เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! จำคุก 6 ปี “สมบัติ ทองย้อย” คดี ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’  

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษา ในคดีของ ‘สมบัติ ทองย้อย’ อดีตการ์ดเสื้อแดง อายุ 52 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 

ในคดีนี้ สมบัติถูกแจ้งความโดย ศรายุทธ สังวาลย์ทอง โดยเขาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ก่อนคดีจะมีการสืบพยานโจทก์และจำเลย รวม 5 นัด เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2565 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 เม.ย. 2565  

หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นขอประกันสมบัติในระหว่างอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวเรื่อยมา แม้ทนายจะยื่นขอประกันรวมถึง 4 ครั้งแล้วก็ตาม ทำให้จนถึงขณะนี้สมบัติก็ยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นนานเกือบ 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2565  

สำหรับคำพิพากษาดังกล่าว ศาลพิจารณาข้อความ จำนวน 3 ข้อความ แยกเป็น 2 กรรม ตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้

กรรมที่ 1 – ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” 

ข้อความนี้โพสต์เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 เวลา 17.33 น. เป็นข้อความว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอโทรศัพท์เป็นข่าวจากเว็บไซต์มติชนเรื่องบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 คณะ ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563

ศาลเห็นว่า คำว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” โดยเนื้อแท้มีลักษณะเป็นการกล่าวชื่นชมและขอบใจบุคคล ไม่มีความหมายที่ส่อไปในทางที่เป็นการใส่ความให้บุคคลใดเสียชื่อเสียง หากเป็นการนําไปใช้โดยมีเจตนา เพื่อกล่าวชื่นชมหรือขอบใจบุคคลใดโดยสุจริตใจ ย่อมไม่เป็นความผิด การนําเอาถ้อยคําดังกล่าวไปใช้อันจะเป็นความผิดต้องพิจารณาจากเจตนาของผู้ที่นําไปใช้เป็นรายกรณีไป 

ศาลพิเคราะห์ว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความนี้ จําเลยมีเจตนากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทําในบริบทที่มีข่าวว่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งคณะ ซึ่งการเข้ารับปริญญาและรับพระบรมราโชวาทจากกษัตริย์โดยตรงนั้นเป็นที่ยอมรับกันในสังคมไทยตลอดมาว่า ถือเป็นเกียรติและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้ารับพระราชทานและครอบครัวของผู้นั้น การที่มีข่าวว่าบัณฑิตทั้งคณะจะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ย่อมทําให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นพฤติกรรมอันมีลักษณะเป็น “การต่อต้านพระมหากษัตริย์” 

ศาลพิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ข่าวของบัณฑิตดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการกระทำสิ่งใดให้แก่จำเลยโดยตรงอันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องขอบใจ การโพสต์ข้อความนี้ของจําเลยจึงไม่ได้มีเจตนาที่จะชื่นชมหรือขอบใจบุคคลใดโดยสุจริตใจ แต่เป็นการจงใจล้อเลียนและเสียดสี เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกพอใจกับข่าวอันมีลักษณะเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์ โดยนําเอาพระราชดํารัสของพระมหากษัตริย์ย้อนกลับมาใช้กับข่าวอันมีลักษณะเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์เสียเอง 

ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร มีลักษณะเป็นการจาบจ้วง และชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจําเลยที่ต้องการจะดูถูก ด้อยค่าพระมหากษัตริย์ อันเข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นแล้ว และเห็นว่าผิดตามฟ้องในความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

กรรมที่ 2 – 2 ข้อความเรื่องการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น

อีก 2 ข้อความตามฟ้อง ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น โดยเป็นการโพสต์เฟซบุ๊กในวันเดียวกัน คือ วันที่ 2 พ.ย. 2563 เวลา 07.43 และ เวลา 08.01 ตามลำดับ ได้แก่ ข้อความ ดังนี้ 

“เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอา เลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริงๆ ละครหลังข่าวชัดๆ”  และข้อความที่ว่า “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัดๆ” 

