3 ปี “สยาม” สูญหาย: วังวนฝันร้ายของแม่ผู้ไม่รู้ชะตากรรมลูกชายว่า เป็น-ตาย-ร้าย-ดี อย่างไร

3 วัน

3 สัปดาห์

3 เดือน

คุณเคยขาดการติดต่อกับครอบครัวนานแค่ไหนกัน

กับแม่ของสยาม ‘3 ปี’ แล้ว ที่ไม่รู้ชะตากรรมลูกชายตัวเองเลยว่า เป็น-ตาย-ร้าย-ดี อย่างไร .. 

“ไอซ์” – สยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” คือ นักกิจกรรม นักแสดงละคร และลูกชายของ “กัญญา ธีรวุฒิ” ถูกออกหมายจับข้อหา ม.112 เพราะร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อปี 2556 จนทำให้เขากลายเป็นผู้ลี้ภัยและถูกบังคับสูญหายในเวลาต่อมา

จนถึงวันนี้ 8 พ.ค. 2565 นับได้ว่าเป็นวันครบรอบ 3 ปีแล้วที่สยามได้หายตัวไปหลังถูกตำรวจเวียดนามจับกุม และมีรายงานว่าส่งตัวให้กับทางการไทย แม่และครอบครัวของสยามไม่เคยหยุดตามหาเขาแม้แต่วันเดียว ตั้งแต่วันแรกที่ทราบข่าว เธอมุ่งหน้าไปยัง ‘กองปราบปราม’ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับสยาม แต่ก็ถูกปฏิเสธการให้ข้อมูลที่แน่ชัด 

จากนั้นเธอทั้งออกตระเวนไปยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานทูต, กรมการกงสุล, กรมคุ้มครองสิทธิ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนถึง DSI ตลอด 3 ปีมานี้ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง  แต่ทว่าไม่เคยมีความคืบหน้าใดๆ เลยแม้แต่น้อย

3 ปี – ไร้เงา ไร้ความเคลื่อนไหว การตามตัวสยามยังคง ‘ไม่คืบหน้า’

3 ปี – ตำรวจไทยกลับคอยติดตาม คุกคาม ‘ตอกย้ำ’ บาดแผลในใจกับสมาชิกในครอบครัว

3 ปี – มีแต่คนพูดว่าให้เลิกตามหา เพราะป่านนี้สยามน่าจะ ‘ตาย’ ไปแล้ว 

3 ปี – คงมีแต่ ‘ความคิดถึง’ ของผู้เป็นแม่เท่านั้นที่นับวันยิ่งมากขึ้นสวนทางกับสิ่งข้างต้น ความคิดถึงที่นับวันยิ่งกัดกินหัวใจ 

นับปีที่ 1, 2, 3, … (n) ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ไม่มีทางรู้เลยว่า ‘วังวนฝันร้ายนี้จะจบลงเมื่อไร’ 

นับ 1

หลังนั่งมองฝนสาดกระเซ็นบนกระจกหน้ารถมาตลอดทางนานกว่าชั่วโมงเศษ ในที่สุดเราก็มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร แม้หมู่บ้านทาวน์เฮ้าส์แห่งนี้จะมีบ้านอยู่เกือบครึ่งร้อย มีตรอกซอยนับไม่ถ้วนเชื่อมผ่านถึงกันเหมือนเขาวงกตขนาดย่อม บ้านทุกหลังดูคล้ายกันไปหมด แต่กระนั้นเมื่อเราผ่านบ้านหลังหนึ่งก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือบ้านที่สยาม ‘เคย’ อยู่ เพราะรูปใบหน้าของหนุ่มผู้สูญหายปรากฏบนป้ายไวนิลประกาศตามหา สูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร อย่างน้อย 3 แผ่น ถูกติดเรียงรายอยู่บนผนังรั้วบ้านด้านซ้ายมือให้สะดุดตาแต่ไกล

แม้เมื่อเราก้าวเท้าเข้าไปในตัวบ้าน ตามชั้นทีวี ชั้นวางของ ตู้หนังสือก็ยังต่างมีป้าย ‘ตามหาสยาม’ หลายแผ่นหลายแบบวางอยู่ให้เห็น ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แผ่นพลาสติกสกรีนภาพ-ข้อความ ขนาดหนาประมาณครึ่งนิ้วเหล่านี้ถูกใช้ตามหาสยามครั้งแล้วครั้งเล่า และพวกมันก็คงจะถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใช้งานอีก หากยังไม่เจอตัวสยามในเร็ววันนี้

