บุกจับเยาวชนอายุ 16 ถึงโคราช กล่าวหาเผาศาลพระภูมิ สน.ดินแดง ในม็อบไว้อาลัย ‘วาฤทธิ์’ ก่อนค้านประกัน อ้างกลัวไปทำผิดซ้ำ

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า มีการจับกุมเยาวชนหญิงอายุ 16 ปี รายหนึ่งชื่อ วิลาวัลย์ (สงวนนามสกุล) ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นการจับกุมตามหมายจับศาลเยาวชนฯ ในคดีความที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมที่ด้านหน้า สน. ดินแดง เพื่อรำลึกถึงการจากไปของผู้ชุมนุมเยาวชน วาฤทธิ์ สมน้อย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เบื้องต้น เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเยาวชนหญิงรายนี้เป็นผู้ทำการเผาศาลพระภูมิที่ด้านหน้าของ สน. ดินแดง

จากการสอบถามเพิ่มเติมของทนาย เยาวชนรายนี้ถูกจับกุมที่บ้านของเธอเอง ก่อนจะถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ กก.สืบสวน 2 บก.สส.ภ.3 เธอถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด 5 ข้อหา ได้แก่ “ร่วมกันชุมนุมมากกว่า 50 คน ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก, ทำให้เสียทรัพย์, และร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์” ในชั้นจับกุม เธอยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น

ในส่วนของบันทึกจับกุมในคดี มีเนื้อความระบุว่า การจับกุมเกิดขึ้นในช่วงเวลา 16.45 น. ชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.สืบสวน 2 บก.สส.ภ.3, กก.สืบสวน.บก.น..1, และชุดสืบสวน สน.ดินแดง ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ. สิทธิชัย ธัญญาบาล ผกก.สืบสวน 2 บก.สส.ภ.3, พ.ต.อ. นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี ผกก.สส.บก.น.1, และ พ.ต.ท. พีรรัฐ โยมา รอง.ผกก.สส.สน.ดินแดง เป็นการประสานกำลังกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 3 หน่วยงาน ทั้งนี้ ในบันทึกจับกุมไม่ได้มีการบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาแต่อย่างใด โดยผู้ต้องหาและผู้ปกครองไม่ประสงค์ที่จะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่

หลังจากเสร็จกระบวนการที่ กก.สืบสวน 2 บก.สส.ภ.3 วิลาวัลย์ พร้อมผู้ปกครองถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ สน.ดินแดง โดยเดินทางถึง สน.ดินแดง ในช่วงราวตี 1 จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งทนายความว่า จะทำการสอบปากคำผู้ต้องหาในช่วงเช้าของวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 น. และจะส่งตัวไปตรวจสอบการจับกุมต่อที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางทันทีในช่วงบ่าย

ในส่วนของพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา มีเนื้อความ ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ได้มีผู้ชุมนุมมากกว่า 100 คน มารวมตัวกันชุมนุมที่ด้านหน้า สน. ดินแดง เป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองและขับไล่นายกฯ ต่อมา ผู้ชุมนุมพยายามบุกรุกภายในที่ทำการ สน. มีการขว้างปาขวดน้ำ ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นใส่ศาลพระภูมิของสถานีฯ และตามสถานที่ต่าง ๆ ใช้รองเท้าแตะแขวนไว้บนยอดศาลพระภูมิ ใช้ของเหลวสีแดงคล้ายเลือดเทราดศาลพระภูมิ  ใช้รองเท้าส้นสูงทุบศาลฯ มีการเทราดเชื้อเพลิงและจุดไฟเผาศาลพระภูมิ

จากพยานหลักฐาน สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า แซม สาแมท เป็นผู้ใช้รองเท้าสันสูงทุบศาลฯ ใช้ขวดน้ำปาใส่ จนได้รับความเสียหาย ขณะที่นายแซมได้เทของเหลวใส่ศาลพระภูมิ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่บริเวณนั้นได้กลิ่นคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมา ได้มี วิลาวัณย์ ผู้ต้องหาในคดีนี้ ได้นำไฟมาจุดเผา ทำให้เกิดเพลิงไหม้ 

ภายหลังการสืบสวน พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อให้ออกหมายจับ ศาลเยาวชนฯ ได้อนุมัติหมายจับเลขที่ 62/2564 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 

ในการสอบปากคำ วิลาวัลย์ให้การปฏิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 จากนั้น วิลาวัลย์ถูกนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยพนักงานสอบสวนยังได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ออกหมายควบคุมผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พร้อมทั้งคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว หรือหากศาลจะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็ขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวอย่างเคร่งครัด อาจห้ามไม่ให้มีการกระทำความผิดในลักษณะนี้อีกหรือห้ามก่อความวุ่นวาย มั่วสุม หากศาลไม่มีมาตรการหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวที่เคร่งครัด จะเป็นการยากในการควบคุมดูแล รักษาความสงบของสังคมโดยรวม ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความมั่นคงของประเทศ   

อย่างไรก็ตาม ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราว เรียกเงินประกัน 5,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดให้ผู้ต้องหาไปสถานพินิจฯ กรุงเทพฯ เพื่อพบพนักงานควบคุมความประพฤติในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 และพบเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

วิลาวัลย์: จากเยาวชนบนชายขอบของสังคมสู่การเป็นผู้ต้องหาในคดีการเมือง

จากการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ต้องหาเยาวชนรายนี้ เธอเคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากจบชั้นมัธยมต้น วิลาวัลย์เลือกที่จะเรียนต่อ กศน. เนื่องจากที่บ้านมีฐานะยากจน เธอเป็นลูกคนเดียวของพ่อ ซึ่งปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นคนขับรถแมคโคร ทั้งคู่อาศัยอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ และถึงแม้จะเจอความยากลำบาก เธอยังวาดหวังว่าวันหนึ่งที่เรียนจบจะได้เป็นสถาปนิก

พ่อของวิลาวัลย์เล่าว่า ในช่วงเย็นวันที่ 9 พฤศจิกายน ตำรวจ 4 นาย ได้เดินทางมาที่บ้านในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นช่วงที่เขาพาลูกสาวกลับไปฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับให้วิลาวัลย์ดู แต่ไม่ได้มอบให้ไว้ ไม่มีการข่มขู่คุกคาม และไม่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือ วิลาวัลย์จึงสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากทนายได้ เบื้องต้น วิลาวัลย์ค่อนข้างกังวลกับการดำเนินคดี เนื่องจากที่บ้านมีฐานะยากจน และพ่อก็ไม่ได้มีเงินสำหรับใช้ยื่นประกันตัว

X