ศาลมีคำพิพากษา โดยเห็นว่าทั้งสองข้อความจำเลยโพสต์เฟซบุ๊กในวันที่ 2 พ.ย. 2563 เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดําเนินไปในการพระราชพิธีวันปิยมหาราช ในวันที่ 23 ต.ค. 2563 และที่เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 แล้วทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชน 

ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อความทั้งสองนี้โดยตลอดแล้ว แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจําเลยได้ว่าต้องการสื่อให้บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มากเกินความจําเป็น ประชาชนไม่ต้องการแล้ว จึงเสแสร้งทําตัวใกล้ชิดกับประชาชนเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา ไม่ได้ทําด้วย ความจริงใจ และเปรียบเทียบการที่กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชนเป็นดาราที่แจกลายเซ็นต์ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง 

ศาลเห็นว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวของจําเลย จึงไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา แต่เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ทรงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท และยังมีความหมายเป็นการดูถูกด้อยค่าอันเป็นการดูหมิ่นด้วย 

การที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งสองนี้ ศาลเห็นว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3)

ศาลพิพากษาตาม ม.112 ที่มีโทษหนักสุด จำคุกกรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี

จากการโพสต์เฟซบุ๊กทั้ง 3 ข้อความ ซึ่งศาลนับรวมเป็น 2 กรรมตามฟ้อง ศาลพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) การกระทำของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ กับฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จําคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจําคุก 6 ปี

ทั้งนี้ ในคดีนี้อัยการฟ้องสมบัติในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แต่ศาลพิพากษาว่า สมบัติมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ด้วย จึงเป็นการพิพากษานอกคำฟ้องของอัยการ ซึ่งคาดว่าทนายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ในประเด็นนี้ต่อไปด้วย

สำหรับ สมบัติ ทองย้อย คือ อดีตการ์ดผู้ชุมนุม นปช. หรือ คนเสื้อแดง ปัจจุบันอายุ 52 ปี ถือได้ว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว หลังถูกคุมขังจากการมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น สมบัติเปิดเผยว่า ไม่ทันได้เตรียมใจกับเหตุการณ์นี้มาก่อน และยังคงเป็นกังวลกับความเป็นไปในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้สิน การเป็นอยู่ของแม่ ลูกสาว และภรรยา 

สมบัติถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มานานเกือบ 2 เดือนแล้ว และเพิ่งได้พบเจอหน้าครอบครัวเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ หลังถูกเบิกตัวเข้าร่วมนัดสืบพยาน คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ในวันดังกล่าวเขาได้เล่าว่า สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำนั้นปัจจุบันดีขึ้นในหลายด้าน อาทิ คุณภาพน้ำดื่มและน้ำใช้ สุขภาวะของห้องสุขา เป็นต้น 

ส่วนเรื่องที่ยังคงสร้างความทุกข์ให้กับผู้ต้องขังอยู่นั้นก็คงจะเป็นเรื่องความแออัดของห้องขังและอาหารการกินในเรือนจำที่เขาเผยว่า “กินไม่ได้เลย เพราะรสชาติและวัตถุดิบแย่มาก” หากใครที่ไม่มีญาติฝากเงินเข้ามาให้ก็จำเป็นจะต้องกลั้นใจกินอาหารที่เรือนจำจัดไว้ให้  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

พิพากษาจำคุก 6 ปี “สมบัติ ทองย้อย” ผิด ม.112 กรณีโพสต์ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” กับอีก 2 ข้อความ ศาลชี้เจตนาล้อเลียน-ด้อยค่ากษัตริย์

อ่านรายละเอียดคำฟ้องในคดี – ยื่นฟ้อง “สมบัติ ทองย้อย” อดีตการ์ดเสื้อแดง เหตุโพสต์ #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ อัยการชี้ มีเจตนาทำลาย จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ สร้างความแตกแยกในสังคม

รายละเอียดการสืบพยานคดีนี้ – เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 “สมบัติ ทองย้อย” โพสต์ #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

ฐานข้อมูล คดี 112 สมบัติ ทองย้อย ถูกกล่าวหาโพสต์ 3 ข้อความ ล้อเลียน-ใส่ความ ร.10

X