ศาลให้ฝากขัง “อานนท์” ครั้งที่ 6 ต่อไปอีก 7 วัน หลังอัยการขอขังต่อ เหตุต้องรออัยการสูงสุดมีคำสั่งในคดีสำคัญ

วันที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 11.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 6 ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความและนักกิจกรรม ในคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในชุมนุมครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ หลังอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ในคดีนี้เป็นครั้งที่ 6 และทนายความได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 64 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์เป็นครั้งที่ 6 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยอ้างว่า การฝากขังครั้งที่ 5 จะครบกำหนด 7 วัน ในวันที่ 24 ก.ย. นี้ ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ส่งสำนวนสอบสวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 

และเนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้กำหนดแนวทางในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ว่า “ให้สำนักงานอัยการที่รับสำนวนคดีมาตรา 112 จัดส่งหลักฐานต่างๆ ในคดีไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาทันที”

ปัจจุบันพนักงานอัยการได้รายงานคดีนี้ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 และขณะนี้อยู่ในระหว่างรอฟังคำสั่งจากคณะทำงานของอัยการสูงสุด ด้วยเหตุผลดังกล่าว พนักงานอัยการจึงได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ต่อไปอีก เป็นเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. ไปจนถึงวันที่ 6 ต.ค. 64

อานนท์แถลง ‘เกินจำเป็นหากสั่งฝากขังต่อ-ละเมิดสิทธิผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ’ 

เวลา 11.30 น. การไต่สวนคำร้องขอฝากขังเริ่มต้นขึ้น โดยอานนท์ได้เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ ถ่ายทอดสัญญาณมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  

อานนท์แถลงว่า คดีนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฝากขังตนเองอีก เนื่องจากการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและทำความเห็นไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการได้ส่งสำนวนสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่งระเบียบการพิจารณาของอัยการสูงสุดเป็นระเบียบภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด การขังตนเองไว้ต่อไปเป็นการเกินความจำเป็น และกระทบต่อสิทธิผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 24 ที่ว่า ‘การควบคุมตัวผู้ต้องหาให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น’ 

อานนท์จึงขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานอัยการในครั้งนี้ด้วย

ทนายความได้ซักถามพนักงานอัยการว่า ‘หากไม่คุมขังผู้ต้องหาไว้ในเรือนจำ พนักงานอัยการก็สามารถตามตัวมาฟ้องได้ ใช่หรือไม่’

ด้านพนักงานอัยการได้ตอบว่า ‘หากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขัง และปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเฉพาะคดีนี้ เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งให้ฟ้องคดี พนักงานอัยการก็จะให้พนักงานสอบสวนตามตัวผู้ต้องหามาเพื่อการฟ้องคดีต่อไปได้’

ต่อมา เวลา 13.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ เป็นครั้งที่ 6 ต่อไปอีก 7 วัน โดยมีรายละเอียดในคำสั่ง ดังนี้ 

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนทำความเห็นทางคดีและส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว แต่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อการพิจารณาสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ จึงอนุญาตให้ฝากขังต่อไปอีก 7 วัน”

ทนายยื่นประกันทันที แต่ศาลไม่ให้ประกัน ชี้ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์

หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอานนท์และคัดค้านการฝากขังอีกครั้งทันที โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด มูลค่า 200,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลประกอบว่า ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานอัยการ เหลือเพียงการนำเสนอสำนวนให้อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นระเบียบธุรการภายในของสำนักงานอัยการ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ต้องหา

อีกทั้งคดีนี้พนักงานสอบสวนได้เบิกความว่า ‘ได้สรุปสำนวนคดีการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว’ จึงไม่มีเหตุที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาอีกต่อไป นอกจากจะกระทบตามสิทธิของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่ออาชีพทนายความของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากพบว่าผู้ต้องไม่มีความผิดในภายหลัง ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ร้ายแรงเกินกว่าที่จะเยียวยาได้ 

ต่อมา เวลา 15.10 น. นายบัญญัติ ตังกบดี รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ โดยระบุว่า “พิเคราะห์คําร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเห็นว่า เหตุผลตามคำร้องดังกล่าวไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์ (ฉบับลงวันที่ 14 ก.ย.64) จึงมีคำสั่งยกคำร้อง”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่ให้ประกัน “อานนท์ นำภา” คดี 112 ปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 หลังเข้ามอบตัว

X