บุญลือ (นามสมมติ) บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ชาวสุโขทัย วัย 26 ปี ก่อนหน้านี้เขาคือผู้เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม พร้อมวาดฝันอยากรับราชการเป็น ‘นิติกร’ นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เขายังคงยืนยันให้การปฏิเสธและสู้คดีเรื่อยมา เพราะหากรับสารภาพและต้องโทษจำคุกจากคำพิพากษาถึงที่สุด เขาจะไม่สามารถสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตามที่มุ่งหวังไว้ได้อีกเลยตลอดชีวิต
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของคดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากบุญลือศึกษาจบระดับปริญญาตรี และต้องไปเป็นทหารเกณฑ์อยู่ 1 ปีเต็ม ระหว่างนั้นเขาแทบไม่รู้ข่าวคราวความเป็นไปของโลกภายนอกเลย กระทั่งถูกปลดประจำการออกมาเมื่อช่วงปี 2563 และพบว่าการเมืองตกอยู่ในสถานการณ์ร้อนระอุ นักศึกษาและประชาชนต่างลุกฮือขึ้นมาประท้วง โดยมีหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญ คือ ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’
บุญลือเริ่มสืบค้นข้อมูลและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ด้วยความสงสัยว่า เหตุใดผู้คนมากมายจึงต้องพากันออกมาเรียกร้องให้มีปฏิรูปสถาบันฯ ด้วย ต่อมาเขาเริ่มตั้งคำถาม ชวนผู้คนทั้งในชีวิตจริงและในโลกโซเซียลมาถกเถียงกันเพื่อหาคำตอบค้างคาใจ ซึ่งเขามั่นใจอย่างยิ่งว่าทั้งหมดเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต อย่างที่ได้ร่ำเรียนวิชากฎหมายในรั้วมหาวิทยาลัยตลอด 4 ปี
ทว่าไม่นานหลังจากนั้น กลับมีหมายเรียกข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ร่อนส่งถึงหน้าบ้าน โดยมีผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ได้แสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันกับเขาเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีไกลถึง จ.พังงา จากวันนั้นที่ไปรับทราบข้อหาในเดือน ก.พ. 2564 คดีความยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปีครึ่ง บุญลือต้องเดินทางจาก จ.อุตรดิตถ์ จังหวัดที่เขาย้ายมาทำงาน ไปต่อสู้คดียัง จ.พังงา อย่างน้อย 5 ครั้งแล้ว สูญเสียค่าใช้จ่ายไปมากกว่าครึ่งแสน มิหนำซ้ำการถูกกล่าวหาในคดีนี้ยังทำให้ต้องออกจากงานแรกในชีวิต ทั้งที่ยังไม่ทันได้เริ่มทำด้วยซ้ำ และเป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถสมัครงานที่ไหนได้เลย
สุดท้ายบุญลือตัดสินใจกลับคำให้การและรับสารภาพในนัดสืบพยาน เพื่อยุติคดีความที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างชีวิตใหม่ จะได้ทำงานเป็นเสาหลักให้ครอบครัวที่มีพ่อแม่และน้องสาวรออยู่เบื้องหลังสักที
วันที่ 22 ก.ย. 2565 ศาลจังหวัดพังงา พิพากษาให้จำคุก 3 ปี แต่รับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี พร้อมทั้งให้คุมประพฤติ 1 ปี
