เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีผู้ชุมนุม ARMY57 ไปไม่มีกำหนดเป็นครั้งที่ 7

27 ม.ค. 2565 ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง กรณีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561 หรือคดี #ARMY57 เพื่อเรียกร้องให้ คสช. ไม่เลื่อนการเลือกตั้ง และยุติการสืบทอดอำนาจ หลังจากการยื่นอุทธรณ์คดีมาเป็นเวลาปีกว่า

ผู้แทนทนายความและ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งเป็นจำเลยที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดี เดินทางมาศาล ต่อมาผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตได้แจ้งว่าศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำพิพากษาในคดีนี้ ให้เลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาออกไป โดยไม่มีกำหนดวันนัดใหม่

ทั้งนี้ ชลธิชาได้แถลงวาจาต่อศาลว่า การเลื่อนนัดโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้ได้รับผลกระทบในหลายๆ ด้าน เช่น ค่าเดินทางที่ต้องจ่าย เวลา และโอกาสในการทำงานที่เสียไป ดังในนัดก่อนหน้า  ตนได้รับการติดต่องานเข้ามา แต่เนื่องจากเป็นวันเดียวกันกับวันฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่สามารถรับงานนั้นได้ เพราะต้องเดินทางมาที่ศาล เมื่อถึงวันนัดและเดินทางมาถึงศาลแล้ว กลับมีคำสั่งเลื่อนนัดออกไปอีก ทำให้ตนเสียโอกาสในการได้ทำงานและได้ค่าจ้างนั้นไป

การเลื่อนอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันนี้ นับว่าเป็นการเลื่อนครั้งที่ 7 แล้ว หลังจากที่ชลธิชาได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 จากนั้นก็มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในนัดวันที่ 1 เม.ย., 19 พ.ค., 10 มิ.ย., 10 ก.ย. และ 30 ก.ย. 2564 โดยวันดังกล่าว ศาลเคยระบุเหตุผลในการเลื่อนว่ายังพิจารณาจัดทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ แต่กลับมีการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษามา และเลื่อนวันนัดเรื่อยมา

สำหรับคดี ARMY57 ในส่วนของผู้ชุมนุมนี้ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2563 ศาลชั้นต้นเคยอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย 45 คน ยกเว้น “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (2), (4) ในฐานะผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลการชุมนุมให้เลิกภายในเวลาตามที่แจ้งไว้ได้ และไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจรได้ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท

ชลธิชาตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คดี เนื่องจากเห็นว่าเหตุที่การชุมนุมล่าช้าไปกว่าที่แจ้งไว้ เกิดจากการพยายามขัดขวางและแทรกแซงการเดินขบวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ขณะเดียวกันในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ผู้ชุมนุมและประชาชน อีกทั้งยังเป็นการยืนยันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และสร้างบรรทัดฐานให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม

ศาลยกฟ้องคดีผู้ชุมนุม ARMY57 ชี้หลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอ แต่ปรับ 1 พันบาท “ลูกเกด” ในฐานะผู้จัดชุมนุม

เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีผู้ชุมนุม ARMY57 เป็นครั้งที่สอง

เลื่อนอีก! ศาลเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีผู้ชุมนุม ARMY57 ครั้งที่ 3

X