‘แซม สาแมท’ ภูมิหลังของชีวิตและความคิดถึงสัญชาติ    

“เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิด ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลัก และได้รับการบันทึกชื่อเข้าในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ โดยไม่เลือกปฏิบัติ”

พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรคสอง 

.

แม้ว่าสังคมไทยจะยอมรับการพิสูจน์สิทธิให้แก่บุคคลไร้สัญชาติมาเกือบ 5 ทศวรรษแล้ว ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามข้อ 15 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี 1948 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ปี 1966 รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ปี 1989 จนปรากฏเป็นกฎหมายอีกหลายฉบับของไทยที่รับรองสิทธินี้ แต่ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติยังมีอีกเด็กนับหมื่นชีวิตต้องอยู่อย่างไร้สถานะบุคคล และดำรงตนบนเส้นด้ายของสังคมไทยอันเปราะบาง  

กรณีนี้รวมไปถึงชีวิตของ “แซม สาแมท” นักกิจกรรมวัย 20 ปี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ แซมเป็นที่รู้จักกันในฐานะนักเคลื่อนไหวที่พูดจาฉะฉาน แววตามุ่งมั่น และปรากฏตัวอย่างต่อเนื่องระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564-2565 

อีกด้าน แซมต้องดำรงชีวิตในไทยในฐานะบุคคลไร้สัญชาติ แม้เขาจะเกิดและอาศัยบนผืนดินนี้มากว่า 20 ปี แล้วก็ตาม กรณีเล็กๆ ถัดจากนี้ เป็นบันทึกจากการติดตามสังเกตการณ์ภารกิจพิสูจน์สัญชาติ และข้อเท็จจริงในวัยเยาว์ของแซม ซึ่งเผยให้เห็นบางแง่มุมของบุคคลไร้สถานะผู้หนึ่ง อันอาจจะจุดประกายให้สิทธิที่ควรจะได้รับการรับรองเป็นบุคคลตามกฎหมายได้รับการตระหนักยิ่งขึ้น และเกิดผลในทางปฏิบัติในสังคมไทย

การติดตามและแสวงหาข้อเท็จจริงครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

.

ภาพแซมปีนต้นไม้ในวัยเด็ก

.

ชีวิตวัยรุ่นตัดอ้อย-เผาถ่าน

ชีวิตของบุคคลไร้สัญชาติไม่ง่ายตั้งแต่แรกเกิด เรื่องนี้คงทราบกันดี เช่นเดียวกับแซม เพราะเท่าที่เขาเริ่มจำความได้ เมื่ออายุได้ประมาณ 4 ขวบ ก็พักอาศัยในห้องเล็กๆ ของโรงงานแห่งหนึ่งที่สมุทรปราการ พร้อมกับแม่และพี่สาวต่างพ่อที่ทำงานในโรงงานนั้นด้วยกัน  

“จริงๆ มันไม่ใช่ห้องนอนหรอก เพราะมันคือห้องน้ำในโรงงาน แต่แม่กับพี่สาวรีโนเวทให้มันเป็นห้องนอน ฉะนั้นเวลานอนก็จะมีกลิ่นแรงมาก อยู่กัน 3-4 คนได้นะ แต่ก็อยู่กันจนชิน จำได้ว่าตอนนั้นก็จะมีลูกของพี่สาวซึ่งน้องเด็กมากๆ หนูก็จะชงนมเปลี่ยนผ้าอ้อมให้น้องเป็นแล้ว” แซมเล่าถึงวันที่จำความได้   

จนเมื่อแซมมีอายุ 7-8 ขวบ แม่จึงกระเตงแซมย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว เป็นหมู่บ้านที่มีคนอยู่ 200 หลังคาเรือน ห่างจากเส้นเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ราว 50 กิโลเมตร พื้นที่ของหมู่บ้านกว่าร้อยละ 70 คือเขตป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกพืช อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ ไว้สำหรับจำหน่าย และปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน 

เมื่อทนายความและนักวิชาการเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านที่แซมเติบโต ช่วงเวลานี้แซมเริ่มทบทวนภาพจำผ่านจากวัยเยาว์สู่วัยรุ่น โดยเล่าว่าตั้งแต่เริ่มโต ก็ไม่รู้จักคำว่า “เพื่อน” ในแบบที่คนอื่นเข้าใจ ขณะที่แม่ก็ทำงานรับจ้างรายวัน โดยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างตัดอ้อย ขนมันสำปะหลัง หน้าที่ส่วนใหญ่ของแซมจึงเป็นงานบ้านและทำงานรับจ้างกับแม่ในบางวัน  

แซมเล่าว่า “หนูกับแม่ทำหนักมากแทบจะไม่มีความเป็นคน ถามว่ารู้ได้ยังไง ก็เพราะเราทำกับเขาด้วย หนูทำกับแม่ 3 วันได้ 100 บาท ทั้งที่ทำงานเกือบจะเท่ากันหมด ซึ่งน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่ทุกๆ วัน ตื่นขึ้นมา หนูจะทำงานบ้าน ทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่กวาดบ้าน หุงข้าว ทำกับข้าว ซักผ้า รดน้ำผัก ตกปลา ใส่เบ็ด เผาถ่าน ฯลฯ เพื่อเตรียมไว้ให้พ่อเลี้ยงกับแม่” 

“ส่วนใหญ่ แม่ของหนูต้องออกไปทำงาน ก่อนจะออกไปทำงาน แม่ก็จะคอยสั่งว่าให้แซมทำงานบ้าน 1-2-3-4 บางวัน เราก็ต้องนั่งแกะมะขามเป็น 10 กิโลกรัม ให้เสร็จภายในวันเดียว” 

.

.

ไม่ได้ไปโรงเรียน แต่มีเพื่อนสนิทเป็นครู 

แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะรับรองสิทธิด้านการศึกษาอย่างสมบูรณ์ในระบบของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 และสิทธิการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ทำให้เด็กไร้สถานะได้รับสิทธินี้ตามกฎหมาย 

ข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีคนไร้สัญชาติที่ไม่ไร้รัฐ จำนวน 539,696 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่เป็นบุตรของชนกลุ่มน้อย 36,943 คน กลุ่ม (อดีต) เด็กและเด็กนักเรียนในสถานศึกษาและคนไร้รากเหง้าจำนวน 82,154 คน และเด็กเกิดใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด แต่ยังไม่สามารถกำหนด

สถานะในสัญชาติได้จำนวน 87,291 คน ทั้งนี้ ยังไม่รวมเด็กไร้รัฐซึ่งอยู่ในระบบโรงเรียนและได้รับการจัดสรรรหัสนักเรียนในระบบ G-Code ของกระทรวงศึกษาอีกกว่า 90,000 คน และกลุ่มบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติของประเทศต้นทางที่ไม่อาจทราบจำนวนได้

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของแซม ก็เช่นเดียวกับเด็กไร้สถานะอีกหลายหมื่นคน ที่เข้าไม่ถึงสิทธินี้ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในแง่ของค่าใช้จ่าย ความรู้ความเข้าใจของครอบครัว รวมถึงความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ ความยุ่งยากซับซ้อนของขั้นตอนทางราชการ เป็นต้น

ชีวิตของแซมคงพอจะฉายให้เห็นบางแง่มุมจากหลายหมื่นชีวิตข้างต้นได้ไม่มากก็น้อย ถึงอุปสรรคในเรื่องนี้ เมื่อแซมเล่าถึงสภาพครอบครัวที่เขาดำรงชีวิตอยู่ในบ้านของลุงคนหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ส่งผลต่อการศึกษาด้วย 

“ตอนแรก หนูไม่รู้ว่าลุงคนนี้เป็นพ่อเลี้ยง รู้แค่ว่าเขาเป็นลุงคนหนึ่งที่แม่แค่มาดูแลเขา จนหนูมารู้ทีหลังว่าเป็นพ่อเลี้ยง เพราะหนูรู้จากคนข้างบ้านว่าคนนี้คือพ่อเลี้ยง เอาเข้าจริงแม่ก็ไม่มีความสุขหรอก เพราะแม่ก็ไม่ถูกกับลูกเลี้ยงของพ่อเลี้ยง ก็ไม่ชอบแม่เท่าไหร่ และเคยตีกันด้วย” 