จากบัณฑิตวิชากฎหมายผู้ศรัทธาในตุลาการและกระบวนการยุติธรรม วันนี้เขากลับพูดได้เต็มปากว่า การถูกดำเนินคดีจากเหนือลงใต้ ไกลถึงพังงานั้น ชัดเจนว่าเป็น ‘การกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างการเมือง’ และ “กฎหมายไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์แล้ว มันขึ้นอยู่ที่ว่าคุณอยู่ฝ่ายไหนมากกว่า”
ตั้งคำถามชวนถก-มั่นใจว่าแสดงความเห็นโดยสุจริต แต่กลับถูกแจ้ง ม.112
บุญลือยอมรับว่าก่อนหน้านี้เขาไม่ได้สนใจติดตามข่าวสารการเมืองเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยไปร่วมการชุมนุมสักครั้ง ไม่เคยแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง แต่หลังเกิดเหตุการชุมนุมและประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อช่วงปี 2563 เขาก็มีคำถามผุดขึ้นมาว่า ‘การชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใดกันแน่’ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องสำคัญแห่งยุคสมัย ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’
จากความสงสัย นำไปสู่การตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่กลับถูกผู้ที่เห็นแย้งนำไปแจ้งความในข้อหาตามมาตรา 112 จนเป็นคดีความต้องโทษจำคุกกว่า 3 ปี
“ผมคอมเมนต์โดยสุจริต เราแค่ตั้งคำถามในทำนองว่า ‘ถ้ากษัตริย์ดีจริง ทำไมประชาชนถึงออกเรียกร้องให้ปฏิรูป’ จากนั้นก็มีคนเข้ามาต่อว่าและถกเถียงกับผม จนถึงขั้นขู่ว่าจะไปแจ้งความในข้อหา ม.112”
ไม่นานหลังคู่กรณีคอมเมนต์โต้เถียงกับบุญลือ ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้แชทเฟซบุ๊กมาบอกกับบุญลือว่า ได้ไปแจ้งความข้อหา ม.112 กับบุญลือไว้แล้วที่ สภ.ทุ่งคาโงก จ.พังงา
“เราก็ยังไม่เชื่อนะ ว่าเขาจะแจ้งจริงๆ จนเราโทรไปหาสารวัตร สภ.ทุ่งคาโงก ถึงรู้ว่าโดนแจ้งความจริงเข้าแล้ว ตอนนั้นยังไม่คิดเลยว่า ม.112 จะหนักหนาขนาดนี้ พอเราไปค้นดูข่าวคนที่เขาโดน ม.112 ถึงรู้ว่าโทษมันหนักมากเลยนะ ต้องจำคุก 3-15 ปี”
“เรามั่นใจว่าไม่ได้ด่ากษัตริย์ ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย เราแค่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต…”
เดินทางไกล 1,250 กิโลเมตร ‘อุตรดิตถ์ – พังงา’ สู้คดีจากเหนือลงใต้
การเดินทางไปจังหวัดพังงาครั้งแรกในชีวิต เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ บุญลือได้ทนายความรุ่นพี่ที่รู้จักกันมาเป็นทนายความในคดีให้ ครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าทนายความ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก แล้วรวมประมาณ 10,000 บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของบุญลือทั้งหมด โดยขณะนั้นยังไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนดาตอร์ปิโด แต่อย่างใด