ระหว่างจัดแจงตั้งค่ากล้องวิดีโอเพื่อเตรียมบันทึกการสนทนากับแม่ของสยาม เราก้มๆ เงยๆ จนต้องเสยผมที่ยาวบังตาขึ้นไปหลายครั้ง จู่ๆ แม่กัญญาก็ทักขึ้นมาว่า “สยามเขามีเอกลักษณ์เหมือนหนูเลย หนูเสยผมขึ้นมามันจะเป็น ‘รูปหัวใจ’ ที่หน้าผาก แถมมี ‘ลักยิ้ม’ เหมือนกับหนูเลย แต่หูเขาจะใหญ่กว่าหน่อย แล้วหลังหูเขาจะมี ‘รอย’ เหมือนเคยเจาะหูมาด้วยนะ ทั้งสองข้างเลย ข้างละสองรู” 

“ชาติก่อนเขาเป็นผู้หญิงหรือไงก็ไม่รู้นะ พอมาเกิดเลยเป็นแบบนี้” กัญญาพูดติดตลกพร้อมอมยิ้มไป

แปลกดีเหมือนกัน – สยามมีรอยหลังหูคล้ายไปเจาะมาถึง 2 รูทั้งข้างในตำแหน่งเดียวเป๊ะ ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยไปเจาะหู หรือใส่ตุ้มหูมาก่อน น้อยคนที่จะรู้เรื่องนี้ รูปลักษณ์ของเขาที่หลายคนรู้และจำได้ก็คือ หนุ่มสวมแว่นสายตากรอบหนาสีดำ มีน้ำเสียงที่หลายคนบอกว่าดูสุขุม เรียบๆ โทนเดียว  

ภาพ สยาม ธีรวุฒิ จาก ประชาไท

“หนูเรียนจบอะไรมาเหรอลูก” แม่ชวนคุยต่อทันที  

สื่อสารมวลชนครับ, แล้วสยามเรียนจบอะไรนะครับ 

“รัฐศาสตร์ ม.รามฯ”

เขาบอกไหมว่าเรียนจบแล้ว อยากจะทำงานอะไร อยากจะเป็นอะไร

“เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ (หัวเราะ) อยากเปลี่ยนให้ทุกคนเท่ากันหมด เดินคุยกันรู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะ ต้องทำแบบนี้เท่านั้น”

“เขาพูดจริงๆ นะว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ” เธอพูดย้ำอีกครั้ง 

“เขาอยากเป็นบุคคลสำคัญที่พูดแล้วมีประโยชน์กับประเทศชาติ กับทุกคน กับหมาแมวหรืออะไรก็แล้วแต่ อยากเปลี่ยนแปลงประเทศให้มันดูดีขึ้น ให้มันเข้าสังคมทั่วโลกได้ ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่นี้ กระจุกความรวย แต่กระจายความจน” 

“หนูว่าชื่อ ‘สยาม’ เป็นยังไง” แม่ชวนคุยอีก 

“ไอซ์เคยพูดกับแม่ว่า ‘ทำไมแม่ถึงตั้งชื่อผมว่าสยาม’ แม่ตอบเขาไปสั้นๆ ว่าก็พ่อชื่อ ‘เสถียร’ แม่ชื่อ ‘กัญญา’ ลูกชื่อ ‘สยาม’ มันก็ลงตัวดีไหมล่ะ หนูมีปัญหาอะไร” 

“เขาบอกว่าผมไม่ชอบชื่อนี้ (หัวเราะ) บอกว่าเพื่อนล้อ ผมรำคาญ ล้อว่า ‘สยามมานุสติ’ อะไรของเขาเนี่ย” 

“แม่มารู้ทีหลังว่า ‘สยาม’ เป็นชื่อเก่าของประเทศเรา แม่ก็ไม่เคยรู้นะ เพราะตอนเขาเกิด ตอนนั้น ปี 2528 ยังไม่มีอัลตร้าซาวด์ตรวจเพศเลย เวลาใกล้จะคลอดหมอก็จะบอกให้ตั้งชื่อลูกมาสองชื่อนะ ผู้หญิงชื่อหนึ่งผู้ชายชื่อหนึ่ง แม่กับพ่อเลยต้องตั้งชื่อไปเผื่อเลือกแบบเร็วๆ ไม่มีเวลามาตั้งชื่อตามตำรามงคลอะไรหรอก” 

