เป็นองค์กรสำคัญ กระทำการใต้พระปรมาภิไธย: รองเลขาฯ ศาล รธน. ชี้คดีแฮกเว็บศาล เรียกค่าเสียหาย 10 ล้าน เหมาะแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษา 18 สิงหา

8 ก.ค. 2565 – ศาลอาญานัดสืบพยานผู้ร้องในส่วนแพ่งคดีของของ “วชิระ” (สงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดอุบลราชธานีวัย 33 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าได้แฮกเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้เปลี่ยนชื่อเว็บเป็น Kangaroo Court และฝังคลิปจากยูทูป เพลง Guillotine (It goes Yah) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 

คดีนี้มีทั้งข้อหาในทางอาญาและทางแพ่ง ในทางอาญา จำเลยได้ให้การรับสารภาพในส่วนข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) แล้ว

ในส่วนของแพ่ง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมในกรณีที่ทำให้ระบบเว็บไซต์เกิดความเสียหายและไม่สามารถทำงานได้ เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ทางจำเลยจึงประสงค์จะสู้คดีในส่วนแพ่งนี้ต่อ โดยก่อนนัดวันนี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ศาลได้ทำการสืบพยานผู้ร้องปากแรก คือ ปภู ธรรมวงศา ผู้รับมอบอำนาจจากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ร้อง

ในนัดของวันนี้ ที่ห้อง 801 ก่อนจะเริ่มการสืบพยานปากผู้ร้องคือ บุญเสริม นาคสาร รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศาลได้แจ้งว่า สืบเนื่องจากกรณีผู้ร้องขอยื่นบันทึกถ้อยคำของพยานปากนี้ต่อศาลแทนการเบิกความ ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2565 ซึ่งในฉบับดังกล่าว ทางทนายความไม่คัดค้าน แต่ต่อมาทางผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลในเอกสารที่เพิ่งส่งไป คำร้องลงวันที่ 6 ก.ค. 2565 โดยได้แนบเอกสารบันทึกถ้อยคำฉบับแก้ไขสมบูรณ์ไปด้วย ซึ่งผู้ร้องอ้างว่า เพียงแค่ตัดเนื้อหาออกไป 1 ย่อหน้าเท่านั้น ทางทนายจำเลยแถลงคัดค้าน อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120/1 ย่อหน้า 2 ระบุว่า เป็นการยื่นใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่การแก้ไข ซึ่งเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ต่อมาศาลพิเคราะห์เห็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขข้อมูลคำร้องได้ โดยเห็นว่าเป็นการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย แต่ได้บันทึกคำคัดค้านของทนายความไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณา

เนื่องจากผู้ร้องได้ยื่นบันทึกถ้อยคำแล้ว จึงเหลือเพียงขั้นตอนการถามค้าน พยานเริ่มต้นโดยเบิกความว่า ตนรับราชการมา 19 ปี แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญถูกก่อตั้งในปี 2542 ตนเริ่มรับราชการที่ศาลในปี 2546

ทนายถามว่า การรัฐประหารคือการล้มล้างอธิปไตยของของประชาชน ข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยานตอบว่าไม่ถูกต้อง ไม่ทันได้ขยายความ ศาลพูดขึ้นว่า ขอให้ถามคำถามที่เกี่ยวกับประเด็น

คำถามต่อมา คสช. ได้ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ประกาศต่ออายุข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลพูดเช่นเดิมว่า ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี

ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อนักกิจกรรม 3 ราย คือ อานนท์ นำภา, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศเกี่ยวกับคำวินิจฉัย พยานตอบว่า คนสามารถดูได้ผ่านทางช่องทางออนไลน์ ไม่ได้ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ผู้ที่จะเข้าถึงได้จะต้องผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทางสื่อออนไลน์ก็มีการถ่ายทอดสด แต่รายงานเฉพาะแค่การวินิจฉัย ไม่ใช่รายละเอียดทั้งหมด

บุญเสริมตอบทนายต่อว่า ผู้ชมจะทราบแค่ผลการวินิจฉัยเท่านั้น รายละเอียดข้อเท็จจริงรวมทั้งความเห็นจะปรากฎในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ยาก เพราะไม่ได้มีการขึ้นหัวข้อเฉพาะเจาะจง

