นัดสอบคำให้การ #ม็อบ15ตุลา63 สามเยาวชนยืนยันสู้คดี แม้ต้องเผชิญภาระอย่างหนักนานนับปี

1 ก.พ. 2565 – ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดหมายสอบคำให้การในคดีของนักกิจกรรมเยาวชน 3 ราย ได้แก่  “มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, “พลอย” เบญจมาภรณ์ นิวาส, และ “ภูมิ” (สงวนชื่อและนามสกุล) ในคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 เพียง 1 วัน หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม #ราษฎร63 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

คดีนี้เป็นคดีแรกของนักกิจกรรมเยาวชนในปี 2563 ที่อัยการพิจารณาแล้วมีคำสั่งฟ้อง โดยที่ก่อนหน้านี้ ทั้ง 3 ราย ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการให้ไม่ฟ้องคดี มีการอ้างถึงหลักการและกติกาสากลเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน อย่างไรก็ตาม อัยการก็ได้มีคำสั่งฟ้องต่อมาในวันที่ 28 ม.ค. 2564 แต่คดีเลื่อนออกมาในช่วงโควิด

>>> 3 แกนนำนักเรียนยื่นหนังสือขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ชี้ละเมิดกติกาสากล-อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

>>> สั่งฟ้องคดี 3 แกนนำนร. เยาวชนชี้อัยการไม่ได้พิจารณาประเด็นขอความเป็นธรรมที่ร้องไป

ที่บัลลังก์ 8 ของศาลเยาวชนฯ นักกิจกรรมทั้ง 3 เดินทางเข้าร่วมกระบวนการพร้อมกับผู้ปกครอง ศาลได้อ่านคำฟ้องอย่างย่อให้จำเลยฟัง ทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธข้อหา 

จากนั้น ศาลระบุว่า ทางสถานพินิจได้ส่งหนังสือรายงานแสดงข้อเท็จจริงเยาวชนมาประกอบการอ่านฟ้องด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าวถูกจัดพิมพ์ขึ้นโดยกลุ่มสหวิชาชีพที่มีส่วนร่วมในกระบวนการของศาลเยาวชนฯ เช่น นักจิตวิทยา, นักสังคมสงเคราะห์ และอื่นๆ ซึ่งได้ทำการสืบเสาะภูมิหลังและประวัติของเยาวชนจากตัวเยาวชนเองและผู้ปกครอง ศาลได้ให้ทั้ง 3 ตรวจสอบข้อมูลในเอกสาร หากพบจุดที่ข้อมูลคลาดเคลื่อน ขอให้ทางที่ปรึกษากฎหมายทำเรื่องแจ้งเข้ามาภายในระยะเวลา 30 วัน

หลังจากตรวจสอบข้อมูล ศาลกำหนดนัดหมายตรวจพยานหลักฐานต่อไปเป็นวันที่ 26 เม.ย. 2565 เวลา 8.30 น. 

ผลกระทบจากการถูกดำเนินจากเหตุร่วมชุมนุมโดยสงบ

ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่า จนถึงนัดสอบคำให้การของศาลนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาระทางคดี การต้องมาตามนัดหมายในกระบวนการต่างๆ หลายครั้ง ไปจนถึงการต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ใช่เรื่องที่สามารถรับมือได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำเลยยังเป็นเยาวชน พวกเขาต้องสูญเสียโอกาสในการเรียน ภาระเรื่องค่าเดินทาง ก่อเกิดเป็นภาระทางใจ จนบางกรณีกลายเป็นความป่วยไข้ ไล่ลามไปจนกลายเป็นปัญหาต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

นี่คือราคาที่ทั้ง 3 ต้องจ่ายในการก้าวออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง ในวันที่เสียงของเยาวชนอีกมากในประเทศยังถูกกดทับด้วยโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม

ภูมิเริ่มต้นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมตั้งแต่ช่วงปี 2562 ในประเด็นหลักคือเรื่องการศึกษา ก่อนที่ต่อมาจะเคลื่อนไหวกับทั้งกลุ่ม #นักเรียนเลว และ #นักเรียนไท ในปี 2563 และกลายมาเป็นนักกิจกรรมอิสระในปัจจุบัน นับจนถึงตอนนี้ เขาถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด 2 คดี ทั้งคู่สืบเนื่องจากการเข้าร่วมในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปี 2563 และ 2564

“เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 เราจำได้ว่าขึ้นปราศรัยเรื่องเหตุการณ์ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดง พูดประมาณไม่เกิน 10 นาที พอรู้ว่าโดนดำเนินคดีก็ค่อนข้างแปลกใจ เพราะมันเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ปกติ เวลานั้นปัญหาเรื่องโควิดยังไม่ชัดเจน พออัยการฟ้องเรา ก็เกิดเป็นคำถามว่า ทำไมพวกงานคอนเสิร์ต งานวัด งานบุญ หรืองานอะไรก็ตามที่จัดขึ้นทั่วประเทศ คนที่เข้าร่วมถึงไม่โดนดำเนินคดี? เพราะมาตรฐานทางกฎหมายมันควรจะต้องถูกใช้บังคับเหมือนกัน”

“ทางเราเองก็ได้ยื่นคำร้องขอให้อัยการไม่ฟ้องคดี แต่สุดท้ายก็ยังฟ้องอยู่ดี มันสะท้อนให้เห็นปัญหาในประเทศนี้ อัยการไม่ได้สนใจหลักการหรือกติการะหว่างประเทศเลย”

สำหรับในตอนนี้ ภูมิมองว่าคดีความของตัวเองยังน่าจะพอมีทางออก ยังคงมองในแง่ดี เพราะหากศาลพิจารณาสั่งลงโทษเขาในคดีที่สืบเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพ สุดท้ายมันอาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานด้านลบ มากกว่าที่จะเป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมเอง

“เรายังมีหวังว่าคดีจะถูกยกฟ้อง เชื่อว่ามันจะเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อคดีความทางการเมืองอื่นๆ นี่เป็นคดีแรกของเยาวชน หากยกฟ้องก็จะเป็นผลดีกับกระบวนการยุติธรรมไทยด้วย ทำให้คนในสังคมเชื่อถือมากขึ้น”

แม้จะมีความหวัง แต่การถูกดำเนินคดีทางการเมืองก็สร้างภาระให้กับชีวิตของภูมิในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ค่าใช้จ่าย เรื่องของความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ความรู้สึกนึกคิด การเคลื่อนไหวทำให้เยาวชนคนหนึ่งต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัย ต้องออกมารับผิดชอบชีวิตด้วยตัวเองและความสามารถเท่าที่มี

“ปัญหาหลักๆ ที่เจอคือเรื่องค่าใช้จ่าย อย่างในวันนี้ เราเดินทางมาศาลด้วยรถแท็กซี่ ไปกลับ รวมเป็นเงิน 200 – 300 กว่าบาทแล้ว เกือบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งยังเสียเวลาเป็นครึ่งวัน ปกติผมเป็นฟรีแลนซ์รับงานด้านกราฟฟิก แทนที่จะเอาเวลาที่ต้องไปศาล มานั่งทำงาน หรือเอาเวลาไปเรียน ก็ไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องมาตามนัดศาล ซึ่งระบบราชการไทยก็ช้า บางนัดต้องรอทั้งวัน นัดบางนัดก็ไม่ควรนัด แค่มาเซ็นเอกสารเสร็จแล้วก็กลับ มีกรณีหนึ่งที่เราอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้มีกำหนดการจะกลับกรุงเทพฯ แต่ก็ต้องเดินทางกลับมาเพื่อมาตามนัดศาล เสียเวลาและโอกาสหลายอย่าง”

“เราไม่เคยรู้สึกชินเวลาที่ต้องไปศาลทุกครั้ง ไม่อยากมา มันส่งผลในการหางานของเรา การโดนคดีทำให้หางานได้ยาก ยิ่งเป็นเยาวชน บางบริษัทก็ไม่อยากจะรับ ในบริษัทที่เขาไม่ได้เชื่อในเรื่องประชาธิปไตย บางทีแค่เอาชื่อเราไปหาในกูเกิ้ล พอเห็นว่าเราโดนคดีขึ้นมา เราก็กลายเป็นตัวเลือกที่เขาปัดตก เพราะนายจ้างเอง เขาก็ไม่รู้ว่าลูกจ้างจะต้องถูกคุมขังตอนไหน บางทีมาตามนัดศาลก็ทำให้ต้องลางานบ่อย ในอนาคต ถ้าอายุถึง 18 ปี แล้วยังมีปัญหาเรื่องคดีความอยู่ ก็น่าจะกระทบกับชีวิตการทำงานแน่ๆ”