ถ้าไม่ใช่สยาม เขาอยากให้คุณแม่ตั้งชื่อว่าอะไร

“ไม่ได้คิดเลย เพราะชื่อนี้ก็เป็นมงคลกับเขาอยู่แล้ว เขาเป็นเด็กดี พูดจาเรียบร้อย ถึงจะทำผิดก็ยังพูดคำว่า ‘ครับผม’ หรือ ‘ขอโทษครับ’ คือคำติดปากเขาเลย มันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเขา แม่เชื่อว่าถ้าเขาจะอยู่รอดได้ก็เพราะคำพูดดีๆ ของเขานี่แหละ ไม่ใช่เพราะชื่อหรอก”  

“หรือว่าเป็นเพราะชื่อเขาถึงได้หายไป” เธอพูดติดตลกแล้วหัวเราะกลบเกลื่อนยกใหญ่

“ไม่จริงหรอก ชื่อสยามเยอะแยะไปหมด” 

นับ 2 

สยามเริ่มต้นเส้นทางนักกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ ปี 2552 จากความสนใจเรื่องการเมืองจนถูกชักชวนเข้าร่วมกลุ่มประกายไฟ หลังจากนั้นเขาได้เคลื่อนไหวหลายต่อหลายครั้ง เช่น การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง เมื่อปี 2553, รณรงค์เรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงาน, คัดค้านความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นต้น จนกระทั่ง เมื่อปี 2556 สยามได้ร่วมเล่นละครล้อเลียนการเมืองเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อเกิดการรัฐประหาร ปี 2557 จากการเล่นละครครั้งนั้นทำให้สยามและเพื่อนถูกออกหมายจับในข้อหา ม.112 

ภาพการร่วมละครของสยามกับกลุ่มประกายไฟ

สยามโดนตั้งข้อหา 112 เพียงเพราะเล่นละครเวที

“ตอนนั้นแม่รู้สึกตกใจว่า โห! แค่เล่นละครมันถึงขั้นนี้เลยเหรอ แม่ก็ถามเขาว่า ‘ยอมติดคุกไหมล่ะ’ เขาบอกว่า ‘ไม่… ผมไม่ยอมติดคุก’ เพราะว่าการติดคุกมันเหมือนเข้า ‘แดนประหาร’ เขาว่าอย่างนี้ คนดีๆ เข้าไปอยู่ก็ ‘ติดเชื้อในกระแสเลือด’ เขาก็กลัว เขาขอไปตายเอาดาบหน้า กินเผือกกินมันอะไรก็กินได้”

วันสุดท้ายที่เจอกัน ก่อนสยามจะลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“เขาบอกแม่ว่าจะไปซ้อมละคร แต่ถ้าผมไปหลายวัน เดี๋ยวผมจะโทรกลับมานะ แม่ก็รอ… แต่มันหลายวันจัดละ ปกติแม่ก็จะมองหน้าต่าง คอยดูว่าสยามจะกลับมาตอนไหน จะได้ลงมาเปิดประตูให้เขา ก็ไม่เห็นหรอกค่ะ เงียบไปเลย เงียบ…” 

หลังถูกออกหมายจับ สยามที่ขณะนั้นอายุ 29 ปี ตัดสินใจลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางธรรมชาติ ขณะ 2 นักแสดงที่ร่วมเล่นละครเจ้าสาวหมาป่ากับสยาม คือ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกจับกุมและต้องติดคุกอยู่นาน 2 ปีเต็ม  

“ข้อกฎหมายที่เขาถูกออกหมายจับเนี่ย มันเกิดด้วยอารมณ์ของใคร ดูละครเรื่องนี้มันบาดใจมากถึงจะต้องมีโทษติดคุก 15 ปีเลย คนที่โกงกินบ้านเมืองมันยังมีโทษไม่เทียบเท่านี้เลยนะ บางคนกลายเป็นว่าไม่มีความผิดด้วยซ้ำ แต่ของสยามเหมือนความผิดของเขายิ่งใหญ่มากเลย…” 

ครอบครัวของสยามทำกิจการเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยมีพ่อเป็นหัวเรือใหญ่และมีสยามเป็นลูกมือคอยช่วยหยิบจับ ติดสอยห้อยตามพ่อไปทุกครั้งที่มีงาน 