ทนายถามต่ออีก โดยปกติเมื่อมีคำวินิจฉัยฉบับเต็ม สื่อส่วนใหญ่จะรายงานเนื้อหาฉบับเต็มใช่หรือไม่ พยานยังไม่ตอบ ศาลพูดขึ้นมาว่า ตัวศาลเองก็รู้เท่าพยาน ไม่แน่ใจว่าสื่อมากน้อยแค่ไหนที่นำเสนอข่าว

ทนายเปิดประเด็นว่า สำหรับคดีนี้ หลังจากที่หน้าเว็บของศาลรัฐธรรมนูญ ถูกเปลี่ยน ใช้เวลา 2 วัน เว็บจึงสามารถกลับมาใช้ได้ปกติ ทางสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ให้ความเห็นว่า อย่าเพิ่งเปิดให้ใช้ เพราะยังมีช่องโหว่ พยานตอบว่า ไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยเข้าสู่ระบบโดยมิชอบ สามารถปรับแก้ได้ทันทีก็จริง แต่ทางจำเลยยังพยายามเข้ามาในระบบอีกเป็นครั้งที่ 2 จึงต้องปิดเว็บไซต์ไป ทาง สกมช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ระบุว่าจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงว่ามีการฝังภัยคุกคามในระบบหรือไม่ รายละเอียดอื่นๆ อยู่ในคำร้องที่ยื่นไป

ทนายถามอีกว่า พยานเอกสารในสำนวนที่ยื่นมาทั้งหมด ไม่ได้บอกว่าภัยคุกคามนั้นเกิดขึ้นจากจำเลย พยานตอบว่า ไม่ถูกต้อง ทนายขอให้พยานดูว่าข้อมูลดังกล่าวอยู่ในหลักฐานชิ้นไหน พยานแจ้งว่าตามเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับ สกมช. ระบุวันเวลาที่ตรวจพบการเข้าถึง และให้ความเห็นว่าต้องหาเหตุด้วยเพื่อตรวจว่ามีสิ่งแปลกปลอมในระบบหรือไม่

ทนายถามต่อว่า เอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า ช่องโหว่ที่ว่านั้นจำเลยสร้างขึ้น พยานแย้งว่า เป็นการกระทำของจำเลย ทนายเน้นย้ำว่า ในเอกสารของพยานระบุว่า สรุปมีช่องโหว่ 76 จุดนั้น ตามเอกสารระบุไหมว่าเกิดจากจำเลย พยานตอบว่า สกมช. ตรวจแล้ว กรณีนี้หมายถึงจำเลย ให้ความเห็นสอดคล้องกับเอกสารที่นำเรียนไปแล้ว เนื้อหากระทบต่อศาลรัฐธรรมนูญ เกิดความเสียหาย ทนายขยายต่อว่า จำเลยรับแล้วว่าเข้าถึงเว็บจริง ส่วนช่องโหว่ 76 จุด จำเลยไม่ได้สร้าง ศาลพูดขึ้นมาอีกว่า พยานให้คำตอบแล้ว ที่เหลือศาลจะพิจารณาในเอกสารเอง

เกี่ยวกับคดี ที่จำเลยเข้าถึงข้อมูลคือหน้าเว็บส่วนประชาสัมพันธ์ แต่ไม่ได้กระทบกับระบบภายใน ระบุอยู่ในเอกสาร พยานตอบ ไม่ได้หมายความเช่นนั้น ทนายขยายความไปเอง เพราะไม่ได้มีแค่ส่วนประชาสัมพันธ์ แต่ยังมีส่วนบริการด้วยในหน้านั้น เว็บศาลรัฐธรรมนูญมี 12 หน้า 102 หัวข้อ เพื่อให้คนทั่วเข้ารับบริการ

พยานตอบคำถามทนายต่อว่า ตนเป็นประธานกรรมการการประเมินเรื่องความเสี่ยงและความเสียหายจากการเข้าถึงของจำเลย ยืนยันกับศาลในเรื่องยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหาย

ทนายอ้างถึงเอกสารของศาลซึ่งมีข้อความว่า “ลับมาก” ระบุว่า ส่วนบริหารภายในของเว็บไซต์ไม่ได้รับผลกระทบ พยานตอบ ข้อความเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ได้หมายความตามที่ทนายบอก 

ทนายถามต่อ ในฐานะประธานกรรมการฯ ทำไมถึงไม่สั่งแก้ข้อความตามที่พยานเบิกความมา พยานตอบว่า ข้อความที่เขียนเป็นข้อความอธิบายการทำงานของเว็บไซต์ เป็นการบริการข้อมูลสาธารณะ ข้อมูลประชาสัมพันธ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบริการด้วย

บุญเสริมตอบทนายต่อว่า ทางตำรวจได้เชิญตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญไปแจ้งความจริง แต่ไม่ได้แจ้งความในข้อหาฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท เพราะดูแค่จากข้อความที่เห็น ลักษณะการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องโดยตรง

ทนายอ้างถึงเอกสารคำพิพากษาชั้นฎีกาที่ทางผู้ร้องยื่นเข้ามาด้วย เป็นข้อหาฐานหมิ่นประมาท ไม่ใช่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานตอบว่าถูกต้อง ที่ยื่นเข้ามาเพราะต้องการเปรียบเทียบความเสียหาย ในคดีนั้น ผู้เสียหายเป็นนักการเมือง ฎีกาให้ชำระค่าสินไหมทดแทน 5,000,000 บาท เพราะถูกละเมิด กระทบชื่อเสียง เปรียบกับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัย พิพากษาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ต้องเป็นกลาง มีความอิสระ ทำการตามในพระปรมาภิไธย มีสถานะสำคัญ ที่เรียกค่าเสียหาย 10,000,000 บาท ก็เพื่อไม่ให้ด้อยกว่าคดีของบุคคล จำนวนเงินสอดคล้องกับสภาพสังคมตอนนี้

ทนายถามต่อว่า ในเอกสารรวมข่าวที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลย จำเลยไม่ได้เป็นคนจัดทำใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ เป็นการสรุปรายงานเหตุการณ์และข้อเท็จจริง พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า จำเลยไม่สามารถกำหนดทิศทางข่าวและข้อมูลได้

คำถามสุดท้าย เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่สร้างมา จนกระทั่งมีการออกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ) ไม่เคยมีการส่งตรวจเว็บของศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จำเลยจะเข้าถึงใช่ไหม พยานตอบ พ.ร.บ. ดังกล่าวเกิดปี 2562 ทางศาลฯ ไม่เคยส่งตรวจ เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่เคยกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องส่งเว็บให้ตรวจสอบ

หลังเสร็จสิ้น ฝ่ายผู้ร้องแถลงหมดพยาน และฝ่ายจำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ศาลระบุว่า จำเป็นต้องไปค้นคว้าพิจารณาเรื่องความเสียหายก่อน แต่ประเด็นนี้ไม่ซับซ้อน จึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ส.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า การปราศรัยของ 3 แกนนำราษฎร ได้แก่ อานนท์ รุ้ง และไมค์ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช้าวันต่อมา มีรายงานข่าวว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกแฮกเข้าไปเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น “Kangaroo Court” ซึ่งเป็นศัพท์แสลงหมายถึง “ศาลเตี้ย” และฝังคลิปจากยูทูบ เพลง Guillotine (It goes Yah) ของวงดนตรี Death Grips 

อ่านคำฟ้องเพิ่มเติม >> ฟ้องแล้ว! คดี ‘หนุ่มอุบลฯ’ ถูกกล่าวหาแฮกเว็บศาลรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนชื่อเป็น “Kangaroo Court”เจ้าตัวยืนยันให้การปฏิเสธ

อ่านเรื่องราวของวชิระโดยประชาไท >> วชิระ: เว็บศาล รธน.ที่ถูกแฮก ไม่ใช่แค่ช่องโหว่ของเว็บ เมื่อคนพยายามชี้ปัญหาของระบบต้องถูกดำเนินคดี

X