งมั่นที่จะทำให้การทรมานหมดไปจากประเทศไทย
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
[1] ข้อ 12 ของอนุสัญญา CAT – ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐกระกันว่า เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของตนดำเนินการสอบสวนโดยพลันและโดยปราศจากความลำเอียง เมื่อใดก็ตามที่มีมูลเหตุสมผลที่จะเชื่อได้ว่า ได้มีการกระทำการทรมานเกิดขึ้นในอาณาเขตใดที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของตน
[2] ข้อ 13 ของอนุสัญญา CAT – ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่า ปัจเจกบุคคลที่อ้างว่าตนถูกทรมานในอาณาเขตใดก็ตามที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐนั้น มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของรัฐนั้น และที่จะทำให้กรณีของตนได้รับการพิจารณาตรวจสอบโดยพลัน และโดยปราศจากความลำเอียงโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของรัฐนั้น ให้ดำเนินขั้นตอนทั้งปวงเพื่อประกันว่า ผู้ร้องทุกข์และพยานไดรับความคุ้มครองให้พ้นจากการประทุษร้ายหรือการข่มขู่ให้หวาดกลัวทั้งปวงอันเป็นผลจากการร้องทุกข์หรือการให้พยานหลักฐานของบุคคลนั้น