แม้เมื่อสยามเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาก็ยังคงทำงานช่วยที่บ้านอย่างแข็งขัน เพราะนอกจากค่าเล่าเรียน ค่ากิน ค่าอยู่ ครอบครัวยังมีภาระรายเดือนก้อนโตกับการต้องผ่อนจ่ายค่าบ้านและรถยนต์

“เขาช่วยทำงานทุกอย่าง…เขาทำได้หมดทุกอย่าง เขาเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เหนื่อยก็ไม่บ่นนะ ท้อก็ไม่ถอย” 

สยามไม่อยู่ช่วยแล้ว งานของพ่อหนักขึ้นไหม

“ใช่ หนักขึ้น แกก็ท้อไง แกเป็น ‘เบาหวาน’ อยู่แล้วด้วย แต่จะทำไงได้ล่ะ ก็ต้องทนเอา จ้างคนงานมันก็ไม่เหมือนลูกเรานะ มันเป็นสถานการณ์จำเป็นที่ต้องจำใจยอม”

“ถ้าแม่ยังมีเขาอยู่ แม่ก็คงไม่เดือดร้อนมากมาย เพราะมีคนช่วย ลูกโตก็จะได้ช่วยเราทำงาน แต่เปล่า, ลูกโตจะต้องหนีตำรวจไปไหนต่อไหน จนเราไม่รู้เลยว่าเป็นตายร้ายดียังไง”

นับ 3 

หลังสยามลี้ภัยไปยังประเทศลาวในปี 2557 เขายังคงเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งในปี 2561 รายชื่อของสยามไปปรากฏอยู่ในรายงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในฐานะเป็นแกนนำในการจัดตั้งและเผยแพร่อุดมการณ์ทางความคิดเรื่อง “สหพันธรัฐไท” ผ่านสื่อออนไลน์ ประกอบกับในขณะนั้นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน 3 รายได้หายตัวไป ก่อนถูกพบเป็นศพ 2 ราย ทำให้ช่วงนั้น สยามและนักกิจกรรมคนอื่นๆ หวาดหวั่นและเคลื่อนไหวน้อยลง จนเงียบหายไปในที่สุด

กระทั่งเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2562 เพียงดิน รักไทย หรือเสน่ห์ ถิ่นแสน ประธานภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งข่าวว่าสยามพร้อมกับนักเคลื่อนไหวอีก 2 ราย ได้แก่ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ถูกตำรวจเวียดนามจับกุมและได้ส่งตัวให้กับทางการไทยตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2562 แล้ว

8 พฤษภาคม ครบรอบ 3 ปีแล้วที่สยามถูกบังคับสูญหาย

“ใช่ วันที่ 8 พฤษภาคมนี้ 3 ปีแล้ว ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลยสำหรับ ‘มนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง’”

“มันไม่คืบหน้าเลย แม่ก็อยากกลับไปถามที่กองปราบ (กองบังคับการปราบปราม) อีก ถึงไปแล้วเราจะได้คำตอบแบบเดิม แต่เขาก็จะได้รู้ว่า ‘แม่ยังตามหาอยู่นะ’ แล้วพวกเธอทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่ช่วยกันบ้างเลย 

“ตั้งแต่ปี 2562 นี่ปี 2565 แล้ว ยังไม่ได้เรื่องอะไรเลย เขาไม่ได้สนใจเรา เพราะเราไม่ได้เป็นคนสำคัญสำหรับเขา” 

“แต่คนสำคัญของเราหายไง ‘สยามเป็นลูกรักของแม่’” 

หลังแม่และครอบครัวของสยามทราบข่าวว่า สยามและพวกถูกจับกุมและส่งตัวมาถึงประเทศไทย ในวันที่ 9 พ.ค. 2562 แม่สยามได้เดินทางไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม ในฐานะต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับสยาม แต่ตำรวจก็ปฏิเสธรับแจ้งความครั้งนั้น วันต่อมาแม่สยามเดินทางไปกองปราบอีกครั้งเพื่อยื่นหนังสือสอบถามถึงการหายตัวไปของลูกชาย แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด โดยทั้งตำรวจและทหารก็ต่างปฏิเสธว่าไม่ได้ควบคุมตัวสยามและพวกไว้ 