หลังจากนั้นอีก 1 เดือนต่อมา พนักงานสอบสวนได้โทรกลับมาและแจ้งว่าจะต้องยื่นฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการ บุญลือรู้ได้ทันทีว่า การต่อสู้คดีนี้คงจะอีกยาวไกล เขาจึงต้องจำใจพับแผนการเตรียมตัวสอบเป็นทนายความไปก่อน และเริ่มทำงานเป็นพนักงานขับรถรับ-ส่งอาหาร (Food Rider) มาตั้งแต่นั้นจวบจนถึงปัจจุบันนานกว่า 1 ปี เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสู้คดีที่ จ.พังงา พร้อมกับได้ติดต่อมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ บุญลือต้องเดินทางไปและกลับ ‘อุตรดิตถ์-พังงา’ มาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง
- นัดรับทราบข้อกล่าวหา
- นัดฟังคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ
- นัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน
- นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย (ต่อมาได้ยุติการสืบพยาน เพราะกลับคำให้การเดินและรับสารภาพ)
- นัดฟังคำพิพากษา
ตั้งแต่นัดฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ บุญลือได้ขอความช่วยเหลือจาก ‘กองทุนดา ตอร์ปิโด’ เพื่อขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งระหว่างถูกดำเนินคดี บุญลือต้องทำงานเป็นไรเดอร์และแทบจะไม่ได้ส่งเงินให้ครอบครัวเลย เพราะจะต้องสำรองเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก
การเดินทางจาก ‘อุตรดิตถ์’ ถึง ‘พังงา’ เพื่อไปต่อสู้คดีแต่ละครั้ง บุญลือจะต้องเดินทางถึง 6 ต่อด้วยกัน รวมใช้เวลาเดินทางนานกว่า 17 ชั่วโมง
อุตรดิตถ์-กรุงเทพฯ เดินทางด้วยรถทัวร์ ใช้เวลาราว 6 ชั่วโมง
กรุงเทพฯ – ภูเก็ต เดินทางด้วยเครื่องบิน ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง 30 นาที
ภูเก็ต – พังงา เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง
แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าที่พัก เฉลี่ยครั้งละประมาณ 10,000 บาท นั่นหมายความว่าตั้งแต่บุญลือถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ มีค่าใช้จ่ายระหว่างการสู้คดีทั้งหมดประมาณ 50,000 บาท หรือกว่าครึ่งแสนเลยทีเดียว
“ต้องเดินทางไกลมาก โอ้โห! คนละโยชน์ คนละภาคเลย เขาไม่คิดถึงตอนเราเดินทางเลยเหรอ เราก็ไม่ได้มีเงินเยอะขนาดนั้น เหมือนจงใจกลั่นแกล้งเราชัดๆ ให้เดินทางลำบาก เดินทางไกล”
“การไปแต่ละครั้งไม่ใช่ต้องเสียเงินแค่ร้อย สองร้อย แต่เสียไปเป็นหมื่น เงินทั้งหมดที่หามาได้เหมือนเอาไปเทละลายน้ำ สูญเปล่าไปเลย …”
“ถ้าเกิดไม่มีกองทุนดา ตอร์ปิโด และกองทุนราษฎรประสงค์ ช่วยไว้ ตอนนี้ชีวิตผมคงเป็นไปตามยถากรรมแล้ว ผมคงยอมติดคุกไปตั้งแต่ตอนไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เพราะเราไม่มีทั้งเงินประกันตัว ไม่มีเงินที่จะไปสู้คดี
มันรู้สึกสิ้นหวังไปหมด”
หลังโดนคดี ไม่มีใครรับเข้าทำงาน เครียดจนเคยคิดฆ่าตัวตาย ศรัทธาในกฎหมายสูญสิ้น
หลังจากปลดประจำการจากการเป็นทหารเกณฑ์ บุญลือสมัครทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับบริษัทสินเชื่อแห่งหนึ่ง ที่ จ.ปทุมธานี และได้รับโอกาสให้เริ่มทำงานได้ แต่ก่อนจะเริ่มทำงานเพียง 2 วัน กลับพบว่ามีหมายเรียกคดี ม.112 มาส่งถึงหน้าบ้าน
