แถลงการณ์องค์กรสิทธิมนุษยชน แสดงความกังวลต่อการอนุวัติการกฎหมายป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

แถลงการณ์องค์กรสิทธิมนุษยชน แสดงความกังวลต่อการอนุวัติการกฎหมายป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

นับตั้งแต่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่  1 พฤศจิกายน 2550 และได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีตามอนุสัญญาหรือมีความผูกพันที่ต้องอนุวัติการกฎหมายภายในให้เป็นไปตามพันธกรณีดังกล่าว ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการผลักดันการอนุวัติการกฎหมายภายในมาโดยตลอด จนวันที่ 27 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและให้ส่ง “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย พ.ศ…..” เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวพร้อมความเห็นคืนไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์การร้องเรียนว่ามีการทรมาน การบังคับบุคลให้สูญหายดังต่อไปนี้

  1. จากการติดตามขององค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ในภาวะปกติ และในภาวะปัจจุบันที่รัฐบาลมาจากการยึดอำนาจของทหาร ไม่ปรากฏว่าข้อร้องเรียนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดฐานกระทำทรมานและบังคับสูญหายนั้น หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถนำตัวจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางอาญาที่เหมาะสมได้แต่อย่างใด มีเพียงบางคดีที่ผู้เสียหายได้ดำเนินการฟ้องร้องเอง จนสามารถเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายได้บ้างเท่านั้น เนื่องจากปัญหาทางกฎหมาย และอุปสรรคทางปฏิบัติหลายประการ อาทิ ยังไม่มีกฎหมายภายกำหนดให้มีข้อหาความผิดฐานกระทำทรมานและความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหาย  ปัญหาความเป็นกลางของผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือสอบสวนและผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอิทธิพล หรือได้รับการสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้กระทำผิด ทำให้มีความยากลำบากในการเข้าถึงพยานหลักฐานต่าง ๆ กฎหมายไม่ยอมรับให้ญาติหรือบุคคลในครอบครัวของเหยื่อจากการบังคับให้สูญหายเป็นผู้เสียหาย ปัญหาซึ่งประชาชนไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่ทหาร หรือเข้าเป็นโจทก์ร่วมในศาลทหาร รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดข่มขู่คุกคาม หรือใช้วิธีการฟ้องกลับหรือข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ร้องเรียนว่ามีการทรมานฯ ทำให้คดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ คดีซ้อมทรมานอิหม่ามยะผา คดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร และคดีอุ้มหายบิลลี่ ล้วนไม่ประสบความสำเร็จในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
  2. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่ให้ญาติและทนายความเข้าพบผู้ถูกควบคุมตัว ภายใต้กฎอัยการศึก และภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 และที่ 13/2559  ซึ่งออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ทำให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะถูกทรมานหรือบังคับให้สูญหาย ในทางกลับกัน มาตรา 44 กลับรับรองการกระทำของเจ้าหน้าที่ โดยบัญญัติให้การกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด อันก่อให้เกิดการลอยนวลของผู้กระทำความผิด
  3. องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การละเมิดพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานเเละการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับสูญหาย เเละกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามข้อ. 7  ที่กำหนดว่า บุคคลจะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้ามิได้ เนื่องด้วยในขณะที่รัฐไทยเองยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายภายในที่เหมาะสมต่อการจัดเรื่องร้องเรียนจากเหยื่อและครอบครัว เเต่กลับดำเนินคดีกับผู้ที่ร้องเรียนหรือรายงานว่ามีการซ้อมทรมาน รวมถึงยังมีการลอยนวลของผู้กระทำความผิด เนื่องจากอุปสรรคของการอนุวัติการกฎหมายภายในให้เป็นไปตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับ เเละการรับรองการกระทำความผิดให้ชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายจึงขอเรียกร้องให้รัฐไทยเร่งสอบสวนข้อร้องเรียนว่ามีการทรมานหรือการอุ้มหาย ปกป้องและคุ้มครองผู้ร้องเรียนว่ามีการทรมานหรือการบังคับสูญหาย และดำเนินการอนุวัติการกฎหมายภายในให้เป็นไปตามพันธกรณีพันธกรณีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย  และพันธกรณีตามข้อ 7 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

  • มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
  • มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
X