“คิดถึง… คิดถึงแต่ก็ไม่มีใครช่วยเราได้”

“ลูกเราหายไปทั้งคน แต่เหมือนคนอื่นมาสนใจเรื่องนี้ก็แค่เพราะอยากได้รางวัลให้ตัวเองมากกว่า อย่างตำรวจเนี่ยมาตามหาทุกเดือนๆ มาขอถ่ายรูป คือเอาไปทำอะไร เอาไปให้นายดูว่าผมมาที่นี่แล้ว – อันนี้ไม่ว่าหรอก, แต่แทนที่จะช่วยกันตามหา ไม่มี”  

“เมื่อเดือนที่แล้วก็มา ไม่ช่วยหาแล้วยังมาตามให้เรากังวลอีก เราอยู่ของเราไปก็พอจะทำใจได้บ้างแล้ว ไม่ค่อยคิดถึงลูกแล้ว เลือนๆ ไปแล้วนะ แต่ตำรวจก็มาสะกิดต่อมอีก มาถามว่าสยามอยู่ไหมครับ เราก็กลับมาร้องไห้ทุกวันอีก” 

ภาพถ่ายตำรวจจาก สภ.กระทุ่มแบน เดินทางมาตามหาตัวสยามถึงบ้าน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565

ช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา คือครั้งล่าสุดที่ตำรวจมาตามหาตัวสยามถึงบ้าน ทั้งๆ เขาหายตัวไปจะครบ 3 ปีอยู่แล้ว โดยตำรวจยังได้ถามว่า ‘สยามหายตัวไปตั้งแต่เมื่อไหร่’ อีกด้วย การมาของตำรวจและถามด้วยคำถามเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำแผลในใจของแม่สยามให้ยิ่งเจ็บปวดไปอีก เธอต้องจำใจอธิบายให้คนที่มองว่าลูกชายตัวเองเป็นศัตรูฟังครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอด 3 ปี ตำรวจแวะเวียนมาไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะช่วง 2 ปีแรก ครอบครัวสยามถูกติดตามสอดส่องอยู่แทบทุกเดือน และจากนั้นตำรวจจะมาอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะในวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของสยาม และวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งวันครบรอบการหายตัวไปของเขา

“เขาทำเพื่ออะไร แม่ไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือ ‘ลูกแม่หายจริง’ ไม่ได้หายปลอมนะ ทำไมถึงคิดว่าแม่จะเอามาซ่อนไว้ในบ้าน เมื่อเดือนที่แล้วที่ตำรวจมาที่บ้าน แม่พูดเลยว่าถ้ามีหมายค้นมาด้วย แม่จะให้ค้นเลย จะได้จบๆ ไป ไม่ต้องมาเทียวไล้เทียวขื่อกับเราอีก ทุกครั้งที่เจอก็จะถามว่า ‘ขอพบสยามหน่อย’ ในเมื่อคุณก็รู้อยู่เต็มอกว่าเขาไม่ได้อยู่ที่บ้าน คุณจะถามไปเพื่ออะไร” 

นับ (n)

เคยต้องห่างกับลูกชายนานขนาดนี้ไหม

“ไม่เคยเลย ตั้งแต่เล็กจนโต ไม่เคยเลย…” 

ไม่ได้เจอเขาเลย 3 ปีแล้ว

“คิดถึง คิดถึงมาก…” 

“คิดถึงทุกวันนะ…คิดถึง นั่งร้องไห้คนเดียว” ถึงตอนนี้เสียงของเธอสั่นเครือและค่อยๆ เบาลงทุกที พร้อมกับมีน้ำตาไหลพรากออกมา

“แต่ก็คิดว่าถ้าเราทำแบบนั้นบ่อยๆ เดี๋ยวเกิดเป็นโรคซึมเศร้า แล้วใครจะอยู่รอลูก”

“เวลาคิดถึงเขาแม่ก็จะเปิดเพลง ‘จ้า’ ฟัง…หาเพลงฟัง ได้ยินเสียงของเขาสดๆ มันก็จะบรรเทาไปบ้าง” 