สุดท้ายหัวหน้าก็ไม่ให้เขาเริ่มทำงานแรกในชีวิต โดยบอกเพียงสั้นๆ ว่า ‘ให้ไปจัดการคดีให้เสร็จก่อน แล้วค่อยติดต่อกลับมา’ หลังจากนั้นบุญลือก็ไม่ได้ไปสมัครงานประจำที่ไหนอีกเลย เพราะตราบใดที่คดีนี้ยังไม่ยุติลงก็คงจะไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงานอยู่ดี
“เรามาโดนคดีตอนอายุ 25 (ปัจจุบันอายุ 26 ปี) เป็นวัยที่กำลังจะเริ่มทำงาน เริ่มสร้างตัว แต่ต้องมาเจอแบบนี้ โอ้โห! ในใจจริงๆ รู้สึกไม่อยากอยู่แล้ว อยากตายมาก ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย…”
“ตั้งแต่เกิดมาแม่ร้องไห้เพราะผมแค่ครั้งเดียว ก็คือตอนที่จับได้ใบแดง แต่พอแม่รู้ว่าเราโดนคดี แม่ร้องไห้เลยนะ เราก็ร้องไห้ไปด้วย เราก็ก้มกราบขอโทษแม่ที่ต้องมาโดนคดี ผมเศร้ามาก จริงๆ วัยนี้เราต้องทำงานเลี้ยงดูพ่อแม่ ดูแลน้องที่เพิ่งเข้ามหาลัยแล้ว คิดว่าจะได้เป็นที่พึ่งของพ่อแม่ แต่สุดท้ายก็มาโดนคดี ผมทำอะไรไม่ได้เลย”
“เสียใจนะ, แต่ไม่เสียใจที่ถูกดำเนินคดี แต่เสียใจที่ต้นเหตุมาจากเรื่องแค่เล็กน้อย มันไม่ถึงขนาดกับต้องเป็นคดีความ เราแค่แสดงความคิดเห็น แค่ตั้งคำถาม เพราะอยากรู้ความคิดของแต่ละคนว่าคิดเห็นยังไงกันบ้าง เรารู้ว่ามันมีคนมาว่าเราเห็นต่างแน่นอน แต่ไม่คิดว่าจะถึงขนาดกับโดนแจ้งความข้อหา 112”
“ผมคิดว่าเขาตั้งใจกลั่นแกล้งเรา ด้วยข้อกฎหมายข้อนี้ที่ให้อำนาจกับใครก็ได้เป็นคนแจ้งความ”
“หลังโดนคดี เครียดมากจนอยากฆ่าตัวตาย แต่เราก็พยายามคิดว่าถ้าเราตายไปแล้วใครจะดูแลพ่อแม่ ถ้าเราอยู่ก็ยังเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้”
“ตอนนี้ไม่กล้าวางแผนอะไร หลังเรียนจบกำลังจะได้ทำงานอยู่แล้วเชียว แต่ก็ดันติดทหารเกณฑ์ซะก่อน พอหลังปลดทหารก็กำลังจะได้ทำงานอีก แต่ก็มาโดนคดีซะก่อน ยาวมาจนถึงตอนนี้เลย ตอนนี้ไม่มีความมั่นใจเลย วางแผนชีวิตไปก็เท่านั้น”
“กฎหมายมันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์แล้วแหละตอนนี้ มันอยู่ที่ว่าคุณอยู่ฝ่ายไหนมากกว่า”
เหตุผลเบื้องหลังการ ‘รับสารภาพ’ เพื่อยุติคดีที่ยื้ดเยื้อ ขอสร้างชีวิตใหม่หวังได้เป็นเสาหลักให้ครอบครัว
เมื่อวันที่ 6-8 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพังงานัดสืบพยานในคดีของบุญลือ ในวันแรกของการสืบพยาน ขณะสืบพยานโจทก์อยู่นั้น บุญลือได้กลับคำให้การและรับสารภาพ หลังศาลเห็นว่าข้อความที่ถูกฟ้องนั้นผิดตามมาตรา 112 โดยเฉพาะข้อความที่ว่า ‘พระองค์ประพฤติตัวไม่เหมาะสม’ ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นข้อความที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ใช่การแสดงความเห็น
ย้อนกลับไปในวันนั้น บุญลือบอกว่า สิ่งที่ตั้งตารอมากที่สุดในการสืบพยานก็คือ ‘การได้เจอกับผู้กล่าวหา’ เพราะอยากรู้ว่าผู้กล่าวหาจะรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถ่องแท้เพียงใด
“ศาลถามอะไรเขาก็ตอบแต่ว่า ‘ไม่รู้ๆ’ เขาบอกว่าเพจเฟซบุ๊กที่เราไปคอมเมนต์โต้เถียงกันจนเหตุในคดีนี้ เป็นเพจชื่อ ‘บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพี่บิณฑ์เลย”
“ถ้าเป็นคดีอื่นศาลคงยกฟ้องไปแล้ว เพราะผู้กล่าวหาไม่รู้มูลเหตุแห่งคดีเลยสักนิด แต่สุดท้ายมันเป็นข้อกฎหมายที่ปิดปากประชาชน (SLAPP Law) เหมือนกับที่ศาลพูดในวันนั้นว่า ‘ตราบใดที่ยังไม่แก้กฎหมายก็ไม่สามารถพูดถึงกษัตริย์ได้’