ขณะที่เพื่อนสนิทเพียงคนเดียวในหมู่บ้าน แต่หนึ่งคนก็มากพอที่จะดูแลความคิดจิตใจ รวมไปถึงรักษาชีวิตของแซมในช่วงเวลานี้ 

“ในหมู่บ้านน่าจะมีเพียง 1 คน คือ หนูไปเที่ยวกับเพื่อนไม่ได้ ถูกกีดกันจากทั้งแม่ พ่อเลี้ยง เขาจะให้เราทำงานตลอด แต่ที่สุดเราก็มีเพื่อนชื่อน็อต อายุเท่ากัน ตัวก็เท่ากัน ซึ่งเป็นลูกป้าที่เราสนิทกับครอบครัวนี้”

“หนูไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ น็อตซึ่งเป็นคนคล้ายๆ กับหนู ไม่เคยทิ้งหนู ก่อนจะไปโรงเรียนก็จะมาบอกหนูว่า ‘น็อตไปโรงเรียนก่อนนะ แล้วตอนเย็นมาเล่นกัน’ และยังสอนหนังสือหนูด้วย เวลาสอนก็เป็นเด็กสอนเด็ก เช่น ชี้ให้ดูต้นไม้ว่าต้นนี้คือต้นอะไร และให้เราลองเขียนตาม หรือไม่ก็เอาภาพมาให้ดูแล้วให้เราเขียนตาม” 

“เราก็จะเล่นกับเรียนแบบนี้ทุกวัน แต่ถึงยังไงน็อตกับหนูก็เล่นด้วยกันไม่ได้ตลอดนะ เพราะน็อตจะมีเวลาเล่นไม่จำกัด แต่หนูจะมีเวลาเล่นจำกัด ช่วงที่น็อตไม่อยู่จะเหงามาก ต้องรอจนถึงเย็นที่น็อตกลับมาถึงจะได้เล่นกัน” แซมเล่าถึงเพื่อนสนิทเพียงคนเดียว 

เหตุผลที่เวลาในการเล่นของแซมกับน็อตไม่เท่ากัน เนื่องมาจากแซมต้องทำงาน และเมื่ออยากเล่น ก็ต้องแอบไปเล่น เพราะถ้าแม่กลับบ้านมาไม่เจอแซมจะถูกตี ที่บ้านหลังนั้นไม่มีของเล่น และทีวีให้ดู และอันที่จริงการหนีเที่ยวก็ไม่สามารถแอบได้ตลอด ครั้งหนึ่งแซมหนีไปเที่ยวเขื่อนกับน็อต เพื่อหาหอย จนเมื่อกลับมาแม่ไม่เจอโดนตีหนัก แม่ใช้ไม้ยาวแหลมๆ  ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่แซมยอมให้แม่ตี 

“พอตีเราหนักเข้า ก็มาถึงเรื่องที่เราแอบน้อยใจมาตลอด คือการที่แม่โกหกว่าลุงที่อยู่ด้วยจริงๆ แล้วคือพ่อเลี้ยง เราก็ถามแม่ว่า โกหกเราทำไม ครั้งนั้นทำให้เรากินยาเพื่อฆ่าตัวตาย” แซมเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น

.

.

รอดชีวิต สู่ rising star งานขาย

โชคยังดีที่แซมไม่เสียชีวิตในวันนั้น ยังมีป้าที่พาไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาชีวิต จนเมื่อเขาหายดี แซมเลือกจะไม่กลับไปอยู่บ้านหลังนั้นแล้ว ในด้านหนึ่งผู้คนในชุมชนมักจดจำแซมในฐานะเด็กที่ร่าเริง มีความขยัน และไม่ดื้อรั้น 

ดังจะเห็นได้จากความเห็นของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้ใหญ่บ้านที่แซมไปอยู่นั้น ต่างจดจำแซมได้เป็นอย่างดี และแม้ว่าแซมจะเกิดมาในกลางทศวรรษ 2540 ที่สังคมไทยยอมรับเอาสิทธิของคนไร้สัญชาติจริง แต่ในแง่วัฒนธรรมอคติเหล่านี้ยังเกาะในสำนึกของแซม 