ภายนอก พลอยเป็นเด็กผู้หญิงวัยมัธยมปลายตัวเล็กที่อาจดูไม่ประสากับโลก แต่ในเบื้องหลัง เธอคือนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีความ ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 4 คดี และทั้งหมดสืบเนื่องจากการเข้าร่วมในการชุมนุมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว

พลอยเริ่มต้นหนทางการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม 2563 แม้ยังเด็ก แต่เธอก็ยืนยันชัดเจนเรื่องจุดยืนว่าเธอเป็น “เฟมินิสต์” การนิยามตัวเองเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการตื่นรู้ทางการเมือง – การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศและประชาธิปไตยคือเรื่องเดียวกัน ต้องทำคู่กัน เมื่อเห็นว่าสังคมนี้ไม่ได้มีความยุติธรรมให้กับเยาวชน ทั้งยังถูกครอบงำโดยมโนทัศน์ของผู้ชาย พลอยจึงเลือกที่จะก้าวออกมาแล้วใช้เสียงของเธอเองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

“เรารู้สึกว่าเราตัวเล็กมาโดยตลอด เพราะเรามีเพศกำเนิดเป็นหญิงในสังคมที่มีแต่ชายเป็นใหญ่ แล้วก็ต้องมาโดนกดด้วยโครงสร้างของสังคม ทั้งศาสนาและอื่นๆ มันทำให้เราตื่นรู้ พร้อมกันกับที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด”

“สิ่งที่ทำให้เราออกมาเคลื่อนไหวคือความรู้สึกที่ว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม ทั้งระบบการศึกษา ทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้เราอยากก้าวออกมาเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้”

“เรื่องเพศมันควรจะถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกับเรื่องประชาธิปไตย เพราะมันเป็นเรื่องจิตวิญญาณ หัวใจ แม้แต่ในขบวนการเคลื่อนไหวเอง ถ้าเราปล่อยผ่าน ยอมรับเรื่องมุมมองทางเพศที่ด้อยค่า เหยียดเพศ กีดกัน และไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศให้มีอยู่ในขบวนฯ อนาคต เราอาจได้เห็นคนทำงานการเมืองที่มีอคติทางเพศ ไม่ยอมรับความหลากหลาย”

“การต่อสู้ไม่ควรถูกนำด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ มันควรเป็นการโอบอุ้ม ยอมรับทุกคนโดยไม่กดใครไว้”

คืนวันที่ 15 ต.ค. 2563 ภายหลังการสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในคืนก่อนหน้า แยกราชประสงค์คลาคล่ำไปด้วยผู้ชุมนุมที่กรุ่นโกรธหลังเพิ่งเผชิญหน้ากับความรุนแรงโดยรัฐ พลอยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอก้าวขึ้นเวทีปราศรัย เริ่มต้นด้วยการร้องแจวเรือเสียดสีการเมือง จากนั้นปราศรัยถึงความไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาใช้ความรุนแรงกับประชาชน ยืนยันว่าพวกเขาไม่มีสิทธิทำแบบนั้น

“ณ ตอนนั้น เราไม่คิดว่าเขาจะกล้าดำเนินคดีกับเยาวชน เราคิดว่าเราเป็นเด็ก ถ้าตำรวจดำเนินคดีกับเราก็จะกระทบกับภาพลักษณ์ของเขา ภาพลักษณ์ของเผด็จการ แต่กลับกลายเป็นว่าผู้มีอำนาจยัดคดีใส่ทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่”

