ศาลให้ประกัน “จิรศักดิ์” ผู้ชุมนุมอิสระดินแดง หลังถูกจับกุม-แจ้งข้อหา กรณีร่วมชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่

ในช่วงเย็นวันที่ 11 ส.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุม จิรศักดิ์ แสงเดช อายุ 21 ปี มวลชนอิสระและสมาชิกกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย ถึงบ้านพักในจังหวัดปทุมธานี โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับออกโดยศาลแขวงพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการจับกุมจากเหตุการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 ที่มีการจัดกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 เดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยหลังกิจกรรมมีมวลชนอิสระบางส่วนกระจายตัวไปยังแยกดินแดง และพยายามเดินไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนมีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ในช่วงกลางคืน

จิรศักดิ์ถูกนำตัวไปที่ บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) ภายในสโมสรตำรวจ และสอบคำให้การตามลำดับ โดยในชั้นจับกุม เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 20 วัน 

แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คน ระบุพฤติการณ์มีลักษณะก่อความวุ่นวาย-สร้าวความเดือดร้อนให้ประชาชน  

สำหรับพฤติการณ์คดี คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 มีการชุมนุมของกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง โดยเฟซบุ๊กเพจ “ราษฎรไล่ตู่ คนแดงปฏิวัติ” ได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมจัดกิจกรรม “เดินไล่ตู่” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

ต่อมา เมื่อเวลา 17.50 น. หลังยุติการชุมนุมแล้ว มีผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้ามาจัดกิจกรรมในพื้นที่บริเวณดินแดงจนถึงช่วงเวลากลางดึก มีการรวมตัวและก่อเหตุในลักษณะก่อความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่และผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมา

เจ้าหน้าที่ตํารวจได้มีการประกาศแจ้งให้ทราบว่าการกระทําดังกล่าวเป็นการทําผิดกฎหมาย ให้ยุติการชุมนุม และแยกย้ายกันกลับที่พัก แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่หยุดการกระทําดังกล่าว จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตํารวจจําเป็นต้องใช้แก๊สน้ําตาและกระสุนยาง เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เจ้าหน้าที่ตํารวจและประชาชนที่สัญจรไปมาได้รับอันตราย 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาต่อจิรศักดิ์รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบกับมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ “มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” และ “เมื่อสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216

หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว จิรศักดิ์ได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. เป็นระยะเวลา 2 คืน เนื่องจากในวันที่ 12 ส.ค. 2565 ศาลไม่เปิดทำการในงานฝากขัง ก่อนในวันที่ 13 ส.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้นำตัวเขาไปยื่นขออำนาจศาลแขวงพระนครเหนือฝากขัง โดยอ้างเหตุว่า พนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มเติม และรอผลการตรวจลายนิ้วมือ 

จนเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ 9,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 12 ก.ย. 2565

ทั้งนี้ ทางพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ระบุว่าก่อนหน้านี้ได้มีการออกหมายเรียกจิรศักดิ์แล้ว 2 ครั้ง แต่เขายังไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหา ทำให้ไปร้องขอศาลออกหมายจับ ส่วนจิรศักดิ์ระบุว่าเดือนที่ผ่านมาเขาป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 จึงยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

สำหรับคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 กรณีที่ถูกแจ้งข้อหาและพฤติการณ์เดียวกับจิรศักดิ์ ก่อนหน้านี้มีผู้ถูกกล่าวหาไปแล้ว 3 ราย โดยถูกแจ้งข้อหาขณะเข้ามอบตัวในคดีชุมนุมดินแดงในคดีอื่นที่ บช.ปส. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ได้แก่ “คิม” ธีรวิทย์, “ภูมิ” ศศลักษณ์ และ ชัยสิทธิ์ โดยสองรายแรกได้ถูกคุมขังในคดีอื่น และยังไม่ได้รับการประกันตัวจนถึงปัจจุบัน

.

.

ดูสรุปเหตุการณ์ #ม็อบ11มิถุนา65 โดย Mob Data Thailand

X