แซมทบทวนไปถึงความทรงจำต่อการถูกเลือกปฏิบัติ 

“แม่เราจะถูกคนอื่นบอกว่า เป็นคนต่างด้าว และเราก็คือลูกของคนต่างด้าว เพราะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เราก็คิดว่า ทักเราเป็นคนปกติไม่ได้เหรอ ต่อให้แม่เราเป็นคนเขมรก็ตาม เราก็ตั้งคำถามตลอดนะว่าเป็นเพราะอะไร เราถูกเรียกแบบนี้ตั้งแต่อยู่สมุทรปราการแล้ว ก็คิดในใจมาตลอดว่า เป็นคนเหมือนกันทำไมต้องเรียกเราแบบนี้ และอันที่จริงพ่อเราก็เป็นคนไทย เราเกิดที่ไทย ที่โรงพยาบาลบ่อไร่” 

“ตอนเด็กๆ ที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ นอกจากการไม่ได้ไปโรงเรียนแล้ว มีบางครั้งที่ได้ไปเล่นกับเพื่อนคนอื่นที่นอกจากน็อต เขาก็จะเรียกหนูว่า ‘ต่างด้าว’ ‘ลูกเขมร’ บอกว่านี่คือคนที่ผิดกฎหมายนะ ซึ่งเราคิดว่าไม่แฟร์กับเรา นี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่อยากไปเล่นกับเพื่อนกลุ่มนั้นอีก เพราะเหมือนกับเขาด้อยค่าเราตลอดเวลา แต่กับน็อตไม่เคยทำ” 

“แม้ว่าเราไม่เข้าใจความหมาย คิดแค่ว่าต่างด้าวคือต่างดาว มาจากนอกโลก เราก็จะเกลียดคำนี้มาก ต่อให้เรียกคนอื่นก็ตาม แม้ไม่เรียกเรา” 

ชีวิตในวัยเด็กของแซมแทบไม่มีสิ่งที่เรียกว่างานวันเกิด งานปีใหม่ หรืองานประจำปี แซมมักจะเพียรถามป้าว่า พ่อคือใคร พ่ออยู่ที่ไหน พาไปหาได้ไหม เพราะแม่เคยบอกว่าพาไปหาได้ แต่ก็ไม่เคยพาไป หรือแค่บอกว่าพ่ออยู่ที่ไหนก็ได้ แน่นอนว่าไม่เคยได้รับคำตอบจากแม่ ซึ่งการดำรงชีวิตยังยากลำบากอยู่ การออกตามหาญาติสักคนแทบจะเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป  

ทุกครั้งที่ขอให้แซมเล่าถึงสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานั้น แซมคิดว่าสิ่งที่สู้ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ คือความหวังจะได้พบพ่อ เพราะแซมมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ เรื่องที่ได้รับรู้มามีเพียงคำบอกเล่าจากป้าว่า พ่อคือคนที่ทำงานเป็นคนขับรถสิบล้อส่งไม้ และก็ตัดไม้อยู่ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด และแม่ก็ไปอยู่กับพ่อที่นั่น ซึ่งจุดแตกหักระหว่างแม่กับแซมมาจากเรื่องนี้ 

แซมเล่าว่า “พอมาทะเลาะกับแม่ เรื่องมารู้ว่าลุงเป็นพ่อเลี้ยง สัก 10-11 ขวบ ตอนนั้นที่มันมีหลายอย่างระเบิดออกมา ที่ถูกกดดันมาตลอดหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการเอาโทรศัพท์มือถือเราไปโยนทิ้ง เพราะปกติแซมทำงานมา ได้เงินแซมจะเป็นคนที่เก็บเงินเก่งมาก จำได้ว่าได้เงินมาครั้งหนึ่งก็เอาไปซื้อไอโฟน 5X เขาเอาไปโยนทิ้งลงน้ำ เราก็เลยกินยาฆ่าตัวตาย แต่บังเอิญส่งโรงพยาบาลทัน ถึงตอนนี้แซมออกมาจากโรงพยาบาลได้ก็เริ่มคิดเดินทางไปที่อื่นแล้ว”  

.