เช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่นในคดี พลอยเองก็ยอมรับว่าตัวเองได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ร้ายแรงถึงกับทำให้เธอมีปัญหากับครอบครัวจนต้องออกจากบ้านมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ความหนักหนาที่ต้องเผชิญก่อเป็นความป่วยไข้ทางใจ จนถึงจุดหนึ่งถึงต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

“การที่เราออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองทำให้เรามีปัญหากับที่บ้าน จนต่อมาก็ต้องลาออกจากโรงเรียนมาเรียนโฮมสคูล เป็นผลกระทบที่รุนแรงแล้วก็เปลี่ยนชีวิตของเรามาก ยิ่งพอมาโดนคดี ครอบครัวก็ไม่เห็นด้วย มีปัญหากันจนเราอยู่บ้านไม่ได้ ต้องออกมาอยู่เอง เราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่าง หาเลี้ยงตัวเองด้วยการขายสติ๊กเกอร์ แต่ก็ยังถูกต่อว่าอยู่ดี ทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถกลับไปคุยกับครอบครัวได้”

“ถึงจุดหนึ่งเราต้องขอความช่วยเหลือ ก็มีคนเข้ามาช่วยบ้างในเรื่องงาน พาไปหาหมอ พบจิตแพทย์ การโดนคดีทำให้เราต้องมาศาลหลายครั้ง ทุกครั้งก็รู้สึกท้อ แล้วก็เกรงใจผู้ปกครอง เพราะเขาต้องลางานมาบ่อยๆ”

ถึงแม้จะเจ็บปวดกับเรื่องที่เจอ แต่เธอมองว่านี่คือสิ่งที่เยาวชนทุกคนต้องร่วมกันสู้ ในเมื่อไม่มีใครกล้าก้าวขึ้นมายืนอยู่แนวหน้า ไม่กล้ายืนเคียงข้างเด็กๆ พวกเขาจึงต้องเคียงข้างกันเอง แม้จะต้องเจอความยากลำบากนานัปการ

“เพราะไม่มีใครออกมาสู้แทน เด็กๆ ก็เลยต้องออกมาร่วมกันสู้ พวกเราถูกผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรง แม้จะมีผู้ใหญ่ที่เข้ามาช่วยเหลือบ้าง แต่นั่นก็ยังไม่พอ ในเมื่อพึ่งผู้ใหญ่ไม่ได้ พวกเราก็จำเป็นต้องพึ่งพากันเอง”

ในวันนี้ มินเดินทางมาศาลตามนัดพร้อมกับพ่อและอาม่าที่มาร่วมให้กำลังใจ เขายังดูมีกำลังใจดี แม้กำลังเผชิญกับกระบวนการดำเนินคดีที่สร้างภาระให้กับชีวิตเขาตลอด 1 ปีกว่า ที่ผ่านมา มินย้อนเล่าไปถึงเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเขายืนยันอย่างชัดเจนว่า เจตนาในการขึ้นเวทีของเขาไม่ใช่เพื่อจะไปปราศรัย แต่ต้องการควบคุมมวลชนที่ยังคุกรุ่นจากการสลายการชุมนุมในวันก่อนหน้า ซึ่งจำเป็นต้องมีใครซักคนขึ้นมารับหน้าที่

“เราไม่ได้คิดจะปราศรัย แค่ต้องการพูดให้มวลชนใจเย็นลง เพราะไม่อยากให้เกิดการปะทะกับตำรวจ พยายามเตือนให้มวลชนนึกถึงสิ่งที่พวกเราเรียกร้อง ไม่ได้จะขึ้นไปพูด แต่เพราะมีพี่นักกิจกรรมชวน เขาบอกเราว่า ตอนนี้มวลชนกำลังอยู่ในสภาวะความรู้สึกที่ไม่พอใจเจ้าหน้าที่ฯ ถ้าไม่มีใครพูดเพื่อให้คนใจเย็นลง อาจจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น เราก็เลยรับหน้าที่ตรงนั้น”

