ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ “สุธินี” จำเลย ม.112 ไปเรียนภาษา 1 เดือน ตั้งผู้กำกับดูแลที่ไทย-เยอรมัน คอยกำชับให้จำเลยทำตามเงื่อนไขคำสั่งศาล

26 พ.ค. 2565 – ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ “ฟ้า” สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 21 ปี หนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 พร้อมด้วยทนายความได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนด้านภาษาที่ประเทศเยอรมนี เป็นครั้งที่ 2 หลังจากการยื่นครั้งแรกในครั้งแรก ศาลให้จำเลยไปหาบุคคลมาเพื่อเป็นผู้กำกับดูแลระหว่างอยู่ที่ประเทศเยอรมนี เพื่อให้มาประสานงานกับผู้กำกับดูแลที่อยู่ประเทศไทยก่อน

ในคดีนี้ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยมีเงื่อนไข “ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากศาล” ต่อมา สุธินีได้รับทุนการศึกษาจาก “ศูนย์บริการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD)” ของรัฐบาลเยอรมนี เพื่อไปศึกษาแลกเปลี่ยนภาษาเยอรมัน ยังประเทศเยอรมนี ในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน โดยมีกำหนดการศึกษาตั้งแต่วันที่ 3 – 28 ก.ค. 2565

สำหรับเนื้อหาในการยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 นั้น มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ฟ้าเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ของคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาตะวันตก วิชาเอกภาษาเยอรมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้มีผลการเรียนดีจนเคยได้รับรางวัล หลังจากศึกษาแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมนีแล้ว เธอพร้อมจะเดินทางกลับมาประเทศไทยทันที ที่มากไปกว่านั้น ทุนการศึกษานี้ยังมอบให้เฉพาะนักศึกษาชั้นเยี่ยมและมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จเท่านั้น พร้อมกันนี้ ฟ้าได้เสนออาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ศาลพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแล

>>> ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่ให้ “สุธินี” จำเลยคดี ม.112 กรณีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีไปเรียนภาษา หลังสอบได้ทุนรัฐบาลเยอรมันเดียวกับ “รวิสรา”

ในคำร้องที่ได้ยื่นต่อศาลในวันนี้ ได้ระบุเพิ่มเติมว่า การเดินทางไปแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ของจำเลยไม่กระทบกับการพิจารณาคดี เนื่องจากจะเสร็จสิ้นในเดือน ก.ค. โดยจำเลยมีกำหนดการเดินทางกลับในวันที่ 2 ส.ค. 2565 และขอให้ศาลแต่งตั้งรุ่นพี่ของจำเลย ซึ่งอยู่อาศัยในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของศาลและมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามฯ เป็นผู้กำกับดูแล โดยรุ่นพี่รายนี้เป็นบุคคลที่จำเลยมักปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเรียนภาษาเยอรมันและปัญหาส่วนตัวมาโดยตลอด โดยมีหนังสือรับรองจากรุ่นพี่ยินยอมให้แต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลระหว่างอยู่ที่ประเทศเยอรมนี

.

ศาลมีคำสั่ง ระบุ อนุญาตให้จำเลยเดินทางไปศึกษาต่อได้ พร้อมให้ตั้งผู้กำกับดูแล 2 ราย คอยประสานงานให้จำเลยทำตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด

หลังยื่นคำร้อง ต่อมา ในเวลาราว 16.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยสามารถเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนีได้ พร้อมมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ให้เหตุผลว่า จากการสอบถามจำเลยเพิ่มเติม ได้ความว่า ผู้กำกับดูแลที่จะให้การดูแลจำเลยที่ประเทศเยอรมนีนั้นเป็นศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทราบแล้วว่า จะต้องประสานงานกันกับผู้กำกับดูแลที่อยู่ประเทศไทยในการกำกับดูแลจำเลย

ศาลเห็นว่า นับแต่ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว จำเลยไม่เคยกระทำการใดที่อาจผิดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดของศาล จึงเห็นควรอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. – 2 ส.ค. 2565 ให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลในวันทำการแรก ถัดจากวันที่ 2 ส.ค. 2565 หรือวันที่เดินทางกลับถึงไทย และเห็นควรกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ให้ผู้ดูแลทั้ง 2 ติดต่อประสานงานและร่วมมือกันในการกำกับดูแลหรือให้คำปรึกษา คอยกำชับและตักเตือนให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัดระหว่างที่จำเลยเรียนอยู่ในประเทศเยอรมนี

ลงชื่อผู้พิพากษาผู้ทำคำสั่งโดย สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล
.

นอกจากกรณีของฟ้า ก่อนหน้านี้ยังมีกรณีของ “เดียร์” รวิสรา เอกสกุล ซึ่งเป็นจำเลยในคดีความเดียวกัน ได้ขอเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนีหลังจากได้ทุนของ DAAD เช่นเดียวกัน ซึ่งเดียร์ต้องยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 2565 โดยแต่ละครั้ง ศาลจะมีคำสั่งให้เพิ่มเติมเงื่อนไขและร้องขอเอกสารเพิ่ม กระทั่งมีคำสั่งอนุญาตให้ไปศึกษาต่อได้ ก่อนมหาวิทยาลัยที่เยอรมันจะเปิดทำการเรียนการสอนเพียง 3 วัน ซึ่งขณะนี้เดียร์กำลังศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศเยอรมนี

>>> ศาลอนุญาตให้ “รวิสรา” เดินทางไปเรียนต่อ หลังไต่สวนคำร้องครั้งที่ 7 ตั้งเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์ทั้งในไทย-เยอรมนี

ทั้งนี้ คดีจากการชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ผู้ชุมนุมได้เดินขบวนไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบกษัตริย์ไทยว่ามีการใช้พระราชอำนาจบนดินแดนของเยอรมนีหรือไม่ โดยฟ้าและเดียร์เป็นหนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์ของการชุมนุมเป็นภาษาเยอรมัน แต่ไม่ได้มีบทบาทอื่นใดในการชุมนุมดังกล่าว

การเดินทางไปศึกษาต่อของทั้งสองคน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าร่วมการพิจารณาคดีในคดีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากศาลได้นัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2566 ซึ่งทั้ง 2 มีกำหนดกลับก่อนหน้านั้น 

X