บ้านที่แซมเคยช่วยขายของ

.

จันทบุรีคือบ้านอีกหลัง ที่แซมออกเดินทางไปมาโดยเฉพาะในวัย 13-14 ขวบ 

“ช่วงเวลานี้ เรามาอยู่เขาไร่ยา จันทบุรี แล้ว แม่ก็พยายามมาตามเรากลับไปอยู่บ้าน และเราก็ไป-กลับหลายรอบ แต่ไม่กลับไปอยู่บ้านหลังนั้นอีกแล้ว” 

“ช่วงที่มาได้เรียนรู้การขาย คือช่วยป้าพิกุลขายของ ตื่นขึ้นมา 6 โมงครึ่ง เราจะใส่ชุดราตรี ซึ่งก็คือชุดนอน ในบ้านป้าที่อยู่จะมี 3 หลัง หลังแรกเป็นบ้านป้า หลังตรงกลางเป็นบ้านเก็บของที่เตรียมไว้ขาย และแซมพักหลังที่สาม ทุกๆ เช้า แซมจะตื่นขึ้นมาล้างหน้า แปรงฟัน และไปจัดของที่บ้านหลังกลาง เพื่อเตรียมของไปขาย”

“หน้าที่พิเศษของหนูคือ ล้างปลาอินทรีย์เค็ม ซึ่งหน้าที่ที่ไม่มีใครชอบเลยเพราะกลิ่นมันแรง และล้างยากมาก แต่หนูชอบทำ ค่อยๆ เอาออกมาจากถังปี๊บใหญ่ๆ ล้างเอาเกลือที่เกาะบนตัวปลาออกให้หมด เอามาช่างน้ำหนัก และแพ๊คแต่ละตัวอีกครั้ง จนมันสะอาดวันละ 40-50 ตัว ต่อวัน”

“เสร็จประมาณ 7-8 โมงกว่าๆ นอนสักแป๊บ ก็ออกไปช่วยป้าทำกับข้าว ตำน้ำพริก ทานข้าวเสร็จ นอนสักพักหนึ่ง ประมาณเที่ยงเราก็ออกเดินทางกันไปตามตลาดนัด ไปถึงเราจะเริ่มกางเต๊นท์ซึ่งใหญ่มาก ใหญ่ประมาณร้านกาแฟอเมซอน ตามปั๊มน้ำมันเลย กางกัน 4-5 คน แทบจะไม่ไหวเลย” แซมบรรยายถึงชีวิตงานขายของเขา 

ในช่วงเวลาที่อยู่กับป้า หน้าที่หลักของแซมคือ ชั่งน้ำหนักพริก กระเทียมแห้ง แล้วนำมาห่อเพื่อมัดเป็นถุง ก่อนจะเขียนราคาขายหน้าร้าน แซมเล่าว่าเขาจะปากจัดจ้านมาก เรียกลูกค้าเก่ง เพราะป้าจะสอนว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า แต่พระเจ้าก็โดนด่าได้เหมือนกัน ถ้าลูกค้าปากดีมาเราก็ดีกลับ ถ้าปากหมามาเราก็หิ้วหมามาให้เขาเลย”

บางครั้งแซมจะต้อนรับลูกค้าด้วยประโยคว่า “ซื้อไหมคะ ถ้าซื้อก็เดินเข้ามา ถ้าไม่ซื้อก็กลับบ้านเลยค่ะ รำคาญ มันแออัด” แต่ลูกค้าจะชอบมาก 

หรือบางครั้งลูกค้าจะถามว่า “พริกแห้งเผ็ดไหม” เราก็จะตอบไปว่า “ลองชิมดูสิคะว่าเผ็ดไหม” กะปิเค็มไหม ก็บอกว่าชิมดูสิคะ 

“แต่ลูกค้าเขาชอบคอนเทนท์การขายแบบนี้ของเรา อาจจะเพราะเราดูเหมือนไม่แคร์ลูกค้า แต่เราสนุก ช่วงที่อยู่ตลาดก็ชอบเดินทัวร์ไปเรื่อย”