ถึงแม้จะมีความพยายามก่อนหน้านี้ในการยื่นคำร้องเพื่อขอให้อัยการไม่ฟ้องคดีต่อเขาและเพื่อนอีก 2 ราย โดยชี้แจงว่าการดำเนินคดีดังกล่าวถือว่าเป็นการขัดต่อสนธิสัญญาฯ และกติกาสากลระหว่างประเทศ ซึ่งคุ้มครองการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชน แต่ทางอัยการกลับยังคงยืนยันที่จะฟ้องคดี สำหรับมิน แม้จะน่าผิดหวัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดคาดแต่อย่างใด

“เราผิดหวัง แต่ไม่ได้ผิดคาด รู้สึกว่าเหตุการณ์นี้ก็น่าจะเกิดขึ้นอยู่แล้วในสังคม ก็ต้องสู้ต่อไป คล้ายว่าทางอัยการก็ไม่ได้สนใจหลักการสากล จำได้ว่าพอเรายื่นหนังสือได้ไม่นาน ราวเดือนกว่าหลังจากนั้น อัยการก็ฟ้องคดีเลย”

ในฉากหน้า เขาคือนักกิจกรรมแกนนำของกลุ่ม #นักเรียนเลว – กลุ่มเยาวชนที่ออกมาต่อสู้เรื่องอำนาจนิยมในระบอบการศึกษาที่กดทับเยาวชนไว้ แต่ในฉากหลัง มินเองก็ยังเป็นวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศคนหนึ่งที่ชีวิตกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และกำลังจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย การถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมกลายเป็นภาระทางใจที่สลัดไม่หลุด และด้วยความหลากหลายทางเพศของตัวเอง การสูญเสียอิสรภาพจึงไม่ใช่แค่เรื่องเดียวที่ต้องกังวล แต่ยังมีเรื่องการปรับตัวเมื่อต้องอยู่ภายในที่คุมขังอีกด้วย

“ช่วงแรกที่รู้ว่าโดนดำเนินคดี มันกระทบกับจิตใจเรามาก กังวล ไม่สบายใจ จนเริ่มชินเลยพอทำใจได้ โชคดีด้วยที่ทางครอบครัวเข้าใจ”

“(การถูกดำเนินคดี) มันทำให้เรารู้สึกพะวงหน้าพะวงหลัง เราไม่รู้ว่าศาลจะนัดเราอีกเมื่อไหร่ เวลาจะทำอะไรก็รู้สึกเหมือนมีภาระผูกพันอยู่ แต่ยังไม่กระทบการเรียน เพราะเราเรียนแบบโฮมสคูล (การศึกษาด้วยตัวเองที่บ้าน) ไม่ได้เรียนเต็มเวลาเหมือนคนอื่น”

“ลึกๆ ส่วนตัว มีคิดถึงเรื่องเพศของเรา หากวันหนึ่งต้องถูกคุมขัง ต้องเข้าไปในที่ที่ไม่มีอิสรภาพ ถูกแปะป้ายในโลกที่มีแค่ 2 เพศ ชายหรือหญิง เราคงรู้สึกไม่สบายใจ คิดกับตัวเองว่าเราจะอยู่ในนั้นไหวไหม ในสังคมที่มุมมองต่อเพศเป็นแบบนั้น”

ถึงจะมีคดีความที่ขวางกั้นบนเส้นทางอนาคต แต่มินยังอยากที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป จากเยาวชนที่มีจุดเริ่มต้นในการต่อสู้เพียงเพราะเห็นความไม่เป็นธรรมในระเบียบทรงผมของนักเรียน จนวันนี้ได้กลายเป็นแกนนำของเหล่าเด็กหัวขบถที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น เขามองว่า สิ่งที่เด็กอย่างพวกเขามีร่วมกันนั่นก็คือการถูกกระทำจากผู้ใหญ่ แม้ความเปลี่ยนแปลงอาจจะยังมาไม่ถึง เยาวชนหลายคนยังจำเป็นต้องสยบยอมต่ออำนาจนิยม แต่เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการ “ตั้งคำถาม” กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นรอบตัว

“สิ่งที่เด็กๆ ทุกคนทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม คือการเริ่มตั้งคำถามกับมัน เราอาจจำเป็นต้องอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจที่ไม่เป็นธรรม มันไม่ผิดที่เรายังต้องกัดฟันทน แต่เราเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งการตั้งคำถามนี่แหละที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อมาได้”

X