เครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์ นักวิชาการ ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน ยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา ให้สร้างความยึดมั่นต่อ หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

วันนี้ 27 ก.ค. 2565 เครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์ นักวิชาการ ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อประธานศาลฎีกา เรื่อง ขอให้ศาลยึดมั่นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่คือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) โดยหนังสือมีข้อความระบุไว้ ดังนี้

ภาพเครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์ นักวิชาการ ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อประธานศาลฎีกา (ภาพจาก the Momentum)

.

เรื่อง ศาลต้องยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์

เรียน ประธานศาลฎีกา

สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ประการหนึ่งก็คือ หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) อันมีความหมายว่าเมื่อบุคคลใดถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลที่เป็นกลางและอิสระ ก็จะต้องสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

หลักการดังกล่าวได้ทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองบุคคลดังกล่าว ทั้งในด้านของการปล่อยตัวชั่วคราวอันเป็นที่ยึดถือกันว่าการปล่อยตัวต้องถือเป็นหลักการทั่วไป ขณะที่การควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้นที่อำนาจของรัฐจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างชัดเจนว่าการปล่อยตัวอาจจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการควบคุมตัวไว้ภายใต้อำนาจของรัฐส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบุคคลผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการถูกตัดขาดจากวิถีชีวิตในยามปกติ การทำงาน การศึกษา ความเป็นอยู่ในครอบครัว การแสวงหาความสุขตามที่พลเมืองแต่ละคนสามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย การเข้าไปอยู่ภายใต้การคุมขังในเรือนจำอันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า บุคคลต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในด้านของความปลอดภัยต่อชีวิต สุขภาพ อาหารการกิน ความเสี่ยงต่อโรคภัย ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อจะมีการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาซึ่งยังมีฐานะเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงต้องเป็นมาตรการทางกฎหมายในสถานการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะนำมาใช้ได้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และวรรค 3 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

“การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”

นอกจากนี้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้มีการกำหนดหลักการและขั้นตอนสำหรับการขอปล่อยตัวชั่วคราว ที่ให้การคุ้มครองต่อผู้ถูกกล่าวในฐานะของผู้บริสุทธิ์ไว้เช่นเดียวกัน อันถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ที่ผ่านมา การปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างถูกดำเนินคดีก็เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้อย่างกว้างขวาง ดังจะพบว่ามีการให้ประกันตัวกับผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเกิดขึ้นในคดีจำนวนมาก แม้ว่าเป็นคดีที่มีความรุนแรงอย่างยิ่ง ดังเช่นคดีที่ผู้ชุมนุมบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล จำเลยที่เป็นแกนนำก็ล้วนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลายคดีแม้จะได้มีการตัดสินว่าจำเลยมีความผิดในศาลชั้นต้นหรืออุทธรณ์ ตราบที่คดียังไม่ถึงที่สุดบุคคลนั้นก็ยังดำรงสถานะของผู้บริสุทธิ์

และในหลายครั้งการปล่อยตัวชั่วคราวก็เกิดขึ้นแม้จะเป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ดังเช่นคดีของนักการเมืองที่ก่อคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคดีอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ให้การคุ้มครองต่อผู้ถูกกล่าวหาในฐานะของผู้บริสุทธิ์นั้นเป็นบรรทัดฐานทั่วไป

อย่างไรก็ตาม มีคดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังจะพบว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา การปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบาก นับตั้งแต่การยื่นขอประกันที่ต้องดำเนินการหลายครั้ง เหตุผลในการพิจารณาให้ประกันตัวที่ทำให้เกิดคำถามติดตามมาอย่างกว้างขวาง การกำหนดเงื่อนไขในการขอประกันตัวที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก

สิ่งที่พึงต้องตระหนักก็คือ บุคคลทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในสถานะของผู้ถูกกล่าวหาและยังไม่มีคำตัดสินจากศาลเกิดขึ้น ดังนั้น ก็ต้องถือว่าบุคคลทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การควบคุมตัวบุคคลต้องเป็นไปเท่าที่เท่าจำเป็นเพื่อมิให้มีการหลบหนีเป็นสำคัญ การขยายเหตุผลในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กว้างขวางออกไปจนหาไร้ขอบเขตที่ชัดเจนนั้นย่อมเป็นการใช้อำนาจตุลากรที่ทำลายหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายระหว่างประเทศ และขัดต่อสำนึกแห่งความยุติธรรมของสาธารณชนอย่างรุนแรง

อำนาจตุลาการเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน และเป็นกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมปัจจุบัน ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังเช่นการพิจารณาการขอปล่อยตัวชั่วคราวนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีความอย่างจำกัดและระมัดระวัง ดังที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล…” ด้วยเหตุนี้เอง การใช้ดุลพินิจของศาลในการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหลบหนีก็ดี การเข้ายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานก็ดี การก่ออันตราย หรือการสร้างความลำบากให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นเงื่อนไขแห่งการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น สมควรที่จะต้องชี้แจงพฤติการณ์ของจำเลยอย่างละเอียดและเป็นภววิสัยสำหรับสาธารณชนทั่วไป

ศาลพึงตระหนักด้วยว่าการใช้อำนาจของตุลาการจะเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อสามารถให้คำอธิบายอันเป็นเหตุเป็นผลในทางกฎหมาย มิฉะนั้น ตุลาการย่อมกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่ออำนาจตุลาการไปพร้อมกัน

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ศาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการให้ยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นหลักการทั่วไป ขณะที่การควบคุมตัวต้องเป็นข้อยกเว้น โดยต้องมีความชัดเจนทั้งพยานหลักฐานและการให้เหตุผลของศาล

ด้วยความยึดมั่นต่อระบบกฎหมายและระบอบประชาธิปไตย

เครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์ นักวิชาการ ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน

.

27 กรกฎาคม 2565

ภาพเครือข่ายนักกฎหมาย ฯ ยื่นหนังสือต่อศาลฎีกา (ภาพจาก The momentum)
X