ด้วยบุคลิกที่น่ารักและเป็นมิตรกับทุกคน การขายด้วยวิธีการเช่นนี้นอกจากไม่สร้างศัตรูแล้ว กลับยังเรียกลูกค้าได้อย่างประหลาดตามที่ป้าบอกเล่า 

ขณะเดียวกันสิ่งที่ป้าพิกุลมักสอนแซมเสมอคือ ให้มีวินัย รับผิดชอบ โดยเฉพาะเวลานับของขาย และให้สู้ชีวิต ป้าจะสอนให้ทำให้เต็มที่แล้วจะไม่ต้องเสียใจว่าเราไม่ได้ทำเต็มที่ เพราะเมื่อก่อนป้ากับลุงมีหอมและกระเทียมแค่สองถาด การนับของช้าๆ โดยไม่รีบ มีความสำคัญ จนป้ากับลุงขยายกิจการออกไป 

ถึงตรงนี้จุดที่หล่อหลอมแซมจึงเป็นงานขายที่ติดตัวจนเปิดโอกาสให้กับแซม เมื่อแซมเลือกเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ 

.

.

วงการแฟชั่นกับความฝันอันสูงสุดคือเจอพ่อ

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุไว้ว่า “เด็กไร้สัญชาติ” หมายถึง เด็กที่ไม่มีสัญชาติเลย (ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไทยหรือสัญชาติใดๆ) แต่อาจได้รับการระบุตัวตนทางกฎหมายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ได้รับการจดทะเบียนการเกิด ได้ขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลไร้สัญชาติในรูปแบบต่างๆ 

ขณะที่ “เด็กไร้รัฐ” หมายถึง เด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตัวตนของรัฐใดเลย ซึ่งหมายความว่า พวกเขาก็คือเด็กไร้สัญชาติที่ไร้เอกสารใดๆ และมักถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

หากพิจารณาตามนิยาม ชีวิตของแซมดูเหมือนจะอยู่ในขอบเขตนิยามข้างต้น อย่างไรก็ตามการพิสูจน์สิทธิเหล่านี้มิสามารถทำผ่านครอบครัว หน่วยงานราชการ หรือตัวบุคคลไร้สัญชาติเอง ทั้งจากเงื่อนไขของชีวิตและกลไกราชการ 

แต่ชีวิตของแซมก็พัดพาเขามาสู่โอกาสที่สำคัญ ด้วยความที่ชอบการเดินแฟชั่น แซมเลือกเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ จากลาป้าพิกุล แต่ยังคงติดต่อกันอยู่หากมีโอกาส การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการพยายามฆ่าตัวตายของแซม 

“พอตีเราหนักเข้า ก็มาถึงเรื่องที่เราแอบน้อยใจมาตลอด คือการที่แม่โกหกว่าลุงที่อยู่ด้วยจริงๆ แล้วคือพ่อเลี้ยง เราก็ถามแม่ว่า โกหกเราทำไม ครั้งนั้นทำให้เรากินยาเพื่อฆ่าตัวตาย” แซมเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น และการเข้ากรุงเทพครั้งนี้ทำให้แซมขาดการติดต่อการแม่ 

“มารู้จักการเดินแฟชั่นจริงๆ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ตอนอายุ 15-16 เพราะเพื่อนชวนมาอยู่ที่ซอยเสือใหญ่ หลังจันทร์เกษม เพราะพี่เขาอยู่ในวงการนางงาม เรารู้จักกันเพราะอยู่แวดวงกระเทยด้วยกัน พี่ก็จะมีน้องๆ ที่อยู่รายการนางแบบ เราก็คิดว่าชีวิตต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเลยตัดสินใจมาอยู่กับเขา”

คนที่แซมมาอยู่ด้วยคือพี่คนหนึ่ง ซึ่งจะคอยสอนให้แซมมีทักษะใหม่ เช่น ทำผม ทำเล็บ รวมถึงการเดินแฟชั่น ต่อมาแซมยังสามารถสอนเด็กให้เดินแบบได้ด้วย 