“ศาลบอกว่าจากข้อความที่ถูกฟ้องทั้งหมดทั้งมวล ศาลเห็นว่าข้อความที่ผิดจริงๆ มีประโยคเดียว เราคิดในใจว่าแค่นี้จริงๆ เหรอ ประพฤติตัวไม่เหมาะสมนี่คือคำด่าเหรอ”
สุดท้ายบุญลือเลือกกลับคำให้การ ‘รับสารภาพ’ โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ทุกอย่างจบแต่เพียงเท่านี้ ถ้าขืนยังสู้คดีต่อไปอีกก็จะต้องใช้เวลานานหลายปี และจะไม่สามารถสมัครเข้าทำงานที่ไหนได้ ตอนนี้บุญลือในฐานะลูกชายคนโตอยากหางานทำตามที่ได้ร่ำเรียนมาสักที จะได้หารายได้มาจุนเจือและดูแลครอบครัว เพราะตอนนี้พ่อกับแม่ก็อายุมากแล้ว และยังมีน้องสาวที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยอีกคนหนึ่งด้วย
“ทุกอย่างไม่ได้เหมือนกับที่เราเรียนมาเลย ถ้ามันจะเป็นแบบนี้ ผมไม่รู้เลยว่าจะเรียนไปทำไม” บุญลือกล่าวหลังการสืบพยานที่ไม่เสร็จสิ้น และเขาจำใจรับสารภาพ เพื่อจะได้เริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่อย่างที่ควรจะเป็นเสียที
“อยากถามคนที่แจ้งความคนอื่นด้วย ม.112 ไปทั่ว ถ้าเขาโดนคดีจนต้องคิดฆ่าตัวตาย คุณจะรับผิดชอบยังไง คุณรู้สึกสะใจใช่ไหม เขาต้องตกงาน ผิดหวัง ต้องห่างจากบ้าน ห่างจากครอบครัว ไม่รู้สึกละอายใจบ้างเหรอ”
บุญลือ จำเลยคดี ม.112
4 ข้อเรียกร้องของบุญลือ
ต่อการบังคับใช้ มาตรา 112 ในกระบวนการยุติธรรม
- ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราโทษจำคุกของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์การกระทำผิด มีขอบเขตการบังคับใช้ที่ชัดเจน ป้องกันการตีความเกินกว่าเนื้อหาที่ข้อกฎหมายบัญญัติไว้
- หากมีประชาชนผู้ใดไปกล่าวโทษร้องทุกข์ผู้อื่นในข้อหาตามมาตรา 112 ต่อพนักงานสอบสวน จะต้องให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางตรวจสอบก่อนว่า สมควรจะยื่นฟ้องต่อพนักงานอัยการหรือไม่
- ให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถยื่นคำร้องเพื่อโอนย้ายคดีมายังสถานีตำรวจหรือศาลในพื้นที่ที่พักอาศัยอยู่ ปัจจุบัน โดยจะต้องครอบคลุมตั้งแต่การต่อสู้คดีในชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นศาล โดยเสนอให้ใช้วิธีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากหน่วยงานยุติธรรมใกล้บ้านเพื่อติดต่อไปยังหน่วยงานยุติธรรมในท้องที่ที่ถูกกล่าวหา เพื่อลดภาระในการเดินทางและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
- ให้นำหลักการของกฎหมายแพ่งมาปรับใช้ ที่ว่า ‘หากจะดำเนินคดีกับผู้ใด ให้เดินทางไปกล่าวโทษร้องทุกข์ยังพื้นที่ของผู้ถูกกล่าวหา’ เพื่อลดโอกาสการนำข้อกฎหมายมาตรา 112 ไปใช้เพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมืองในพื้นที่ห่างไกล
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อ่านคำฟ้อง – อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 “หนุ่มสุโขทัย” ที่ศาลพังงา เหตุไปคอมเมนต์เรื่องลักษณะที่ดีของกษัตริย์