21 กรกฎาคม 2562 มีการรายงานข่าวว่า นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้ กฎอัยการศึกในค่ายอิงคยุทธบริหาร ถูกพบหมดสติในศูนย์ซักถามของค่ายเมื่อเวลาประมาณ 3:00 น. เจ้าหน้าที่ประจำค่ายจึงส่งตัวนายอับดุลเลาะเข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้น ได้มีการส่งตัวต่อไปรักษาต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อมูลว่า นายอับดุลเลาะมีอาการสมองบวมอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอากาศ หายใจเป็นเวลานานในระหว่างการควบคุมตัว ขณะนี้ยังคงไม่รู้สึกตัวและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น มูลนิธิฯ ได้รับรายงานว่า นายอับดุลเลาะถูกจับและควบคุมตัว ภายใต้ อำนาจพิเศษตามกฏอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 16:00 น. หลังจากเจ้าหน้าที่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเลขที่ 219/2 หมู่ 3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่นำตัวนายอับดุลเลาะไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรสาย บุรี จ.ปัตตานี ก่อนนำตัวส่งไปยังหน่วยซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ประจำค่ายอิงคยุทธบริหารในเวลาประมาณ 19:30 น. เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา ในเวลา 9:00 น. ญาติพบว่า นายอับดุลเลาะได้ถูกส่งตัวไปยังห้อง ไอซียู โรงพยาบาลปัตตานีแล้ว
ในขณะนี้ มีการนำเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าวจำนวนมาก อีกทั้ง ตัวแทนภาค ประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้ออกมาแสดงความกังวลว่า นายอับดุลเลาะอาจถูกซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหาร ทั้งนี้ นายอับดุลเลาะเป็นเพียงหนึ่งในคนจำนวนกว่า 6,000 คนที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฏหมายพิเศษ คือพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงสามารถปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมคนได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล อีกทั้งยังสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อซักถามข้อมูลข่าวกรองได้เป็นเวลารวมแล้วถึง 37 วันโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหาหรือพาตัวผู้ต้องสงสัยไปรายงานตัวที่ศาล ถูกจำกัดการเยี่ยมโดยญาติ และไม่สามารถพบและปรึกษากับทนายความได้
ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่กฏหมายสองฉบับนี้ได้ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย มูลนิธิฯได้รับ ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่ตกอยู่ภายใต้ การควบคุมตัวซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของนายอับดุลเลาะเป็นจำนวนมาก โดยข้อร้องเรียนส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างรวดเร็วโปร่งในและมีประสิทธิภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ องค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการก็ตาม
การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) เมื่อปี 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานประจำสหประชาชาติได้เคยแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับ “ข้อกล่าวหาจำนวนมากเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอันเกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งกระทำโดยเจ้า หน้าที่หน่วยงานความมั่นคงและทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเค้นเอาคำสารภาพ” นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังระบุอีกว่า การบังคับใช้กฏหมายพิเศษทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงและยังส่งเสริมวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่ต้องรับโทษใดๆ อีกด้วย
ดังนั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรและบุคคลท้ายแถลงการณ์จึงขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ โดยมูลนิธิฯเสนอให้มีนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนเป็นผู้นำการตรวจสอบและมีมาตรการรับรองอำนาจของคณะกรรมการในการเข้าถึงข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ และมีความเป็นอิสระจากหน่วยงานความมั่นคงเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นกลางในการค้นหาความจริง ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบพึงตระหนักว่า การทรมานมีหลายวิธีที่อาจไม่พบร่องรอยบาดแผลจากการทรมาน เช่นวอเตอร์บอร์ดิ้ง (Waterboarding) ดังนั้นจึงต้องมีแพทย์นิติเวชศาสตร์ที่เป็นอิสระร่วมในการตรวจสอบด้วย
- หากพบว่ามีการกระทำอันใดที่ละเมิดต่อร่างกายของนายอับดุลเลาะจริง ขอให้ออกมาตรการชดเชย เยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวให้สภาพร่างกายและจิตใจกลับมาสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพ เดิมที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ พร้อมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งใน ทางวินัยและอาญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาล
- เจ้าหน้าที่และหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องเคารพยึดถือและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง มาตรการในการป้องกันและยุติการทรมานโดยเด็ดขาด เพื่อให้ประชาชนมีความไว้วางใจและร่วมกัน สร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้
- ขอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดในการตรากฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการทรมานและการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันร้ายแรงเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐ
- มูลนิธิฯเห็นพ้องกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติว่า การใช้อำนาจตาม กฎหมายพิเศษเพื่อปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนใต้ที่มักขาดการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักนิติธรรม ทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว ดังนั้น นอกจากกฏหมายเหล่านี้ไม่ สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้แล้ว ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น มูลนิธิฯจึงขอให้ หน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณายุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้อง สงสัยโดยขอให้ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติแทน
- ในระหว่างพิจารณาการยุติการบังคับใช้กฏหมายพิเศษ ขอให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนและจัดตั้ง กลไกป้องกันการซ้อมทรมานและการกระทำใดๆที่อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งขอให้ยอมรับนับถือสิทธิต่างๆของผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามมาตรฐานสากล เช่น การอนุญาตให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที พบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะ การเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระจากภายนอก โดยเฉพาะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหน่วยงานภาคประชาสังคม สามารถเข้าร่วมตรวจสอบสถาน ที่ควบคุมตัวและเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวอย่างสม่ำเสมอและสัมภาษณ์ผู้ถูกควบคุมตัวได้อย่างอิสระโดย ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมถึงการสร้างกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานโดยมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น
- ขอให้รัฐบาลออกกฎระเบียบในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ หลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม เช่นการตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว เยี่ยมฯลฯ และลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่ละเลย หรือละเมิดกฎระเบียบดังกล่าวอย่างจริงจัง
องค์กรร่วมลงนาม
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
- กลุ่มด้วยใจ
- องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
- เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association)
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights)
- มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation)
- มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation)
บุคคลร่วมลงนาม
- ซาฮารี เจ๊ะหลง
- อสมา มังกรชัย, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
- Solar Gasia
- อับดุลสุโก ดินอะ
- ทวีศักดิ์ ปิ
- มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ
- อับดุลสุโก ดินอะ