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเวลาไปชุมนุมแซมจะใส่ส้นสูงเป็น 10 เซนติเมตร เดินในที่ชุมนุมเลย เรารู้ว่าเราเป็นกระเทยตั้งแต่เด็ก บางครั้งแม่จะบอกว่าเธอเป็นผู้ชายนะ อย่าไปเป็นกระเทย”

“หนูจะเดินไปทักคนที่บุคลิกดีๆ มาเดินแบบ เดินสายประกวดนางงาม หน้าที่ของหนูจะเป็นการจัดของและสอนให้เดินแบบ แบบทำยังไงให้เดินอย่างมีจริต ทุกๆ เย็น จะเข้าไปในมหาลัย ให้เด็กเดินขึ้นลงๆ บันไดอาคาร” 

นั่นคือความฝันล่าสุด ก่อนที่แซมจะเข้าสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มตัวร่วมกับคณะราษฎร และเป็นจุดเริ่มต้นในการพิสูจน์สิทธิของบุคคลไร้สัญชาติ หลังจากแซมต้องถูกประดาข้อหาที่เจ้าหน้าที่ใช้ปราบปรามเขาและเพื่อน พร้อมกับข้อหาจากการชุมนุมต่างๆ เขายังถูกดำเนินคดีในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายซ้ำถึงสองครั้ง เป็นคดีของ สน.ดินแดง และ สน.ทุ่งสองห้อง

สำหรับจุดที่ตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุม แซมบอกเราสั้นๆ ว่า เพราะคำๆ นี้คำเดียว “เราทุกคนเป็นแกนนำ”  

ขณะนี้แซมอยู่ขั้นตอนของการยื่นคำขอรับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัว “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ซึ่งจะได้รับการกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักเป็นบุคคลประเภท 0 กลุ่ม 00 (หมายเลขประจำตัวที่ได้รับการกำหนด คือ 0-XXXX-00XXX-XX-X) ซึ่งเป็นไปตามสิทธิการดำเนินการพิสูจน์สถานะทางกฎหมายไม่ว่าในทางใดๆ หากปรากฏอย่างชัดเจนว่ามีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีสิทธิที่จะได้รับเอกสารแสดงตน 

.

.

ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลของแซม สาแมท หรือ “อาร์ท” ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตน (Undocumented person) และไร้สัญชาติ (Undocumented Stateless person) โดย ผศ.ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, ผศ.กิติวรญา รัตนมณี และพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ ได้สอบข้อเท็จจริงแซม บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลงพื้นที่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว 

ได้ความในเบื้องต้นที่น่าเชื่อได้ว่า แซมเป็นผู้ทรงสิทธิที่จะได้รับการบันทึกชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนราษฎร ตามมาตรา 38 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 มีข้อเท็จจริงครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ 

ประการแรก เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ กล่าวคือ แซมไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดา เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิสูจน์

ประการที่สอง เป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งในราชอาณาจักรเป็นประจำ ซึ่งจากข้อเท็จจริงและพยานเท่าที่พอจะรวบรวมได้ในเบื้องต้น พบว่า แซมปรากฏตัวและอาศัยอยู่ในประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 12 ปี อันหมายถึงการมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 

ประการที่สาม ไม่มีเอกสารราชการของประเทศใดที่แสดงว่าเป็นคนชาติหรือราษฎรของประเทศใด กล่าวคือแม้ในความทรงจำแซม มารดาเป็นคนกัมพูชา แต่แซมไม่เคยได้รับการรับรองความเป็นบุคคลสัญชาติกัมพูชา และไม่สามารถติดต่อกับมารดามาเป็นเวลานานแล้ว

.

อ่านเรื่องราวของแซมเพิ่มเติม

แซม สาแมท นักกิจกรรมไร้รัฐ/สัญชาติ ยื่นขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร ยันรัฐไทยมีพันธกิจต้องช่วยเหลือตามหลัก กม. ทั้งในและระหว่างประเทศ

‘แซม สาแมท’: 96 วันของนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้  กับวีรกรรมล้านแปดของกะเทยในเรือนจำ

เปิดเรื่องราวผู้ต้องขัง #ม็อบ28กุมภา “แซม สาแมท” คนไร้สัญชาติที่ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม

.

X