“จ้า” คือ บทเพลงของวงไฟเย็น ขับร้องโดยสยาม หนึ่งในความทรงจำมีชีวิตไม่กี่ชิ้นทำหน้าที่ปลอบประโลมจิตใจแม่สยามเพื่อบรรเทาความคิดถึงลูกชายให้สงบลง เนื้อหาของเพลงเสียดสีถึงกรณีแม่ของ “จ่านิว” – สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกดำเนินคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่าพิมพ์ตอบแชทเฟซบุ๊กด้วยคำว่า ‘จ้า’ กับคู่สนทนาซึ่งพิมพ์ข้อความมีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 

“ทน…ทนอีกไม่นานคงได้เจอ”  

ต้องเข้มแข็งนะครับ, เราพูดพร้อมกับเอื้อมเอาม้วนกระดาษให้เธอซับหน้าตา

“ใช่ ถ้าหนูมีลูก หนูก็จะรู้ …” (เสียงสั่น) 

“บางครั้งมันก็หมดความเข้มแข็ง หมดความอดทน มันแยกความคิดลำบากลูก ถ้าหนูมาเจอแบบแม่ เหมือนชีวิตเราไม่มีความสุขเลย” แม่สยามพูดพลางร้องไห้สลับสะอื้นเบาๆ 

“มีแต่ความทุกข์…”

“แล้วบางคนก็มาพูดให้แม่จิตตก บางคนก็บอกโยนลงไปในบ่อจระเข้แล้วนะ จะมาตามหาทำไม เราก็ตกใจนะ แล้วก็ถามว่าเห็นกับตาหรือเปล่าล่ะ เขาก็ตอบไม่ได้”

“บางคนก็บอกว่าจะตามหาไปทำไม ป่านนี้เขาฆ่าเขาแกงไปแล้ว บางคนก็พูดน่ากลัวนะ บอกว่าเขายิงแล้วก็เอารูปที่ยิงส่งให้นายดู ว่าตายแล้วนะ ฆ่าแล้วนะ ถ้าเป็นหนูจะคิดยังไงล่ะ” 

“เราตามหาอยู่ จิตตกอยู่แล้ว เรามีความหวัง แต่ก็มาพูดให้เราไม่ต้องหวังแล้ว” 

“ถ้าตายแล้วก็เอาหลักฐานมาสิ กระดูก เส้นผมหรืออะไรที่เกี่ยวกับร่างกายของเขาก็เอามา เอามาแสดงว่าตายแล้วเราจะได้ไม่อยากตาม เพราะที่ตามอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย” 

เหนื่อยไหมที่ต้องตามหาทั้งๆ ที่เราก็มืดแปดด้าน

“เหนื่อย, แต่ก็ต้องทำไงลูก เหนื่อยก็อย่าท้อ เพราะท้อมันก็เหมือนกับถอย ไม่ถอย ไม่ท้อ จะรอดูไปเรื่อยๆ ว่ามันจะเป็นยังไง”

สมมติว่าถ้าพรุ่งนี้สยามกลับมาหาแม่ 

“แม่คงวิ่งเข้าไปกอดเขา แล้วก็คงทำอาหารที่เขาชอบให้กิน เขาชอบกินผัดพริกถั่ว น้ำพริกผักต้ม…”

“ก็คงดีใจ เราก็สร้างจินตนาการให้ตัวเองอย่างที่หนูพูดนั่นแหละ ว่าเขากลับบ้านมาแล้วเราจะทำกับข้าวอย่างนู้นอย่างนี้ให้เขากิน เขาชอบกินเอ็มเค ก็จะพาไปเลี้ยงกัน หรือถ้าเบื่อแล้ว อยากจะกินอะไรแม่ก็จะพาไป ขอแค่ให้หนูได้กลับมา…”

“ตราบใดที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ แม่ก็ต้องตั้งความหวังเอาไว้ ‘แม่จะต้องเจอลูกแม่’” 

ทั้งนี้ “ลุงสนามหลวง” และ “สหายยังบลัด” สองนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สูญหายไปพร้อมกับสยาม จนถึงขณะนี้ก็ยังคงไม่ทราบชะตากรรมและไม่มีความคืบหน้าในการติดตามตัวเช่นเดียวกัน

5 ปี ภายใต้ยุค คสช. นับตั้งแต่การรัฐประหาร ปี 2557 ทำให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยกระจายตัวอยู่ทั่วมุมโลกอย่างน้อย 104 ราย ในจำนวนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ 9 ราย กลายเป็นผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และในจำนวนนี้ 2 ราย ต่อมาถูกพบว่าเสียชีวิตแล้ว ได้แก่ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง)  

X